24 พฤษภาคม 2554

เที่ยววัด วัด วัด และศาลเจ้าในเกียวโต ตอนที่ 4 โทรี สุนัขจิ้งจอก และขนมคุ้กกี้ทำนายโชค

ศาลเจ้า กับวัดต่างกันอย่างไร? ถ้ายึดเอาจากแผนที่ เครื่องหมาย สวัสติกะ เป็นสัญลักษณ์แทนวัด


ภาพวาดประตูไม้ที่ประกอบด้วยเสาสองข้าง และคานพาดด้านบนสองชิ้นที่เรียก โทรี (Torii) เป็นสัญลักษณ์แทนศาลเจ้า

และนั่นคือความแตกต่างของศาลเจ้ากับวัด ศาลเจ้าทุกแห่งอย่างน้อยจะต้องมีโทรีหนึ่งอัน หรือจะมากกว่านั้นก็ได้ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงเขตแดนแยกอาณาเขตอันศักดิ์ออกจากพื้นที่ทางโลก
โทรีทำจากไม้ หิน โลหะ หรือปูนซีเมนต์ได้ทั้งนั้น แต่ไม่ว่าจะสร้างขึ้นจากวัสดุใด มักจะถูกทาทับด้วยสีแดงชาด

ความเป็นมาของโทรีอ่านเจอจากหนังสือ 'เพลินกับญี่ปุ่น' เขียนโดย นพพร สุวรรณพานิช ให้ความรู้ที่แปลกดี อาจารย์นพพรเขียนเล่าว่า คำว่าโทรีนั้นฟังเป็นญี่ปุ่นก็จริง แต่รากคำมาจากภาษาสันสกฤต 'โตรณ' ลองไปค้นหารูปภาพโตรณจาก Google  ภาพโตรณที่เห็นละม้ายคล้ายโทรีของญี่ปุ่น เพียงแต่ของอินเดียไม้ที่วางพาดขวางด้านบนระหว่างเสาสองข้าง มีสามอัน และรุ่มรวยด้วยลวดลายฉลุเฉลานานา  ขณะที่ของญี่ปุ่น เรียบง่ายเป็นแบบ Minimalist อีกแล้ว  อาจารย์นพพรยังให้ความรู้ต่ออีกว่า คำว่า door ในภาษาอังกฤษนั้นก็มาจากคำว่าโตรณ นี่แหละ

โทรีคือประตูทางเข้าศาลเจ้า เป็นสัญลักษณ์แยกเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ออกจากโลกภายนอก หากโทรีเป็นประตูที่ไม่มีบานเปิดปิด นั่นหมายความว่าหากคุณพร้อม ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ก็พร้อมที่จะต้อนรับคุณตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีคำว่า open 24

ศาลเจ้าทุกแห่งอย่างน้อยจะต้องมีโทรีหนึ่งอัน แต่ที่ศาลเจ้า ฟูชิมิ อินาริ ไทชะ (Fushimi Inari Taisha) มีโทรีกว่าหนึ่งหมื่นอัน!!!   ไม่ได้อ่านจำนวนผิด  มีกว่าหนึ่งหมื่นอันจริงๆ  โทรีสีแดงชาดที่ศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ ไทชะ เรียงต่อกันเป็นแถวจนกลายเป็นอุโมงค์ทางเดิน และอุโมงค์ทางเดินโทรีนี่เองที่เป็นภาพลักษณ์จูงใจให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม


ภายในศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ ไทชะ ด้านในมี รูปปั้นสุนัขจิ้งจอก ให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งแผกจากศาลเจ้าอื่น และที่ดูเป็นลักษณะเฉพาะมากๆ อีกจุดหนึ่งคือ แผ่นป้ายไม้เล็กๆ สำหรับเขียนคำขอปรารถนาที่จะเห็นได้ทั่วไปตามวัดและศาลเจ้า แทนที่จะเป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมทรงจั่วธรรมดา กลับเป็น รูปหน้าสุนัขจิ้งจอก มีหูแดงๆ สองข้าง และเส้นคิ้ว  ที่เหลือให้เจ้าของแผ่นป้ายได้วาดหน้าสุนัขจิ้งจอกเองตามใจชอบ เท่าที่สังเกต.. ใบหน้ายอดฮิตที่นิยมแต่งแต้มจะออกแนวทะเล้น น่ารัก ตลกๆ


แล้วทำไมต้องเป็นสุนัขจิ้งจอกด้วยล่ะ?




อินาริ (Inari) คือเทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว และสุนัขจิ้งจอกหรือ คิตสุเนะ (Kitsune)  เป็นผู้เดินสารของเทพเจ้าอินาริ  สุนัขจิ้งจอกจึงเป็นเสมือนสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์

และเมื่อเทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยวเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวญี่ปุ่นให้ ความเคารพ  สวดภาวนาขอพรให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ศาลเจ้าที่สร้างอุทิศเพื่อบูชาสุนัขจิ้งจอกจึงมีอยู่มากมายทั่วประเทศ ญี่ปุ่น

ประมาณกันว่ามีศาลเจ้าอินาริทั่วทั้งญี่ปุ่นประมาณ 40,000 แห่ง นับเป็นจำนวนถึงสองในสามของศาลเจ้าทั้งหมด และหากจะนับว่าศาลเจ้าอินาริที่ไหนมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ก็ต้องยกให้ที่นี่

โทรีมากมายที่เรียงต่อกันจนเป็นอุโมงค์ทางเดิน ชวนแปลกตา สร้างบริจาคโดยผู้เข้ามาสวดมนต์ขอพร  ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านเดินไปตามอุโมงค์ไปเรื่อยๆ  แล้วอุโมงค์ทางเดินก็แยกออกเป็นสองด้าน ด้านซ้ายกับด้านขวา มองด้วยตาแล้วก็ไปทางเดียวกันนั่นแหละ คู่ขนานกันไป เห็นสาวญี่ปุ่นสองคนที่มาถึงก่อน กำลังเสี่ยงทายเลือกด้วยวิธีการนับ นับสุดท้ายหยุดทางด้านไหน ก็เดินไปทางนั้น อุโมงค์ทางเดินที่ขนานไปสองอุโมงค์มีเพียงระยะเดียว และเป็นระยะสั้นๆ  ไม่อย่างนั้นคงได้เห็นคนยืนเสี่ยงทายแบบนี้ไปจนสุดทางแน่





ขณะเดินไปเรื่อยๆ สังเกตเห็นโทรีบางอันผุพัง เผยให้เห็นเนื้อไม้ของจริงที่ยังไม่ได้ทาทับสีแดง บางอันมีสลักข้อความ และเพราะศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณตีนเขา อุโมงค์โทรีจึงค่อยๆ นำพาขึ้นไปบนเนินเขา

บางช่วงจังหวะแอบเดินออกไปนอกอุโมงค์ แล้วมองย้อนกลับมา สีแดงโดดเด่นท่ามกลางสีเขียว ให้รู้สึกเหมือนเป็นทางวงกต นำพาไปไหนสักแห่ง เดินๆ ไปอาจจะเจอสุนัขจิ้งจอกแปลงร่างเป็นคนมารอรับอยู่ปลายทางก็ได้ บรือวว์..... เคยอ่านเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้าน หรือวรรณกรรมเยาวชนเด็กของญี่ปุ่นมั้ยล่ะ  ที่มักมีเรื่องสุนัขจิ้งจอกแปลงร่างเป็นคนได้น่ะ....

สุนัขจิ้งจอกยังรุกล้ำไปถึงร้านขายของที่ระลึก ตรงทางเข้าศาลเจ้า แต่อยู่ในรูป ขนมหน้าสุนัขจิ้งจอก ใส่ถุงวางขายอยู่  นอกจากสุนัขจิ้งจอกแล้วยังเห็นสุนัขแรคคูนเซรามิคยืนเอียงคอทำหน้าเจ้าเล่ห์ให้เห็นทั่วไปอีกด้วย

ไม่ได้ลองกินขนมหน้าสุนัขจิ้งจอก เพราะดูแห้งๆ  ไม่น่าจะอร่อย แต่ได้ลองขนมรูปรีๆ รูปหน้าคนแทน เพราะทำใหม่สดให้เห็นจากในร้าน เห็นแล้วน่าลอง



จินตนาการแรกก่อนที่ขนมเข้าสู่ปาก นึกถึงแป้งที่หนานุ่ม หวานๆ แต่กลับตาลปัตร เสียงกรอบแกรบดังในปาก กลับกลายเป็นแป้งกรอบเสียนี่ เคี้ยวกลืนเข้าไปแล้ว ก็หวนนึกถึง ขนมคุกกี้ทำนายโชค (Fortune Cookie) ที่แจกเป็นของตบท้ายให้กับลูกค้าในร้านอาหารจีนในอเมริกา  รสชาติของขนมรูปหน้าคนเหมือนขนมคุกกี้ทำนายโชคแทบไม่ผิดเพี้ยน ต่างที่รูปลักษณ์เท่านั้น

ไม่รู้ว่าใครมีเหตุผลชอบพอเรื่องการเดินทางกันอย่างไร  สำหรับฉันการที่ได้บังเอิญกินขนม ณ สถานที่หนึ่ง แล้วไปเหมือนอีกสถานที่หนึ่งที่อยู่ไกลโพ้นออกไป แค่นี้ก็เป็นเสน่ห์เล็กๆ อย่างหนึ่งที่ทำให้ฉันหลงใหลชอบพอการเดินทางแล้ว

ไม่น่าแปลกใจหรอกทำไมขนมที่ร้านแถวศาลเจ้า 'ฟูชิมิ อินาริ ไทชะ' ถึงมีรสชาติเหมือนขนมคุกกี้ทำนายโชคในอเมริกา เพราะหากไปค้นหาข้อมูลความเป็นมาของขนมดังกล่าว ปรากฏว่า ชนชาติที่นำขนมดังกล่าวไปเผยแพร่ในอเมริกาเป็นชาวญี่ปุ่น ไม่ยักใช่ชนชาติจีนตามที่เข้าใจผิดมานาน

คนเข้าใจผิด คือฉันเองแหละ ไม่ใช่ใครอื่น ก็อยากแจกในร้านอาหารจีนทำไมเล่า

ไม่มีความคิดเห็น: