18 ธันวาคม 2556

หิมาลายาตะวันออก ตอนที่ 1

 หิมาลายาตะวันออก โดย คณา คชา
(ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์)

บทนำ
ภาพพยากรณ์อากาศเดือนกรกฎาคมของเมืองต่างๆ ใน "รัฐเบงกอลตะวันตก" ระเรื่อยไปจนถึงรัฐสิกขิมล้วนย้ำอยู่ภาพเดียว...ภาพคนใส่เสื้อกันฝนและกางร่ม เป็นการเตือนล่วงหน้าให้เห็นว่า วันไหนๆ ของเดือนกรกฎาคม...ฝนก็จะพร่ำ ๆ เช่นนี้แล

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตลอดเส้นทางของการเดินทาง ฝนได้ตกลงมาทักทายต้อนรับเราทุกวี่ทุกวัน ขณะที่มองฟ้า มองฝน แดดสาดมารำไร คาดหวังอย่างลุ้นระทึกจะได้เห็นฟ้าสีจัด และขุนเขาที่ห้อมล้อมบ้าง หากชั่วแวบเดียว เมฆฝนก็หวนกลับมาหยอกล้อ

เพื่อนที่ร่วมทางไปด้วยกันหัวเราะหึๆ ย้ำประโยคที่เพิ่งอ่านเจอจากหนังสือท่องเที่ยวที่ทางที่พักวางไว้ให้นักท่องเที่ยวอ่าน

“ฟ้าเดือนกรกฎามีโอกาสเปิดแค่ 1% เท่านั้นแหละ”

เป็นโอกาสที่ช่างกระจิริด ถ้าอย่างนั้นช่างฟ้า ช่างฝนดีกว่ามั้ง แม้ฤดูฝนจะไม่ใช่ฤดูกาลที่ท้องฟ้าบริเวณเทือกเขาหิมาลายาตะวันออกสวยที่สุด หากกระนั้นก็เป็นฤดูกาลที่เมฆหยอกล้อกับภูเขาได้สนุก เดี๋ยวหนีหาย เดี๋ยวกลับมากกกอด ทั้งยังหอบเอาไอหมอกเย็นชื้นให้มาเยี่ยมเยียน...เมื่อเป็นเช่นนั้น สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ แล้วกวาดตามองไปรอบๆ โลกใบนี้ไม่ว่าเวลาไหน ฤดูกาลใดสวยงามเสมอ...ว่ามั้

1.กาลิมปง
กาลิมปง (Kalimpong) ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) กังต๊อก (Gangtok) และเพลลิ่ง (Pelling) ชื่อเมืองทั้งหมดในเส้นทางการเดินทาง ล้วนเป็นเมืองในดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลายาตะวันออก

เข็มนาฬิกาของเมืองแถบนี้หมุนเริ่มต้น ณ เวลา 8 นาฬิกา อันเป็นเวลาแห่งอาหารเช้า และสิ้นสุดวัน ณ เวลา 20.00 นาฬิกา อันเป็นเวลาแห่งอาหารเย็น นับเป็นการเริ่มต้นวันที่เนิบช้า...และจบลงอย่างเนิบๆ อีกเช่นกัน

อารมณ์เรื่อยๆ ไม่เร่งรีบสัมผัสได้ตั้งแต่นั่งรถเข้าเขตเมืองเหล่านี้ เส้นทางถนนเล็ก แคบ บัดเดี๋ยวสูง บัดเดี๋ยวต่ำ บางช่วงดินชุ่มอุ้มน้ำจนเลื่อนไถลล้ำเข้ามาบนเส้นทาง บางช่วงยังปันเป็นทางให้ทั้งรถ ทั้งน้ำ ผ่านไปด้วยกัน การเดินทางจึงเป็นไปอย่างเรื่อยๆ หลายครั้งรถที่สัญจรต้องชะลอหยุดจอดเป็นเวลานาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เคลียร์เส้นทางด้านหน้า จะจากอุบัติเหตุ หรือดินโคลนถล่ม แล้วแต่จะเจอะเจอ แต่คนแถวนั้นก็ใจเย็นดีจริง ทั้งคนขับ ทั้งผู้โดยสาร เมื่อติดขัดก็ลงมาเดินเล่น จับกลุ่มคุยกันฆ่าเวลา คณะเดินทางของเราจึงเรื่อยๆ มาเรียงๆ ไปกับเขาด้วย

หนึ่งในคณะ หยิบชุดที่สวมใส่ตอนอยู่ที่เมืองกัลกัตตาออกมา กลิ่นเหม็นเปรี้ยวโชยฟุ้ง เป็นกลิ่นจากเหงื่อที่ออกจนชุ่มแล้วชุ่มอีก อบร่ำไปกับฝุ่นและไอเสียจากควันรถขณะตะลอนไปทั่วตัวเมือง แถมไม่ทันได้ผึ่งให้แห้งดี ก็ถูกหมกใส่กระเป๋าเพื่อออกเดินทางต่อเสียแล้ว เจ้าตัวผู้บุกเบิกใช้นิ้วคีบชุดออกมาคลี่ แล้ววางผึ่งบนกระโปรงรถด้านหน้า

“แดดจัดอย่างนี้... เวลาเหลือเฟือ เอาชุดมาผึ่งกันเถอะ”

อืมม์...เป็นคำชักชวนที่น่าเห็นพ้องอย่างยิ่ง ทุกคนจึงหยิบเอาชุดที่หมกไว้ออกมาผึ่ง แขวนตรงประตูรถที่เปิดกว้าง พาดไว้บนหลังคาบ้าง ท้ายรถบ้าง จนรถทั้งคันหลากสี เมื่อคุณพี่คนขับรถเดินย้อนกลับมาเห็นผลงานสร้างสรรค์ชิ้นเอกของผู้โดยสาร จึงอดอมยิ้มน้อยๆ อย่างอารมณ์ดีไม่ได้ ประสานไปกับรอยยิ้มเขินๆ ของพวกเรา

เมืองแรกของเส้นทางบัดเดี๋ยวขึ้นสูง บัดเดี๋ยวลงต่ำ คือเมือง กาลิมปง เมืองบนเขาที่ระดับความสูง 1,250 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

แรกพบ...แดดยังสาด อากาศยังดี หลอกให้ผู้มาเยือนนึกสบประมาทระบบพยากรณ์อากาศที่ว่า 'เมฆจะครึ้ม ฝนจะพรำ' ก็จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อภาพเบื้องหน้า อากาศดีนักหนา ท้องฟ้าเปิดโล่ง เผยให้เห็นตัวเมือง ขุนเขาที่โอบล้อม รวมถึงอาคารหลายชั้นขนาดเล็กที่ตั้งรวมกลุ่มแน่นขนัดบนเนินเขาที่ลาดสูงๆ ต่ำๆ ให้คนที่เคยอาศัยแต่บนพื้นที่ราบ ยืนมองอย่างรู้สึกแปลกตา

ออกไปสำรวจตัวเมืองกันเถอะ...

สิ่งแรกที่ชวนตื่นเต้น ไม่ยักใช่ทางถนน วิถีผู้คน ตลาด ร้านค้า สิ่งก่อสร้าง บ้านเรือน แต่กลับกลายเป็น มอส กับแผ่น ไลเคน เสียนี่

ที่เป็นอย่างนั้น เพราะมอสกับไลเคนที่นี่แทรกซึมอยู่เกือบทั่วทุกอณูของตัวเมือง ชนิดผนังกำแพงแทบไม่ได้เว้นว่าง ถูกเจ้ามอสกับไลเคนแย่งพื้นที่จับจองงอกงาม แล้วช่างสมบูรณ์พูนสุขจนน่าอิจฉา ความสมบูรณ์นั้นปลั่งจนสีเขียวของแผ่นมอสแทบจะหยาดหยดออกมา

แผ่นไลเคนนั่นเล่า ก็หลากหลายชนิด ไม่ได้มีแค่แบบที่เป็นดวงหรือฝุ่นผง ที่ชี้บอกใครแล้วชอบย่นจมูกย้อนตอบกลับมาว่า เป็นดอกเป็นดวงเหมือนรา แต่ไลเคนที่นี่แผ่ใบเป็นวงสวยคล้ายกลีบดอกไม้ ไม่เท่านั้นยังมีแผ่นไลเคนสีส้ม ที่ส้มแป๊ด ส้มสด แย่งชิงพื้นที่กับมอสสีเขียวชุ่ม ทำเอากำแพงบางจุด ครึ่งหนึ่งเป็นสีเขียว อีกครึ่งหนึ่งเป็นสีส้มแบบที่ไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน เท่านี้ก็ช่วยบ่งชี้ให้รู้ว่าอากาศในพื้นที่แถบนี้อุดมคุณภาพขนาดไหน


อาคารหลายชั้นขนาดเล็กตั้งรวมกลุ่มแน่นขนัดบนเนินเขาในเมืองกาลิมปง

ธงมนตรา 5 สี แขวนประดับปลิวไสว ให้เห็นทั่วไปในเมืองกาลิมป

แผ่นไลเคนและแผ่นมอสที่งอกงามตามผนังกำแพงในเมือง

มอสที่งอกงามสมบูรณ์บนผืนผนังกำแพง
ผนังกำแพงแทบทุกแห่งถูกจับจองพื้นที่

นั่นเป็นความกลมกลืนระหว่างเมืองกับธรรมชาติ หากกาลิมปงยังเป็นสถานกลมกลืนระหว่าง เชื้อชาติ และ วัฒนธรรม แค่กวาดตามองไปรอบๆ ผู้คนที่เดินสวนผ่านไปมาจำนวนไม่น้อยที่มีรูปร่างหน้าตาละม้ายไปทางชาวจีน ศาสนสถานเองก็ปะปนทั้งวัดฮินดูและวัดพุทธแบบทิเบต จึงได้เห็น 'ธงมนตรา 5 สี' แขวนประดับปลิวไสวในบางช่วง นั่นเป็นความกลมกลืนประสาเมืองชายแดน ทว่าพิเศษกว่านั้น กาลิมปงเป็นหนึ่งในเมืองหลบร้อนของชาวอังกฤษสมัยปกครองอินเดียที่เรียกขานรวมๆ ว่า hill station ร่องรอยของวิถีแบบอังกฤษจึงทิ้งรูปรอยให้เห็น.... สนามกอล์ฟ โรงเรียน คือตัวอย่างนั้น

ธงมนตราของชาว พุทธนิกายวัชรยาน แต่ละผืนจารึกบทสวดมนต์ไว้ เชื่อกันว่า สายลมที่พัดผ่านจะช่วยพัดพามนตราให้ปกป้องผู้คน และบ้านเมือง จากสิ่งชั่วร้าย และอันตรายทั้งปวง

อากาศเปิด แดดดี ต้อนรับเฉพาะแรกถึง หากพอตกค่ำอากาศเริ่มมัวซัวจากนั้นฝนก็ตกจั่ก จั่ก จั่ก ตลอดทั้งคืน กระทั่งเช้ารุ่งของวันใหม่ อันเป็นวันที่ตั้งใจจะเที่ยวชมเมืองอย่างจริงจัง ฝนยังไม่ยอมจากลา ที่ว่าเมฆจะครึ้ม ฝนจะทักทายทุกวันท่าจะจริงเสียแล้ว ฉะนั้น.. เลิกคาดหวัง และทำตัวให้กลมกลืนไปกับฤดูกาล ฝนโหมหนักก็หลบเข้าข้างทาง โหมเบาก็ออกมาย่ำเล่น สนุกดีเหมือนกัน

ตามที่เกริ่นไว้ กาลิมปงเป็นเมืองชายแดนที่ผสานหลากวัฒนธรรมและหลากเชื้อชาติ ทั้งยังเคยเป็นสถานหลบร้อนของชาวอังกฤษ สถานที่อวดชมผู้มาเยือนจึงสะท้อนภาพเหล่านั้นให้เห็น ตั้งแต่บ้านของ ดอกเตอร์เกรแฮมส์ (Dr.Grahams home) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยดอกเตอร์ จอห์น แอนเดอร์สัน เกรแฮมส์ ตั้งแต่สมัยอังกฤษยังปกครองดินแดนแถบนี้ โดยตั้งใจให้เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งจากความสัมพันธ์ฉาบฉวยระหว่างชา
วอังกฤษกับชาวพื้นเมือง
รูปปั้นดอกเตอร์ จอห์น แอนเดอร์สัน เกรแฮมส์ ภายในโรงเรียน

จากโรงเรียนแบบอังกฤษสู่ศาสนสถาน วัดแมนกัลธรรม (MangalDham) เป็นวัดฮินดูที่เห็นโดดเด่นแต่ไกล ด้วยรูปลักษณ์ของตัวอาคารที่หลังคาเป็นทรงโดมสีส้ม ตัดขอบด้วยส้มเข้ม รูปลักษณ์ และสีสันดังกล่าวดึงดูดสายตาตั้งแต่นั่งอยู่ในรถที่ลดเลี้ยวไปตามทาง กระทั่งไปจอดสนิทตรงด้านหน้

วัดแมนกัลธรรมเป็นวัดฮินดู สร้างอุทิศถวายแด่พระกฤษณะ ผนังวิหารรอบๆ ประดับด้วยงานปั้นแบบลอยตัวเล่าขานเรื่องราวเกี่ยวกับพระกฤษณะ อันเป็นร่างอวตารหนึ่งของพระวิษณุ เจ้าหน้าที่ภายในวัดเป็นมิตร ยืนยิ้มละไมบนใบหน้าขณะมองผู้มาเยือนอยู่ห่างๆ เมื่อสบช่องพอที่จะสอดแทรกข้อมูลของสถานที่ได้ไม่รอช้าที่จะให้ข้อมูล และเสนอตัวเป็นมัคคุเทศก์เดินนำชมสถานที่

หลังจากเดินชมภายในวิหารจนทั่ว ขนมหวานสีขาวถูกยื่นมาให้ รสหวานพอปะแล่มและให้กลิ่นหอมอ่อนๆ ฉันเรียกขนมนั้นว่า "ขนมศักดิ์สิทธิ์" ก็เป็นขนมที่ให้รับประทานในวิหารนี่นา จะไม่เรียกว่าขนมศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร เมื่อเห็นเราชอบพอในรสชาติ ชายหนุ่มยิ้มปริอย่างพึงพอใจ จัดแจงหาถุงใส่ขนมให้เราอีกถุงใหญ่ ทำนองว่าเป็นของฝาก และ..ไม่ต้องห่วง ในวัดยังมีอีกมาก 

สุดท้ายฉันชอบประโยคตบท้ายของเขาหลังจากจบการนำเยี่ยมชมสถานที่ว่า “เดินชมดอกไม้รอบๆ ได้นะครับ” เมืองนี้นี่ช่างเป็นเมืองดอกไม้บาน ต้นไม้สวยจริงๆ แม้จะปลูกกันพื้นๆ แต่ทั้งอากาศ ทั้งดินคงช่วยประคบประหงมให้ดอกไม้ ต้นไม้ สมบูรณ์อวบอิ่มชมเพลิน กระทั่งในเขตศาสนสถานยังคล้ายสวนพฤกษชาติย่อมๆ และดูจะเป็นความภูมิใจของคนที่นี่เสียด้วย

วัดแมนกัลธรรม

จากวัดฮินดู สู่วัดพุทธทิเบต วัดซางด๊อกพาลรี่ โพดอง (Zang Dhok Palri Phodong) เป็นวัดพุทธทิเบตขนาดเล็กตั้งบนเนินดูปิน (durpin) เนินเขาสูงแห่งหนึ่งของเมืองกาลิมปง ตัววัดเคลือบสีสันสดใสด้วยแม่สีอย่างสีเหลือง แดง ฟ้าเข้ม โดยมีสีขาวเป็นสีพื้น และแต่งแต้มด้วยสีเขียว สังเกตดีๆ สีเหล่านี้ เป็นสีเดียวกับธงมนตรา 5 สีที่แขวนอยู่รอบๆ สีสดๆ แบบนี้แทนที่จะดูแปลกปลอม กลับดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติที่สงบรอบด้าน อาจเป็นเพราะสีที่สดนั้นดูไม่ประดิดปะดอย ทั้งลวดลายที่วาดตกแต่งก็เป็นลวดลายง่ายๆ และสุดท้ายไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของกาลิมปง เป็นต้องได้เห็นต้นไม้ดอกไม้สวยๆ อวดสีสันแต่งแต้มเสมอ รอบๆ ตัววัดที่เป็นทางลาดลงไป เต็มไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้สีสันอวบอิ่มเช่นเคย โดยเฉพาะต้นไฮเดรนเยียขึ้นเป็นพุ่มให้เห็นทั่ว ราวกับเป็นต้นไม้ที่ขึ้นง่ายขึ้นดาย ทั้งช่อดอกสมบูรณ์ใหญ่อวดสีน้ำเงินอมเทาเฉดสีเสน่ห์ที่ไม่ค่อยปรากฏในไม้ดอกชนิดใดมากนัก ทำเอาคนมาเยือนหลงหัวปักหัวปำเชียวล่ะ


วัดซางด๊อกพาลรี่ โพดองบนเนินเขาดูปิน


กงล้อภาวนา ภายในวัดซางด๊อกพาลรี่ โพดอง
กงล้อภาวนา เป็นเสมือนเครื่องช่วยสวดมนต์ของพุทธนิกายวัชรยาน บนกงล้อแต่และอันมีบทสวดมนต์จารึกไว้
การหมุนกงล้อจึงเปรียบดั่งการเปล่งบทสวดมนต์ให้ดังกังวาน

ลวดลายและสีสันของประตูวัดซางด๊อกพาลรี่ โพดอง

ภาพวาด เกียรติมุข* ภายในวัดซางด๊อกพาลรี่ โพดอง
 เกียรติมุข หมายถึง ใบหน้าที่มีเกียรติ มักวาดเป็นใบหน้าของอสูรดุร้าย แยกเขี้ยวขบกราม จมูกแป้นบาน และตาพองถลน ทำหน้าที่คอยปกป้องศาสนสถาน เกียรติมุขที่วัดซางด๊อกพาลรี่ โพดอง มีคุณสมบัติของเกียรติมุขยอดนิยมเกือบครบทุกประการ เว้นแต่ไม่มีเขางอกเหนือดวงตา

สัญลักษณ์กงล้อแห่งธรรมและกวางสีทอบนหลังคาวัด
ตามความเชื่อของพุทธนิกายวัชรยาน "กงล้อแห่งธรรม" เป็นสัญลักษณ์คำสอนของพระพุทธเจ้า "กวาง 2 ตัวที่นั่งมอบซ้ายขวา" คือ พระพรหม และ พระอินทร์ ที่เสด็จลงมาหาพระพุทธเจ้าหลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว เพื่อให้พระพุทธองค์สอนธรรมะให้ จึงได้มีการสร้างกงล้อแห่งธรรมและกวาง 1 คู่ บนหลังคาวัดพุทธนิกายวัชรยานทุกแห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการแสดงธรรมะครั้งแรกของพระพุทธเจ้า หากมีโอกาสได้เยือนวัดพุทธทิเบตลองแหงนมองไปบนหลังคาจะได้เห็นกงล้อแห่งธรรมและกวาง 1 คู่ 
อย่างแน่นอน