ยูลีต้องติดใจอะไรนักหนากับประเทศอียิปต์แน่ ๆ เพราะสถานที่แรกในเม็กซิโก ซิตี้ที่เจ้าหล่อนนำเสนอชักชวนให้ฉันไปเยือนเป็นเมืองโบราณชื่อว่า Teotihuacan (เตโอติวากัน) เจ้าหล่อนสนอกสนใจเมืองโบราณแห่งนี้เป็นพิเศษ เพราะ…ภายในตัวเมืองมีสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า ปิรามิด ตายล่ะ…จากมัมมี่ วานนาฮัวโต้ ฉันกับยูลีกำลังจะไปเยือน ปิรามิด เตโอติวากันกัน
ฉันกับยูลีนั่งรถไฟใต้ดินไปจนสุดเส้นทางสายสาม แล้วมองหารถประจำทางไปต่อยังเตโอติวากัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ประหลาดที่รถโดยสารปล่อยนักท่องเที่ยวลงด้านหลัง ฉันกับยูลีเดินตามคนอื่นไปอย่างเคว้ง ๆ กึ่งสงสัย เพราะรู้สึกเหมือนถูกจับมาปล่อยเกาะกลางที่รกร้างแห้งแล้งมากกว่า แต่สักครู่ค่อยโล่งใจ เมื่อเจอเข้ากับป้อมเจ้าหน้าที่เก็บเงิน เอาน่า…. นึกปลอบใจตนเอง… มันต้องมีอะไรให้ดูสิ ไม่งั้นจะมีป้อมเก็บเงินได้ไง
เตโอติวากันเป็นเมืองโบราณ ที่คาดกันว่าก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 200 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นเมืองโบราณที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า… ใคร.. ชนเผ่ากลุ่มไหน…เป็นผู้สร้างเมืองนี้ขึ้นมากันแน่ กระทั่งชื่อเรียกที่แน่ชัดดั้งเดิมยังเป็นปริศนา ทั้งที่ในอดีตเมืองแห่งนี้เคยรุ่งเรือง มีประชากรอาศัยหนาแน่นถึงประมาณ 100,000-200,000 คน และยังได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองโบราณที่ใหญ่ที่สุดในโลกอันดับที่หก แล้วจู่ ๆ ในช่วงศตวรรษที่ 7 เมืองนี้ก็ล่มสลายไปเฉย ๆ คาดว่าถูกเผาทำลายโดยผู้รุกรานจากเมืองใกล้ ๆ เตโอติวากันถูกปล่อยทิ้งรกร้างเป็นเวลากว่า 6 ศตวรรษ ก่อนที่ชาวเผ่าแอซเทคจซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณในเม็กซิโกอพยพมาจากเอเชียทางช่องแคบแบริ่งเมื่อ 20,000 ปี ก่อนคริสตกาลจะมาเจอเข้า ความยิ่งใหญ่ของเมืองคงสร้างความงงงันและตื่นตะลึงแก่ชนเผ่าแอซเทค กระทั่งพวกเขาเรียกขานสถานที่แห่งนี้ว่า เตโอติวากัน ซึ่งแปลว่า สถานที่สถิตของพระจ้า ภายในเมือง มีการวางผังอย่างดีเยี่ยม มีถนนสายสำคัญ ทอดยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ชาวแอซเทคเรียกขานถนนสายนี้ว่า Avenue of the Dead ถนนสายคนตาย เพราะเข้าใจผิดคิดว่าแท่นที่เรียงรายสองข้างทางริมถนนนั้นเป็นหลุมฝังศพ ตรงสุดปลายถนนทางทิศเหนือเป็นที่ตั้งของปิรามิดขนาดใหญ่ เรียกขานว่าปิรามิดพระจันทร์
Avernue of Dead
ปิรามิดพระจันทร์
ปิรามิดพระจันทร์ หันหน้าไปทางทิศใต้ และที่ซ้อนด้านหลังปิรามิดพระจันทร์เป็นภูเขาที่อยู่ในตำแหน่งซ้อนทับกันพอดีชื่อว่า Cerro Gordo นั่นย้ำให้เชื่อว่าเมืองแห่งนี้ได้รับการออกแบบอย่างดีเยี่ยมและกลมกลืนกับภูมิศาสตร์ที่ตั้ง
ถัดจากปิรามิดพระจันทร์ออกไปราวหนึ่งกิโลเมตรเป็นที่ตั้งปิรามิดพระอาทิตย์ที่หันหน้าไป
ทางทิศตะวันตก ปิรามิดพระอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าปิรามิดพระจันทร์ มีทางบันไดตรงกลางให้เดินขึ้นไปข้างบนได้ ฉันไม่รอช้าที่จะฉวยโอกาสที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ปีนขึ้นไปบนยอดบนสุด เมื่อมองจากด้านบนยิ่งเห็นได้ชัดว่าเมืองเมืองนี้ได้รับการออกแบบ วางผังเมืองมาอย่างดีเยี่ยมเพียงใด มนุษย์หนอ… จะซ่อนความน่าอัศจรรย์อะไรไว้นักหนา
ปิรามิดพระอาทิตย์
รอบ ๆ ลานปิรามิดพระอาทิตย์ เป็นที่ชุมนุมของเหล่าพ่อค้า แม่ค้าเร่ขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว แม้จะเป็นบรรยากาศที่น่าเวียนหัว แต่ด้วยบุคลิกของชาวเม็กซิกันกลับไม่ทำให้รู้สึกอารมณ์เสีย เพราะการเข้าถึงตัวนักท่องเที่ยวสุภาพ แถมยังพยายามเป็นเจ้าบ้านที่ดี อธิบายประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้ให้ฉันกับยูลีฟังอย่างเต็มความสามารถ (แม้จะตะกุกตะกักสักหน่อย แถมความน่าเชื่อถือก็เชื่อไม่ได้เต็มร้อยก็ตาม)