28 เมษายน 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 2

. พระราชวังที่ยังคงบูรณะ และพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น
                หลังจากซื้อตั๋วเข้าชมพระราชวังเคียงบ๊อก  อย่าเพิ่งรีบร้อนผ่านประตูตรงดิ่งเข้าไปด้านใน ลองเยี่ยมหน้ามองไปยังด้านหลังประตูทางเข้า จะเห็นชั้นหนังสือวางหลบมุมอยู่... หนังสือเล่มบาง ๆ อธิบายถึงประวัติความเป็นมา และลักษณะของสถาปัตยกรรมตัวพระราชวังได้อย่างน่าสนใจ   ขณะเดินเที่ยวชม หากกางหนังสือเล่มนี้ไปด้วย  จะช่วยให้สังเกตเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แอบซุกซ่อนได้ไม่น้อยเลยเชียว
                ปุจฉา... ถามเล่น ๆ  ทำไมถึงวางหนังสือในมุมอับอย่างนี้หนอ
                วิสัชฉนา... ตอบเล่น ๆ แบบเดาสุ่ม.. ใครใจร้อน ใจเร็ว รีบเร่งนัก ให้ผ่านแล้ว ผ่านไป ใครที่เรื่อย ๆ มา เรียง ๆ  ย่อมได้เจอกัน
                ฉันถามเอง ตอบเอง อย่างนี้แล้วกัน
                ตรงบริเวณด้านในหลังประตูทางเข้ามีระเบียงทางเดินขนานไปกับแนวกำแพง แวะนั่งพักตรงนั้น ยังไม่รีบร้อนฝ่าเปลวแดดตรงไปยังอาคารหลังแรก ลองเปิดหนังสือเล่มบาง ๆ นั้นออกดู ปกด้านในแสดงแผนภาพพระราชวัง.... มองผ่านอย่างรวดเร็ว  ผังโครงสร้างคล้ายคลึงพระราชวังต้องห้ามของจีน.... นั่นคือแยกพื้นที่พระราชวังออกเป็นลานสี่เหลี่ยมย่อยๆ   แต่ละลานล้อมกั้นด้วยแนวกำแพง และเชื่อมต่อถึงกัน ด้วยประตูผ่านเข้าออก  ตัวอาคารด้านหน้า มีขนาดใหญ่โอ่อ่า ทรงความสำคัญ ก่อนที่จะลดหลั่นขนาด และโอบล้อมด้วยอาคารหลังเล็กกว่า คล้ายบริวารที่รายรอบไปตามลำดับชั้น นับเป็นผังการก่อสร้างตามวิถีแบบตะวันออก ที่มีจีนเป็นแม่ใหญ่ ที่ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ตามลำดับชั้น
                ประชาชนย่อมสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์เจ้าผู้ปกครอง
                ผู้ที่ต่ำศักดิ์กว่าให้ความนบนอบต่อผู้ที่สูงศักดิ์กว่า
                ลูก หลาน ให้ความเคารพต่อบิดา
                ภรรยาเคารพสามี
                สรวงสวรรค์ กษัตริย์ บิดา ครูบาอาจารย์ เป็นที่เคารพ กราบไหว้ในสังคม
                นอกจากลักษณะของแผนผังแล้ว มองไปที่หลังคา.....
                ไม่ว่าจะหลังคาตรงประตูกำแพง หรือตัวอาคาร  ล้วนมีขนาดใหญ่ และมีลักษณะโค้งงอนขึ้นทั้ง ๔ ด้าน นี่เป็นลักษณะที่รับอิทธิพลเต็ม ๆ จากจีนอีกแล้ว ว่าไปแล้วก็ละม้ายคล้ายกันไปหมดทั้ง จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี  รับไปแล้วก็ไปปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของตน  เวลานั่งมองหลังคาพวกนี้ฉันชอบนึกเปรียบเป็นหมวกใบใหญ่  หมวกพวกนี้เป็นหมวกปีกกว้างเพื่อกันฝนไม่ให้สาด ไหลซึมเข้าไปในตัวอาคารที่สร้างจากไม้   นอกจากนี้มุมที่แหงนสูงขึ้นทั้งสี่ด้านยังช่วยเปิดรับแสงสว่างจากด้านนอก และช่วยให้ทัศนวิสัยการมองจากด้านในออกไปด้านนอกดีขึ้น
                ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งเเป็นข้อสุดท้าย และเป็นข้อที่ฉันชอบมากที่สุด
                ไม่ได้เป็นเหตุผลทางปัจจัยใช้สอย แต่เป็นเหตุผลทางรูปลักษณ์ ความงาม
                หลังคาที่แอ่นโค้งขึ้นทำให้ตัวอาคารคล้ายนก... นกที่เชิดหัวขึ้นสูงทะยานบินขึ้นสู่ท้องฟ้า               


หลังคาตรงประตูทางเข้าภายในพระราชวัง โค้งงอนขึ้นทั้งสี่ด้าน
 เหมือนนกที่เชิดหัวขึ้นสูงทะยานบินขึ้นสู่ท้องฟ้า


รูปปั้นสัตว์ประดับบนสันหลังคา เชื่อว่าช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย


                ........

เข้าสู่พื้นที่ด้านใน....
ตำหนักพระราชวังที่อยู่บริเวณด้านหน้าใหญ่โตโอ่อ่า  หากเมื่อเข้าไปเยี่ยมชมด้านใน พบว่าการตกแต่งภายในของแต่ละตำหนักเรียบง่าย  กระทั่งตำหนักท้ องพระโรงสำหรับกษัตริย์เสด็จออกว่าราชการ และต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง  ที่น่าจะวิจิตรบรรจงที่สุด ยังดูธรรมดา
                ความเรียบง่ายนี้เป็นความตั้งใจ ด้วยพระราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังในยุคราชวงศ์โชซอนที่นับถือลัทธิขงจื้อใหม่   ลัทธิขงจื้อใหม่เชื่อว่าอำนาจที่แท้ของกษัตริย์นั้นเกิดจากคุณธรรม และความเที่ยงธรรมในการปกครองประเทศ   พระราชวังของกษัตริย์จึงควรโอ่อ่า แต่มิควรอวดโอ่  เพราะเท่ากับข่มประชาชนของตนเอง (ฉันชอบแนวคิดนี้จังเลย)
หลังจากเดินชมดู พบว่าในความเรียบง่ายนั้นมีเสน่ห์
ลองพินิจดูรูปแกะสลักที่ตั้งประดับตามกำแพงมุมเสาต่าง ๆ จะพบสัตว์ผู้พิทักษ์ทั้ง 4 ตามคติความเชื่อ เต่า  เสือ มังกร นกยูง  และยังผสมด้วยสัตว์อีก 12 ราศี  ทั้งหมดแกะสลักในลักษณะกลมมน  อ้วน ๆ ป้อม ๆ  ใบหน้าใส่จินตนาการละม้ายหน้าคน ที่สำคัญทุกตนจมูกใหญ่มาก ทำให้ใบหน้าดูตุ่ย ๆ บางหน้าก็ดูเจ้าเล่ห์เสียอย่างนั้น ช่างไม่ดุดันกันเสียเลย ทำให้การตั้งอยู่ของรูปปั้นแกะสลักคล้ายเพียงเพื่อปราม  ไม่ได้ตั้งใจข่มขู่ให้เกรงกลัว นั่นยิ่งเสริมความเรียบง่ายของตัวพระราชวังให้มีความเป็นมิตรยิ่งขึ้น
                ในหมู่สัตว์แกะสลัก  ตัวที่ใหญ่ท้วน น่ารักที่สุด  ต้องยกให้สัตว์พื้นเมืองที่เรียกว่า Seosu  คุณ Seosu นั้นแยกตัวจากบรรดาเพื่อน ๆ นอนผึ่งอยู่บนขอบสะพาน  ลักษณะเป็นสัตว์บกผสมน้ำ  มีขาสองขา และหางแบบหางปลา..... แว่บแรกที่เห็นตัวอุ้ย ๆ ให้นึกถึงฟาลคอร์ เจ้ามังกรนำโชค พาหนะของอัทเทรอูในหนังสือเรื่องจินตนาการไม่รู้จบ ที่นึกถึงไม่ใช่อะไร เห็นลำตัวอ้วน ๆ ยาว ๆ น่าเอ็นดูคล้าย ๆ กัน
                ส่วนด้านหลังของพระราชวัง พื้นลานไม่กว้างขวางเหมือนบริเวณด้านหน้า เป็นส่วนที่พักอาศัย ภายในลานประกอบด้วยอาคารหลัก และอาคารรองที่รายล้อม  แสดงถึงประมุขของบ้าน ที่ห้อมล้อมด้วยบริวาร
                บริเวณนี้แอบอวดความก้าวหน้าทางวิทยาการในยุคราชวงศ์โชซอนให้เห็นจากนาฬิกาแดดที่วางแสดงอยู่  และเมื่อเดินผ่านไปยังด้านหลังเป็นสวนระเบียง สะดุดตาด้วยปล่องไฟที่ก่อจากอิฐสีส้ม เรียงรายเป็นแถว สีส้มกับสีเขียวอ่อนของต้นไม้ และสีชมพูสดของดอกอาซาเลีย ทำให้สวนสว่างด้วยสีสัน .... และจากตรงนั้น เดินทะลุไปอีกนิด เหมือนหลุดออกจากเขตพระราชวังโดยไม่รู้ตัว คล้ายเข้าสู่สวนสาธารณะผืนใหญ่ ที่คนเกาหลีเอง พาลูกหลานมานั่งเล่นปิคนิค และพักผ่อน แต่หากเดินไปเรื่อย ๆ จะยังคงเห็นอาคาร ป้ายแสดงข้อมูล  และพื้นที่กั้นปิดล้อมในบางจุด   จึงรู้ว่ายังอยู่ในพื้นที่เขตพระราชวังนั่นแหละ แต่หลายส่วนอยู่ระหว่างซ่อมแซม และก่อสร้างขึ้นใหม่
                คนเกาหลีใต้นั้นเปรียบประเทศของตน ประหนึ่ง  กุ้งกลางฝูงปลาวาฬ”  ด้วยลักษณะที่ตั้งล้อมด้วยประเทศมหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น จึงถูกรุกรานมาโดยตลอด เหมือนกุ้งที่พร้อมจะถูกปลาวาฬกินเป็นอาหาร จนในที่สุดถูกยึดครอง และตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยญี่ปุ่นเป็นเวลานานกว่า 30 ปี  ตัวพระราชวังเคียงบ๊อกเอง โดนญี่ปุ่นเผาทำลายเสียหาย  ต้องค่อย ๆ บูรณะขึ้นมาใหม่ ประตูกำแพงพระราชวังด้านหน้าที่มีทหารในชุดสีสันสดใสยืนประจำการ เพิ่งจะบูรณะเสร็จเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง  การที่รู้สึกเหมือนจู่ ๆ เดินหลุดออกจากเขตพระราชวัง จึงไม่แปลก พระราชวังแห่งนี้ยังบูรณะไม่เสร็จ ไม่มีแนวกำแพงด้านหลังให้สังเกต ทั้งอาคารด้านหลังเมื่อพ้นจากตำหนักของกษัตริย์และราชินีไปแล้ว ทิ้งช่วงระยะห่าง.... เหมือนปลีกแยกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสวนกว้าง มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง....


คุณ Seosu  สัตว์บกผสมน้ำ นอนผึ่งบนกำแพง
Geunjeongjeon Hall : ตำหนักท้องพระโรงสำหรับกษัตริย์เสด็จออกว่าราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ด้านหน้าทางเข้าตำหนักท้องพระโรง เต็มไปด้วยรูปแกะสลักที่ตั้งประดับตามกำแพงมุมเสาต่าง ๆ
ใบหน้าของรูปปั้นแกะสลักจะละม้ายคล้ายหน้าคน จมูกจะใหญ่มากเป็นพิเศษ
นาฬิกาแดด
ตำหนักที่ประทับกษัตริย์ เรียบง่ายเป็นอย่างยิ่ง
                 เมื่อเดินพ้นกลุ่มอาคารพระราชวังออกมา พบพื้นที่รายล้อมรอบ ๆ เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่
 จังหวะของสถานที่ ต้นไม้ และพื้นที่ว่าง...ประสานรวมกันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ชวนรื่นรมย์  ภาพเด็ก ๆ วิ่งเล่นใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยมีพ่อกับแม่นั่งมองดูอย่างผ่อนคลายนั้นสะท้อนให้เห็นภาพนั้นเป็นอย่างดี


เมื่อพ้นกำแพงด้านหลัง เข้าสู่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่
สวนกว้างด้านหลังที่ร่มรื่น
ศาลา Hyangwonjeong ที่ปรากฏให้เห็น ทำให้รู้ว่ายังอยู่ในบริเวณเขตพระราชวัง
                พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี (The National Folk Museum of  Korea)  ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเรียนรู้นี้  รูปลักษณ์ของอาคารดึงดูดความสนใจด้วยหลังคาซ้อนแบบเจดีย์ 5 ชั้นสีน้ำเงินเข้ม มองเห็นเด่นแต่ไกล
                พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้จำกัดพื้นที่เฉพาะภายในอาคาร หากพื้นที่รอบ ๆ นับเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงเช่นกัน       ขณะที่ตรงดิ่งจะเข้าชมภายในอาคาร เหลือบเห็นลานวงกลม วางรูปแกะสลักหิน 12  สัตว์ปี  ที่ร่างเป็นมนุษย์ในชุดพื้นบ้านเกาหลี หากศรีษะเป็นสัตว์ทั้ง 12 ชนิด ความสูงของรูปแกะสลักประมาณหน้าอก ทำให้เหมือนเด็กตัวน้อย ๆ ที่ยืนล้อมเป็นวงกลม  รูปลักษณ์ตัวน้อย ๆ นั้น ดูจะถูกใจนักท่องเที่ยวที่ยืนออผลัดกันถ่ายรูปคู่กับสัตว์ปีเกิดของตนเอง
                ระบบการนับ 12 สัตว์ปีเป็นหนึ่งรอบมีต้นกำเนิดจากจีนก่อนแพร่ไปยังเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว เขมร และหยุดที่ไทย ไปไม่ถึง พม่า ศรีลังกา และอินเดีย  ยิ่งทางตะวันตกยิ่งไม่รู้จักใหญ่  รู้จักแต่ระบบการนับ 12 ราศีประจำเดือน ฉันจำได้ว่าเคยดูรายการแข่งขันรายการหนึ่งของอเมริกา ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องตอบว่าสัตว์ประจำปีเกิดของตนคือสัตว์อะไร ยังจำสีหน้าผู้เข้าแข่งขันได้ว่างุนงงแค่ไหน....  และ ตอบคำถามนั้นไม่ได้  นั่นทำให้ฉันจำได้อย่างแม่นยำว่าตะวันตกไม่รู้จัก 12 สัตว์ปี 


รูปแกะสลักหิน 12 สัตว์ปี


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี



                พิพิธภัณฑ์นั้นมีหลายประเภท  ... พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา  พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี แต่หน้าที่หลัก ๆ ล้วนไม่แตกต่างนั่นคือ รวบรวมวัตถุสำคัญ  สงวนรักษา และจัดวางแสดง
 พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของเกาหลีมุ่งที่จะแสดงถึงขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลี  ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน  วัตถุที่วางแสดงจึงมิใช่วัตถุล้ำค่า แต่เป็นข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของยุคสมัยต่าง ๆ 
ขณะเดินย่ำในพิพิธภัณฑ์ใดๆ ไ ม่ว่าที่ไหน  สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือความเหมือนของมนุษย์ที่ไม่ว่าจะอยู่อาศัย ณ ทีใดของโลกจะคิดค้นสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ที่มีรูปแบบและหน้าที่ใช้สอยที่คล้ายคลึง  ยิ่งถ้าถอยเวลาย้อนกลับไปไม่ไกล  ข้าวของเครื่องใช้พวกนั้น ณ ที่มุมใด ๆ ของโลก ไม่ได้แค่ละม้าย.... แต่เหมือนกันเลย ขณะที่เดิน ๆ อยู่ ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านจึงหยุดเท้ากันกึก เมื่อเห็น จักรเย็นผ้า ตู้เก็บของ โทรศัพท์บ้าน และของใช้จิปาถะอื่น   ที่เหมือนกับที่เคยจับต้องเมื่อสมัยยังเด็ก.....
            นอกจากวิถีประจำวัน ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังแสดงให้เห็นประเพณีการละเล่นของแต่ละท้องถิ่น....  และเฉกเช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้  ประเพณีการละเล่นในแต่ล่ะวัฒนธรรมโลก ล้วนมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกัน  การละเล่นสวมหน้ากากของที่นี่ ทำให้ฉันนึกถึงการละเล่นผีตาโขนของบ้านเรา ย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า มนุษย์ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ที่ใด มีวิธีคิด และการกระทำ ไม่ต่างจากกัน
                พ้นจากอาคาร ออกมาเดินเล่นรอบ ๆ
                ถนนสู่อดีต จำลองสภาพบ้านเรือน ความเป็นอยู่ในยุคสมัย 1970 -1980 ให้ได้สัมผัสจริง ๆ ไม่ใช่แค่จัดแสดงอยู่ในอาคาร
                หากเดินไปเรื่อย ๆ จะพบที่ตั้งแสดงรูปปั้นหินแกะสลักที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเชจู  รูปปั้นพวกนี้เรียกว่ารูปแกะสลักหินปู่ เป็นรูปปั้นชายแก่สวมหมวกหน้าตาใจดี ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้พิทักษ์เกาะ.... ยืนมองดี ๆ แล้วก็เห็นขันตรงที่จมูกของหินปู่ใหญ่เชียว  ถึงจะตั้งอยู่บนเกาะห่างไกลออกไป แต่จมูกของรูปแกะสลักมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กับรูปแกะสลักในกรุงโซลเลย

รูปแกะสลักจำลองหินปู่ สัญลักษณ์ของเกาะเชจู  
บรรยกาศด้านนอกเขตพระราชวังและพิพิธภัณฑ์

หมายเหตุ
เกาหลีใต้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมของตน ทั้งความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประเพณีพื้นบ้าน  วิถีชีวิต โดยสะท้อนผ่านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายและหลากหลายประเภท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชน และ ที่สำคัญส่วนใหญ่ มักเข้าชมฟรีนี่สิ (อิจฉา)

(บทความนี้ ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารหญิงไทย)