30 พฤษภาคม 2554

เรื่องชุดไต้หวัน ตอนที่ 2 เย๋หลิ่ว...การผุผังและการเกิดใหม่

การเดินทางไปยังเย๋หลิ่ว(Yehliu) ของฉันกับเพื่อนร่วมบ้านยังคงอาศัยลิ้นออกเสียงภาษาจีนที่ว่าชัดนัก
เริ่มต้นจากนั่งรถไฟระยะสั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เราก็ได้ลงไปปร๋อที่สถานีรถไฟเมือง จีหลง (Keelung) เมื่อเดินออกจากสถานี ไม่ทันได้รู้สึกเคว้งคว้าง ก็เจอเข้ากับป้าย Visitor Center และเพียงเดินเข้าไปในนั้น เอ่ยชื่อ “เย๋หลิ่ว” ออกไป...ก็ได้กระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ ที่เจ้าหน้าที่เขียนหมายเลขรถบัส พร้อมชื่อเย๋หลิ่วเป็นภาษาจีนให้เราถือไว้สำหรับสื่อสาร พร้อมทั้งเดินออกมาส่งด้านหน้า เพื่อชี้ให้ดูว่าจะไปขึ้นรถบัสได้ที่ไหน

รถบัสที่เรานั่งเป็นรถบัสประจำทาง จอดแวะรับผู้โดยสารตามป้ายไปเรื่อยๆ ... ชอบก็ตรงบัตร easy card ของระบบขนส่งมวลชนของที่นี่ นอกจากจะใช้ได้กับรถไฟใต้ดิน รถเมล์ที่ไทเปแล้ว ยังใช้ได้กับรถไฟที่วิ่งออกนอกเมือง กระทั่งใช้ได้กับรถบัสประจำทางที่นี่  ช่วยให้ไม่ต้องวุ่นวายกับการเตรียมหาเศษเงินในการจ่ายเป็นค่าโดยสาร

แรกฉันเข้าใจว่ารถบัสคงแล่นเข้าไปจอดในเขต อุทยานเย๋หลิ่ว แต่ไม่ยักใช่ กลับจอดที่ป้ายทางเข้าด้านหน้าเท่านั้น คนขับที่รู้ว่าเราสองคนจะลงที่ป้ายนี้ ตะโกนบอกชื่อเย๋หลิ่วชัดเจน มีผู้โดยสารลงรถพร้อมกับเราสองสามคน น้อยกว่าที่คิดไว้ แถมไม่ได้ไปทางเดียวกับเราเสียด้วย

จากป้ายทางเข้าด้านหน้า เดินไปตามทางถนนระยะทางเอาเรื่องพอสมควร  แถมบรรยากาศข้างทางมีเรือประมงจอดเรียงรายเกยฝั่ง อุปกรณ์เครื่องมือ รวมถึงหลอดไฟจำนวนมากที่แขวนบนลำเรือ ให้ความรู้สึกเหมือนเข้าสู่เขตหมู่บ้านชาวประมงมากกว่าที่กำลังจะเข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวหย่อนใจทางธรรมชาติ  จะมีให้รู้สึกว่ามาไม่ผิดที่ผิดทางก็ตรงมีรถบัสขนาดใหญ่แล่นผ่านเป็นระยะๆ นั่นแหละ

ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านหันมองหน้ากัน...อ้อ... เข้าใจล่ะ นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่เขามากันเป็นหมู่คณะนี่เอง
เมื่อเข้าไปในเขตอุทยาน ฝั่งด้านหนึ่งเป็นลานจอดรถกว้าง มีรถจอดแน่นขนัด...ขณะอีกฝั่งเป็นที่ตั้งอาคารทำการ  เป็นทั้งที่ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่ขายตั๋ว และร้านกาแฟ คนแน่นหนาเชียว บรรยากาศความคึกคักแอบซ่อนอยู่ด้านในนี่เอง ถูกตัดต่อด้วยการขนส่งผู้คนผ่านพาหนะหลายล้อที่แล่นฉิว ทำเอาพวกที่มาด้วยสองเท้าจากถนนทางเข้าด้านหน้า อย่างเรา รู้สึกเงียบเหงาไปถนัดใจ

เย๋หลิ่ว เป็นทั้งชื่อ แหลม...ผืนดินที่ยื่นเข้าไปในฝั่งทะเล...และเป็นทั้งชื่ออุทยานทางธรรมชาติ


แรกที่เดินไปตามทางเข้า ยังรู้สึกเฉยๆ เพราะเสริมเติมแต่งด้วยมือมนุษย์มากไปหน่อย ไม่ว่าจะตุ๊กตารูปเห็ดสีสดที่ตั้งแต่งประดับ  สวนต้นไม้ที่เป็นระเบียบ  เลยรู้สึกเหมือนเดินชมสวน กระทั่งเส้นทางเดินแคบๆ นำไปสู่ลานหินกว้างริมทะเลนั่นแหละ...ถึงได้เห็นภาพปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปลกตา  พื้นที่ลานหินกว้างเต็มไปด้วยแท่งหินสูงๆ ต่ำๆ ที่ผ่านการสลักเสลาของสายน้ำ สายลม และกาลเวลา

ขณะที่เดินผ่านเข้าไป เหมือนสู่โลกอีกใบหนึ่ง โลกที่ประกอบด้วยเส้นสายของลายหิน และความโค้งเว้า กลมมนที่เนียนสวย นำพาสายตาให้มองเห็นกลุ่มหินเหล่านั้นแปรเปลี่ยนเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ที่มาก
กว่าการเป็นหินธรรมดา


ชื่อเย๋หลิ่วนั้นมีที่มาหลากหลาย แต่ฟังแล้วไม่สนุก...เลยไม่เอามาเล่าดีกว่า
สู้เรื่องนี้ไม่ได้  ฉันชอบที่คนพื้นถิ่นเรียกลานหินกว้างนี้ว่า “เต่าเย๋หลิ่ว”  ไม่ต้องเหาะเหินขึ้นไปกลางอากาศ แล้วมองย้อนลงมาข้างล่าง  ก็พอจินตนาการได้ว่าร่องรอยของเส้นหินที่บางช่วงบุ๋มลง บางช่วงนูนขึ้น จะละม้ายคล้ายกระดองของเจ้าเต่าที่คุดคู้ขนาดไหน

สมัยก่อน แหลมเย๋หลิ่ว นี้เป็นเส้นทางสายการค้าสำคัญระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับจีนไต้หวัน  แต่กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่อันตราย มีเรือประสบอุบัติเหตุจมบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก  กระทั่งมีตำนานเล่าขานกันว่าที่เป็นแบบนี้ เพราะมีเต่าใหญ่คอยสร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย  เจ้าเต่านั่นสนุกจนเกินเลย จนเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องส่งเทพธิดาลงมาปราบพยศ
“เจ้าเต่า...ไฉนเจ้าถึงทำร้ายชีวิตผู้คนไปจำนวนมากเช่นนี้ เอาล่ะ ด้วยพลังอำนาจของข้า ข้าจะลงโทษเจ้า และอย่าหวังว่าเจ้าจะหลบหนีไปได้”

และเพราะตำนานเรื่องเล่านี้ ยามใดที่อากาศเปลี่ยนแปลง มีกลุ่มควันลอยละล่องเหนือผืนหินที่ยื่นเข้าไปในฝั่งทะเล ผู้คนก็จะพากันพูดว่า “ดูสิ... เจ้าเต่าใกล้ตายนั่น หายใจรวยรินเป็นครั้งสุดท้ายอีกแล้ว”
แผนที่ในมือที่ได้มาตอนซื้อตั๋วเข้าไปในเขตอุทยาน  ช่วยเร้าความตื่นเต้นในแต่ละย่างก้าว ด้วยการทำเส้นทางและแสดงที่ตั้งของก้อนหินต่างๆ ที่ตั้งชื่อตามรูปลักษณ์ที่ละม้าย พร้อมภาพถ่ายของจริงเป็นการยืนยัน

หินเห็ด...Mushroom Rock  ดูจะมีจำนวนมากที่สุด กระจัดกระจายให้เห็นไปทั่ว
เข้าใจตั้งชื่อนะ เพราะเหมือนเห็ดจริงๆ เสียด้วย  ตรงบริเวณที่เป็นฐานค่อนข้างกว้าง ก่อนที่ตรงส่วนกลางจะขอดกิ่ว และกลับมาบานแฉ่งอีกครั้งตรงบริเวณด้านบนที่เหมือนหมวกเห็ด ทั้งยังมีรอยพรุนเหมือนฟองน้ำ มองแล้วก็เหมือนลวดลายบนหมวกเห็ดอีกนั่นแหละ

นอกจากหินเห็ด  มีกลุ่มหินบริเวณชายฝั่งที่เนื้อหินถูกน้ำซัดกัดกร่อนจนเนียนละมุน เป็นรูปทรงระฆังคว่ำ ได้รับการตั้งชื่อว่า หินเทียน... Candle Rock ไม่ได้โน้มเอียงตามชื่อที่ตั้ง แต่ด้านบนที่ตัดเรียบของหินทรงระฆังคว่ำกลุ่มนั้น มีเศษติ่งหินตั้งอยู่ในจังหวะที่ช่างพอเหมาะพอเจาะเหมือนเป็นไส้เทียนที่โผล่ขึ้นมาพอดี

และถ้าหันมองมาอีกด้าน จะเห็นประติมากรรมหินในชื่อ หินไอติม...Ice Cream Rock  หินไอติมดูไม่สวยนวลเนียนเหมือนประติมากรรมหินชิ้นอื่น แต่น่าทึ่งตรงที่มองปุ๊บ แล้วชวนให้นึกถึงไอศกรีมได้ในทันที
ลักษณะของแหลมเย๋หลิ่วนั้นแคบยาว มีการทำสะพานทางเดินเป็นระยะเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว...ทั้งบางช่วงยังยกเป็นพื้นที่สูง เพื่อชมวิวในมุมกว้าง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ

งานประติมากรรมหินที่นี่ ไม่ได้เกิดจากหินก้อนใหญ่เป็นก้อนๆ แล้วถูกน้ำ ถูกลม กัดกร่อน สลักเสลา แต่จริงๆ เกิดจากเศษหินที่ผุพัง แล้วถูกน้ำพัดพาสะสมอัดตัวเป็นชั้นๆ จนกระทั่งเศษหินเหล่านั้นกลับกลายมาเป็นหินอีกครั้ง... เป็นการผุพังและเกิดใหม่...วนเวียนเป็นวัฏจักร



งานชิ้นเด่นของที่นี่คือประติมากรรม หินเศียรราชินี...Queen’s  Head  Rock  กวาดตามองหาไม่ยาก ตรงบริเวณไหนที่มีคนต่อคิวยาวๆ ตรงนั้นแหละ
และนั่นไง...ที่ยืนกางร่มต่อแถวกันอยู่ ลองมองไล่ไปจนถึงต้นแถว...หินราชินีตั้งอยู่ตรงนั้น มองจากไกลๆ ละม้ายคล้ายเศียรราชินีผู้สูงศักดิ์จริงๆ เสียด้วย เสี้ยวหน้าด้านข้างเชิดเล็กน้อย  และสวมมงกุฎด้านหลัง
เห็นอย่างนั้นแล้ว เดินตรงดิ่งไปที่หมายเพื่อต่อคิวถ่ายรูปคู่กับหินเศียรราชินีกับเขาบ้าง  แต่...เมื่อย่นระยะทางเข้าไปใกล้...จากที่มองคล้ายเศียรราชินีเริ่มไม่เหมือน รูปร่างดูเปลี่ยนแปลกไป...  ไปละม้ายอีกครั้งเมื่อไปยืนมองใกล้ๆ  แต่ฉันรู้สึกว่าเวลา มองจากมุมไกลๆ เศียรราชินีดูมีสง่าราศีกว่าเวลามองใกล้ๆ เยอะเลย... อาจเป็นเพราะถ้ามองจากที่ไกลๆ จะได้รับการเสริมให้โดดเด่นขึ้นจากผืนหินกว้างที่ดูเวิ้งว้าง และท้องฟ้าสีจัดของยามกลางวันซะละมัง



หินเศียรราชินีแต่เดิมมีรูปลักษณ์เช่นเดียวกันหินเห็ด แต่ส่วนด้านบนที่บานเป็นหมวกเห็ดได้หักพังลงมาในช่วงปี ค.ศ.1962-1963  ทำให้มองเหมือนเสี้ยวหน้าด้านข้างของราชินีอลิซาเบธ
เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1962-1963 ดูนมนาน แต่ถ้าเทียบอายุของประติมากรรมหินก้อนนี้แล้ว ยังแสนเยาว์วัย ตามวิธีการคิดคำนวณทางวิทยาศาสตร์ หินก้อนนี้สูง  8 เมตร และจากสถิติการยกตัวขึ้นสูงของแผ่นดินไต้หวันทางตอนเหนือ ที่ขยับสูงขึ้นปีละประมาณ 2-4 มิลลิเมตร  เท่ากับว่างานประติมากรรมหินชิ้นนี้มีอายุประมาณ 4,000 ปี...ฉะนั้น ใครจะไปรู้ ประติมากรรมหินก้อนนี้อาจเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์มาแล้วหลายครั้งหลายคราก็เป็นได้

บริเวณส่วนคอที่ระหงของหินเศียรราชินี เกิดจากสายลม แสงแดด  และสายฝนช่วยกันกล่อมเกลา มีความยาวเส้นรอบวง 158 เซนติเมตร ขณะที่เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 50 เซนติเมตร  ชวนให้หวั่นไหวว่า ประติมากรรมชิ้นนี้จะอยู่ในรูปลักษณ์นี้ได้อีกนานแค่ไหนเชียว  และเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ จึงร้องขอนักท่องเที่ยวขณะถ่ายรูปคู่กับราชินี กรุณาอย่าโอบรอบคอราชินี (นะจ๊ะ) เพื่อที่ราชินีจะได้ชูลำคออันระหงอยู่ได้ไปอีกนานๆ


พ้นจากลานหินกว้าง สามารถเดินขึ้นไปชมวิวบนหน้าผาสูง เมื่อมองลงมา จะได้เห็นผลงานทางธรรมชาติอีกชิ้นหนึ่ง ตรงบริเวณชายฝั่ง
หินเต้าหู้...bean curd rock  คนไต้หวันตั้งชื่อให้อย่างนั้น มองแล้วเฉยๆ รู้สึกเหมือนสะพานหินที่ยื่นเข้าไปในทะเลมากกว่า เพิ่งจะมีงานประติมากรรมหินชิ้นนี้แหละ ที่มองแล้วจินตนาการไม่เหมือนที่คนพื้นถิ่นเขาเห็นกัน

แอบกระซิบบอก จากบนเชิงผาด้านบน ไม่ได้แค่เห็นผลงานของคลื่นทะเลที่ซัดกร่อนชายหาดเท่านั้น  แต่จะได้เห็นพันธุ์ไม้แปลกๆ ที่ขึ้นตามเชิงผาด้วย...และดอกไม้ที่ชูช่อแถวนั้น ก็สวยจับใจ แปลกตา เป็นเสมือนของหวานตบท้าย


หลังจากได้เสพผลงานประติมากรรมหินจนอิ่มสมใจ

ไต้หวัน ตอนที่1 พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน 



ไม่มีความคิดเห็น: