เวลาพูดถึงฮ่องกง มักจินตนาการถึงพื้นที่ที่เป็นเกาะล้วน ๆ ทั้งที่จริง ๆ แล้วพื้นที่ของฮ่องกงนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ คาบสมุทร และเกาะ นั่นคงเป็นเพราะแรกเริ่มที่จีนแพ้สงครามฝิ่นต่อประเทศอังกฤษ เกาะฮ่องกงเป็นพื้นที่แรกที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนขยายไปถึงส่วนที่เป็นคาบสมุทร และแผ่นดินใหญ่
ฮ่องกงนั้น มีพื้นที่ที่เป็นเกาะที่มีจำนวนมากถึง 263 เกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะลันเตา มีเกาะฮ่องกงใหญ่รองลงมาเป็นอันดับสอง จากนั้นจึงเป็นบรรดาเกาะเล็ก เกาะน้อย ที่กระจายอยู่รอบ ๆ และเกาะเชิงเชา (Cheung Chau) ที่ฉันเลือกที่จะไปเยือนในคราวนี้เป็นหนึ่งในนั้น
แรงดึงดูดใจนั้นเกิดจากการเห็นภาพเรือประมง วัด จักรยานจำนวนมากที่จอดเรียงราย และคำอธิบายประกอบโดยเฉพาะวลีที่ว่าอาหารทะเลราคาย่อมเยา และผู้คนสัญจรด้วยจักรยานล้วน ๆ นั่นทำให้ฉันตัดสินใจโดยพลัน ด้วยรู้สึกว่าน่าจะเป็นเกาะที่บรรยากาศน่ารัก เดินเที่ยวได้สนุก และมีอาหารอิ่มท้องให้เลือกบรรจุมากมาย
การเดินทางจากเกาะฮ่องกงสู่เกาะเชิงเชาเริ่มที่ท่าเรือเฟอรี่หมายเลข 5 ที่เซนทรัล เรือเฟอรี่ทั้งแบบธรรมดา และแบบเร็วเคลื่อนเข้าออกระหว่างสองเกาะทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง และด้วยเวลาประมาณ 35 นาทีด้วยเรือเร็ว ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านก็เดินทางถึงเกาะเชิงเชาแล้ว
เมื่อเคลื่อนไหลตามผู้คนออกมาหน้าท่าเรือ เจอเข้ากับทางถนนแคบ ๆ ถนนสายนั้นเรียงรายไปด้วยร้านรวง และนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นเดินไหลผ่านแวะชมข้าวของที่วางอยู่หน้าร้าน ทั้งของกินคาวหวาน ของที่ระลึก และที่สำคัญเมื่อเป็นเกาะชาวประมง ย่อมมีอาหารทะเลตากแห้งวางขายเป็นแข่ง ๆ เรียงราย ขนาดเป็นคนใกล้ชิดถิ่นทะเลแท้ ๆ เห็นปลาตากแห้งตัวโต ๆ ของที่นี่ยังอดยืนมองไม่ได้ว่าช่างตัวโต น่ากินเสียจริง
จำนวนผู้คนที่เดินไหลผ่านไปมา มีทั้งที่ไหลไปทางด้านซ้าย และไหลไปทางด้านขวาจนทำให้ตัดสินใจไม่ถูกว่าควรจะเลือกไปทางไหนดี ยืนชั่งใจกันชั่วขณะก่อนตัดสินใจที่จะเลือกไปทางด้านขวา (ยืนหันหลังให้กับท่าเรือ) ตามจำนวนคนที่ดูจะหนาแน่นมากกว่าทางด้านซ้าย
เมื่อตัดสินใจไปทางด้านขวา เดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็เจอแผนที่ของตัวเกาะตรงข้างทาง เมื่อเข้าไปยืนดูจึงรู้ว่า เส้นทางที่เลือกนั้นนำไปสู่พื้นที่ทางด้านใต้ของตัวเกาะ
ช่วงต้นของเส้นทางยังคงหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว และร้านค้า กระทั่งเริ่มเดินลึกเข้าไปด้านในตัวเกาะชักเริ่มสับสน เพราะกลายเป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นเหมือนจะหายกันไปหมด ผู้คนที่ขี่จักรยานผ่านไปมา ลักษณะไม่เหมือนคนต่างถิ่น เหมือนเจ้าถิ่นเสียมากกว่า ทั้งป้ายชี้บอกทางก็ไม่มีเสียด้วย เริ่มหันมองซ้าย มองขวา...จะเอายังไงกันดี สุดท้ายตัดสินใจใหม่
เปลี่ยนเส้นทาง !!!
จากเส้นทางที่นำลึกเข้าไปในตัวเกาะ เปลี่ยนเป็นเส้นทางเลียบทะเล อย่างไรเสีย แม้เส้นทางนี้จะไม่นำไปสู่ที่ไหน ก็ยังได้เห็นภาพท้องทะเล ประสานไปกับท้องฟ้าตลอดเส้นทาง
เยี่ยมหน้าออกไปมองเส้นทางเลียบทะเล ทางถนนทอดยาวไปอีกไกล ทั้งแดดยังแผดจัดจ้า ทำให้ตัดสินใจโดยพลันอีกครั้ง เช่าจักรยานเถอะ..
เส้นทางเลียบทะเลไปสิ้นสุดตรงบริเวณปลายเกาะ จอดจักรยานปุ๊ป มีเส้นทางเดินชมธรรมชาตินำไปสู่บริเวณลานหินชายฝั่งทะเลที่เรียกว่า Reclining Rock วัด Tin Hau และถ้ำจางเป๋าจ่าย (Cheung Po Tsai Cave)
เส้นทางเดินนั้นร่มรื่น และไม่ชันจนเกินไป ทำให้เดินไปได้เรื่อย ๆ สบาย ๆ ทั้งยังเป็นการหลบแดดที่จัดจ้านจากด้านนอกไปด้วย บางช่วงระหว่างทางได้เห็นภาพโขดหินและน้ำทะเลที่ซัดสาดอยู่ด้านล่าง เสียดายที่เส้นทางเดินไปยัง Reclining Rock ที่เป็นลานหินชายฝั่งนั้นปิดซ่อมแซม ไม่เช่นนั้นแล้ว จากการมองจากมุมสูง เส้นทางเดินบนลานหิน Reclining Rock ให้บรรยากาศที่แปลกต่างจากการเดินเล่นบนหาดทราย
เดินเลยถัดไป เป็นถ้ำจางเป๋าจ๋าย ด้านหน้าบริเวณถ้ำนั้นมองเผิน ๆ เหมือนเป็นกองก้อนหินก้อนใหญ่ ๆ ที่ซ้อนทับกัน สะดุดให้สังเกตตรงอักษรจีนที่เขียนบนก้อนหิน และมีลูกศรชี้ลงมาที่โพรงเล็ก ๆ ด้านล่าง ที่มองสังเกตแทบไม่เห็น เมื่อลองไปยืนใกล้ๆ ชโงกหน้ามองเข้าไปด้านใน โพรงนั้นชันดิ่งลงไปข้างล่าง มืดสนิท สภาพเหมือนโพรงตัน ไม่น่าเชื่อว่าจะมีช่องลึกเข้าไปด้านในจนกลายเป็นถ้ำได้เลย
สถานที่บางแห่งนั้นเหมือนไม่น่าสนใจ หากเรื่องราวแวดล้อมที่เกี่ยวข้องบางครั้งก็เปลี่ยนสถานที่แห่งนั้นให้น่าสนใจ และน่าสนุกขึ้นมาได้ในทันที ถ้ำจางเป๋าจ่ายเป็นสถานที่แบบนั้น
โพรงช่องที่เล็กและแคบ ไม่น่าสนใจ น่าสนใจขึ้นมาโดยพลัน เมื่อรู้ว่า ถ้ำแห่งนี้ตั้งชื่อตามโจรสลัดชื่อก้องแห่งน่านน้ำจีน ... จางป๋อจ่าย ที่มีชีวิตโลดโผน จากบุตรชายชาวประมง กลายเป็นหัวหน้าโจรสลัดที่มีเครือข่าย และขุมกำลังมหาศาล ออกปล้นสะดมภ์ไปทั่วน่านน้ำจีน จนเป็นที่ต้องการของทางการจนต้องส่งนายทัพมาปราบปรามอยู่เนือง ๆ จนท้ายสุด จางเป๋าจ่ายได้วางมือและเข้าสวามิภัรกดิ์กับทางการ และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทัพเรือ และกลายเป็นตำนานในที่สุด
เรื่องของโจรสลัดจะมีสีสันย่อมต้องมีเรื่องของขุมสมบัติ ในเมื่อปล้นสดมภ์ได้เงินทองมาจำนวนมากมายขนาดนั้นแล้วทรัพย์สมบัติเหล่านั้นหายไปไหนหมด?? เรื่องราวของจางเป๋าจ่ายที่ร่ำลือเล่าขานกันต่อมา จึงมีสีสันของเรื่องนี้ผสมอยู่ด้วย... สมบัติถูกซ่อนไว้ที่ไหน ร่ำรือกันไป ค้นหากันไป ยังคงเป็นปริศนา และไม่มีใครพบเจอ ถ้ำจางเป๋าจ่ายที่อยู่เบื้องหน้านี้ก็เป็นหนึ่งในที่หมายหที่น่าสงสัยว่า จอมโจรสลัดชื่อก้องได้ซ่อนสมบัติไว้ในถ้ำแห่งนี้
โพรงเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านหน้าเนี่ยนะ !!
เห็นแล้วไม่ได้สร้างความมั่นใจได้เลยว่ามีถ้ำอยู่ข้างใน
ขณะชั่งใจอยู่ มีครอบครัวชาวจีน พ่อ แม่ และลูกอายุประมาณ 7- 8 ขวบ ผ่านมาที่หน้าถ้ำพอดี ผู้เป็นพ่อ กับแม่มองสำรวจหน้าถ้ำก่อนที่ตัวพ่อจะเดินย้อนกลับไป และกลับมาอีกครั้งพร้อมคนนำทางที่บริเวณรอบเอวของคุณลุงแขวนไฟฉายขนาดเล็กเป็นพวง
ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านมองสังเกตอยู่ห่าง ๆ พอเห็นคนนำทางเอาไฟฉายออกมาแจกจ่าย และทั้งหมดเตรียมตัวที่จะเข้าไปสำรวจภายใน ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านรีบเสนอตัวเข้าไปร่วมขบวนด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับให้ร่วมกลุ่มด้วยเป็นอย่างดี
โพรงทางเข้าเล็กนิดเดียว ต้องค่อย ๆ หย่อนตัวลงไปข้างในทีละคน และอย่าคาดหวังว่าจากโพรงเล็ก ๆ จะขยายขนาดกลายเป็นถ้ำกว้าง ๆ ให้เดินสบาย เพราะทางเข้าเป็นโพรงเล็กอย่างไร ด้านในก็ยังคงเป็นโพรงเล็กอยู่อย่างนั้น ทั้งยังลึกชันลงไปด้านล่างทำให้ต้องค่อย ๆ หย่อนตัวและแทรกตัวตามช่องแคบ ไปเรื่อย ๆ บางช่วงที่ชันมากมีการทำบันไดอำนวยความสะดวกไว้ให้... นี่มันเหมือน ฐานฝึกผจญภัยมากกว่าถ้ำโจรสลัดแล้ว
เมื่อลงไปลึกสุด ก็ค่อย ๆ ไต่ขึ้นข้างบนอีกครั้ง ประมาณ 5 นาที เราทั้งหมดก็โผล่ออกจากถ้ำมาขึ้นอีกทางหนึ่ง เมื่อ มองย้อนกลับไปที่บริเวณทางออก ปากทางออกจากถ้ำช่างเหมือนบริเวณทางเข้าไม่มีผิด โพรงเล็ก ๆ แอบซ่อนอยู่ใต้กองก้อนหินขนาดใหญ่ ถ้าไม่สังเกต หรือไม่มีอักษรจีนเขียนไว้ด้านบนจะไม่รู้เลย
สนุกมั้ย... สนุกดีนะ ไม่คิดว่าจากที่ขี่รถจักรยาน เดินเล่นชมวิวอยู่ดีๆ จะได้ลงไปปีนป่ายสำรวจถ้ำโจรสลัดเสียอย่างนั้น
จากนั้นย้อนไปสำรวจเส้นทางด้านบนบ้าง... ไปจบที่วัดปักไต (Pak Tai) วัดทางพุทธศาสนาที่เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวเกาะ วันแห่งนี้แม้จะเป็นวัดขนาดเล็กที่ดูเรียบง่าย แต่มีความโอ่อ่า และสง่าแฝงอยู่ในที เริ่มจากทางเดินบันไดขึ้นสู่ตัววัดที่เป็นทางเดินกว้างสามช่องทาง โดยทางเดินตรงกลางนั้นนำไปสู่ตัววิหารที่มีรูปปั้นสิงห์จำนวน 4 ตัววางขนาบสองข้าง รูปปั้นสิงโตที่ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายเป็นสิงโตเพศผู้ สังเกตจากลูกบอลที่อยู่ใต้เท้า ขณะที่รูปปั้นสิงโตทางด้านขวาเป็นสิงโตเพศเมีย สังเกตจากที่มีลูกสิงโตอยู่ใต้เท้า
ภายในวิหารแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ตกแต่งอย่างปราณีต และเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าปั๊กไต เทพเจ้าแห่งท้องทะเลตามความเชื่อในลัทธิเต๋า ที่ชาวประมงเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่ช่วยให้การเดินเรือราบรื่น และจับปลาได้ทีละมากมาก สะท้อนถึงความเป็นชุมชนชาวประมง ที่ต้องทำมากินในท้องทะเล
ขณะเดินย้อนกลับไปที่ท่าเรือเฟอรี่ แม้ร้านค้าแรกที่ต้อนรับเราขณะแรกเหยียบขึ้นมาบนเกาะจะเป็นป้ายอักษรตัว M ขนาดใหญ่สีเหลืองสดใส แต่ท้ายสุด วิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนก็ไม่ได้หนีหายไปไหน ขณะที่ขี่จักรยานเที่ยวเล่นบนเกาะยังคงเห็นชาวบ้านสวมใส่หมวกเฉพาะถิ่นที่คล้ายกับงอบบ้านเราแต่กลมมนกว่า และท้ายสุด การเดินทางของเราสองคนยังจบด้วยการไหว้เทพเจ้าแห่งท้องทะเลตามความเชื่อของชุมชน