2 มกราคม 2557

หิมาลายตะวันออก ตอนที่ 7

 12. วัดปีมายังเฌ 
วัด ปีมายังเฌ (Pemayangse) เป็นวัดพุทธทิเบตที่ตั้งถัดจากเมืองโบราณ 'รัปเดนเฌ' ไปเล็กน้อย เป็นวัดเก่าแก่ยุคสมัยเดียวกับเมืองรัปเดนเฌ

ก่อนเข้าไปในเขตวัดด้านใน แอบเหลือบเห็นโต๊ะเล็กๆ ด้านหน้า เป็นโต๊ะขายตั๋วเข้าชมสถานที่ แต่ต้องขอบคุณฟ้าฝนเดือนกรกฏาคมอีกซะละมังที่โต๊ะนั้นว่างเปล่า.. ไม่มีนักท่องเที่ยวอีกตามเค

วิหารวัดปีมายังเฌ แปลกตากว่าวัดพุทธทิเบตอื่นที่ได้เยือนมาก่อนหน้านี้ สีหลักของตัววิหารเป็นสีฟ้าเข้ม ต่างจากที่อื่นที่ใช้สีเหลืองเป็นหลัก 



วัด ปีมายังเฌ

เมื่อเข้าไปด้านใน มีทางบันไดด้านหลังพระประธานนำขึ้นไปยังชั้นสอง และชั้นสาม คงไม่ได้ขึ้นไป หากไม่มีพระลามะชี้ชักชวนให้พวกเราขึ้นไปชมด้านบน

วิหารชั้นสองไม่มีอะไรพิเศษ จึงขึ้นสู่ชั้นสาม

บนวิหารชั้นสาม ตรงกลางห้อง วางงาน แกะสลักสรวงสวรรค์จำลอง ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ขณะที่ผนังรอบๆ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า สีสันจัดจ้านตามสไตล์ศิลปะแบบทิเบต แต่น่าแปลกที่หลายช่วงผนังมีผ้าแขวนปิดอยู่... นั่นช่างกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น หนึ่งในคณะจึงเดินตรงไปเปิดแง้มดู

“เฮ้ย...”

หลังผ้าที่ปิดอยู่ เป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งนิ่งอยู่ในท่าสงบ โดยมีหญิงสาวนั่งคร่อมอยู่บนตักในท่าเสพสังวาส เมื่อเดินไปเปิดผ้าทุกผืนที่แขวนปิด ล้วนเป็นภาพพระพุทธเจ้าที่มีหญิงสาวนั่งคร่อมทั้งสิ้น

ภาพเบื้องหลังผืนผ้าที่ปิดอยู่ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในปาง แยบ-ยัม (yab-yum) ของพุทธทิเบตสาย ตันตระ อันเป็นนิกายย่อยนิกายหนึ่งของนิกายวัชรยาน

ลัทธิตันตระเป็นลัทธิความเชื่อหนึ่งกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย เน้นให้ความสำคัญแก่เทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง พุทธศาสนานิกายวัชรยานเกิดขึ้นในยุคที่ลัทธิตันตระกำลังเฟื่องฟู จึงมีอิทธิพลด้านความคิดต่อพุทธนิกายวัชรยาน พระพุทธเจ้าในความเชื่อแบบตันตระจึงมี 'คู่ครอง' 

การที่รูปพระพุทธเจ้ามีพระชายานั่งสวมกอดมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ หมายถึงการรวมตัวกันของ ปัญญา (เพศหญิง) และ กรุณา (เพศชาย) ซึ่งก่อให้เกิดการตรัสรู้

ในหน้าหนังสือพิมพ์ เคยมีข่าวชาวไทยพุทธขุ่นเคืองเมื่อเห็นพระพุทธรูป 'ปางแยบ-ยัม' ด้วยเข้าใจว่าเป็นการหมิ่นแคลนพุทธศาสนา 

แต่พวกฉันมองภาพดังกล่าวแล้วกลับรู้สึกเฉยๆ ที่ร้องเฮ้ย... แต่แรกเพราะแปลกใจ ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ไม่ได้รู้ร้องเพราะรู้สึกว่าภาพดังกล่าวหมิ่นศาสนา หรือพระพุทธเจ้า 

คงเป็นเพราะสีพระพักตร์ของพระองค์ที่สงบนิ่ง ยิ่งถ้าไม่รู้เรื่องพระพุทธรูป 'ปางแยบ-ยัม' ของ 'พุทธทิเบต' มาก่อน ฉันคงนึกว่าภาพดังกล่าว เป็นการจำลองเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอนที่ธิดาพญามารทั้ง 3 ได้แก่ นางราคะ นางตัณหา และนางอรดี ได้เนรมิตเรือนร่างเป็นสตรีงามงด หมายมายั่วยวนพระพุทธเจ้าให้ตบะแตก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากกว่า


13. ทะเลสาปศักดิ์สิทธิ์
เมืองเพลลิ่งเป็นเมืองชวนฉงน ที่สร้างความประหลาดใจได้ตลอด (จริงๆ นะ)

ทะเลสาบ เคเชโอปลารี (Khecheoplari lake) เรียกขานว่า 'ทะเลสาบขอพร' เป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวสิกขิม เส้นทางเดินเข้าสู่ทะเลสาบเป็นป่าครึ้ม ละม้ายกับทางเข้าเมืองโบราณรัปเดนเฌ หากมีธงมนตราแขวนขนานริมทาง
ไปโดยตลอด


                                                                          ทางเดินสู่ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์

เมื่อใกล้ถึงทะเลสาบ ปรากฏเจดีย์ขนาดเล็กแบบศิลปะเนปาล ที่มีการวาดดวงตาพระพุทธเจ้าบนตัวเจดีย์ และตรงฐานล่างมีการวางหินซ้อนกันเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพแก่สถานที่แบบชาวทิเบต สะท้อนให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันของชาวสิกขิม ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ

                                                            เจดีย์ขนาดเล็กแบบศิลปะเนปา


                                                               ดวงตาพระพุทธเจ้าบนเจดีย์


ทะเลสาบเคเชโอปลารี ที่ปรากฏเบื้องหน้า.... เวิ้งว้าง นิ่งสงบ... ธงมนตรา สีขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง แดง พาดผ่านโอบล้อม สะพานไม้ที่ทอดนำสู่ตัวทะเลสาปขนาบด้วยแถวกงล้อภาวนาไปจนสุดทาง

ความเงียบสงบ และสิ่งประดับประดา ขับเน้นให้ทะเลสาบที่เห็นเบื้องหน้า... ไม่ต่างจากวิหารอันศักดิ์สิทธิ์

เรื่องเล่าขาน ว่ากันว่าชาวพื้นถิ่นนับถือทะเลสาบแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีนกทั้งหลายคอยปกป้อง ดูแล โดยคาบใบไม้และกิ่งไม้ที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำไปทิ้ง....

และ... ไม่ได้กล่าวเกินเลย

ทะเลสาบที่เห็นเบื้องหน้า ผิวน้ำนั้นหมดจดนิ่งสนิทเป็นสีเขียว แทบไม่เห็นการไหวกระเพื่อม และหากมองไปรอบๆ ทิวเขาที่ไม่สูงนักโอบล้อมทะเลสาบในระยะประชิด มีริ้วเมฆสีขาวแทรกแซมล่องลอยราวควันธูป.. ภาวะบรรยากาศอย่างนั้น ทะเลสาบได้กลายเป็นมหาวิหารไปแล้วจริงๆ

                                                                      ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์
                                สะพานไม้ที่ทอดนำสู่ตัวทะเลสาบขนาบด้วยแถวกงล้อภาวนาไปจนสุดทาง


                                                                         กงล้อภาวนาบนสะพาน

                       ทิวเขาที่ไม่สูงนัก โอบล้อมทะเลสาบในระยะประชิด มีริ้วเมฆสีขาวแทรกแซมล่องลอยราวควันธูป

บทส่งท้าย 
เช้าสุดท้ายในดินแดนหิมาลายาตะวันออก...

แดดยามเช้าสาดแสงอุ่นเข้ามาในห้องพัก ยั่วให้เดินออกไปยังระเบียงหลังห้อง ทิวเขาสีฟ้าตระหง่านใกล้ราวจะเอื้อมถึง บนยอดเขาเต็มไปด้วยปุยเมฆขาวนุ่มที่คลอเคลียรราวกับปุยขนมเช่นเคย

ฉันเพลินมองภาพนั้น เพื่อจดจำเป็นภาพทรงจำสุดท้าย

แต่แล้ว... ยอดเขาที่มีรอยยับย่นสีขาวได้ค่อยๆ ปรากฏขึ้น ชัดขึ้น จนต้องเพ่งตามอง สีขาวนั้นแปลก แม้จะมีสีเดียวกับกลุ่มเมฆ แต่รอยยับย่นนั้นกลืนไปกับรูปลักษณ์ของยอดเขา

ใช่แล้ว หิมะ! สีขาวนั่นคือหิมะที่ปกคลุมยอดเขา

ฉันแทบจะร้องกรี๊ดออกมา เหลียวหันไปมองหาเพื่อนร่วมคณะ ตอนนี้ทุกคนรู้ตัวกันหมดแล้ว และออกมายืนชมปรากฏการณ์ฟ้าเปิดกันพร้อมหน้า

“ใช่มั้ย ใช่มั้ย” ฉันร้องถามเพื่อนร่วมทางที่ยืนอยู่ตรงระเบียงห้องข้างๆ

“อือ” เสียงตอบยืนยันกลับมา

ในที่สุดพวกเราก็ได้เห็นยอดเขา คันเชนจุนก้า (Kachenjunga) จนได้

ใบหน้าพวกเราแต่ละคนบานฉ่ำแทบจะปริ คงต้องยืมวลีที่ว่า 'สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร' การเดินทางก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่จบ อย่าเพิ่งเลิกหวัง

โอกาส 1 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นจนได้ เห็นมั้ย

                                              

                                           ที่สุดก็ได้เห็นยอดเขาคันเชนจุนก้าจนได้

หิมาลายาตะวันออก ตอนที่ 1    ตอนที่ 2   ตอนที่ 3   ตอนที่ 4   ตอนที่ 5   ตอนที่ 6   ตอนที่ 7