10 จากวัดเอนเชสู่วัดรุมเต็ก
วัด รุมเต็ก (Rumtek) เป็นวัดทิเบตขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของรัฐสิกขิม สร้างขึ้นโดยพระสังฆนายก องค์ที่ 16 ของนิกายคัจยู (Kagyu) อันเป็นหนึ่งในนิกายย่อยสี่นิกายของพุทธวัชรยาน หรือพุทธแบบทิเบตขณะลี้ภัยจากกองทัพจีนที่ได้เข้าบุกยึดครองทิเบต เพื่อใช้เป็นที่พำนัก และเผยแพร่ศาสนา โดยก่อตั้งสถาบันศึกษาพระพุทธศาสนาระดับสูงสำหรับนิกายขึ้น
วัดรุมเต็กตั้งอยู่บนเนินสูง ตรงประตูรั้วทางเข้าด้านล่าง นักท่องเที่ยวต้องแสดงพาสปอร์ตให้ทหารตรวจ และจดข้อมูลจึงจะผ่านเข้าไปได้ กลิ่นอายการเมืองแทรกซึมให้สัมผัสได้.... ระหว่างเดินสู่ตัววัด กำแพงที่กั้นอาณาเขตของวัดอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับทางเดินด้านล่าง ภาพจิตรกรรมสดงภาพพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ที่ลงสีสันเข้มสด จึงเห็นชัด โดดเด่น ยิ่งสีพื้นด้านหลังทาเรียงเป็นชั้นเริ่มจากเหลือง แดง ฟ้าเข้ม.... ช่างกล้าใช้สีเสียจริง
ภาพจิตรกรรมสดงภาพพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ที่ลงสีสันเข้มสดบนผนังกำแพง
เมื่อขึ้นไปถึงประตูกำแพงด้านบน ต้องซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่อีกครั้ง ฝนที่ตกพรำมาปรอยๆ เทกระหน่ำแรงขึ้น จึงยืนหลบฝนตรงประตูกำแพง.... และมองผ่านไปยังตัววัดที่ตั้งอยู่ภายใน
พื้นที่ภายในเขตวัดเป็นลานหินกว้าง มีอาคารโอบล้อมทั้งสี่ด้าน ตรงที่เรายืนอยู่เป็นประตูกำแพงขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับอาคารที่ขนาบล้อมตัวลาน ซึ่งถูกซอยแบ่งเป็นห้องย่อยๆ มีทางเดินระเบียงเชื่อมต่อถึงกัน
อาคารขนาดใหญ่ที่ตั้งตรงข้ามกับประตูกำแพงคือวิหาร มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสี่ชั้นที่ลดหลั่นขึ้นไป สีหลักที่เคลือบวิหารคือสีเหลือง มีสีแดง น้ำเงิน แต่งแต้ม และสีเขียวเจือปนบ้าง
บริเวณกลางลานมี เสาหิน ตั้งอยู่.... แว่บแรกที่เห็นนึกถึงเสาโอเบลิสก์ของอียิปต์ที่ถูกบรรดาชาติมหาอำนาจในยุโรปขนมาตั้งประดับในประเทศของตน โดยเฉพาะในประเทศอิตาลีที่มีถึง 11 เสา มากกว่าประเทศอียิปต์ที่เป็นเจ้าของเสียอีก
เสาโอเบลิสก์นั้นมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมฐานล่างกว้าง ก่อนค่อยๆ เรียวแหลมด้านบน บริเวณยอดนูนสูงขึ้นมาในลักษณะพีรามิด
หากเสาที่วัดรุมเต๊กเป็นเสาสี่เหลี่ยมแบนตั้งธรรมดา มีหลังคาครอบด้านบนสไตล์ตะวันออก บนตัวเสาสลักคำสอนทางพุทธศาสนา... คล้ายคลึงนะ ฉันว่า รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ไปๆ มาๆ สิ่งก่อสร้างต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะที่ไหน สมัยไหน มักมีอะไรคล้ายคลึงให้สังเกตเห็นเรื่อยๆ (ว่ามั้ย)
ฝนซาลง จึงตรงไปยังวิหารตรงกลางเพื่อไหว้พระประธานด้านในตามประสาพุทธศาสนิกชน
พระลามะ และนักท่องเที่ยวพื้นถิ่น มองอากัปกิริยาของพวกเราแล้วกล่าวเดาอย่างมั่นใจไม่ลังเล “คนไทย” ทั้งที่เวลาเจอด้านนอก น้อยคนนักจะเดาออกว่าพวกเราเป็นชาวอะไรกันแน่ แต่พออยู่ในเขตวัดปุ๊ปทายกันแม่นเชียว แสดงว่าภาษากายของคนไทยขณะเวลาเข้าวัดเข้าวา จะต้องมีเอกลักษณ์บางอย่างที่คนชาติอื่นเห็นปุ๊ป รู้ปั๊ป
ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งด้านในด้านนอกสีสันสดใส โดยเฉพาะด้านนอกตรงประตูทางเข้าปรากฏภาพ สี่ท้าวจตุโลกบาล ผู้คุ้มครองศาสนา และโลกทั้งสี่ตามคติความเชื่อเรื่องเทพผู้พิทักษ์ ผู้ป้องกันพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์
ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่นั้นประกอบด้วย ท้าวธตรัฐ...เทพเจ้าประจำทิศตะวันออก เจ้าแห่งคนธรรพ์ ผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญในการขับร้องและเล่นดนตรี ท้าวธตรัฐบนผนังกำแพงจึงอยู่ในท่วงท่าบรรเลงพิณในมือ
ท้าววิรูปักษ์.. เทพเจ้าประจำทิศตะวันตก เจ้าแห่งนาค สังเกตได้จากงูที่พันบนท่อนแขนข้างขวา
ท้าวกุเวร..เทพเจ้าประจำทิศเหนือ เจ้าแห่งยักษ์ อาจจะสังเกตยากสักหน่อย แต่ถ้ารู้ว่าท้าวกุเวรนอกจากเป็นราชาแห่งยักษ์แล้วยังเป็นจ้าวแห่งทรัพย์สมบัติ คราวนี้ละสังเกตง่ายขึ้น ด้วยรูปท้าวกุเวรบนผนังกำแพง มือซ้ายถือพังพอน ซึ่งคายเพชรพลอยของมีค่าจำนวนมหาศาลออกมา
และสุดท้าย ท้าววิรุฬหก...เทพเจ้าประจำทิศใต้ เจ้าแห่งกุมภัณฑ์อันเป็นยักษ์ประเภทหนึ่ง ไม่มีเขี้ยว ผมหยิก ผิวดำ ท้องโต พุงโร หากเป็นกุมภัณฑ์ชั้นสูงคือพญายม ขณะที่กุมภัณฑ์ชั้นต่ำคือพวกทำหน้าที่ในนรกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้บางตำราจึงเรียกเทพเจ้าประจำทิศใต้ว่าท้าวพญายม ซึ่งสอดคล้องกับพาหนะประจำตัวบนภาพวาดที่เป็นกระบือ ในภาพท่านท้าววิรุฬหกมีผิวกายสีน้ำเงิน ใบหน้าขึงขัง ถือดาบที่กำลังชักออกจากฝัก
วัดรุมเต็ก
ท้าวธตรัฐ : เทพเจ้าประจำทิศตะวันออก
ท้าวกุเวร : เทพเจ้าประจำทิศเหนือ
เพราะฝนที่ตกหนักลงมาอีก ทำให้ติดอยู่ด้านหน้าวิหาร จึงได้เดินวนดูรูปท่านท้าวทั้งสี่อยู่หลายรอบ ก่อนจะไปสะดุดที่ภาพ พระพิฆเนศ... เทพเจ้าในศาสนาฮินดูที่มีเศียรเป็นช้าง เล่าขานกันว่าระหว่างที่ก่อสร้างวัดรุมเต็กนั้น พระสังฆนายกที่ 16 ได้นิมิตเห็นพระพิฆเนศลงมาช่วยเหลือพระองค์ในการก่อสร้าง สะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธาระหว่างศาสนาที่สามารถผสมกลมกลืนไปด้วยกันได้
ด้านหลังของวิหารใหญ่มีทางนำไปสู่ สถูปทองคำ ที่ตั้งอยู่ทางด้านหลัง ภายในสถูปเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุ และสิ่งศักดิ์สิทธิจากร่างพระสังฆนายกองค์ที่ 16 ผู้ก่อตั้งวัดที่ล่วงลับไปแล้ว
ปัจจุบัน พระสังฆนายกองค์ที่ 17 ของนิกายคัจยูที่เชื่อกันว่าเป็นองค์พระสังฆนายกองค์ที่ 16 กลับชาติมาเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ประจำที่วัดรุมเต็ก ด้วยปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อน... และถ้ายิ่งตามอ่านจะยิ่งรู้สึกซ่อนเงื่อนเข้าไปอีก
เริ่มจากการที่มีผู้อ้างเป็นพระสังฆนายกซ้อนกันสองพระองค์ องค์หนึ่งนั้นได้รับการรับรองจากจีนและองค์ทะไลลามะ ขณะอีกองค์หนึ่งได้รับการรับรองจากหนึ่งในผู้สำเร็จราชการ
พระสังฆนายกองค์ที่ 17 ที่ทางการจีนและองค์ทะไลลามะให้การรับรองนั้น ตอนแรกได้ประจำอยู่ที่อารามแห่งหนึ่งใกล้กรุงลาซา ก่อนที่ต่อมาจะหลบหนีมาอยู่กับท่านทะไลลามะที่ธรรมศาลา
ขณะที่พระสังฆนายกอีกองค์หนึ่งที่ได้ยืนยันสิทธิ์เช่นกันนั้น ได้หลบหนีจากทิเบตมาอยู่ที่สิกขิม แต่ทั้งคู่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประจำที่วัดรุมเต็กด้วยปัญหาทางการเมืองที่ดูจะวุ่นวายและทับซ้อนหลายชั้น
บ้างก็ว่าพระสังฆนายกที่ทางการจีนให้การรับรองนั้นเป็นสายให้ทางการจีน แสร้งทำเป็นหนีออกมาจากทิเบต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบุกเบิกที่มั่นของจีนในสิกขิม
บ้างก็ว่าการที่องค์ทะไลลามะให้การสนับสนุนพระสังฆนายกองค์ดังกล่าวเพราะต้องการให้นิกายย่อยต่างๆ ของพุทธทิเบตมีความเป็นเอกภาพ สนับสนุนท่าน และ... อีกมากมาย (น่าปวดหัว)
ระหว่างทางเดิน ปรากฏข้อความของสังฆนายกองค์ที่ 17 “Protect the earth . Live simply. Act with compassion. Our future depends on it” น่าสงสัยอยู่ว่าเป็นข้อความของสังฆนายกองค์ที่ 17 องค์ใดกันแน่
ฉะนั้น... นี่เป็นคำตอบว่าไฉนตรงทางเข้าด้านหน้าของตัววัดแห่งนี้จึงมีทหารอินเดียคอยตรวจตรา จดชื่อ จดหมายเลขพาสปอร์ตนักท่องเที่ยว กระทั่งภายในเขตตัววัด ทหารอินเดียเหล่านี้ยังกระจายประจำตามจุดต่างๆ ทั้งยังเป็นคนชี้บอกทางพวกเราไปยังสถูปทองคำด้วยซ้ำ
ในขณะที่วัดพุทธทิเบตที่อื่นไม่มีบรรยากาศแบบนี้
หิมาลายาตะวันออก
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7