๖. อุทยานแห่งชาติโซรัคซาน
การเดินทางจากเมืองซกโชไปอุทยานแห่งชาติโซรัคซานนั้นสะดวกมากจริง
ๆ มีรถประจำทางแล่นจากตัวเมืองไปถึงด้านหน้าอุทยานตลอดทั้งวัน ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านออกเดินทางไปยังอุทยานแต่เช้า
เราสองคนนับเป็นผู้โดยสารสองคนแรก และเป็นสองคนสุดท้ายเมื่อไปถึงปลายทาง ระหว่างทางมีผู้โดยสารขึ้นลงเป็นระยะ ล้วนแต่เป็นคนพื้นถิ่น
สะท้อนให้เห็นว่า รถเมล์สายนี้ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว
แต่มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของคนที่นี่ การท่องเที่ยวจึงเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
อุทยานแห่งชาติโซรัคซานยามเช้าเงียบสงบ
มีนักท่องเที่ยวบางตา
ตัวสำนักงานบริการนักท่องเที่ยวเองยังไม่เปิด เราสองคนจึงวางแผนการเที่ยวชมอุทยานจากป้ายแผนที่ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารกระเช้าไฟฟ้า
จากแผนที่
อุทยานแห่งนี้กินพื้นที่กว้างคาบเกี่ยวพื้นที่เมืองถึงสี่เมือง เต็มไปด้วยเทือกเขาหินแกรนิตและหินไนส์ที่สลับซับซ้อน
มีลำธารไหลเชื่อมระหว่างแนวสันเขาเป็นทางยาว ก่อให้เกิดภูมิประเทศที่งดงาม แปลกตา บนแผนที่มีเส้นทางเดินเท้าให้เลือกหลายเส้นทาง
ตามความเหมาะสมต่อเวลาและสภาพร่างกายของแต่ละคน มีทั้งแบบใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไปจนถึง 4
ชั่วโมง หรือจะเลือกเส้นทางที่กระเช้าไฟฟ้าช่วยย่นระยะขึ้นสู่ยอดเขาสูง
เพื่อชมวิวอุทยานในมุมกว้างจากด้านบนก็ยังได้
หลังจากยืนมองชั่งใจ
ชั่วขณะ เราสองคนตัดสินใจเลือกเส้นทางกลาง ๆ ใช้ระยะเวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะได้ขึ้นกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปชมวิวด้านบน
ด้วยอายุอานามก็ใช่น้อย ๆ กันแล้ว เริ่มจะเข้าข่าย ลุง ๆ ป้า ๆ กันแล้ว
เส้นทางที่เลือกเป็นเส้นทางราบเลาะเรียบไปกับทางน้ำระหว่างสันเขา
ระหว่างทางจึงได้เห็นภาพสวย ๆ ของสายน้ำ
ที่ไหลเซาะผ่านพื้นหิน ต้นไม้ที่ร่มรื่น และผาหินที่ตั้งชะเงื้อมอยู่ใกล้ ๆ แรกเดินนั้นดูโดดเดี่ยว
มีเพียงคุณลุง คุณป้า แต่งกายทะมัดทะแมงในมือถือไม้เท้าปีนเขา เดินแซงผ่านไปประปราย
ลักษณะการเดินเอาจริงเอาจัง
ไม่ใช่แค่เดินแซงผ่านเราไปเฉย ๆ หากเดินทิ้งหายกันไปเลยเชียว
เอ...
ยังไงกัน.... ตั้งแต่เดินมา เดินตามไม่ทันใครสักคน แถมถูกแซงเอา แซงเอา แล้วคนแซง
ก็อายุเยอะ ๆ กันทั้งนั้น
“เรามาเดินเล่น...
พวกนั้นเขามาออกกำลังกาย” คนข้างตัวกล่าวเชิงออกตัว
ฉันรีบสนองตอบทันควัน
ใช่แล้ว ในมือพวกนั้นเป็นไม้ปีนเขา ส่วนในมือเราสองคนเป็นกล้องถ่ายรูป แค่นี้
ก็ต่างกันแล้ว แต่เดินไปสักพักนี่สิ
บรรยากาศที่เงียบสงบ เริ่มมีเสียงอึกทึกแว่วให้ได้ยิน ใกล้ขึ้น ใกล้ขึ้น จนกระทั่งกลุ่มเจ้าของเสียงปรากฏ
เป็นกลุ่มเด็กนักเรียนวัยประมาณชั้นมัธยมต้น มาทัศนศึกษาพร้อมคุณครู
กลุ่มเด็กเหล่านั้นเมื่อเดินตามมาทันเราสองคน ก็เดินแซงลิ่วผ่านไปในทันที
เอ๊ะ !
ชักยังไง สรุปแล้ว จะเป็นผู้สูงอายุ หรือเด็กในวัยเรียน ล้วนแซงเราไปทั้งสิ้น....
เอาเถอะ แต่ละคนล้วนมีท่วงจังหวะเป็นของตนเอง จะไปเปลี่ยนจังหวะเพื่อตามใครให้ทันใคร คงไม่ได้
เส้นทางที่เลือก
สิ้นสุดลงตรงสะพานเชื่อมระหว่างพื้นที่สันเขาด้านหนึ่ง ไปสู่สันเขาอีกด้านหนึ่ง
จริง
ๆ แล้ว เป็นการสิ้นสุดเส้นทางเดินในช่วงแรก เท่านั้น หากต้องการเดินไปต่อนั้นไปได้
แต่เส้นทางจะลำบากและชันขึ้น กลุ่มเด็ก ๆ และพวกเราหยุดกันแค่นั้น
ขณะที่บรรดาผู้สูงอายุทั้งหลาย ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ย้ำอีกครั้ง
ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ยังคงเดินไปต่ออย่างมุ่งมั่น... เชื่อแล้วว่าลุง ๆ ป้า ๆ
แข็งแรงกันจริง ๆ
ตรงบริเวณจุดหยุดพักมีป้ายเล่าขานเรื่องราวเล็ก
ๆ น้อย ๆ อยู่ใกล้ ๆ ช่วยเสริมจินตนาการขณะยืนชมธรรมชาติรอบ ๆ
ตัวได้ดีทีเดียว
‘สถานที่แห่งนี้เป็นที่โปรดปรานของนางไม้บนสรวงสวรรค์นางหนึ่ง
ที่มักจะลงจากสวรรค์เบื้องบนมาเที่ยวเล่นอยู่เนือง ๆ’ นั่นเป็นข้อความบนแผ่นป้าย และตรงบริเวณนั้นอีกเช่นกัน หาก แหงนหน้ามองขึ้นไปด้านบนจะเห็นยอดเขาหินรูปทรงแปลกตาสามยอดตั้งชะเงื้อมอยู่ใกล้
ๆ โดดเด่นเป็นพิเศษกระทั่งมีชื่อเรียกเฉพาะ
และกลายเป็น landmark ของพื้นที่
เรานั่งพักอยู่ตรงนั้นชั่วครู่
ก่อนเดินย้อนกลับไปยังที่ทำการอุทยาน พร้อมกับกลุ่มเด็ก ๆ และตอนนั้นเองที่พบว่า....
โซรัคซานไม่ได้เงียบเชียบอีกต่อไป
เราสองคนเดินสวนกับกลุ่มเด็กทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ยัน
ชั้นมัธยมปลาย หลั่งไหลมาทัศนศึกษากันจนเส้นทางที่แรกเดินว่างเปล่า บัดนี้ล้นเต็ม....
เริ่มจะตระหนักตอนนั้นเองว่า คนเกาหลี เดินป่า เดินเขากันตั้งแต่ตัวเล็ก ตัวน้อยอย่างนี้นี่เอง
ถึงได้ชมชอบการเดินป่ากันนัก ยิ่งสูงวัยมีเวลาว่างมากขึ้นคงโหยหา
จึงได้พบผู้สูงอายุตลอดเส้นทาง แต่ที่แปลกคือไม่ค่อยเห็นหนุ่ม ๆ สาว ๆ อาจเป็นเพราะมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจกว่า แต่สุดท้ายเมื่ออายุมากขึ้นก็หวนกลับมาจนได้
หลังจากเดินเรียกเหงื่อมาพอเบา ๆ
ต่อด้วยการนั่งกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปยังจุดชมวิวบนยอดเขาด้านบน
แรกหวังแค่ความเพลิดเพลินจากการได้ขึ้นที่สูงโดยไม่ต้องเหนื่อยแรง
หากเส้นทางนี้พิเศษกว่านั้น จุดหมายที่แท้ไม่ได้หยุดแค่อาคารจอดกระเช้าไฟฟ้า หากอยู่ที่เส้นทางด้านหลังที่จะนำไปสู่ลานหิกว้างของยอดเขาอีกแห่ง
ณ ตรงนั้น จะได้เห็นวิวชวนอัศจรรย์ ที่ห้อมล้อมด้วยผาหินอันงดงาม
และเทือกเขาที่สลับซับซ้อนพาดผ่านท้องฟ้าสีเข้ม.... ลานหินกว้างนั้นค่อย ๆ
ลาดเอียงสูงขึ้น สูงขึ้น จนระยะสุดท้ายชันดิ่งจนใกล้เคียง 90 องศา ท้าทายให้หลายคนฮึดไต่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่มีธงชาติปลิวไสวปักอยู่
ใครใคร่ไป
เชิญ
ฉันลองแล้วสู้ไม่ไหว
ปล่อยให้เพื่อนร่วมบ้านขึ้นไปเพียงลำพัง
ระหว่างรอ บนลานหินกว้างนั้นแน่นหนาด้วยผู้คน และประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ....นับเป็นภาพที่สวนทางกับความเคยชินที่ว่า
คนมาเที่ยวป่าเที่ยวเขา มักเป็นวัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยสาว แต่นี่สูงอายุกันทั้งนั้น
ยิ่งตอนนั่งกระเช้าไฟฟ้ากลับลงไปข้างล่าง ยิ่งอัศจรรย์ขึ้นไปอีก เมื่อพบว่า
เราสองคนเป็นผู้โดยสารที่มีอายุน้อยที่สุดในกลุ่ม ราวกับว่า วัยหนุ่ม วัยสาว ขาดหายไปจากอุทยานแห่งนี้.....
ภายในอุทยานนอกจากมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ให้เลือกเดินตามสภาพร่างกายและเวลาหลายเส้นทางแล้ว
ยังมีวัดเซนเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตอุทยาน ชื่อว่าวัดชินฮึงซา (Sinheungsa) เชื่อกันว่าเป็นวัดเซนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 707 แต่ที่เห็นปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สามในปี ค.ศ. 1645 เนื่องจากโดนไฟป่าเผาเสียหาย
และ...
ถ้าหากสนใจปฏิบัติธรรมท่ามกลางความเงียบสงบห้อมล้อมด้วยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ณ
วัดแห่งนี้มีโปรแกรม Temple Stay สำหรับชาวต่างชาติเช่นที่วันพงอึนซาในโซลเช่นกัน
ขากลับจากอุทยานย้อนกลับเข้าไปยังเมืองซกโช
ได้นั่งรถเมล์ประจำทางสายเดิม เจอกลุ่มเด็กนักเรียนวัยประมาณชั้นประถมต้นประมาณสิบกว่าคน
ตัวยังจิ๋ว ๆ มาทัศนศึกษากับคุณครู เด็ก ๆ
สดใส พูดคุย เล่นกันตลอดทาง จนคุณครูที่มาด้วยส่งเสียงดุอยู่หลายครั้ง หาก
เงียบกันได้แป๊ปเดียว ก็กลับมาคุยเล่นสนุกสนานกันใหม่ ทำให้ผู้ใหญ่ที่มีไม่กี่คนบนรถอดอมยิ้มอย่างเอ็นดูไม่ได้
บรรดาเด็กและคุณครูลงรถตรงป้ายรถเมล์ใกล้กับตลาดปลาในตัวเมือง..
เห็นแล้วอิจฉา คณะทัศนศึกษากลุ่มน้อย ๆ
นี้อาจจะเพิ่งตัดสินใจกันเมื่อเช้านี้เองก็ได้ว่า ไปเดินเล่นที่โซรัคซานกันเถอะ
พอตัดสินใจปุ๊ป ก็เดินชักแถวมารอรถตรงป้ายรถเมล์ทันที แล้วชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงดี
ก็ได้เดินชมธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กันแล้ว.... ดูเป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย จนนึกกี่ทีก็ให้รู้สึกอิจฉาทุกที
หมายเหตุ... งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย