คนที่ฉันเที่ยวอ้าแขนกว้างๆ บอกใครต่อใครว่า 'รักเท่าฟ้า' เคยบอกฉันแต่ยังเล็ก “พิพิธภัณฑ์ที่ไต้หวัน เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุจีนล้ำค่าที่ดีที่สุดในโลก”
บางครั้ง บางครา เราก็ตามรอยคนที่เรารักเป็นนักหนาโดยไม่ตั้งใจ
หมู่อาคารที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เด่นตรงหลังคาสีเขียวที่ชายคาโค้งแหลมงอนขึ้นตามแบบลักษณะของสถาปัตยกรรมจีน สีเขียวนั้นสดใสสอดรับกับบรรยากาศแมกไม้รอบด้านที่เขียวชอุ่มร่มรื่น...ช่างเป็นการใช้สีเขียวปรับอุณหภูมิ ปรับความรู้สึกของผู้มาเยือนให้พร้อมที่จะเข้าไปซึมซับความงามของศิลปวัตถุที่วางแสดงอยู่ด้านใน
National Palace Museum เป็นชื่อเรียกภาษาอังกฤษของที่นี่ หากในภาษาจีนเรียกว่า กู้กง อันเป็น 'กู้กง' เดียวกับ 'พระราชวังต้องห้าม' ที่กรุงปักกิ่ง ที่จำได้แม่นนัก เพราะเคยเดินวนเที่ยวถามทางใครต่อใครแถวจัตุรัสเทียนอันเหมินอยู่รายรอบ แต่ไม่ยักมีใครรู้จัก “forbidden city” สักคน จนเปล่งคำว่า “กู้กง” ออกไปเท่านั้นแหละ เสียงร้องอ๋อ เข้าใจในบันดล แม้จะชี้บอกทางกันไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็ช่วยให้ฉันพาตัวไปถึง 'พระราชวังต้องห้าม' จนได้
ส่วนหนึ่งเป็นที่ลิ้นคนไทย เวลาออกเสียงภาษาจีนแล้ว “ชัดจนน่าตกใจ”
รูมเมทชาวจีนคนหนึ่งเคยบอกฉันไว้อย่างนั้น เมื่อครั้งหนึ่งเราคุยกันถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองจีน แล้วฉันเอ่ยชื่อ “กุ้ยหลิน” ออกมา สาวหมวยทำตาโต แสดงท่าอัศจรรย์ใจ ว่าฉันช่างออกเสียง กุ้ยหลินได้ชัดเสียเหลือเกิน และการออกเสียงภาษาจีนของสถานที่แต่ละแห่งได้ชัดจนน่าตกใจตามที่เธอว่า ช่วยให้การสื่อสาร ถามเส้นทางไปเยือนสถานที่หลายๆ แห่งในไต้หวันนั้นง่ายกว่าที่คิดไว้
กู้กงที่ไต้หวัน กับกู้กงที่ปักกิ่งนั้นมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง ศิลปวัตถุที่แสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวัน ล้วนขนย้ายมาจากพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังกู้กง เป็นการย้ายหนีในช่วงที่จีนประสบปัญหาการถูกรุกรานจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าถูกทำลาย
เมื่อเข้าไปในอาคาร...ผู้คนหนาแน่น ลองไปดูสถิติที่คนช่างเก็บเขาเก็บไว้เป็นข้อมูล ที่นี่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะที่มีผู้เข้าชมมากเป็นลำดับที่ 11 ของโลกในปีค.ศ. 2009 และที่น่ารักน่าชังและชอบมาก คือ ราคาค่าตั๋วเข้าชม แค่ 160 TWD เท่านั้น ทั้งที่เปรียบเทียบเชิงชั้นแล้วพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นยอดแห่งหนึ่งของโลก
ก่อนเข้าไปในห้องแสดงงาน แวบเข้าไปชม Children Gallery ที่อยู่ใกล้ๆ เป็นพื้นที่สำหรับคุณพ่อคุณแม่พาเด็กๆ เข้าไปทำกิจกรรม เล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปชมงานด้านใน ขณะที่กำลังจะออกจากพื้นที่ เหลือบเห็นรูปตรงบริเวณทางออก เป็นภาพวาดเด็กพร้อมผู้ใหญ่ และเจ้าผักกาดเขียวขี่หลังตั๊กแตน พร้อมที่จะเข้าไปตะลุยผจญภัยในพิพิธภัณฑ์...ภาพนี้เรียกรอยยิ้มได้กว้าง เพราะผลงานชิ้นเอกที่วางแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ใครต่อใครมาเยือนแล้วต้องไม่พลาดเข้าชมคืองานแกะสลักหยกเป็นรูปผักกาดมีตั๊กแตนเกาะแฝงอยู่ ก็เจ้าตั๊กแตนตัวนั้นนั่นแหละ ที่กลายเป็นพาหนะนำพาเด็กๆ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมเจ้าตัวหัวผักกาดที่ติดสอยห้อยตามไปเป็นเพื่อน
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งห้องนิทรรศการออกเป็น 3 ชั้น เก็บรักษาวัตถุล้ำค่ากว่าหกแสนชิ้น แต่ไม่ต้องตกใจ!! ทั้งหมดไม่ได้นำออกแสดงในคราวเดียว แต่ทำการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของที่วางแสดงทุกๆ สามเดือน ว่ากันว่าในปีหนึ่งๆ จะวางแสดงงานได้ประมาณ 60,000 ชิ้น นั่นเท่ากับว่า ถ้ารักกันจริง สามารถกลับมาเยือนที่นี่ได้เรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก็จะได้ชมงานทุกชิ้นครบถ้วน
ห้องนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็นห้องแสดงงานศิลปวัตถุประเภทต่างๆ
ชั้นแรก นั้นแสดงงานเอกสารโบราณและหนังสือหายาก ศิลปะและเครื่องเรือนสมัยราชวงศ์ชิง และงานประติมากรรมทางพุทธศาสนา ที่ฉันออกจะชอบใจและติดใจคืองานที่เรียกว่า Curio Box กล่องใส่ของขนาดเล็ก ที่มองจากด้านนอกเหมือนกล่องใส่ของธรรมดา แต่เมื่อเปิดออกจะพบช่องเล็กช่องน้อยแอบซ่อนอยู่ด้านในสำหรับเก็บของ สมกับชื่อ curio ที่มีรากคำมาจาก curious ที่หมายถึงอยากรู้อยากเห็น... กล่องที่ยิ่งเปิดออก ยิ่งชวนให้อยากรู้ ว่ามีช่องสำหรับเก็บของซุกซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง และจะต้องเปิดออก ดึงออก หรือกระทั่งหมุนจากช่องไหน.... ฉันชอบนะ แสดงออกถึงความละเมียดผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อย..ฉันเชื่อว่าแต่ละคนจะต้องแอบมีกล่องเก็บของใบโปรดของตัวเองอยู่
ทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้แค่จัดวางแสดงงานเท่านั้น แต่ได้ใช้สื่อสมัยใหม่มาประกอบ ทั้งหนังสารคดีสั้น แอนิเมชันภาพเคลื่อนไหว และช่างเปรียบเทียบ นำการจัดสรรพื้นที่ภายใน curio box ไปเทียบเคียงกับวิถีชีวิตของคนปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์พื้นที่แคบๆ ที่ต้องพยายามจัดสรรพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด
ชั้นที่ 2 แสดงงานภาพวาด ศิลปะคัดลายมือ และงานเซรามิค
ภาพวาดแบบจีนนั้นค่อนข้างคุ้นเคย ชินตา ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดทิวทัศน์ ป่าเขา ต้นสน ดูแปลกตาไปบ้างเมื่อไปเจอเข้ากับภาพวาดดอกไม้สีสด ที่ไม่ค่อยได้เห็นมาก่อน และที่ทำให้หยุดยืนดูอยู่นาน เพราะชอบและทึ่งเป็นพิเศษ เป็นภาพวาดไม้ใหญ่บนหน้าผา ที่หากมองเผินๆ ก็เหมือนภาพวาดทิวทัศน์ทั่วไป แต่ในภาพนั้น ซุกซ่อนนกหลากชนิดไว้ และทางพิพิธภัณฑ์ก็เข้าใจทำนำภาพนกของจริงมาเทียบกับนกในภาพวาดซึ่งเหมือนกันเสียเหลือเกิน ชวนให้อดพิศวงไม่ได้ว่า จิตรกรวาดภาพนกเหล่านั้นได้อย่างไร ในเมื่อสมัยก่อนไม่มีกล้องที่จะจับภาพนิ่ง แล้ววาดลอกเลียนอีกที นั่นเท่ากับจะต้องใช้ความอดทน และช่างสังเกตอย่างมหาศาล
สำหรับผลงานชิ้นเอกที่มีคนมุงดูจำนวนมากคือภาพวาดแนวนอนที่มีความยาวถึง 11 เมตร เป็นภาพที่มีชื่อว่า Along the River During the Ching-ming Festival เป็นภาพวาดแสดงบรรยากาศในวันเทศกาลเช็งเม้ง อันเป็นวันไหว้บรรพบุรุษที่สุสานของคนจีน
ภาพนี้ไม่ได้ถ่ายในพิพิธภัณฑ์ แต่ถ่ายตรงระหว่างทางเดินในสถานีรถไฟใต้ดินที่ได้จำลองภาพวาดเทศกาลเช้งเม้งในพิพิธภัณฑ์ไว้
แค่ขนาดความยาวของภาพวาดก็ดึงดูดแล้ว เมื่อไปยืนดูใกล้ๆ เป็นภาพพาโนรามา ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวรายละเอียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นต่างๆ ในวันงานเทศกาล เช่น การแสดงกายกรรม การโยนห่วง ละครลิง...ว่ากันว่าในภาพวาดมีจำนวนคนมากกว่า 4,000 คนเลยเชียว...แล้วอย่างนี้ จะไม่หยุดแวะยืนดูกันได้อย่างไร
สำหรับห้องงานเซรามิค ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่วางแสดงล้วนสวยงาม ประณีตทั้งสิ้น แต่ของใช้ที่คาดไม่ถึงว่าจะทำจากเซรามิคได้คือ หมอน...หมอนที่ใช้หนุนหัวนี่แหละ มีทั้งแบบที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมธรรมดา วาดลวดลายงดงามด้านบน กระทั่งประดิษฐ์เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ที่มากกว่าการเป็นแท่งสี่เหลี่ยมธรรมดาก็มีให้เห็น ขณะชมงานไปก็อดจินตนาการไปด้วยไม่ได้ว่า... คนสมัยก่อนใช้แท่งเซรามิคแบบนี้นอนหนุนหัวได้อย่างไร แล้วงานแบบนี้ก็ไม่เคยเห็นจากไหน นอกจากในพระราชวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่งแล้วก็ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
และที่ชั้น 2 ก่อนที่จะขึ้นไปสู่ชั้น 3 ผ่านมุมขายของที่ระลึก เจ้าตัวหัวผักกาดพร้อมตั๊กแตนตัวเขียวเป็นตัวชูโรงอีกตามเคย...เหมือนต้องการจะสะกิดเตือนกลายๆ ว่า ขึ้นไปชั้น 3 แล้ว อย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยียนผมหน่อยนะ
เอาละ...ขึ้นถึงชั้น 3 แล้ว ตรงดิ่งไปที่ห้องแสดงงานหยกแกะสลัก มุมไหนที่มีกลุ่มคนหนาแน่นมุงอยู่ ตรงเข้าไปได้เลย งานหยกแกะสลักรูปผักกาด อันเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งพิพิธภัณฑ์รออยู่
ชิ้นหยกที่นำมาแกะสลักเป็นหยกสองสี สีขาวกับสีเขียว ตรงบริเวณก้านใบเป็นสีขาว ก่อนที่ตรงปลายด้านบนเป็นกลีบใบสีเขียว และมีตั๊กแตนเกาะอยู่ นอกจากฝีมือการแกะสลักที่ประณีต จนสามารถสร้างสรรค์วัตถุที่แข็งให้กลายเป็นชิ้นผักที่สดและเปราะบางแล้ว สีธรรมชาติของชิ้นหยกเองยังเป็นตัวเสริมให้งานหยกแกะสลักชิ้นนี้กลายเป็นผลงานระดับสุดยอด
ไม่ห่างจากหยกแกะสลักรูปผักกาด มีงานแกะสลักอีกชิ้นหนึ่งที่โด่งดังเป็นผลงานชิ้นรอง นั่นคือ งานแกะสลักหินเป็นชิ้นหมูสามชั้น เห็นของจริงแล้วก็อดหมั่นไส้คนใกล้ๆ ตัวไม่ได้ เขามีโอกาสมาเยือนไต้หวันก่อนหน้าฉัน และของที่ระลึกที่เขาส่งถึงฉัน คือ ภาพโปสการ์ดรูปชิ้นหมูสามชั้นชิ้นนี้แหละ ก่อนจะบรรจงลงลายมือว่า “คิดถึง” สรุปว่าเห็นหมูสามชั้นแล้วคิดถึงฉันว่างั้นเถอะ...(น่านัก)
อืมม์ เห็นชิ้นงานของจริงแล้ว เล็กกว่าที่คาดไว้...และไม่รู้ลำเอียงเพราะมีเบื้องหลังความนัยระหว่างฉัน เพื่อนร่วมบ้าน และชิ้นหมูสามชั้นหรือเปล่า...ฉันกลับรู้สึกชอบงานชิ้นนี้กว่าหยกผักกาดอีก ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นชิ้นหมูจริงๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงเท่าหยกผักกาด เป็นเพราะสีของชิ้นงานไม่สดสว่างเหมือนชิ้นผักแกะสลักซะละมัง (ไม่รู้ล่ะ ฉันคิดของฉันเอง)
เพลิดเพลินจากงานชิ้นเล็กๆ ละเมียดอย่างหยกแกะสลัก ลองผ่านเลยไปชมงานชิ้นใหญ่หนาหนักอย่างงาน เครื่องทองสัมฤทธิ์ กันบ้าง และถ้าจะให้รู้สึก...เข้าถึง...ต้องไปยืนชมดูขั้นตอนการทำเครื่องทองสัมฤทธิ์ที่อธิบายผ่านสื่อ multimedia ที่อยู่ด้านหน้า กรรมวิธีการทำซับซ้อนและยุ่งยากชะมัด เห็นแล้วก็ทึ่งไปกับความมีน้ำอด น้ำทน และเพียรพยายามของคนสมัยก่อน
เมื่อเข้าไปดูงานด้านใน เนื้อวัตถุหนาหนักและแข็งแรงกลับกลายเป็นภาชนะใส่อาหาร น้ำ และสุราเสียอย่างนั้น...มีที่เป็นเครื่องดนตรีเหมือนกัน แต่ไม่หลากหลายเท่าที่เป็นภาชนะบรรจุอาหาร ภาชนะพวกนี้มีขาตั้งสามขา ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงกระถางธูปขนาดใหญ่ที่ตั้งตามหน้าวิหารในวัดจีน นั่นแหละ...รูปลักษณ์ประมาณนั้น
เห็นแล้วอดรู้สึกไม่ได้ว่า เป็นความตั้งใจที่จะอวดโอ่หรือเปล่า เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังและอำนาจ ในการนำวัสดุที่มีขั้นตอนการหลอมสร้างที่ซับซ้อนมาเป็นภาชนะขนาดใหญ่สำหรับการดื่ม การกิน กิจกรรมที่น่าจะเป็นกิจวัตรประจำวันธรรมดาๆ ที่กลายเป็นไม่ธรรมดาขึ้นมา
การเที่ยวเดินชมดูพิพิธภัณฑ์ที่นี่จบเร็วกว่าที่คาดไว้.... นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์ของที่นี่กับพระราชวังต้องห้าม ทำให้ฉันคิดเผื่อใจเตรียมไว้กับการเจอะเจอพิพิธภัณฑ์ที่ไม่รู้จบ เช่นเดียวกับที่พระราชวังต้องห้ามที่ฉันเดินเที่ยวชมตั้งแต่สายๆ ไปยันบ่ายคล้อย เดินผ่านหมู่อาคารกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที จนฉันเรียกขานของฉันเองว่า 'พระราชวังไม่รู้จบ' แล้วหน้าตาของหมู่อาคารแต่ละกลุ่มก็ช่างเหมือนกันเหลือเกิน ถ้าการเดินเที่ยวชมไม่มีเส้นทางที่ชัดเจน ตรงดิ่งจากประตูทางเข้าด้านหน้าไปสิ้นสุดตรงประตูทางออกด้านหลัง อาจจะเผลอคิดได้ว่าเดินวนกลับมาทีเดิม
เอาล่ะเมื่อชมงานครบทุกห้องแล้ว...ลงจากพาหนะตั๊กแตนสีเขียวได้ แล้วก็อำลาเจ้าหยกผักกาดด้วย...ถ้ายังติดอกติดใจกันอยู่ คราวหน้าถ้ามีโอกาสกลับมาแวะชมกันใหม่ก็ได้ อย่างที่เกริ่นบอกก่อนหน้านี้ ถ้าอยากจะชมงานทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ครบทั่วถ้วน
ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี นั่นแหละ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น