23 พฤษภาคม 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 8

8. วัดพุทธในคยองจู
                ศาสนาประจำอาณาจักรโบราณชิลลาคือพุทธศาสนา... สถานที่สำคัญลำดับต้น ๆ ที่ใคร ๆ เมื่อมาเยือนคยองจูเป็นต้องไปเยี่ยมชมจึงเป็นวัดพุทธขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยนั้น ได้แก่วัดพุลกุกซา (Bulguksa) และวัดช็อกกูรัม (Seokguram Grotto)  
                วัดพุลกุกซาหากดูจากแผนที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางทีเดียว ประกอบด้วยวิหารใหญ่น้อยหลายหลัง ตั้งอยู่บนเชิงเขา ห่างจากตัวเมืองคยองจูออกไปประมาณ 16 กิโลเมตร แต่...เห็นอยู่ห่างออกนอกตัวเมืองอย่างนั้นหากมีรถเมล์ประจำทางแล่นผ่านตลอดทั้งวัน จึงอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี  
                เมื่อเข้าไปด้านใน ลักษณะของสถาปัตยกรรมวัดแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่รับมาจากจีนอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะลักษณะของผังตัววัด ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นลานสี่เหลี่ยมย่อย ๆ  โดยมีระเบียงทางเดินและประตูทางเข้าเชื่อมต่อถึงกัน ในแต่ละลานจะมีวิหารอยู่หนึ่งหลังเป็นประดุจประธานของพิ้นที่ และ ตรงบริเวณลานด้านหน้าวิหารใหญ่ที่เป็นเสมือนอาคารหลักของตัววัด วิหารแทอุงจอง (Daeungjeon)  มีเจดีย์ขนาดเล็กสององค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าซ้ายขวา  เจดีย์ทั้งสององค์นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเจดีย์ที่งามที่สุดของอาณาจักรชิลลา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติประจำชาติ  ช่วงที่ฉันไปเยือนนั้น เจดีย์องค์เล็กทางด้านซ้ายมือ (หันหน้าเข้าหาวิหาร) อยู่ระหว่างซ่อมแซมบูรณะ มีการสร้างอาคารกระจกล้อมไว้อย่างมิดชิด ทำให้แว่บแรกที่เห็นนึกว่ามีอาคารทรงกล่องสมัยใหม่ที่ไหนโผล่ผุดอยู่กลางลานวัด  จนรู้จากคำอธิบายด้านหน้า ทำให้รู้สึกทึ่งกับกระบวนการการดูแลโบราณสถานของที่นี่  ที่มีการปิดกั้นพื้นที่ที่จะบูรณะอย่างมิดชิด เก็บทั้งฝุ่น และเสียงได้อย่างหมดจด ขณะเดียวกัน ผู้ที่มาเยือน ก็ยังมองผ่านกระจกเห็นการบูรณะนั้นได้
                เมื่อเดินชมอาคารต่าง ๆ และพื้นที่รอบ ๆ  อดนึกเปรียบเทียบกับวัดพงอึนซาในกรุงโซลไม่ได้

                ขณะที่อยู่ในวัดพงอึนซาที่กรุงโซลนั้น ฉันชอบความเรียบง่ายสงบงามภายในตัววิหารที่ทำให้อยากนั่งนิ่ง ๆ อยู่ในนั้นเป็นเวลานาน ๆ  หากที่นี่เปี่ยมด้วยความร่มรื่น และความหลากหลายของพันธุ์ไม้  ดอกไม้หลายชนิดแปลกตาสวยงาม ดึงดูดให้ตรงไปเก็บภาพสวย ๆ นั้นไว้.... สมแล้วที่ว่า หากอยากเห็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของเกาหลีให้ไปชมตามสวนในวัดพุทธต่าง ๆ  วัดจึงไม่ได้เป็นเพียงที่ฝึกบ่มจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ชูใจให้เบิกบานกับธรรมชาติที่รังสรรค์สิ่งสวยงามอยู่ตลอดเวลา

สวนกับกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะเดินเข้าไปในเขตวัด


พระศากยมุนี ภายในวิหารแทอุงจอง
วิหารมูซอลจอน (Museoljeon) 

วิหารพีโรจอน (Birojeon) ที่ประดิษฐานพระไวโรจนะ
พระไวโรจนะภายในวิหารพีโรจอน
วิหารนาฮันจอน (Nahanjeon)

                จากวัดพุลกุกซามุ่งหน้าต่อไปยังวัดช็อคกูรัม
                การไปเยือนวัดช็อคกูรัมนั้นต่างจากวัดพุลกุกซาโดยสิ้นเชิง
                บรรยากาศระหว่างทางเหมือนการจาริกแสวงบุญที่ต้องดั้นด้นเพื่อไปกราบไหว้พระพุทธรูป ขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานภายในถ้ำทรงโดมแปลกตา
                เริ่มตั้งแต่เส้นทางที่คดคี้ยวเป็นพิเศษ ค่อย ๆ ลัดเลาะสู่เขา Tohamsan ซึ่งถ้ามองจากแผนที่แล้วเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในบริเวณ  เมื่อไปถึงลานจอดรถกว้างด้านล่าง ต้องเดินขึ้นเขาต่อไปอีกราว  500 เมตร  นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างเดินไหลตามกันไปเป็นทาง เมื่อไปถึงด้านบน ปรากฏอาคารหลังเล็ก ๆ สร้างครอบปากทางเข้าถ้ำ ที่เพียง เดินเข้าไปในอาคารเพียงนิดเดียวก็จะเห็นถ้ำและพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ด้านใน มีกระจกปิดกั้นไว้  แรกที่เห็นภาพพระพุทธรูปและถ้ำจากแผ่นพับก็รู้สึกว่าน่าสนใจอยู่แล้ว  เมื่อเห็นของจริง แม้จะปิดกั้นด้วยกระจกใส แต่ทั้งองค์พระ และตัวถ้ำงดงาม และน่าพิศวง สมคำอวดอ้างว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของอาณาจักรชิลลา
                ตัวถ้ำนั้นน่าพิศวงตรงไม่ได้เป็นถ้ำตามธรรมชาติ หรือขุดเจาะเข้าไปในภูเขาแต่อย่างใด แต่เป็นถ้ำจำลองที่นำหินแกรนิตสีขาวมาสร้าง ประกอบด้วยห้องคูหาชั้นนอกทรงสี่เหลี่ยม ทอดสู่ห้องชั้นในทรงกลม ที่เพดานยกสูงเป็นทรงโดม  และเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีขนาดใหญ่ที่สลักจากหินแกรนิตสีขาวทั้งองค์
                รูปลักษณ์ของห้องชั้นในทรงกลมที่ยกเพดานสูงเป็นทรงโดม ทำให้นึกถึงสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นงานแบบนี้ในประเทศแถบเอเชีย ทั้งยังสร้างขึ้นตั้งแต่ค.ศ. 751
                กลิ่นอายตะวันตกฟุ้งเจือปน  กระทั่งองค์พระพุทธรูปที่สลักจากหินแกรนิต ตัวจีวรที่ห่มคลุมมีลักษณะเป็นริ้วผ้าแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะของพระพุทธรูปในยุคต้น ๆ ที่ช่างได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน ซึ่งจะว่าแปลกก็ไม่เชิงนัก  เพราะหากไล่เรียงแล้วอินเดียนั้นเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรีกและโรมันมาระยะเวลาหนึ่ง การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น  และหากมองตรงผนังหินด้านหลังองค์พระพุทธรูป จะเห็นวงรัศมีทรงกลมอยู่ในตำแหน่งรองรับกับเศียรองค์พระพอดิบพอดี นี่เป็นอิทธิพลที่รับมาจากกรีกและโรมันอีกเช่นกันที่ช่างมักปั้นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ โดยมีรัศมี halo อยู่ด้านหลัง
                ตามความเชื่อของพุทธนิกายมหายาน มีองค์เทพเจ้ามากมายปกปักศาสนสถาน และองค์พระพุทธเจ้า รูปแกะสลักฝาผนังด้านหลัง ตั้งแต่คูหาสี่เหลี่ยมชั้นนอก ไปจนถึงห้องชั้นในทรงกลม จึงเป็นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ตั้งแต่เทพเจ้าทั้งแปดที่เชื่อกันว่ามีหน้าที่ปกป้องพระพุทธเจ้า  นายทวารบาลทั้งสองที่ดูแลทางเข้าศาสนสถาน ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ พระพรหม พระวิษณุ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวร และสาวกผู้ติดตามทั้งสิบ
                แก่นความเชื่อทางตะวันออกที่ถ่ายทอดออกมาเป็นพุทธศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ให้ความรู้สึกน่าพิศวง ขณะเดียวกันกลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่งดงาม สุดท้ายวัฒนธรรม ความเชื่อบนโลกใบนี้ คงถ่ายเทโอนกันไป กันมาเช่นนี้เอง

อาคารที่สร้างครอบปากทางเข้าถ้ำเมื่อมองจากลานด้านล่าง 
อาคารที่สร้างครอบปากทางเข้าถ้ำ
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในถ้ำ (ภาพจาก www/korea.net



หมายเหตุ... งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย

เกาหลีใต้ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7