25 พฤษภาคม 2554

เที่ยววัด วัด วัด และศาลเจ้าในเกียวโต ตอนที่ 5 ทางเดินระเบียงไม้ที่แปรสภาพเป็นสะพาน

เป็นความบังเอิญและสอดคล้อง ที่จากศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ ไทชะ เราสองคนได้ไปเยือนวัด โทฟุคุจิ (Tofuku-ji) จากอุโมงค์ทางเดินที่เกิดจากโทรีจำนวนมากเรียงต่อกัน คราวนี้เปลี่ยนบรรยากาศเป็นเดินไปตามทางระเบียงไม้ที่ทำจากต้นซุงขนาดใหญ่บ้าง


โทรีนั้นสีส้มแดงฉูดฉาด แต่ทางเดินที่นี่เป็นสีไม้ธรรมชาติ

เริ่มจากต้นทางนั้น เสาของระเบียงไม้ ค่อนข้างอยู่ชิดติดกัน ทำให้ช่วงแรก ความสนใจจะมุ่งเน้นไปที่ตัวระเบียงเป็นหลัก

อิฐ และ ปูนเป็นวัสดุที่น่าน้อยใจของที่นี่ พุทธสถานและศาลเจ้าแต่ละแห่งล้วนใช้ไม้เป็นวัสดุหลักทั้งนั้น และมักไม่แปรสภาพซับซ้อน จากลำต้นที่เคยขึ้นสูงตระหง่านสมัยเป็นต้นไม้เพื่อแตกกิ่งก้านและใบรับแดด เมื่อกลายเป็นเสาค้ำยัน ก็ยังคงรูปทรงดังเดิม ยืนสูงตระหง่านคล้ายสมัยเป็นต้นไม้

ฉันไม่แน่ใจเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบก่อสร้าง หรือเป็นแค่ความบังเอิญ ที่เสาต้นซุงของระเบียงเมื่อแรกเริ่มต้นจะค่อนข้างถี่ ก่อนจะค่อยๆ ทอดระยะห่างออกไป เผยให้เห็นทิวทัศน์แวดล้อมของสถานที่ตั้ง นั่นทำให้ค่อยๆ ลืมไปว่ากำลังเดินอยู่บนทางระเบียง เพราะความสนใจที่แรกอยู่กับระเบียงไม้ ค่อยๆ เบี่ยงเบนไปยังธรรมชาติด้านนอก



จังหวะและรูปทรงของไม้ใหญ่ที่ขึ้นในเขตพุทธสถานและศาลเจ้าแต่ละแห่ง ช่างสอดคล้อง ต่อเนื่อง เหมือนตั้งใจ และไม่ตั้งใจอยู่ในที ทำให้เป็นประเด็นที่ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านได้ถกกันทุกที (สิน่า)
             “ขึ้นเองโดยธรรมชาติ เพียงแต่ตัดแต่ง เก็บกวาดรอบๆ ให้เรียบร้อยสักหน่อย” ฉันเสนอ
             “ไม่มีทาง”  เพื่อนร่วมบ้านแย้งด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจหนักแน่น  “ปลูกเองทั้งนั้น เพียงแต่ลวงให้เหมือนเป็นธรรมชาติ... อาจจะมีขึ้นเองตามธรรมชาติบ้าง แต่ส่วนใหญ่ปลูกเองทั้งนั้นแหละ”
             “จริงเหรอ”   ฉันจำได้ว่า กวาดตามองต้นไม้ที่ขึ้นรายล้อมอย่างไม่แน่ใจ กระทั่งเราเดินกันไปจนสุดทางสุดขอบเขตของพื้นที่ของวัดแห่งหนึ่ง
             “นั่นไง”  เพื่อนร่วมบ้านร้องอย่างมีชัย  ชี้ให้ฉันมองแนวต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ด้านนอก ภาพที่เห็นทำให้ต้องยอมรับ คงจะจริงอย่างที่เพื่อนร่วมบ้านว่า พื้นที่นอกเขตวัดออกไป มีไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น ต้นหญ้าเล็กๆ ด้านล่างขึ้นรุงรัง แม้ประเภทของต้นไม้จะเหมือนๆ กัน แต่จังหวะความสอดคล้อง ถี่ห่างของไม้ใหญ่ต่างจากในเขตวัดอย่างสิ้นเชิง

ความเพลิดเพลินจากการได้เดินชมทิวทัศน์ด้านนอก ได้แลเห็นสายน้ำเล็กๆ ที่ไหลซัดเซาะไปตามฝั่งหินสองด้าน  ทำให้แทบไม่รู้ตัวเลยว่า ทางระเบียงไม้ ได้ทอดนำเรียบไปกับโตรกผา แปรสภาพเปลี่ยนเป็น สะพาน ได้เห็นไม้ใหญ่ในระดับที่สูงในระดับเดียวกัน ทำให้คล้ายกับเดินอยู่บนทางเดินลอยฟ้า แม้จะไม่ถึงขนาดทางเดินบนเรือนยอดไม้ก็เถอะ

สิ้นสุดทางเดินระเบียงไม้ ด้านในมีวิหารเล็กๆ แสนเรียบและธรรมดา หากให้ความรู้สึกสงบและนิ่งแก่ผู้มาเยือน เป็นจิตวิญญาณที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจ ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

สะพาน สึเต็นเคียว (Tshuten Bridge) ของวัดโทฟุคุจิ มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะทอดตัวเหนือดงไม้ในหุบธารภายในเขตวัด  ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดเดินชมใบเมเปิลเปลี่ยนสีได้สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่ง ณ เวลานั้นอย่าได้คาดหวังว่าจะได้เดินเรื่อยๆ มาเรียงๆ แบบนี้ เพราะทั้งสะพานจะแน่นหนาไปด้วยนักท่องเที่ยว

จู่ๆ ฉันก็นึกขึ้นมา ใบไม้ปกติมีสีเขียว เมื่อเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงในช่วงเวลาสั้นๆ จึงเป็นที่ตื่นเต้นนักหนา ลองคิดกลับกัน ถ้าปกติใบไม้มีสีส้มแดง แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวในช่วงเวลาสั้นๆ  ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านคงเป็นที่อิจฉาพิลึก ที่ได้เดินทอดหุ่ยชมวิวใบไม้เปลี่ยนสีอย่างเชื่องช้า ราวกับสะพานทั้งสะพานเป็นของเราสองคน

ไม่มีความคิดเห็น: