1 มิถุนายน 2554

มะละกา ดินแดนแห่งสายลมสองทิศบรรจบกัน

หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ที่กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์


ฉันสารภาพกับเพื่อนร่วมบ้านและเพื่อนสาว ว่าการเดินทางสู่มาเลเซียคราวนี้สำหรับฉันแล้ว เป้าหมายคือเมือง มะละกา


แหม...มีใครเคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์สมัยเด็ก แล้วไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้บ้าง ยกมือขึ้น ไม่มีใช่มั้ยล่ะ แล้วใครเคยได้ยินชื่อเมืองนี้บ้าง เห็นมั้ย ยกมือกันพรึ่บพรั่บเลย

ลองมาฟังคำโฆษณาชวนเชื่อของการท่องเที่ยวมาเลเซียดีกว่าว่าเขาคุยคำโตเกี่ยวกับเมืองนี้รัฐนี้ยังไง
 "ท่องมะละกา เที่ยวมาเลเซีย"  เพราะ  "ประวัติศาสตร์มาเลเซียเริ่มต้น ณ ที่นี้”

ทำไมถึงบอกว่าประวัติศาสตร์มาเลเซียเริ่มต้นที่นี่?

นั่นเป็นเพราะที่นี่เป็นสถานที่ประกาศเอกราชจากการยึดครองของชาวต่างชาติ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1956 โดย ตุนกูอับดุล รามัน พุตรา อัล-ฮัจ นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย หลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครอง จากชาวต่างชาติหลายชาติหลายภาษามาเป็นเวลานาน

การท่องเที่ยวมาเลเซียจัดเตรียมเอกสารแนะนำสถานที่เที่ยวต่างๆ อย่างดีเยี่ยม น่าชื่นชม แต่เอกสารพวกนี้ก็ทำเอาเวียนหัวตุ้บอยู่เหมือนกัน

ในแผนที่หรือเอกสารบางฉบับเรียกรัฐนี้ว่า MALACCA  ขณะที่เรียกตัวเมืองว่า MELAKA
ขณะที่บางฉบับก็เรียกทั้งรัฐและทั้งเมืองว่า MELAKA
เอาเป็นว่าอย่าไปสนใจเลยแล้วกัน  สรุปว่าใช้ได้ทั้ง MALACCA  และ MELAKA นี่แหละ เอาเป็นว่าฉันเรียกของฉันแบบไทยๆ ว่าเมืองมะละกา และรัฐมะละกา

ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้เริ่มต้นแบบตำนานที่ชาวตะวันออกเฉียงใต้คุ้น ชิน คล้ายคลึงกับตำนานของเกาะสิงคโปร์  ประมาณว่าเป็นเรื่องของเจ้าชายที่หนีมาจากเกาะสุมาตรา และจะหาที่ลงหลักปักฐานใหม่  เมื่อมาถึงมะละกา ขณะกำลังนั่งพิงต้นมะขามป้อมอย่างเหนื่อยอ่อน หมาล่าสัตว์ของพระองค์ก็ถูกเจ้ากระจงตัวเล็กนิดเดียวแยกเขี้ยวเกระโจนเข้า ใส่อย่างอาจหาญ จนหมาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ

ภาพเหตุการณ์นั้น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าชายตัดสินพระทัยสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นี่ เพราะแม้แต่ตัวกระจงยังแข็งแรงและมีความหาญกล้าได้ขนาดนั้น จากนั้นพระองค์จึงตั้งชื่อเมืองนี้ว่า มะละกา ซึ่งเป็นภาษามาเลย์แปลว่าต้นมะขามป้อม

มะละกาเป็นดินแดนที่สายลมตะวันออกกับสายลมตะวันตกมาบรรจบกัน เอื้อให้ดินแดนแห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะแก่การเป็น เมืองท่าค้าขาย เรือจากอาหรับและอินเดียสามารถล่องมาตามลมสินค้าตะวันตกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเวลาแล่นเรือของพ่อค้าจีนและพ่อค้าจากหมู่เกาะเครื่องเทศ (หมู่เกาะโมลุคกะ อินโดนีเซีย)

ต้นศตวรรษที่ 16 มะละกา รุ่งเรืองในฐานะเมืองจัดเก็บสินค้า
 แต่ก็เพราะชัยภูมิที่เหมาะสมเช่นนั้น มะละกา จึงถูกช่วงชิงและยื้อแย่งมาโดยตลอด
 “หรือว่าความงามก็เป็นบาปประการหนึ่ง ชีวิตที่สวยงามไฉนยิ่งถูกไล่ล่า” คำเขียนของ โกวเล้ง ช่างเหมาะกับความเป็นไปของเมืองนี้

มะละกา ถูกล่ามาโดยตลอด เคยรุ่งเรืองที่สุดในยุคสมัยของสุลต่านแห่งมะละกา ใน ช่วงคริสตวรรษที่ 15 ถึงปี 1511  จากนั้นก็ถูกครอบครองโดยโปรตุเกสตั้งแต่ปีค.ศ.1511-1641  ตามด้วยดัชท์ในปีค.ศ.1641-1795  และอังกฤษในปีค.ศ.1795-1941  ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าครอบครองในระยะเวลาอันสั้นช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ.1941-1945 และอังกฤษได้กลับเข้ามาครอบครองอีกครั้งในปีค.ศ.1945-1957  จนกระทั่งมาเลเซียได้ประกาศอิสรภาพในปีค.ศ.1957 จนถึงปัจจุบัน

เค้าของการถูกล่าปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วตามพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมือง

ณ  จตุรัสแดง ถนน Laksamana  สิ่งก่อสร้างที่รายล้อมแสดงถึงสถาปัตยกรรมของชนชาติตะวันตก ที่นี่เคยเป็นแหล่งชุมชนดัชท์เมื่อราวศตวรรษที่ 16-17 อาคารสถานที่ล้วนเป็นสีแดงอิฐขานรับกับชื่อจตุรัส  ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์คริสต์ หอนาฬิกา พิพิธภัณฑ์เยาวชน และอาคารสตัดธิวท์ (Stadthuys) ซึ่งเป็นศาลาว่าการ ประวัติของสถานที่ขานไขอย่างย่นยอบนแผ่นป้าย





โบสถ์คริสต์ ดูจะเป็นจุดสนใจดึงดูดให้เข้าไปเยี่ยมชมเป็นจุดแรก โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปีค.ศ.1753 โดยนำอิฐสีชมพูจากเนเธอร์แลนด์มาก่อสร้างและเชื่อมด้วยดินสีแดงของที่นี่ อาคารสตัดธิวท์ ที่อยู่ใกล้ๆ  ก่อสร้างขึ้นในปีค.ศ.1650 สำหรับเป็นที่พักของผู้ว่าการ และคณะเจ้าหน้าที่ชาวดัชท์ เชื่อกันว่าอาคารนี้เป็นอาคารของชาวดัชท์ที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนตะวันออก ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองและผู้คน

บริเวณใจกลางจตุรัสเป็น ลานน้ำพุ สร้างขึ้นในปีค.ศ.1904 เพื่อถวายแด่ราชินีวิคตอเรียของอังกฤษที่ครองราชย์ในปีค.ศ.1837 และ หอนาฬิกา ที่สร้างขึ้นในปีค.ศ.1886  ปัจจุบันนาฬิกาที่ติดตั้งบนหอนาฬิกาไม่ได้เป็นนาฬิกาดั้งเดิมของอังกฤษ แต่เป็นนาฬิกายี่ห้อไซโก้ของญี่ปุ่น ซึ่งนำมาติดตั้งแทนของเดิมในปีค.ศ.1982 ซึ่งมีกระแสความไม่พอใจปรากฏในหน้าหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น ฉบับหนึ่ง ว่ากองทัพญี่ปุ่นเคยตัดหัวชาวเมืองมะละกา เสียบประจานที่จตุรัสนี้เพื่อข่มขวัญชาวเมือง แล้วเหตุใดจึงนำนาฬิกาญี่ปุ่นมาติดตั้งบนหอนาฬิกาแทนนาฬิกาดั้งเดิม


ขณะที่ฉากสถานที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก แต่องค์ประกอบที่เคลื่อนไหวไปมา และสิ่งประกอบฉากกลับเป็นเอเชีย รอบๆ ลานน้ำพุเป็นที่ชุมนุมของ รถสามล้อ จอดคอยให้บริการนักท่องเที่ยว บางคันตกแต่งสวยสะด้วยพู่ห้อย บางคันติดม่านห้อยระย้า แต่บางคันก็แสนเรียบง่าย  และถ้าเดินเลยไปตรงซอกระหว่างโบสถ์คริสต์กับตึกสตัดธิวส์ จะเห็นแผงขายของที่ระลึกอย่างเกี๊ยะ เสื้อพื้นเมืองที่ตัดจากผ้าฝ้ายใส่สบายๆ ...

นี่เป็นลักษณะเฉพาะของมะละกา สายลมตะวันออกกับตะวันตกนำพาเรือสินค้า ผู้คน  วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมารวมไว้ที่นี่

ด้านหลังจัตุรัสแดง เป็นเนินสูงด้านบนเป็นที่ตั้งของ โบสถ์ St.Paul ที่เหลือเค้าโครง พอให้ดูออกว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นโบสถ์


สถานที่นี้สร้างขึ้นโดยกัปตันชาวโปรตุเกส ซึ่งเรียกขานสถานที่นี้ว่า Lady of the hill ก่อนที่พวกดัตช์จะครอบครองดินแดนแห่งนี้ และทำการเปลี่ยนชื่อเป็นโบสถ์ St Paul จนเมื่อโบสถ์คริสต์ที่จัตุรัสแดงสร้างเสร็จ พวกดัตช์ก็ได้เปลี่ยนสถานที่นี้ให้เป็นที่ฝังศพของพวกขุนนาง เพื่อนสาวที่ขึ้นไปด้านบนเป็นคนแรกตะโกนบอกลงมาอย่างตื่นเต้น
 “ข้างบนนี้เห็นทะเลด้วย”
 ทะเล!  อ๊ะ! ใช่สิ มะละกาเป็นเมืองท่าก็ต้องเห็นทะเลสิ ลืมไปได้ยังไง พอนึกขึ้นได้ก็รู้สึกตัวเหนอะขึ้นมาทันควัน ก็เมืองชายทะเลนี่


โบสถ์ St Paul นั้นเมื่อมองจากด้านหน้าค่อนข้างลวงตาสำหรับผู้มาเยือน เพราะโบสถ์เก่าแก่เหมือนจะอยู่ในสภาพใกล้เคียงสมบูรณ์ หากทันทีที่เดินก้าวล่วงผ่านผนังกำแพงเข้าไปด้านในจึงค่อยรู้ว่าโบสถ์แห่ง นี้ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากผนังสามด้านเท่านั้น

ขณะอยู่บนโบสถ์ St Paul นอกจากจะได้เห็นทะเลเมืองมะละกาแล้ว อีกด้านหนึ่งจะได้เห็นประตู ป้อม A’Fomosa ซึ่งเป็นป้อมที่พวกโปรตุเกสสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1511 เป็นประตูป้อมเดียวที่หลงเหลือจากการโจมตีเผาทำลายโดยชาวอังกฤษ และยืนหยัดเป็นหลักฐานให้ผู้มาเยือนรู้ว่าบริเวณแถวนี้เคยรุ่งเรืองเป็นย่าน ที่อยู่ของชาวโปรตุเกส ภายในป้อมเคยมีวัง โรงพยาบาล และโบสถ์ ซึ่งถูกทำลายไปจนหมดหลงเหลือเพียงประตูป้อม A’Fomosa และโบสถ์ St.Paul เท่านั้น



ใกล้ๆ กับป้อม A’Fomosa เป็นที่ตั้ง ตึกอนุสรณ์ประกาศอิสรภาพ (Proclamation of Independence Memorial)  ตึกนี้แต่เดิมเคยเป็น Club House สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ภายในจัดเก็บเอกสารต้นฉบับ วีดิโอเทป ฟิล์ม และภาพสไลด์ของเหตุการณ์การประกาศอิสรภาพของชาวมาเลเซียที่กระทำที่นี่ในปี ค.ศ. 1957


ถัดจากตึกอนุสรณ์ประกาศอิสรภาพเป็น วังสุลต่านแห่งมะละกา ซึ่งได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม ด้านในมีการจัดแสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบรรดาพ่อค้าชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาค้าขายกับมะละกา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายของชาวจีน ชาวอาหรับ ชาวอินเดีย ชวา รวมทั้งชนชาติสยาม  ซึ่งเวลายืนดูแล้วก็อดภูมิใจไม่ได้ว่า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชนชาติสยามสวยงามไม่แพ้ชาติไหนเลย


ของที่วางแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ฉันชอบมากๆ คือ กริช พอถึงมุมที่แสดงอาวุธชนิดนี้ เท้าสองข้างของฉันถ่วงช้าลงทันที จ้องมองอาวุธชนิดนี้อย่างเอาจริงเอาจัง  ทำไมฉันถึงชอบอาวุธชนิดนี้ก็ไม่รู้ ฉันว่ามันเป็นอาวุธที่ขนาดกำลังเหมาะมือ  ดูลึกลับ น่ากลัว และมีเสน่ห์ ภาษาอังกฤษเรียกอาวุธนี้ว่า kris และภาษามาเลย์เรียกว่า keris ลักษณะใบมีดของกริชเป็นสัญลักษณ์ของพญานาค มีสองแบบ ตรงราบเรียบ กับ แบบที่หยักไปมา แบบที่ตรงหมายถึงงูที่กำลังเข้าฌาน ขณะที่แบบที่หยักไปมาหมายถึงงูที่กำลังเคลื่อนไหว

ขณะที่จัตุรัสแดงเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวดัตช์ และบริเวณประตูป้อม A’Fomusa เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกโปรตุเกส ถัดไปอีกซีกด้านหนึ่งของถนน Laksamana บริเวณถนน Tun Tan Cheng Lock กับ Hang Jebat  กลับเป็นย่านที่อยู่ของชาวจีน

บริเวณนั้นถนนเส้นเล็กแคบ รถแล่นผ่านได้เพียงคันเดียว อาคารสองข้างที่ขนาบเป็นตึกแถวโบราณแบบชิโน-โปรตุกีส ซึ่งเป็นอาคารลูกผสมระหว่างจีนกับโปรตุเกส  ชาวจีนเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่ตั้งรกรากอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก แต่งงานอยู่กินกับคนมาเลย์ท้องถิ่น ทำให้เกิดชนกลุ่มใหม่เรียกว่า Nonyas Babas บริเวณแถวนี้มีโรงแรมสวยเก๋ที่มักจะได้รับการกล่าวถึงจากนักท่องเที่ยวที่มา เยือนเสมอ นั่นคือ โรงแรม Puri  อาคารเป็นแบบชิโน-โปรตุกีสสามชั้น ทาสีเหลืองอ่อน กรอบหน้าต่างสีแดงเข้ม สะดุดตาและกลมกลืนกับบรรยากาศรอบๆ ป้ายชื่อโรงแรมที่ติดเหนือบานประตูทางเข้าที่เป็นอักษรภาษาจีน ให้ความรู้สึกขณะเดินก้าวเข้าไปข้างในเหมือนว่าฉันกำลังเดินเข้าไปในโรง เตี๊ยมโบราณ และโรงเตี๊ยมโบราณที่ว่านี้มีอายุเกือบ 200 ปีเข้าไปแล้ว

เจ้าหน้าที่สาวข้างในใส่ชุดกี่เพ้าสีเหลือง ออกมาต้อนรับเรา และยินดีเมื่อเราขอเข้าไปชมด้านใน
แม้ว่ามองจากด้านนอกจะเป็นอาคารตึกแถวแคบๆ แต่เมื่อเดินทะลุเข้าไปข้างในจะพบสวนเล็กน่ารักกลางตึกแถว บรรยากาศอบอุ่น  น่านั่งพักผ่อน

เป็นครั้งแรกสำหรับการเดินทางคราวนี้ที่ฉันรู้สึกเสียดายที่เราขับรถมา กัน เพราะโรงแรมแห่งนี้ไม่มีที่จอดรถ หากจะพักที่นี่ ต้องเลยไปจอดที่ลานจอดซึ่งอยู่ห่างออกไป 8 ห้องแถว ซึ่งแน่นอนไม่มีใครกล้าเสี่ยง

เราเดินเล่นในเมืองมะละกาช่วงบ่ายของวันแรก และช่วงเช้าของวันที่สอง แดดที่ร้อนอ้าว ทำให้การเดินชมเมืองไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ ชนิดที่ว่าวันแรกกว่าจะเห็นว่ามะละกาสวย ก็ล่วงเลยไปหกโมงเย็น แดดร่มลมตกเข้าไปแล้ว  ความรื่นรมย์ในอารมณ์ค่อยมาเยือน  ตอนนั้นเห็นอะไรดูดีไปหมด แค่เหลือบตาเห็นพื้นถนนในเมืองปูด้วยอิฐบล็อกตัวหนอนก็ยังรู้สึกว่า...สวยดี แฮะ  เห็นบ้านเมืองเขาขนาดเล็กกะทัดรัดก็ว่าน่ารักดีนะ  เอ๊ะ...มีพิพิธภัณฑ์แสดงงานความงามไม่มีที่สิ้นสุดด้วย เป็นความงามประเภทความคิดพิลึกๆ อย่างพวกชาวเขาเผ่าคอยาวบ้านเรา อะไรทำนองนั้น....  พอมองไปด้านหลัง มีคุณแม่กับคุณลูกตัวกำลังตุ้ย ส่วนตั๊วส่วนตัวกันในสนามเด็กเล่น เป็นสนามเด็กเล่นที่กว้างขวาง เรียบร้อย ของเล่นน่าเล่นมาก...  และไม่ใช่ของเล่นเก่าสนิมเขรอะ ทิ้งๆ ขว้างๆ แบบบ้านเรา เห็นแล้วอิจฉาน่ะที่บ้านเราสนามเด็กเล่นดีๆ หายากเหลือเกิน ทำไมเศรษฐีใจบุญเงินเหลือทิ้งเหลือขว้างไม่คิดจะสร้างสนามเด็กเล่นบริจาค บ้างนะ  ฉันจะอนุโมทนาจริงๆ

อีกที่หนึ่งที่เสียดายไม่ได้เข้าชมคือ พิพิธภัณฑ์การเดินเรือทะเล (Maritime Museum) ที่สร้างจำลองตามแบบเรือ The Flora De La Mar ของโปรตุเกส ใช้ขนทรัพย์สมบัติอันมีค่าจากมะละกาไปยังโปรตุเกส แต่ล่มที่นอกชายฝั่งของเกาะสุมาตราเสียก่อน  ทำให้ทรัพย์สมบัติของสุลต่านและมะละกา ไม่ได้ถูกโปรตุเกสขนออกไป

พวกเราอุตส่าห์มองพิพิธภัณฑ์นี้กันตั้งแต่วันแรกที่มาถึง ตั้งอกตั้งใจว่าจะเข้าชมแน่ๆ แต่พอมีจังหวะโอกาสเข้าไปซื้อตั๋ว เจ้าหน้าที่ชาวมาเลย์กลับไม่มีเงินทอน แถมไม่มีทีท่าที่จะพยายามหาเงินทอน เพื่อจะได้รักษาลูกค้าน่ารักๆ สามคนไว้ ลูกค้าทั้งสามเลยต้องเดินหาร้านค้าที่จะแลกเงินเอง แต่บังเอิญร้านค้าตั้งเลยไกลไปหน่อย อากาศที่ร้อน ชวนนั่งดื่มน้ำเย็นๆ ให้ชื่นใจ เลยนั่งนานกันไปหน่อยจนรากงอก ขี้เกียจที่จะเดินย้อนกลับไปชมดู

เราสามคนนึกสรุปกันเอง “คนมาเลย์นี่ค้าขายไม่เก่งเลย”  ก่อนเว้นช่วงส่งเสียง “เนอะ” พยักหน้าเห็นพ้องกันหงึกหงัก

แต่ นั่นอาจจะเป็นการด่วนสรุปไปก็ได้ เพราะถ้านึกทวนดีๆ ที่นี่มีวิธีถ่ายเทเงินนักท่องเที่ยวได้แนบเนียน ด้วยการนำอาคารเก่ามาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เช่นอาคารสตัดธิวส์ที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ วังของสุลต่านแห่งมะละกาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม และมีอีกหลายอาคารที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อย่างพิพิธภัณฑ์ความงามที่ไม่มีที่สิ้นสุดที่ฉันเอ่ยพาดพิงไปแล้ว

ขณะนั่งดื่มน้ำเย็นๆ ชื่นใจ อย่างเกียจคร้าน อดไม่ได้ที่จะมองบรรยากาศรอบๆ อีกครั้ง....

และนี่คือดินแดนเล็กๆ ที่สายลมตะวันออกกับสายลมตะวันตกมาบรรจบกัน

ไม่มีความคิดเห็น: