มาดาร์จีลิ่งต้องชมยอดเขาคันเชนจุงก้า...
เขาสูงอันดับสามของโลก
จุดชมวิวยอดเขาคันเชนจุงก้าอยู่บนสถานที่ที่เรียกว่า
Tiger
Hill บนเนินเขา Ghum พื้นที่เดียวกับที่ตั้งสถานีรถไฟที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก
ยามเช้านักท่องเที่ยวทั้งหลายต่างพากันเดินทางมุ่งไปยังที่นี่ เพื่อรอชมแสงแดดยามเช้าส่องต้องยอดเขาคันเชนจุนก้า
ทว่า... ฟ้าเดือนกรกฏามีโอกาสเปิดแค่ 1
% แล้วฝนที่เมืองดาร์จีลิ่งตกชุกเสียยิ่งกว่าเมืองกาลิมปง...
เมื่อคนขับรถส่ายหน้า เจ้าของโรงแรมส่ายหน้า
พวกเราจึงยอมจำนนเปลี่ยนเวลาเดินทางไปยัง Tiger hill จากเวลา
ตี 4 ครึ่ง เป็นเวลา 8 โมงครึ่ง ตามเหตุผลที่ว่า
ถึงไปแต่เช้าก็ไม่ได้เห็นหรอก ไปสาย ๆ ก็ได้ ไม่ต่างกัน แล้วรอยยิ้มกึ่งปลอบใจก็ส่งมาให้
“จะได้หลับสบาย ไม่ต้องตื่นเช้า” เอ้า... เป็นการคิดในแง่บวกที่ไม่เลว
ขณะที่รถแล่นขึ้นไปตามเนินเขา
ธงมนตราที่แขวนเป็นแถวพาดผ่านทางถนนดูจะหนาแน่นมากขึ้น สีตัวธงล้วนเป็นสีจัด
น้ำเงิน เหลือง แดง เขียว ขาว... ไม่น่าเชื่อว่าสีจัด ๆ แบบนี้เข้ากับธรรมชาติที่โอบรอบได้อย่างดี
ฝนยังคงตก ๆ หยุด ๆ ช่วงไหนทิ้งระยะหน่อย พยายามมองฟ้ารอบ ๆ
ตัว เผื่อว่าเจ้า 1%
ที่ว่าจะเกิดขึ้นราวมหัศจรรย์ แต่ดูท่าคนขับรถไม่คิดแบบนั้น
กระทั่งคนขายตั๋วทางผ่านขึ้นไปยัง Tiger Hill ก็คงไม่คิดเช่นนั้น
เพราะเมื่อพวกเราไม่มีเงินย่อยจ่ายค่าผ่านทางให้ครบตามจำนวนคน ก็ตัดบทรับเงินเท่าที่เรามีอยู่แล้วโบกให้พวกเราผ่านไปอย่างง่าย
ๆ เหมือนจะชดเชยโอกาสในการมองเห็นยอดเขาคัน เชนจุนก้าให้
บน Tiger Hill นั้นมีลานและอาคารชมวิวปลูกสร้างอย่างถาวร ณ เวลานั้นมีเพียงเราสี่ชีวิตเท่านั้นที่เดินวนไปวนมา
ท่ามกลางท้องฟ้ามัวซัว... สุดท้าย 1% ก็ไม่เกิดขึ้น
ลานชมวิวด้านหน้าพื้นที่กว้างทีเดียว
แต่อาคารที่อยู่ด้านหลังชวนทึ่งยิ่งกว่า ด้วยมีถึง 3 ชั้น แล้วใช่ว่าคิดอยากเข้าไปนั่ง
จะนั่งได้เลยต้องเสียค่าสถานที่อีก ชั้นบนแพงหน่อย ชั้นล่างย่อมเยาว์ลงมานิด สะท้อนให้เห็นว่าการมาชมวิวยอดเขาคันเชนจุนก้ายามแสงอาทิตย์แรกส่องนั้นเป็นที่นิยมขนาดไหน...
ที่สุดมนุษย์ก็ชมชอบที่สูง ๆ อยู่ดี ถึงไม่ได้ไปอยู่บนนั้น ก็ยังมาชื่นชม
จากอาคารชมวิว
เดินตามทางถนนที่ลาดลงมา กำแพงปูนริมถนนที่ก่อขึ้นเพื่อกั้นแบ่งระดับทางชุ่มชื้นจนมอส
และไลเคนแข่งกันเบิกบาน ทำเอาต้องค่อย ๆ ละเลียดเดินมองกำแพงปูนนั้นกันอย่างช้า
ๆ ก้มหน้าพินิจชีวิตเล็ก ๆ กันอย่างจริงจัง
ว่าไปแล้วก็ชวนขัน มองไกล ๆ คงเหมือนกำลังเดินชมจิตรกรรมฝาผนังกันอยู่ เอาน่า... ไม่ได้เห็นขุนเขายิ่งใหญ่ ได้เห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก
ๆ ที่แสนพิเศษนี้แทน แผ่นมอส ไลเคนขึ้นแน่นชิดกันจนเป็นผืนปุยนุ่ม เห็นขนาดเล็ก ๆ
อย่างนี้แต่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้พื้นที่รอบ ๆ ได้ดีนักแล
ทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างยอดเยี่ยมอีกต่างหาก
เดินมองแผ่นมอสและไลเคนบนกำ แพงปูน
๕
รถไฟสายเด็กเล่น
รถไฟ Toy Train ที่คุ้นชื่อนักหนานั้นเป็นเพียงฉายา ชื่อเป็นทางการจริง ๆ คือ Darjeeling Himalayan Railway เส้นทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นโดยอังกฤษสมัยที่ยังปกครองอินเดียอยู่
เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนของตัวเองได้หลบร้อนจากพื้นที่ราบสู่พื้นที่สูง รถไฟขบวนนี้ขับเคลื่อนโดยใช้หม้อต้มไอน้ำ
อันเป็นเทคโนโลยียุคแรก ๆ ของรถไฟ จน ณ
ปัจจุบันรถไฟขบวนนี้ยังแล่นโดยใช้หัวรถจักรไอน้ำ เป็นรถไฟสายเชื่องช้าที่ค่อย ๆ
เคลื่อนขยับสู่ดินแดนขุนเขา และความไม่เปลี่ยนแปลงนี้เอง ทำให้ขบวนรถไฟสายนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
รถไฟสาย Toy Train มีลักษณะน่าเอ็นดู รางแคบ โบกี้สั้น
ทางวงแหวนที่วิ่งวนก่อนถึงเมืองดาร์จีลิ่งยิ่งให้ความรู้สึกเหมือนขบวนรถไฟของเล่นเข้าไปอีก
ด้วยแล่นผ่านทางเวียนแคบ ๆ ที่เรียกว่าบาเซียตา ลูป (Basiata Loop) วนผ่านสวนอนุสรณ์สถานสงคราม (War
Memorial) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ระลึกถึงทหารกูรข่าที่เสียชีวิตในสงครามประกาศอิสรภาพอินเดีย
บริเวณสวนอนุสรณ์สถานสงคราม
เป็นจุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งของเมืองดาร์จีลิ่งที่สามารถมองเห็นตัวเมืองและภูเขาที่รายล้อมโดยเฉพาะยอดเขาคันเชนจุงก้าได้ในวันที่อากาศดี
ท้องฟ้าเปิด
รถไฟสาย
Toy
Train นอกจากจะวิ่งประจำวันละเที่ยวเพื่อขนส่งผู้โดยสารจากสถานีสิริกุรีมายังเมืองดาร์จีลิ่งแล้ว
ยังมีตารางการวิ่งระยะทางสั้น ๆ จากสถานี Ghum มายังดาร์จีลิ่ง
และแวะหยุดจอดที่บาเซียตา
ลูปให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิวบริเวณสวนอนุสรณ์สถานสงครามเป็นเวลา 10 นาที
และขณะที่เตร็ดเตร่บริเวณอนุสรณ์สถานสงคราม
เพลินดูดอกไม้ที่ผุดขึ้นมาทั้งจากความตั้งใจของมนุษย์ที่ปลูกประดับและที่ขึ้นเองราววัชพืชแต่งอกงามและมีเสน่ห์ได้ไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะต้นผีเสื้อใบเขียวที่รูปร่างเหมือนผีเสื้อใบม่วงที่เลี้ยงที่บ้านเปี๊ยบ
ผิดแต่สีใบ และที่ต่างกัน แต่กระนั่นยังคาดเดาได้ว่า...นี่ต้องเป็นญาติตระกูลเดียวกันแน่
แล้วเสียงปู๊น ๆ ก็ดังขึ้น... มองออกไปเห็นควันดำทะมึนมาแต่ไกล รถไฟมาแล้ว แค่นี้ก็ชวนให้ตื่นเต้น
ขบวนรถไฟสีฟ้าขนาดสั้นได้ค่อย ๆ เคลื่อนขยับเข้ามาใกล้
ข้ามสะพานเล็ก ๆ ก่อนแล่นวนในสวน ราวจะอวดโฉม ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นขบวนรถไฟจำลอง
จนกระทั่งหยุดจอด และมีผู้โดยสารลงมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกนั่นแหละ ทำให้ที่เคลิ้ม ๆ
อยู่ นึกขึ้นมาได้อีกครั้งว่า นี่รถไฟของจริงนะ ไม่ใช่รถไฟของเล่น
ก่อนจะวิ่งถือกล้องไปถ่ายขบวนรถไฟใกล้ ๆ
อืมม์ ดาร์จีลิ่งเป็นแหล่งปลูกชา มีพื้นที่ปลูกชากว่าแสนไร่
ผลิตใบชาได้ประมาณ 9
-10 ล้านกิโลกรัมต่อปี (เท่านั้นเอง) สถานที่นี้จึงเป็นเสมือนสถานที่พิเศษสำหรับต้นพืชที่ชื่อว่าชา
ในแง่ความเชื่อของชาวพื้นถิ่น
ที่นี่เป็นสถานพำนักของเทพเจ้า... ลมหายใจที่รินรดได้ช่วยปัดเป่าความร้อนแห่งแสงอาทิตย์และให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนดิน
ผืนอากาศ ทั้งยังมีน้ำพุที่พวยพุ่งจากเศียรกลายเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิต
ในแง่วิทยาศาสตร์ ดินแดนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ระดับความสูง 750 – 2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อากาศอบอุ่น
อยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุก อันเป็นสภาวะแวดล้อมที่ต้นชาชอบทั้งสิ้น
ระหว่างทางสู่ตัวเมืองได้เห็นไร่ชาเป็นระยะ สังเกตได้ง่ายดาย
ด้วยปลูกเป็นแถวเป็นแนวลดหลั่นตามแนวเนินเขา และหากเดินวนเวียนในจตุรัสที่โรแมนติคที่สุดในโลก
ร้านขายชา และชา และชา จะปรากฏแทรกตามมุมนั้น มุมนี้ ให้เห็นตลอด
หลุดเข้าไปในหลายร้าน.... ชาดาร์จีลิ่งที่วางขาย
หลากหลายจนเลือกซื้อไม่ถูก มีทั้งชาดำ ชาขาว ชาเขียว และชาอูหลง.... ชาหลายชนิดที่ว่า
ไม่ได้มาจากหลากสายพันธุ์ หากแตกต่างกันตรงกระบวนการแปรรูปภายหลังการเก็บเกี่ยว
ชาเขียวและชาขาว เป็นชาที่มีขั้นตอนในการแปรรูปน้อยที่สุด
ใบชาที่เก็บมาจะถูกทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว โดยไม่ผ่านกระบวนการบ่มหมัก
ชาสองชนิดนี้แตกต่างตรงตำแหน่งของใบชาที่เก็บนำมาแปรรูป ชาขาวจะแปรรูปจากตูมยอดอ่อนที่ปกคลุมด้วยขนเล็กๆ
สีขาว ขณะที่ชาเขียวแปรรูปจากใบชาที่อยู่ถัดลงมาและจะใชัเวลาอบให้แห้งนานกว่าชาขาว
สำหรับชาดำ ใบชาที่เก็บมาจะถูกทำให้แห้ง และผ่านกระบวนการบ่มหมักอย่างเต็มกระบวนการ
เครื่องดื่มที่ได้จึงมีสีแดงเข้มจนถึงสีดำ และสุดท้ายชาอูหลง
ใบชาที่นำแปรรูปจะถูกทำให้แห้งและบ่มหมักในระยะเวลาสั้น ๆ ชาที่ได้จึงมีคุณสมบัติกึ่งกลางระหว่างชาเขียวกับชาดำ
...
เลือกไม่ถูก
และดูไม่เป็น สีหน้าฉันคงฟ้องเต็มที่
คนขายจึงหยิบชามาหนึ่งขยุ้มเล็ก ๆ
กำไว้ในอุ้งมือ แล้วใช้ปากเป่าให้ไอร้อนผ่านเข้าไปทำปฏิกริยา...
กลิ่นหอมของชาฟุ้งขึ้นมาทันใด ฉันเพิ่งจะรู้ว่านี่คือวิธีการดมกลิ่นใบชา.... อืมม์
แต่ไม่ได้ผลอยู่ดี ฉันยังคงเลือกซื้อไม่ถูกอยู่ดี ได้แต่ยิ้ม และกล่าวขอบคุณ
แต่... สุดท้าย
มาดาร์จีลิ่งแล้วไม่ได้หอบหิ้วใบชากลับบ้านก็กระไรอยู่
ระหว่างทางผ่านไปยังศูนย์หัตถกรรมชาวทิเบตอพยพ
ผ่านไร่ชา มีแผงวางขายของริมทางด้านหน้า รถเลี้ยวเข้าไปจอดใกล้ ๆ คนขับรถบุ้ยใบให้พวกฉันลองเดินเข้าไปดู
หน้าไร่ชา... ก็ต้องขายชาสิ
ห่อบรรจุชา ที่นี่ง่าย ๆ ไม่ได้เน้นงดงาม ราคาย่อมเยาว์กว่าที่เห็นขายตามร้าน
ขณะกวาดตามอง ถ้วยใบเล็ก ๆ บรรจุชาเขียวหอมกรุ่นก็ส่งมาให้ลองชิม
Sugar
หรือ No Sugar ตามแต่จะเลือก
ชาร้อน ๆ ในอุ้งมือส่งกลิ่นหอมระเหย
ขณะจิบลิ้มรส นัยน์ตาเพื่อนร่วมกลุ่มซอกแซกกว่านั้น เหลือบไปเห็นเจ้าของแผงกำลังห่อก้อนโมโมะ..
เกี๊ยวซ่าแบบทิเบตตัวอวบอ้วน ก่อนค่อย ๆ หย่อนใส่ลงหม้อนึ่งเตาถ่าน....นี่สดใหม่และน่าสนใจไม่แพ้ใบชา
เจ้าตัวรีบส่งเสียงเจรจาสอบถาม
โมโมะนี้ไม่ได้ทำไว้ขาย หากทำไว้กินเอง
แต่สุดท้ายเมื่อได้เห็นนัยน์ตาอ้อนวอน พวกเราเลยได้กิน
โมโมะแกล้มชาเขียว
เป็นมื้ออาหารแสนอร่อยในเพิงเล็กข้างทางริมไร่ชา
และคงเดาได้
ก่อนเดินออกจากแผงด้วยท้องที่อิ่มตึง และไม่ต้องคิดมาก
ที่นี่มีชาเขียวชนิดเดียวเท่านั้น ทุกคนจึงได้ชาเขียวติดไม้ติดมือจากดาร์จีลิ่งเป็นของฝากไปทั่วถ้วน
๗.
น้ำตกฤดูร้อนชันนู (Chunnu Summer
fall)
ถัดเลยจากตัวเมืองดาร์จีลิ่งไปประมาณ
10 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายเก่า ที่เวียนขึ้น ๆ ลง ๆ ผ่านขุนเขา และไร่ชา
แล้วจู่ ๆ ทางก็ดิ่งลงอย่างฉับพลัน สู่หุบเขาเบื้องล่าง
ด้านหน้าปรากฏสายน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านทางหินเป็นชั้น
ๆ ลงมายังเบื้องล่าง มีแมกไม้บดบังเป็นกรอบสองข้าง
น้ำตก !
ไม่แปลกที่จะมีน้ำตกในพื้นที่ที่สมบูรณ์ท่ามกลางขุนเขา ไหนจะถ้อยความเชื่อที่ว่า
มีน้ำพุที่พวยพุ่งจากเศียรกลายเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิต แต่ที่ชวนทึ่งคือการจัดการต่างหากเล่า
น้ำตกที่เห็นเบื้องหน้ามีการจัดทำเส้นทางเดินอย่างดีเป็นทางขนานนำไปสู่การชมน้ำตกด้านบนที่สูงชัน
และหากอยากข้ามฟากจากน้าตกด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งมีการทำสะพานข้ามเป็นระยะ ๆ
ให้สามารถเดินข้ามไปได้...
และนั่นหมายความว่าสามารถหยุดยืนชมวิวในมุมสูงได้จากกลางสะพาน
โดยไม่ต้องลงไปเดินลุยตัวน้ำตกให้เปียกปอน หรือเป็นอันตราย
เป็นการจัดการที่ดีเยี่ยมเชียวล่ะ
น้ำตกฤดูร้อนชันนู
ทางเดินขนานนำไปสู่การชมน้ำ
สวนหินใกล้น้ำตกฤดูร้อนชันนู
จากจังหวะของทางเดินและสะพานที่สร้างอย่างกลมกลืน
รวมถึงเส้นสายบนราวสะพาน ชวนให้เผลอนึกไปบางครั้งว่ากำลังอยู่ในประเทศจีน
หรือไต้หวัน ไม่น่าเชื่อว่าน้ำตกที่เห็นเบื้องหน้าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศอินเดีย
และ...อีกแล้ว
ต้นไม้ดอกไม้ที่แทรกแซมตามทางเดินเที่ยวชมน้ำตกสวยเหลือเกิน...
ปนเปทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และด้วยน้ำมือมนุษย์ แต่การปลูกที่ไม่จงใจ ทำให้ผสมผสานกันได้ดี แค่เดินดูดอกไม้ ที่ฉ่ำสี แผ่นมอส
แผ่นไลเคนที่อุดมก็เพลิดเพลินแล้ว ทดแทนโอกาส 1% ที่ท้องฟ้าจะเปิด
ทดแทนการไม่ได้ไปสวนสัตว์เพื่อชมแพนด้าแดง
สัตว์พื้นถิ่นที่มีเฉพาะที่นี่เพราะถนนขาด แล้วถ้อยประโยคหนึ่งก็ผลุดขึ้นมา เดือนกรกฏา...
เป็นฤดูดอกไม้บาน
ดอกไม้ที่นี่สวยจริง ๆ
นะ ยืนยันอีกครั้ง