12 กรกฎาคม 2555

เที่ยวเม็กซิโก ตอนที่ 16


ซาคาเทคัส (Zacatecas)
                ซาคาเทคัสเป็นเมืองอาณานิคม และเมืองเหมืองแร่
บรรยากาศความเป็นเมืองเหมืองแร่กรุ่นทั่วตัวเมือง ฉันกับยูลีซื้อทัวร์เข้าไปชมเหมืองเก่า Mina El Eden ที่ต้องนั่งรถรางลงไปในอุโมงค์ระยะทางสั้น ๆ เพื่อชมสภาพภายใน
ถ้าเมืองอื่น ๆ ก่อนหน้านี้  เราเจอคนพื้นถิ่นที่น่ารัก ที่ซาคาเทคัสเรากลับถูกคอกับนักท่องเที่ยวด้วยกันมากกว่า นอกจาก Octavid แล้ว ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเมืองเอล ปาโซ ที่เจอกันขณะเข้าไปเที่ยวในเหมืองรอบเดียวกัน  ไม่รู้เป็นเพราะความเป็นคนเอเชียที่ดูตัวเล็ก ๆ หน้าอ่อนเยาว์ หรือไงไม่ทราบ ท่าทางพวกนี้เอ็นดูฉันกับยูลีจัง…. ชวนเราพูดคุยตลอดเวลา ทั้งเอื้อเฟื้อแปลคำอธิบายของคนนำทางท้องถิ่น ที่สาธยายความเป็นมาของเหมือง อีเดนให้เราฟังเป็นภาษาอังกฤษ


                ถึงแม้เหมืองจะไม่มีแร่ให้ขุดอีกต่อไป แต่ยังคงเป็นแหล่งทำเงินให้กับเมืองอยู่ดี คนงานในเหมืองเปลี่ยนกลายเป็นนักศึกษาที่มาทำอาชีพเป็นไกด์นำทาง  ล่อที่ลากเกวียนเปลี่ยนเป็นรถรางนำนักท่องเที่ยวเข้าไปชมด้านใน
ชื่อของเหมืองที่เพราะพริ้ง เป็นแหล่งสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศสเปน แต่สำหรับคนงานที่นี่แล้ว ที่นี่เป็นนรกดี ๆ นี่เอง ในสมัยยุคอาณานิคม เป็นเรื่องธรรมดาที่จะส่งเด็กอายุสิบขวบลงไปทำงานข้างใน และคนงานเหล่านี้มีอายุได้ไม่เกิน 40 ปี
เส้นทางออกจากเหมืองมีรถกระเช้า Teleferico นำนักท่องเที่ยวไปอีกเนินเขาด้านหนึ่ง

บริเวณนั้น มีโบสถ์ พิพิธภัณฑ์ และรูปปั้นคนสำคัญ แต่เวลานั้น กวาดตามองไปรอบ ๆ ฉันกับยูลีตาพร่างพรายไปด้วยหินสวย ๆ ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้า มาร้อยขายเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือเต็มไปหมด ทั้งยังมีเครื่องประดับที่ทำจากเงินและทองแดงอีก สมกับเป็นเมืองเหมืองแร่จริง ๆ   ฉันกับยูลีเลยละความสนใจจากสถานที่เที่ยว หันไปชอบปิ้งตามประสาสาว ๆแทน ราคาเครื่องประดับใส่เล่นเหล่านี้ถูกแสนถูก จนฉันกับยูลีขนซื้อกันมาคนละหลายเส้น
นอกจากเครื่องประดับสวย ๆ ในราคาย่อมเยาชวนช้อปแล้ว ฉันยังไปติดใจงานฝีมือพื้นบ้านประเภทหนึ่งเข้า ถ้วยลูกปัด !!! ให้ตายเถอะ เจ้าลูกปัดเม็ดเล็ก ๆ ที่เรียงรายประดิดประดอยเป็นลวดลวยต่าง ๆ  ด้านในถ้วยที่วางโชว์บนขาตั้ง แบบที่ใช้วางจานโชว์ สีสันจัดจ้าน สดสะดุดตากระทั่งมองผ่านไปแล้ว ต้องตวัดตากลับมามองอีกครั้ง ให้ตายเถอะ… คนเม็กซิกันนี่เวลาทำอะไรเขาใช้สีสันดุเดือดกันดีจริง ๆ
แว่บแรกที่เห็นสะดุดตา จนต้องหันกลับไปมองอีกครั้ง ต้องถามตัวเอง อะไรหว่า? ก่อนสาวเท้าก้าวเข้าไปประชิดก้มดูใกล้ ๆ  ตอนแรกฉันคิดว่าเจ้างานชิ้นนี้คงจะทำจากกะลามะพร้าวผ่าซีก แล้วนำลูกปัดมาประดับตกแต่ง แต่ครั้นหยิบขึ้นมาดูต้องเปลี่ยนใจ 
ไม่ใช่… กะลามะพร้าวจะไม่บาง เรียบ และลื่นแบบนี้ นอกจากนี้เมื่อพลิกกลับดูด้านหลัง ไม่มีรอยบุ๋มแบบที่กะลาควรต้องมี
น้ำเต้า… ถ้วยลูกปัดนี้ทำจากน้ำเต้า และเป็นงานฝีมือพื้นบ้านของชาวอินเดียนเผ่า Huichol  นั่นทำให้ฉันนึกถึงผลน้ำเต้าแห้งที่ชาวเขาบ้านเราเอามาประดับตกแต่งแขวนขายนักท่องเที่ยวทั้งผล ฉันเองยังซื้อมาแขวนเล่นในห้องนอนอยู่หลายใบ

ชาวอินเดียนเผ่า Huichol ใช้ถ้วยลูกปัดในพิธีกรรมติดต่อกับพระเจ้า โดยเชื่อว่าเมื่อพระเจ้าได้ทรงดื่มน้ำจากถ้วยน้ำเต้านี้แล้ว จะเข้าใจสิ่งที่พวกเขาสวดอ้วนวอนมากยิ่งขึ้น

ภาพจาก http://www.timbersresorts.com

ฉันว่างานศิลปะพื้นบ้านมักมีรูปแบบ และใช้วัสดุที่คล้ายคลึง ฉันเคยซื้อเสื้อพื้นเมืองจากเม็กซิโกไปฝากเพื่อนที่เมืองไทย ไม่ยักมีใครคิดว่าของชิ้นนั้นข้ามน้ำข้ามทะเลไปตั้งไกล กลับนึกกันว่าฉันซื้อมาจากเชียงใหม่ไปเสียฉิบ
เจ้าย่ามใบแดงที่ฉันหอบหิ้วจากเมืองไทยก็เช่นกัน สะพายไปเรียนที่แคมปัส ไม่ยักเรียกความสนใจจากเพื่อนฝรั่ง มีแต่นักเรียนจีนเข้ามาถามไถ่ว่า ฉันไปหาซื้อมาจากไหน เพราะเหมือนของชาวเขาที่บ้านเขาเป๊ะเลย
สุดท้าย ฉันเดินเข้า ๆ ออก ๆ ตามร้านขายของที่ระลึกอยู่หลายร้าน กว่าจะได้ถ้วยลูกปัดถูกใจลายดอกไม้สีสวย ขนาดกะทัดรัด ในราคาไม่สะเทือนกระเป๋ามาเป็นที่ระลึก 1 ชิ้น ยูลีไม่ยักจะสนใจ เจ้าหล่อนว่าถูกใจกับสร้อยคอ กับสร้อยข้อมือที่ทำจากหินสีสวย ๆ มากกว่า
หลังจากกลับไปที่อเมริกาแล้ว ใครถามไถ่เราเกี่ยวกับเมืองเมืองนี้ ว่าเป็นยังไงบ้าง เราได้แต่ยิ้มกระเป๋าแฟ้บ พูดอ้อมแอ้มว่าเหมาะสำหรับชอบปิ้ง (แฮะ แฮะ)


Copyright ©2011 kanakacha.blogspot.com