20 มิถุนายน 2554

Popular Prague 4

                ชอบใจจริง  ๆ  เวลาเดินเที่ยวในเมืองปรากแผนที่สักฉบับในมือไม่มีรับรองไม่หลง และถึงแม้จะมีแผนที่ในมือ ฉันก็คงขี้เกียจกางออกดูอยู่ดี สู้เดินไหลตามฝูงชนด้านหน้าไปดีกว่าเดี๋ยวต้องถึงสถานที่เที่ยวที่สำคัญที่ไหนสักแห่ง
                 ไหลตามฝูงชนไปเรื่อย ๆ มีแอบเลี้ยวลด ไปดูโน่นนี่บ้างตามประสา อย่างร้านขายของที่ระลึกระหว่างทางที่ออกจะโปรดมากกว่าที่อื่นในยุโรป ด้วยลักษณะงานที่สีสันจัดจ้านสนุกสนาน เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าหน้าตานิ่ง ๆ ดูเฉย ๆ แบบคนเช็กที่เดินสวนผ่านไปมา ไม่น่าจะมีอารมณ์ขี้เล่นสร้างสรรค์งานอย่างนี้ได้เลย แล้วแหมฉันกับเพื่อนร่วมบ้านไม่รู้ติดใจอะไรนักหนากับเรื่องห้องน้ำเห็นป้ายสีสันสดใสลวดลายการ์ตูนน่ารักเขียนคำว่า WC แขวนติดเต็มผนังก็วนดูอยู่นั่น จับ ๆ จ้อง ๆ จะซื้อไม่ซื้ออยู่ตั้งนาน


                ครั้นเดินต่อไปได้อีกสักหน่อย ก็เจอะเจอเข้ากับพิพิธภัณฑ์ Franz Kafka  นักเขียนชื่อดังที่ยืนอวดโฉมบนภาพจิ๊กซอร์รวมพลคนดังของปรากที่เพื่อนร่วมบ้านซื้อมา  นักท่องเที่ยวเมื่อผ่านมาถึงตรงนี้ ถึงไม่ใช่แฟนนักเขียนคนดัง เชื่อว่ายังไงก็อดใจไม่ไหวที่จะต้องหยุดแวะถ่ายรูปรูปปั้นไม้สองชายหน้าพิพิธภัณฑ์ที่ยืนเปลือยกายบิดหมุนไปมา แล้วน้ำก็ไหลพุ่งจู๊ด ปลดปล่อยจากอวัยวะสำคัญ



                 ที่สุดก็มาถึงตีนสะพานชาร์ลส์ อารมณ์ตอนนั้นรู้สึกชาร์ลส์ทั้งขลัง ทั้งโรแมนติก และมีชีวิตชีวา ก็ดูเถอะจะมีสะพานไหนบ้างที่มีหอคอยสไตล์โกธิคยอดแหลมสูงปี๊ดรอคอยต้อนรับตรงทางเข้า แถมราวสะพานสองข้างยังประดับประดาไปด้วยรูปปั้นนักบุญต่าง ๆ ในรูปแบบสไตล์บาโรก  ผู้คนที่หลั่งไหลอยู่เต็มสะพานก็ล้วนแต่ยิ้มแย้ม ดีกรีความสุขแผ่ล้นกันเกลื่อนกราด ชี้ชวนกันชมวิวทิวทัศน์ของตัวเมือง ดื่มด่ำกับสายน้ำวัลตาวาที่ไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง และที่แน่ ๆ อดไม่ได้ที่ต้องหยุดแวะชมผลงานของบรรดาศิลปินอิสระทั้งหลาย ที่นำผลงานของตนมาวางอวดโฉมแสดงกันเต็มที่  มีทั้งที่เป็นภาพวาด ของที่ระลึกชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ  เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ต่าง  ๆ  ที่เป็นนักดนตรีก็บรรเลงเพลงสด ๆ ถ้าชอบใจก็ซื้อผลงานกลับไปฟังกันต่อ นักแสดงเร่ถนัดการแสดงแบบไหนโชว์กันให้เต็มที่ มีชีวิตชีวาซะขนาดนี้ทำให้หลายวันที่อยู่ที่ปราก อดไม่ได้มีโอกาสเมื่อใดเป็นต้องวนเวียนกลับมายังสะพานชาร์ลส์ทุกที 




                    เรื่องเล่าของสะพานชาร์ลส์ ณ ปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องราวของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายภาษาที่มีจำนวนมากจนน่าทึ่งเดินสวนผ่านกันไปมา ทั้งที่ตั้งใจมาเยือนชาร์ลส์โดยเฉเพาะ และเพื่อสัญจรข้ามจากย่านเมืองเก่าไปยังปราสาทปรากคอมเพล็กซ์ที่อยู่อีกด้าน แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องเล่าของชาร์ลส์ น่าจะเริ่มต้นที่ตัวเลข 1 3  5  7  9  7 5  3 1   อย่าเพิ่งงงตัวเลขที่ว่า เป็นตัวเลขของวันและเวลาในการวางศิลาฤกษ์สร้างสะพาน นั่นคือเวลา 05.31 . ของวันที่ 9 กรกฏาคม ค.. 1357 ว่ากันว่าวันเวลาดังกล่าวเป็นความตั้งใจของนักดาราศาสตร์ในราชสำนักสมัยนั้น ที่เลือกขึ้นมาเพื่อจะได้ตัวเลขที่เมื่ออ่านเรียงจากซ้ายไปขวา และขวาไปซ้ายแล้วเหมือนกันทั้งสองด้าน
                      นอกจากตัวเลขพิเศษที่ว่า ชาร์ลส์ยังมีสูตรเด็ด นั่นคือ ไข่และนมที่ใช้ผสมลงไปในปูนขาวสำหรับเชื่อมหินที่ใช้ในการก่อสร้างสะพาน บางตำนานถึงขั้นเพิ่มแป้งและไวน์ลงไปด้วย เชื่อกันว่าส่วนผสมพิเศษนี้ช่วยให้สะพานแข็งแรงทนทานต่อกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากในยามมีอุทกภัยได้ แล้วแม่น้ำวัลตาวาเห็นไหลเอื่อย ๆ ผ่านตัวเมืองไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น เวลาร้ายคงร้ายน่าดู เพราะเคยถล่มสะพานเชื่อมเมืองอันเก่าพังลงไปมาแล้ว ทำให้ต้องสร้างสะพานชาร์ลส์ขึ้นมาแทน
              ตำนานเกี่ยวกับสะพานชาร์ลส์ยังมีอีกหลายขนาน ฉันบอกแล้ว กรุงปรากน่ะมีกลิ่นอายความลึกลับเจืออยู่  ระหว่างเดินไปบนสะพานมุ่งหน้าไปยังเขตเมืองเก่าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับปราสาทปรากคอมเพล็กซ์  เลยกึ่งกลางไปสักหน่อยให้สังเกตุรูปปั้นทางซ้ายมือให้ดี ๆ จะมีรูปปั้นยอดฮิต รูปปั้นของ St. John Nepomuk ที่ใครผ่านไปผ่านมาเป็นต้องหยุดแวะเข้าไปลูบคลำรูปภาพที่อยู่ตรงฐานด้านล่าง จนทำให้พื้นผิวบริเวณนั้นเป็นมันวาวจากฝีมือการขัดถูของนักท่องเที่ยวด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้โชคดี และได้กลับมาเยือนปรากอีกครั้งความเชื่อแรกนี่ไม่เท่าไหร่ แต่ข้อหลังนี่สิ ทำเอาฉันขอแทรกเข้าไปร่วมขบวนกับชาวบ้านชาวช่องลูบ ๆ คลำ ๆ ที่ฐานรูปปั้นกับเขาบ้าง
                เรื่องราวของ นักบุญเนโปมุก กับความเชื่อที่ว่าไม่น่าไปด้วยกันได้เลย เพราะความจริงแล้ว นักบุญเนโปมุกเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ในสมัยก่อนที่ราชินีของกษัตริย์เวนเซสลาสที่ 4 (คนละองค์กับ Good King Wenceslas ที่สร้างวิหารเซนต์วิตัส) มาสารภาพบาปด้วยเสมอ ครั้นกษัตริย์เกิดระแวงในตัวราชินีขึ้นมา ได้บังคับให้ท่านบอกความลับที่ราชินีได้มาสารภาพบาป นักบุญเนโปมุกได้ปฏิเสธ แม้ว่าจะถูกทรมานอย่างหนัก นั่นทำให้กษัตริย์กริ้วจัด สั่งให้ทหารมัดร่างแล้วโยนท่านทิ้งลงไปในแม่น้ำจากสะพานชาร์ลส์ นั่นทำให้ภายหลังเมื่อได้รับการยกย่องเป็นนักบุญ จึงได้มีการสร้างรูปปั้นของท่านไว้บนสะพาน





              เรื่องเล่าขานยังไม่จบ เสริมต่อกันว่าตอนที่นักบุญเนโปมุกถูกโยนลงแม่น้ำนั้น ช่วงสะพานบริเวณนั้นได้พังลง พยายามซ่อมแซมอย่างใดก็ไม่ได้ผล กระทั่งคนงานรายหนึ่งได้ทำสัญญากับปิศาจ ยินยอมมอบวิญญาณดวงแรกของคนที่เดินข้ามสะพานให้แก่ปิศาจถ้าสามารถซ่อมสะพานได้สำเร็จ  และเมื่องานซ่อมสะพานเสร็จสมบูรณ์  คนงานได้ขอให้ยามปล่อยไก่ให้ข้ามสะพานก่อนรุ่งเช้า ก่อนที่จะมีคนอื่นตื่นขึ้นมาทันได้ใช้สะพาน แต่ปิศาจย่อมเป็นปิศาจ ฉลาดและเจ้าเล่ห์ มันซ้อนกลโดยปลอมตัวเป็นผู้ช่วยคนงาน วิ่งไปหาภรรยาของคนงานเพื่อแจ้งข่าวว่าสามีของเธอประสบอุบัติเหตุ นั่นทำให้เธอรีบวิ่งตรงไปที่สะพาน ก่อนที่ยามจะทันได้ปล่อยไก่ นั่นทำให้วิญญาณของเธอกลายเป็นของปิศาจไปตลอดกาล…..
          ค่ำคืน…. แวะกลับมาที่ชาร์ลส์อีกครั้ง ตำนานเล่าขานเรื่องดวงวิญญาณล่องลอยส่งเสียงคร่ำครวญเหนือสะพานไม่อาจต้านทานนักท่องเที่ยวยุคดิจิตอลได้ สะพานชาร์ลส์ยังคงคราคร่ำด้วยผู้คน คราวนี้ ส่วนใหญ่มาเป็นคู่ ต้านลมหนาว ลมแรงด้วยกัน และที่ดูเหมือนเป็นอุปกรณ์เพิ่มเติมจากยามกลางวัน รวมทั้งฉันและเพื่อนร่วมบ้านด้วย คือขาตั้งกล้อง  จุดประสงค์ที่พ้องกัน…. เก็บรูปบรรยากาศชาร์ลส์ในยามค่ำคืน
        ขณะไหลตามนักท่องเที่ยวกลับไปยังที่พัก อดสงสัยไม่ได้ ชาร์ลส์จะได้หลับได้นอนกี่โมงยามกันเนี่ย         


 

ไม่มีความคิดเห็น: