26 กรกฎาคม 2554

เชสกี้ ครุมลอฟ เมืองเล็กในแคว้นโบฮีเมืย

หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์


ไม่น่าเชื่อว่าในบรรดารูปภาพจำนวนนับร้อยรูปที่ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านช่วยกันกดเก็บละเอียดยิบจากการเดินทางไปเที่ยวในประเทศแถบยุโรป ภาพเมืองขนาดกระทัดรัดที่ทั่วทั้งเมืองแทบจะมีสีหลังคาอยู่สีเดียวนั่นคือสีส้ม และมีแม่น้ำสายน้อย ๆ โอบล้อมเกี่ยวกะหวัด จะชนะใจผู้ชมเหนือกว่าเมืองใหญ่ที่ชื่อชั้นการท่องเที่ยวอยู่ในระดับต้น ๆ อย่างเวียนนา ปราก และมิวนิค อย่างหน้าตาเฉย

หลายคนหยุดชะงัก เอ่ยปากถามถึงชื่อเสียงเรียงนาม

“เชสกี้ ครุมลอฟ” เป็นชื่อที่ฉันเอ่ยตอบกลับไป

คิ้วขมวดนิดหน่อย … ประมาณว่า ชื่อไม่ค่อยคุ้น อะไรกี้ ๆ ทำนองนั้น แต่บางคนก็อ๋อ…เพราะช่วงหลังเจ้าเมืองเล็กหลังคาส้มฮอตฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งมีการันตีความเป็นเมืองมรดกโลก ยิ่งเหมือนนางงามได้มงกุฏยังไงยังงั้น ดึงดูดให้ผู้คนที่ผ่านไปมา อดไม่ได้ต้องเหลียวหันกลับมามอง

เชสกี้ ครุมลอฟเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ทางตอนใต้ของประเทศสาธารณรัฐเชค แคว้นโบฮีเมีย ครอบคลุมพื้นที่ 22.16 ตารางกิโลเมตร ประมาณว่าด้วยสองเท้าที่ทุกคนมีก็สามารถสำรวจรอบเมืองได้สบาย ๆ ทั้งจำนวนประชากรก็มีขนาดกำลังน่ารัก ประมาณแค่ 14,000 กว่าคนเท่านั้น


เมืองเชสกี้ ครุมลอฟ จากภาพโปสเตอร์ที่วางขายตามร้านขายของที่ระลึกทั่วไป 

เมืองเล็ก ๆ แบบนี้ หาที่พักไม่ลำบาก เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องที่ตั้ง เพราะไม่ว่าที่พักจะตั้งอยู่ตรงไหน ส่วนไหนของตัวเมือง ก็จะถูกอ้างโฆษณาชวนเชื่อว่า อยู่ใกล้จุดท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งนั้น

ฉันเลือกที่พักที่ถอยห่างจากตัวเมืองออกไปเล็กน้อย ด้วยสนนราคากำลังน่ารัก บอกราคาใครไปก็ห่อปาก ไม่รู้ว่าด้วยความชื่นชม หรือนึกในใจว่า “โคตรเขี้ยว” ความจริงไม่ใช่แค่เรื่องของราคา หากเป็นเรื่องของบรรยากาศที่เป็นตัวบวกที่ยวนใจ เพราะที่พักที่ว่าอยู่ติดกับแม่น้ำวัลตาวา ( Vltava) ที่เกี้ยวพาราสีไปกับตัวเมือง แล้วเจ้าของก็นำมาเป็นจุดขายเสียด้วย ภาพถ่ายระเบียงด้านหลังที่ติดริมน้ำ ดูอบอุ่น ชวนให้นึกอยากนั่งจิบกาแฟอุ่น ๆ ผึ่งเท้า อย่างเกียจคร้าน และภาพนั้นเองทำให้ฉันกดเม้าส์คลิ้กเลือกที่จะพักที่นี่

ใคร ๆ ก็ว่าฉัน sense ดี เรื่องเลือกที่เที่ยวกับที่พัก บางทีไม่ต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปสอบถามข้อมูลจากใคร แค่มีภาพแผนที่ แผ่นพับ โบวชัวร์ ประสมกับข้อมูลเพียงเล็กน้อย มาวางให้เลือกอยู่ตรงหน้า… ฉันมักจะเลือกได้ที่ดี ๆ อยู่เสมอ ๆ

ที่พักที่นี่ก็เช่นกัน… ได้สัมผัสกับความเป็นโบฮีเมียนอย่างไม่ตั้งใจ แต่ไม่ใช่โบฮีเมียน แบบเครื่องแก้วคริสตัลเจียระไนสวย ๆ ที่ขึ้นชื่อ แต่เป็นโบฮีเมียน แบบติสต์ ๆ ที่ใช้ของง่าย ๆ พื้น ๆ ในการแต่งสถานที่ ภาพโปสการ์ดหลากหลาย ภาพถ่ายธรรมดา สีบ้าง ขาวดำบ้าง ติด ๆ รวมกันตรงแผ่นผนัง น่าสนใจตรงมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ค่อย ๆ ละเลียดดู แล้วบางจุด บางที่ก็ผสมสีสันสด ๆ เข้าไปเฉย ๆ เสีย อย่างนั้น อย่างห้องน้ำ เปิดบานประตูไม้สีน้ำตาลเข้มธรรมดาเข้าไปครั้งแรกแทบผงะ เมื่อปะทะเข้ากับสีส้มแจ้ดทึบทั้งผนัง แล้วภาษาน่ะ ที่เขียนติดแผ่นป้ายเล็ก ๆ ตรงมุมโน้น มุมนี้ มันช่างจี๊ด ตักเตือนอย่างสวิงสวายให้แขกที่มาพักมีมารยาทบ้างเวลาใช้ห้องน้ำน่ะ ที่นี่ของส่วนรวมนะจ๊ะ

ระเบียงด้านหลังถูกใจอย่างที่คาด แล้วความที่ที่นี่เป็น hostel เล็ก ๆ ทำให้ไม่มีใครแย่งใช้พื้นที่ ปล่อยให้ฉันกับเพื่อนร่วมบ้าน ทำกับข้าว นั่งทานอาหารริมแม่น้ำสบายใจ แถมยังมีเสียงเพลงดังคลอเบา ๆ ที่เปิดจากตลับเทป อันเป็นเสียงร้องแท้ ๆ ของเจ้าของที่พัก ที่เป็นสาวผิวสี ผมยาวดำสนิทคล้ายคนเอเชีย

บริเวณข้าง ๆ เครื่องเล่นวิทยุ มีปึกโปสการ์ดวางอยู่ ไม่ได้สะสวย สะดุดตา แต่ก็รู้ว่าเจ้าของทำเอง… ขายเอง… ใครใคร่หยิบ ก็หยิบไป… แต่วางเงินไว้ให้ก็แล้วกัน

บรรยากาศแบบนี้ จะไม่เรียกว่า โบฮีเมียน สไตล์ได้ยังไง

ที่ชอบเป็นพิเศษอีกที่คือห้องนอน ไม่ได้ตบแต่งสวยงาม สะอาด สะอ้าน ทั้งเครื่องเรือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้เชย ๆ เหมือนเครื่องเรือนยุคสมัยคุณพ่อ คุณแม่ ตามต่างจังหวัดด้วยซ้ำ แต่ที่ชอบนั้น ชอบเพราะบรรยากาศ ที่ตัวห้องอยู่ชั้นสองชิดติมริมถนนโบราณสายแคบ ๆ ยามค่ำคืนนั่งขีด ๆ เขียน ๆ บนโต๊ะไม้ริมหน้าต่างที่ แค่เปิดแง้มออกไปนิด ๆ ก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศของท้องถนน ที่ร้างลา ขนาบด้วยอาคารสองด้าน ที่เปิดไฟสลัว ๆ นาน ๆ ทีจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินผ่านสักกลุ่มหนึ่ง



ถ้าอยากเห็นเมืองเชสกี้ ครุมลอฟทั้งเมืองชัด ๆ ว่าคดเคี้ยวเกี้ยวกับแม่น้ำวัลตาวาอย่างไร ต้องตรงไปที่ปราสาทครุมลอฟ แม้ขนาดของเมืองจะกระจิด แต่ตัวปราสาทไม่ได้กระจิดตาม ทั้งยังมีศักดิ์และสิทธิ์เป็นปราสาทใหญ่ลำดับสอง รองจากปราสาทปราก … ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินไปตรงไหน มุมไหนของเมือง จะแลเห็นยอดปราสาทอวดโฉมให้เห็นอยู่เสมอ ฉะนั้น.. แค่แหงนหน้ามองหายอดปราสาท จากนั้นเดินตรงไปตามทางที่ทอดอยู่ข้างหน้า… อาจจะวนซ้าย วนขวาบ้าง แต่สุดท้ายตัวปราสาทครุมลอฟจะรออยู่เบื้องหน้า




ส่วนตัวแล้ว…ฉันชอบที่จะไปถึงสถานที่ที่ต้องการจะไปเยือนแต่เช้า ณ เวลานั้น สถานที่นั้นจะยังคงสงบ แดดยังคงอุ่นนุ่ม ไม่ร้อนแรง… นับเป็นช่วงเวลาที่แสนดี ก่อนที่ความคึกคัก และความวุ่นวายจากนักท่องเที่ยวหลากหลายจะมาเยือน เป็นสองบรรยากาศสองแบบที่จะได้สัมผัส และ..ตามประสาคนงกเที่ยว… ฉันรู้สึกตัวพอง ๆ ประมาณว่าได้กำไรมากกว่าชาวบ้านคนอื่นเขา

 ณ ช่วงเวลาที่รอปราสาทเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ฉวยโอกาสค่อย ๆ เดินละเลียดไปตามทางที่ทอดขึ้นไปยังพื้นที่ปราสาทที่เป็นสวนด้านบน ระหว่างทางได้เห็นภาพเมืองทั้งเมืองจากมุมสูง … แสงแดดอุ่น ๆ ส่องกระทบหลังคาเมืองสีส้มที่เรียงซ้อนสลับต่อเนื่องตามพื้นที่ที่คดโค้งราวรูปตัวเอส เลาะเลียบไปกับสายน้ำวัลตาวา ณ เวลานั้น รู้สึกเหมือน เชสกี้ ครุมลอฟ เป็นเมืองที่หลุดมาจากเทพนิยาย… เมื่อไปจนถึงสุดทาง รอบตัวเป็นสวนสวย และ เช้า ๆ อย่างนั้น สวนทั้งสวนเป็นของฉันกับเพื่อนร่วมบ้าน ใคร่จะเดินไปชมดูสวนบริเวณไหนไปได้ตามใจชอบ จะก้ม ๆ เงย ๆ ดูดอกไม้ดอกเล็กดอกน้อยไม่ต้องเกรงใจ หรือเขินสายตาใคร… นี่แหละ เวลายามเช้า

ปราสาทครุมลอฟเริ่มเปิดให้เข้าชมเวลาเก้าโมงเช้า ที่นี่ไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตามอำเภอใจ แต่จะมีตารางเวลา และเส้นทางนำนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นรอบ ๆ อย่างชัดเจน มีไกด์คอยอธิบายให้ข้อมูล ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีได้

เปรียบเป็นผู้หญิง ปราสาทครุมลอฟไม่ใช่หญิงสาวอ่อนหวาน หากเป็นหญิงสาวที่ดูหนักแน่น อบอุ่น น่าไว้เนื้อเชื่อใจ อาจเป็นเพราะสถานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หนาวจัด การก่อสร้างจึงเน้นความหนาหนักแข็งแรง แต่ใช่ว่าจะไร้จริตเสียเลย มีความหรูหราพอประมาณสอดแทรกอยู่ในส่วนที่เป็นโบสถ์ และเครื่องเฟอร์นิเจอร์ที่วางตบแต่งในส่วนที่เป็นห้องนอน แต่ที่ดูเย้ายวนที่สุดคงเป็นห้องสุดท้าย เป็นห้องโถงใหญ่ที่เรียกว่า “Masquerade Hall”

Masquerade Hall เป็นห้องโถงสำหรับให้ผู้คนในวงสังคมชั้นสูงที่จะมาดูการแสดงในโรงละครของปราสาทได้พักรอเวลาเข้าชมการแสดงที่นี่ ภาพวาดบนผนังสีสันสดใสเป็นภาพจำลองงานรื่นเริงของชนชั้นสูง ทั้งหมดกำลังสนุกสนานอย่างเต็มที่กับงานเต้นรำสวมหน้ากาก ที่ประหนึ่งเป็นการได้ปลดปล่อยอารมณ์อย่างเต็มที่ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใครกันบ้าง คนวาดภาพเองคงนึกสนุกได้ใส่ภาพตัวเองนั่งดื่มกาแฟอยู่ตรงมุมหนึ่งของห้อง และตรงเหยือกกาแฟ ได้สลักชื่อของเขาไว้ Josef Lederer

บริเวณขอบมุมผนัง และบนฝ้าเพดานหรูหราด้วยลวดลายที่อ่อนช้อยตามสไตล์ของศิลปะยุคโรโคโค ที่นำเอาเส้นสายของกาบหอยมาประยุกต์เป็นลวดลายตกแต่ง …นับเป็นรายการสุดท้ายของการเข้าชมปราสาทที่ทุกคนดูจะพึงอกพึงใจ เมื่อคนนำทางบรรยายเสร็จ ได้ชี้ไปที่ประตูทางออก… ราวจะบอกผู้มาเยือนว่าจะใช้เวลาอ้อยอิงชื่นชมห้องสุดท้ายนี้อย่างไร แล้วแต่คุณ นี่เป็นรายการสุดท้ายแล้ว ไม่มีการรีบเร่ง… แต่หากพ้นประตูออกไป การมาเยือนเป็นอันจบลง



เชสกี้ ครุมลอฟเป็นเมืองเดินสนุก ด้วยขนาดที่เหมาะสำหรับเดินเที่ยวเล่น ไม่ต้องง้อพาหนะอื่นช่วยทุ่นแรงนอกจากสองขา และแทบไม่ต้องก้มมองแผนที่ ด้วยไม่ต้องกลัวหลง และไม่ต้องรีบเร่ง เวลาเพียงหนึ่งวันพอสำหรับการเตร็ดเตร่ ทั้งตัวเมืองด้านในและขอบด้านนอก

ทางถนนของเชสกี้ครุมลอฟ เล็กแคบเป็นตรอกซอกซอย ให้อารมณ์สนุก เหมือนกำลังซอกแซกแอบหนีมาเที่ยวเล่น อาคารในเมืองทาสีกันแจ่มสดใส และมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ดูเพลิน ไม่ว่าจะฝาท่อถนนที่เป็นรูปสัญลักษณ์ตัวเมือง เหล็กดัดอาคารลวดลายแปลกตา แล้วเห็นคนเชคหน้าตานิ่ง ๆ เฉย ๆ อย่างนั้น แต่ฉันว่าพวกนี้มีอารมณ์ขัน และมีสุนทรียในการบรรจงประดิษฐ์สิ่งของน่ารักน่าชัง ก็ดูข้าวของที่ระลึกที่วางยั่วตายั่วใจในร้านแต่ละร้าน มีทั้งแบบหวานเชี้ยบ เก๋ ๆ ขายไอเดีย ลึบลับหน่อย ๆ หรือจะออกแนวทะลึ่ง ตึงตัง น่ารัก ก็มีให้เห็น แล้วแต่ละร้านก็ช่างสรรหาความเป็นตัวของตัวเอง ขายของแทบจะไม่ซ้ำรูปแบบกัน

ร้านค้าที่นี่จะปล่อยให้ลูกค้าเดินชมสินค้าอย่างสบายใจ จะหยิบจะจับข้าวของชิ้นไหนขึ้นมาดู ขึ้นมาชม ไม่มีว่ากัน แถมยังใจดีให้ถ่ายรูปได้อีก ทำให้ยิ่งได้ใจเดินเข้าเดินออกร้านนั้น ร้านนี้ อยู่นั่นแหละ


เดินจนเมื่อยแล้ว ถ้าอยากพักเท้า ลองเดินไปแถวริมแม่น้ำ บริเวณนั้นจะมีร้านอาหารบรรยากาศดี ๆ ให้เลือกนั่งอยู่หลายร้าน หรือจะไปที่จตุรัสกลางเมือง ที่เป็นลานกว้าง มีที่ให้นั่งพักสบาย ๆ ชมดูสภาพบ้านเมือง และผู้คน และยิ่งถ้าตบท้ายด้วยไอศครีมโฮมเมดสีหวาน ๆ ที่มีขายทั่วไปแล้วละก้อ อาจจะมีแอบเพ้อเล็ก ๆ ตอนท้องตึง ๆ ได้ว่าเมืองเล็ก ๆ แห่งแคว้นโบฮีเมียแห่งนี้ ทำไมถึงมีเสน่ห์น่ารักน่าชังได้ขนาดนี้…. หนอ

25 กรกฎาคม 2554

ภูเขาไฟโบรโม… ดินแดนแห่งเทพเจ้า


 หมายเหตุ... งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์

                ภูเขาไฟ
พ่อไปยืนโม้ชี้ ๆ จิ้ม ๆ ที่แผนทีโลกแผ่นโตที่ติดฝาผนังให้เจ้าลูกชายดูประมาณจะอวดว่างั้นเถอะ..ว่าพ่อกับแม่กำลังจะไปเยือนภูเขาไฟ เจ้าลูกชายที่ไม่ได้ไปด้วย ทำหน้าเบ้ ๆ ประมาณไม่เข้าใจว่าพ่อกับแม่จะไปทำอะไรกัน ก่อนจะพูดงึมงำ สวนกลับมา ชนิดทำให้พ่อกับแม่สะดุ้งเฮือก
                “เฮ้อไปทำไม ภูเขาไฟ หวังว่าคงไม่ตายกันหรอกนะ
 เป็นงั้นไปเจ้าลูกชายตัวดีช่างอวยพรล่วงหน้าได้เด็ดดวงจริง ๆ
ว่ากันว่าอยากรู้จักอินโดนีเซีย ต้องรู้จักภูเขาไฟเป็นคำยืมมาจากนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ผู้เขียน บันทายฉมาร์ เดียงพลาโต และหลวงพระบาง”  หนังสือที่ธีรภาพ โลหิตกุลให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นวรรณกรรมแห่งการเดินทาง
ไหน ๆ จะเดินทางไปยังภูเขาไฟ ที่อินโดนีเซียทั้งที ลองไปค้นคำว่า “ Volcanoes” กับ  Indonesiaใน wikipedia  สารานุกรมฉบับไซเบอร์ดูเล่น ๆ เจอะเข้ากับข้อมูล Lists of  Volcanoes in Indonesia  แค่ปรายตามองภาพ Major Volcanoes ที่ประกอบเนื้อหาก็อึ้งแล้ว เกาะเล็กเกาะน้อยทั้งหลายที่รวมกันกลายเป็นประเทศอินโดนีเซีย เต็มไปด้วยภูเขาไฟจริง ๆ เป็นแนวยาวตลอด ตั้งแต่เกาะสุมาตราที่เป็นเกาะใหญ่สุดที่อยู่ด้านบน ไล่เรียงถึง  เกาะชวา  ไปกระทั่งเกาะเล็ก เกาะน้อย  ที่อยู่ด้านปลาย คำกล่าวที่ว่า อยากรู้จักอินโดนีเซีย ต้องรู้จักภูเขาไฟ เลยขลังขึ้นมาทันควัน
แล้วไปทำไม คำถามเจ้าลูกชาย
                คำตอบของพ่อกับแม่…. ก็บ้านเราไม่มีภูเขาไฟน่ะสิ
                …………….
                ภูเขาไฟที่ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านเลือกที่จะไปเยือน คือภูเขาไฟโบรโม (Mount Bromoตั้งอยู่บนเกาะชวา  คงต้องยกเป็นความดีความชอบของ Air Asia  สายการบินที่มีคำขวัญ “Now everyone can fly”  ที่ได้ขยายเส้นทางบินเผื่อแผ่ไปถึงเมืองเล็กเมืองน้อย ช่วยเปิดโอกาสให้การเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไปได้โดยง่ายสะดวกขึ้น
                เส้นทางบินเริ่มจาก กรุงเทพ ไปยังกัวลาลัมเปอร์ และกัวลาลัมเปอร์ไปยังสุราบายา
                สุราบายาครองความหมายเมืองใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซียรองจากเมืองจากาต้าร์ และเป็นเมืองตั้งต้นสำหรับผู้ที่ต้องการไปเยือนภูเขาไฟโบรโม  เพื่อนชายอีกหนึ่งบินมาสมทบฉันกับเพื่อนร่วมบ้านจากบาหลีเราตั้งต้นการเดินทางจากที่นี่  ฉันได้จองซื้อ Package tour ของโรงแรมที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับภูเขาไฟโบรโมผ่านทางอินเตอร์เน็ต     Package  Tour ที่ว่าเหมาค่าบริการตั้งแต่รถตู้ที่จะขับมารับที่โรงแรมที่สุราบายา  พาไปยังที่พักที่ Cemoro Lawang  อันเป็นพื้นที่ในการตั้งต้นเข้าชมภูเขาไฟ  ห้องพัก 1 คืน อาหารค่ำ 1 มื้อ  รถจี๊ปขับเคลื่อนสี่ล้อที่จะมารับตอนตี 3 เพื่อพาไปชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขา Pananjakan  ม้าขี่ที่จะนำขึ้นไปยังปล่องภูเขาไฟ  อาหารเช้าหนึ่งมื้อ และรถตู้ขับพากลับไปส่งยังโรงแรมที่สุราบายา เบ็ดเสร็จ สนนราคาเพิ่มขึ้นจากราคาค่าที่พักไม่กี่บาท จากที่คิดแค่จะจองห้องพักเพียงอย่างเดียว จึงเปลี่ยนใจเป็นซื้อบริการแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ
                ถึงเวลานัด คนขับรถมารับที่โรงแรมตามเวลานัดหมาย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
                เส้นทางช่วงสุดท้ายเริ่มเข้าเขต  Cemoro Lawang  อันเป็นพื้นที่เขตภูเขา บรรยากาศข้างทางเริ่มเปลี่ยน ภาพเกษตรกรรมแบบขั้นบันได ท่ามกลางม่านฝน และม่านหมอกปรากฏให้เห็น  ผลิตผลเหล่านั้นใหญ่ สมบูรณ์   ชวนตื่นตาสะท้อนให้เห็นความอุดมของผืนดินบริเวณนี้  บ้านหลังเล็กชั้นเดียวตั้งอยู่ริมทางให้เห็นเป็นระยะ น่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม หลายหลังซุกอยู่ท่ามกลางผลผลิตที่ปลูกเป็นแถวแนวยาว ร่างคนเคลื่อนไหวเก็บเกี่ยวผลงานจากผืนดิน สงบ และเรียบง่าย
                ไอเย็นชื้นที่เกาะพราวบนกระจกใส ชวนเชิญให้ลองยื่นมือไปแตะกระจกรถ เย็นเฉียบ….  พอคาดเดาได้ว่าอากาศด้านนอกจะเป็นอย่างไร
                น่าขันที่เมื่อบางคนรู้ว่าฉันจะเดินทางมาอินโดนีเซียหน้านิ่วเล็กน้อย
                “อากาศคงร้อนละสิ
                นิยามการเที่ยวของคนบางคน ความศิวิไลซ์มาพร้อมอากาศหนาวเย็น  ความด้อยพัฒนามาพร้อมอากาศร้อนจัด        ไม่ได้มาเพราะความสงสัย ต่อคำว่า ไฟที่ห้อยอยู่ตรงท้ายพยางค์ ที่ฟังแล้วชวนร้อนอุ่น
                ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เตือนย้ำนักหนาว่า อากาศที่นี่จะหนาวเย็น โดยเฉพาะตอนเช้ามืดขณะขึ้นไปดูวิวพระอาทิตย์ขึ้นถึงตอนนี้แค่เข้าเขตชายขอบ ความเย็นเจี๊ยบด้านนอกแทบจะทะลุกระจกเข้ามาด้านใน
                บ้านชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ริมทาง รูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมครอบด้วยหลังคาทรงจั่ว กระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักแบบเดียวกับภาพวาดสมัยเด็ก ๆ เสียดาย อย่างเดียว ถ้าบ้านแต่ละหลังพร้อมใจกันปลูกไม้เมืองหนาวที่ออกดอกสีสันสวย ๆ ละก้อที่นี่ชนบทยุโรปชัด ๆ 


               รถตู้ไปจอดสงบนิ่งหน้าที่พัก ซึ่งสร้างเป็น ลักษณะ complex  ประกอบด้วยเรือนพักหลังเล็ก ๆ ง่าย ๆ  เชื่อมต่อกัน ตั้งอยู่ริมหน้าผา กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม แต่ที่เด่นแตะตา ชนิดกระโดดลงจากรถปุ๊ปต้องเหลียวหันไปมอง คือ ภูเขาไฟโบรโม ที่อวดโฉมกันให้เห็นจะ ๆ  จากหน้าที่พัก ท่ามกลางผืนทรายสีดำ ชนิดที่ไม่ต้องไปเดินหาจุดชมวิวที่ไหนไกล ๆ 



                 คณะร่วมทางเบิกตาโพลง  โห ได้เห็นกันใกล้ ๆ ขนาดนี้เชียว
                ขนาดฉันนั่งอ่านข้อมูลของที่พักที่บรรยายสรรพคุณพร้อมภาพประกอบ อยู่ใกล้ภูเขาไฟแค่เอื้อมจากอินเตอร์เน็ต ยังพลอยตื่นเต้นไม่แพ้คนอื่น
                Check in เก็บข้าวของกันเรียบร้อย โผล่กลับมายืนหน้าสลอนหน้าที่พักอีกครั้ง ท่ามกลางความเขียวชะอุ่มรอบ ๆ ตัว  ภาพกลุ่มภูเขาไฟสีหม่นเทาจากผืนทรายสีดำ และกลุ่มควันที่พ่นออกจากกรวยตัดด้านบนที่ปรากฏให้เห็นดูแปลกตา ราวกับเป็นภูมิทัศน์จากสถานที่ไหนไกล ๆ ที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับจุดที่ยืนอยู่เลย
                จริง ๆ แล้ว โบรโมไม่ได้เป็นภูเขาไฟที่อวดโฉมโดดเดี่ยว หากเป็นหนึ่งในกลุ่มภูเขาไฟหลาย ๆ ลูกที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ “Bromo-Tengger Semeru”  แต่ที่โดดเด่น เป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ ก็ตรงที่เข้าไปเยือนถึงขอบปล่องได้ง่ายที่สุด ทั้งยังเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ ใจกลางปล่องยังคงระอุพ่นควันกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายคนเรียกกลุ่มควันที่ปล่อยออกมาว่า ลมหายใจเทพเจ้า

                กลุ่มควันที่ล่องลอยจากปล่องด้านบนที่เป็นแอ่งกว้างคล้ายหลุม ทำให้ตัวภูเขาไฟโบรโมที่มีสัณฐานป้านเตี้ยดูคลุมเครือ กลายเป็นภาพประกอบด้านหลังให้กับภูเขาไฟบาตอก (Mount Batok) ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า  รูปทรงของภูเขาไฟบาตอกสมมาตร พูนสูงขึ้นคล้ายขนมพุดดิ้ง รอยจีบย่นรอบ ๆ อันเกิดจากลาวาที่ไหลออกมายามปะทุระเบิด ทำให้แปลกตากว่าภูเขาทั่วไป สีเขียวอ่อนที่เกิดจากพันธุ์ไม้ที่ขึ้นปกคลุม ทำให้ภูเขาไฟบาตอกดูมีชีวิตชีวา อ่อนเยาว์ ท่ามกลางความหม่นเทาของผืนทรายและกลุ่มควัน ด้านหน้าบริเวณตีนเขา วัดฮินดูสีเข้มตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวขับเน้นให้ภาพที่เห็นเบื้องหน้าคล้ายดินแดนแห่งเทพเจ้าพรุ่งนี้เช้าสินะ ที่จะได้เข้าไปเยือน
                หมอก เมฆ ลมฝนพัดมาตึง ๆ ก่อนจางหาย และเวียนวนมาอีกครั้ง…. ช่วงจังหวะเวลาที่มาเยือนดูเหมือนจะไม่เหมาะสม….  เจ้าหน้าที่ที่โรงแรมที่สุราบายา อุตส่าห์อวยพรเอาใจช่วย
                “หวังว่าจะโชคดี ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น” 
                จังหวะ เวลาของการดำเนินชีวิต ไม่ได้สอดคล้องกับฤดูกาลของทุกหนทุกแห่ง เมื่อพอมีเวลาว่าง จึงออกเดินทางสถานที่แต่ละแห่ง คงไม่ได้งามเฉพาะฤดูกาลที่นิยม
                เดินเที่ยวรอบ ๆ Cemoro Lawang แม้นไม่มีกลุ่มภูเขาไฟที่ให้ภาพแปลกตาแก่ผู้ที่ไม่คุ้นชิน ก็สวยงามในรูปแบบของตัวเองด้วยภูมิลักษณะที่เป็นเนินเขาสลับซ้อน แปลงเกษตรอวดผลผลิตงาม ๆ ที่ลาดตามไหล่เขา และอากาศที่สดชื่นโปร่งสบาย




                คงเป็นเพราะช่วงที่ฉันเดินทางไปเยือนไม่ได้อยู่ในฤดูกาลท่องเที่ยว ร้านรวงที่เปิดขายของจึงมีไม่กี่ร้าน ของที่ระลึกยวนตายวนใจนักท่องเที่ยว ไม่ใคร่จะมี อันนี้คงไม่เกี่ยวกับเรื่องฤดูท่องเที่ยวหรือไม่ใช่ น่าจะเป็นเรื่องของการขายไม่เป็นมากกว่า  ของที่ระลึกยอดนิยมที่วางขายตามร้าน  และที่มีหนุ่ม ๆ ทั้งหนุ่มใหญ่หนุ่มน้อย หอบใส่กระบะ เดินตามตื้อขายให้นักท่องเที่ยวคือหมวก ผ้าพันคอ และถุงมือ ที่ปักคำว่า Gunung Bromo  (Gunung ภาษาอินโดนีเซียแปลว่า ภูเขาเรียกได้ว่าเป็นของที่ระลึกแบบพื้นฐานจริง ๆ ประมาณว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ แล้วอากาศที่นี่หนาวเย็นเสียขนาดนี้ จะขายอะไร? ถ้าไม่ใช่อุปกรณ์เสริมความอบอุ่นให้กับร่างกาย  ราคาหมวก ถุงมือ และผ้าพันคอที่คนขายนำเสนอไม่แพงเลย ทั้งยังต่อรองได้อีก ทำให้ถึงจะเตรียมตัวมาพร้อม  ฉันกับเพื่อนหนุ่ม สุดท้ายก็ซื้อไว้เป็นที่ระลึกจนได้
                บรรยากาศดี ๆ อากาศสบาย ๆ อย่างนี้ทีไร ความอยากกาแฟกำเริบทุกที หันมองซ้ายแลขวาจะมีร้านกาแฟบ้างมั้ยเห็นกระต๊อบหลังเล็ก ๆ ริมทาง เปิดประตูกว้างทิ้งไว้มองผ่านช่องหน้าต่างเข้าไปเห็นมีโต๊ะตั้งอยู่กลางห้อง  มีร่างชายผู้หนึ่งนั่งก้มหนาก้มตากินอาหารที่อยู่ในจาน  และตรงหน้าต่างที่อยู่ถัดไปด้านใน ได้ประยุกต์เอากรอบที่หนาของหน้าต่าง ใช้เป็นชั้นวางขวดน้ำดื่ม มองคะเนคร่าว ๆ  น่าจะเป็นร้านขายของ ขายอาหาร ทำนองนั้นลองเดินเข้าไป  คุณป้าที่อยู่ด้านหลังโผล่ร่างออกมามอง
                “Coffee”
                แกยิ้ม  พยักหน้า
                ฉันชี้นิ้ว นับเรียงไปทีละคน ส่งสัญญานให้รู้ว่า เอามาจำนวนแก้วเท่าจำนวนคนนี่แหละ
                แกพยักหน้า แล้วหายไปข้างใน
                กวาดสายตามองไปรอบ ๆ สุดท้ายสายตาทุกคู่ก็ไปหยุดจับจ้องที่จานข้าวของลูกค้ารายเดียวที่กำลังนั่งกินอย่างเอร็ดอร่อยหน้าตาของอาหารในจานเป็นข้าวราดแกงคล้ายพวกแกงกระหรี่ สีเหลืองสวย พร้อมชิ้นไก่ และเครื่องเคียงที่เป็นผักแบบรวมมิตรมีทั้งถั่วงอก กระหล่ำปลีราดน้ำสีแปลก ๆ
                โหหน้าตาน่ากินพิลึก แถมดูสะอาดสะอ้านอีกด้วย
                พอป้าแกเดินผ่านให้เห็นแว่บ ๆ จากด้านใน เลยรีบเรียก ส่งภาษาใบ้ชี้ไปที่จานข้าวของพ่อหนุ่มนั่น ก่อนชูหนึ่งนิ้ว ประมาณว่า เอาแบบเนี่ยะจานนึง
                ผ่านไปพักใหญ่พอประมาณ  กาแฟร้อน ๆ ถึงยกมาเสริฟ ตามด้วยข้าวราดแกงที่สั่งไป ควันลอยฉุยตลบอวล ทั้งจากแก้วกาแฟ และจานข้าว ก่อกวนพยาธิในท้องพิลึก
                ลองยกกาแฟขึ้นมาจิบ กาแฟของคุณป้ารสชาติกลมกล่อมไม่เลว   ติดตรงที่แกไม่ยักกรองผงกาแฟให้ กินไปต้องคอยถ่มผงออกมาใส่กระดาษ  สุดท้ายต้องขอช้อนมาตักผงที่ลอยบนผิวหน้าทิ้งไป ถึงพอดื่มได้
                เจ้าเพื่อนตัวดี ที่เป็นตัวตั้งตัวตี อยากลองอาหารจานเด็ดของคุณป้า ลองตักอาหารขึ้นมาชิม แล้วชมเปราะ
                “อร่อยจริง ๆ
                แต่เจ้าตัวกลับกินแค่ช้อนสองช้อน ก่อนถือถ้วยกาแฟไปนั่งดื่มละเลียดด้านนอก
                “อร่อยจริง ๆ แต่ยังไม่หิว
                ปล่อยภาระให้ที่เหลือจัดการกันต่อไป แต่.. อาหารคุณป้าอร่อยจริง ๆ น่ะแหละ รสชาติออกหวานนิด ๆ แต่ถูกปาก ขณะนั่งกิน  มีลูกค้าเพิ่มเข้ามาสมทบ เป็นสองสาวนักศึกษา ที่มาสำรวจเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว ทั้งคู่สั่งอาหารแบบเดียวกับที่พวกฉันกินอยู่หรือจริงๆ  แล้วคุณป้าแกขายอาหารอยู่ชนิดเดียวก็ไม่รู้




เจียนมืดค่ำ  พวกเราค่อยเดินกลับที่พักยิ่งค่ำลมพัดแรงขึ้น เสียงลมพัดโดนอาคารดังกึง ๆ ฟังน่ากลัวเหมือนกัน... นั่งหลบซุกตัวกันตรงห้องอาหารของที่พัก... ตอนแรกนึกบ่นในใจว่าทำไมห้องอาหารถึงไม่กรุด้วยแผ่นกระจกใสแผ่นใหญ่ ๆ รอบด้าน แทนหน้าต่างเป็นบาน ๆ จะได้เห็นทิวทัศน์ด้านนอกได้ชัด ๆ ถึงคราวนี้ค่อยเริ่มเข้าใจ...ก็ที่พักตั้งอยู่ใกล้ ๆ ริมหน้าผา รับแรงลมเต็ม ๆ คงกลัวลมพัดเอากระจกแตกปลิวเป็นชิ้น ๆ  ซะละมัง
ยังคงมีนักท่องเที่ยวท้องถิ่นทยอยขับรถขึ้นมาพักเรื่อย ๆ  กลุ่มพ่อค้านักตื้อที่เดินขาย หมวก ผ้าพันคอ และถุงมือ ยังคงปักหลักจับกลุ่มกันข้าง ๆ ห้องอาหารเพื่อรอขายของ บางคนหาบเอาหม้อก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ มาตั้งวางขายด้วย  เห็นภาพนั้นแล้ว ฉันว่าเป็นภาพเกื้อกลูที่น่ารักทีเดียวระหว่างเจ้าของกิจการกับคนท้องถิ่น
                …………….
ใกล้ตีสาม...
เสียงฝนด้านนอกตกหนัก ไม่มีวี่แววว่าจะซาลง
คำอวยพรที่ว่า หวังว่าจะโชคดี ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นท่าจะเป็นหมัน ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ารายการพาไปดูพระอาทิตย์ขึ้นจะโดนยกเลิกด้วยมั้ย.. .. มีเสียงรถแล่นเข้ามาจอดในลานจอดรถ ทำให้เลิกม่านออกไปดู รถโฟร์วิลล์หลายคันเข้ามาจอด... แสดงว่า The show must go on  รีบแต่งตัวให้รัดกุมพร้อมออกไปเผชิญอากาศหนาว
รถคันที่บริการพวกเราขับตะลุยฝ่าฝนออกจากลานไปเป็นคันแรก และยืนยันการเป็นคันแรกสุดอีกครั้งเมื่อคนขับไปจอดตรงด่านทางเข้า แล้วลงไปไขกุญแจเปิดประตูกั้นถนนออก
ทั้งหมอก ทั้งฝน ปะพรมจนมองแทบไม่เห็นด้านนอก กระทั่งเริ่มมีไฟส่องสว่างจากรถที่ขับตามหลังมาอีกหลายคัน ทำให้บรรยากาศดูคึกคักขึ้น
ใช้เวลาประมาณ 40 นาที รถก็นำพวกเราไปถึงยอดเขา Pananjakan
                นักท่องเที่ยวจากไหน มารวมตัวกันที่นี่เต็มไปหมด ระหว่างรอฟ้าใกล้สาง นั่งจิบกาแฟอุ่น ๆ ตรงร้านริมทาง คราวนี้ที่ร้านไม่ลืมที่จะกรองผงกาแฟให้  ทำให้นั่งจิบกาแฟได้ละมุนขึ้น  กระทั่งได้เวลา นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินตามกันไปยังจุดชมวิวฝนหยุดตกแล้ว   อัฒจรรย์ตรงลานกว้าง ช่วยให้การชมดูพระอาทิตย์ขึ้นไม่แออัด  นักท่องเที่ยวสามารถเลือกที่นั่ง นั่งลดหลั่นกันลงมาโดยไม่ต้องยืนเบียดแย่ง แอบหวังอีกครั้งว่า ฟ้าจะเปิด แล้วอวดโฉม ภาพพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางกลุ่มภูเขาไฟ
ชาวพื้นถิ่น เดินถือช่อดอกไม้ที่เป็นดอกหญ้าสีสด เก็บจากข้างทางมามัดรวมกัน หลายช่อเกิดจากดอกหญ้าหลายชนิดผสมปนเป จนได้จังหวะงดงาม  บางช่อเกิดจากดอกหญ้าชนิดเดียวเดี่ยว ๆ มั่นอกมั่นใจ  แต่บางช่อก็เกิดจากการตั้งใจใช้ดอกหญ้าที่สีสันตัดกันอย่าง ม่วงกับเหลือง  มาผสมรวมกัน ณ ที่เดียว
มัดดอกไม้เหล่านี้ เร่ขายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อนำไปถวายเทพเจ้า
ที่แห่งไหน มักมีตำนาน ตำนานการก่อเกิด และการดับสูญ
เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณภูเขาไฟแห่งนี้ปกครองโดยราชินี Roro Anteng และราชา Joko Seger  ทั้งคู่ได้ครองคู่ร่วมกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่มีวี่แววที่จะมีบุตร หรือบุตรี สืบทอดสายโลหิต  ด้วยความร้อนรุ่มใจ จึงได้เดินทางไปยังยอดภูเขาไฟ เพื่อสวดอ้อนวอนขอบุตร และบุตรีจากเทพเจ้า
ถ้อยคำอ้อนวอนนั้น ก้องกังวานจากภายในปล่องภูเขาไฟ และล่องลอยไปถึงเบื้องบน  คำอ้อนวอนนั้นประสบผล ได้รับความเห็นใจจากเทพเจ้า ที่ตัดสินใจที่จะประทานเด็ก ๆ ให้แก่พวกเขา  แต่มีข้อแลกเปลี่ยน พวกเขาจะต้องบูชายัญบุตรหรือบุตรีคนสุดท้ายให้แก่เทพเจ้า
ไม่ช้านาน ทั้งคู่ก็มีบุตร และบุตรีพรั่งพร้อมจำนวนมากถึง 25 คน  ณ ห้วงเวลานั้น Roro Anteng และ Joko Seger เปี่ยมด้วยความสุข แม้ลึก ๆ จะรู้สึกกลัวอยู่บ้าง เนื่องจากรู้ว่า คำสัญญาจะต้องถูกทวงถามภายในวันหนึ่งวันใด แล้ววันนั้นก็มาถึง  เทพเจ้าได้ทวงคำมั่นสัญญา
พวกเขาได้พาลูก ๆ ทั้งหมดหลบหนี เนื่องจากไม่ต้องการบูชายัญบุตรคนสุดท้าย Kesuma ให้กับเทพเจ้าแต่ภูเขาไฟได้ระเบิดขึ้น และกลืนร่าง Kesuma  ลงไปในปล่อง ทันทีที่ร่าง Kesuma หายไป ทุกอย่างได้คืนกลับสู่ความสงบ  เสียงของ Kesuma ได้ดังกังวานขึ้น ประสงค์ถ่ายทอดสารไปยังพี่ ๆ ของเขา  ทุก ๆ ปี ในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนที่ 12  (ตามปฏิทินพื้นเมือง) ให้จัดพิธีถวายสิ่งสักการะแด่เทพเจ้า เพื่อความอุดมสมบูรณ์ และสงบสุขของผืนแผ่นดิน ซึ่งได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
เช้าแล้ว…. ไม่มีวี่แววว่าฟ้าจะเปิด นักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม ตัดสินใจที่จะเลิกรอ และกลับไปในที่สุด รวมทั้งพวกเราด้วย
รถแล่นไปตามทางถนน  เพื่อตรงไปยังภูเขาไฟโบรโม   ขณะเข้าไปจอดบริเวณตีนเขา Batok    ณ  เวลานั้น คึกคักด้วยเพิงชั่วคราวของคนนำทาง และม้าที่เตรียมไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวเช่าขี่ขึ้นไปข้างบน ค่าบริการแบบเหมาจ่ายเบ็ดเสร็จ ครอบคลุมถึงค่าบริการม้าด้วย เมื่อไปถึง จึงได้รับแจกบัตรชื่อม้าที่จะเป็นพาหนะนำพาคนละหนึ่งใบ




ตื่นเต้นไม่น้อย ตอนปีนขึ้นไปนั่งคร่อมบนหลังม้า…. ก็นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้อยู่บนพาหนะที่มีชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่เครื่องจักรที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เมื่อเจ้าสี่เท้าเริ่มย่างก้าว ตัวโอนเอนไปมา..มือรีบตะครุบสายจับแน่นตัวเกร็งไปหมด รู้สึกเหมือนจะตกเอา.. กระทั่งผ่านไปสักพัก เริ่มคุ้น ถึงค่อยรู้ว่าต้องไม่เกร็ง ร่างจะโอนจะเอียงไปทางไหน ปล่อยไปค่อยทำให้รู้สึกว่าการนั่งม้าเพลิดเพลินดีเหมือนกัน
ม้าก้าวย่างไต่ขึ้นไปตามทางที่ค่อย ๆ ชันขึ้นทีละน้อยอย่างช้า ๆ เสียงลมหายใจของมันดังฟืดฟาด และเหงื่อที่ไหลย้อยของเจ้าของที่คอยระวังดึงรั้งไม่ให้เจ้าสีเท้าก้าวพลาดตกจากทางที่ลัดเลาะตามไหล่เขา ทำให้รู้ว่าเป็นงานที่หนักหนาไม่น้อย….
ที่สุดก็ไปถึงตีนบันได ต่อไปนี้…. ต้องใช้สองเท้านำร่างของตนเองขึ้นไปเอง
เริ่มมีคนพื้นถิ่น นำมัดดอกไม้มาตื้อขายอีกครั้งแต่ไม่หลากหลายและสวยเท่าที่ pananjakan 
ขณะเดินไปตามทางบันได  ลมพัดวูบมาบางจังหวะ นำพากลิ่นกำมะถันแสบจมูกมาด้วย ผ้าพันคอที่นอกจากจะให้ความอบอุ่น เริ่มมีประโยชน์เพิ่มขึ้น ช่วยในการใช้ปิดจมูกเพื่อกรองกลิ่น
ความใจร้อน ทำให้เร่งฝีเท้า... พยายามจะขึ้นไปให้ถึงข้างบนให้เร็วที่สุด อยากเห็นภาพที่จะปรากฏด้านบน และปล่องภูเขาไฟ
แต่ครั้นไปถึงข้างบนจริง ๆ  หมอกฝนปกคลุมไปทั่วจนมองไม่เห็นอะไร และที่ร้ายที่สุด กลิ่นกำมะถันฉุนจัด จนหายใจไม่ได้  ผ้าพันคอที่หยิบมาปิดจมูก ไม่ช่วยอะไรเลย ท้ายสุด กลายเป็นว่า เมื่อเดินขึ้นไปถึง  ทุกคนต่างยอมแพ้  หันหลังเดินย้อนกลับลงไปข้างล่างในทันที
เพื่อนร่วมทาง ที่เดินถือดอกไม้ขึ้นมา โยนดอกไม้ลงไปในปล่องภูเขาไฟ ที่มองไม่เห็นอะไรเลย….
ดินแดนเทพเจ้า ยินยอมให้มนุษย์ตัวเล็ก ๆ รุกล้ำเข้าไปเยือนเพียงเท่านี้


………
กลับถึงบ้าน
เจ้าตัวเล็กสองคน ออกมาต้อนรับ
อ้าวไม่เห็นตัวดำเลย”  เสียงตัวโตกว่าข้องใจ
จริงด้วยตัวเล็กเสริม ทำไมตัวไม่ดำ

4 กรกฎาคม 2554

เดินทางด้วยรถไฟในอินเดีย



เดินทางได้ง่าย ๆ ในอินเดีย
แทบทุกที่ไปถึงได้ด้วยรถไฟ...
เข้าไป check ข้อมูลตารางรถไฟที่ http://www.irctc.co.in ควรทำการสมัครเป็นสมาชิก
เพราะจะช่วยให้สามารถทดลองใส่ชื่อสถานีรถไฟ เพื่อตรวจสอบขบวนรถไฟที่จะผ่านไปยังเมืองที่ต้องการได้รวมทั้งจะทราบตารางเวลา และราคา ทำให้คำนวณค่าใช้จ่าย และวางแผนการเดินทางได้


ชื่อสถานีรถไฟสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ ปกติจะใช้อักษรย่อ เช่นสถานีรถไฟนิวเดลี (new delhi)อักษรย่อ NDSL สถานีรถไฟที่เมืองอัครา (ทัชมาฮาลตั้งอยู่ที่เมืองนี้) ใช้ชื่อย่อ AGC เป็นต้น ต้องนั่งดูข้อมูลในเว็บไซต์เป็นเวลาพอสมควรทีเดียว กว่าจะคุ้นเคยได้

รถไฟอินเดีย ชวนสับสนมาก เพราะมีขบวนรถหลายแบบ superfast, expess, super express... สารพัดแบบ ชั้นที่นั่งก็หลากหลาย ราคาก็แตกต่างกันไป


ถ้าต้องเดินทางตอนกลางคืน ควรมีโซ่คล้องกระเป๋าป้องกันผู้ประสงค์ดีหยิบไปใช้งาน





ถ้าหากโซ่ไม่ได้เตรียมจากเมืองไทย ไม่เป็นไร เพราะที่สถานีรถไฟในอินเดีย จะมีคนเดินเร่ขายโซ่พร้อมที่คล้อง หาซื้อได้ง่าย ๆ

ฉันเดินทางโดยรถไฟทั้งแบบตู้นอน และแบบเก้าอี้นั่งแบบรถทัวร์ ติดใจแบบเก้าอี้นั่งติดแอร์มากกว่า (Class CC)คงเป็นเพราะเดินทางระยะประมาณ 4-5 ชั่วโมง ไม่ได้ไกลมาก

ขบวนรถไฟที่พิเศษมาก ๆ ได้แก่ขบวนที่เรียกว่า The Shatabdi Express ซึ่ง ฉันได้ มีโอกาสนั่งแบบ Class CC ตอนกลับจากชัยปูร์เข้านิวเดลี ที่พิเศษเพราะมีของให้กินตลอดทาง ดีกว่าอาหารบนเครื่องบินอีกนะ จะบอกให้


บรรยากาศบนรถไฟดีกว่ารถไฟบ้านเราเสียอีก แต่ราคาค่อนข้างสูงสักหน่อย



นี่คือเมนูอาหารชุดแรก เป็นของกินเล่น มีขนมคล้ายแป้งทอดมีไส้ข้างใน ถามสาวเจ้าข้าง ๆ บอกว่าเรียกว่า kachori แล้วในกล่องเป็นขนาดลูกเต๋าขนาดใหญ่รสหวาน ขนมถุงของเลย์ แล้วก็น้ำส้มกล่อง





ตามด้วยน้ำซุบ กับขนมปังเป็นแท่ง จากนั้นตามด้วยขนมหน้าตาแปลก ๆ ใส่โอ่งดินเผาใบเล็ก ๆ ลองชิมแล้วเหมือนข้าวหมาก จากนั้นยังไม่พอ คราวนี้ถึง main course ข้าวแกงกระหรี่ไก่ ถึงตอนนั้น กินไม่ไหวแล้ว ต้องยกให้เพื่อนร่วมทางกิน ก่อนตบท้ายด้วยไอติม เห็นมั้ยบอกแล้วว่าอาหารดีกว่าบนเครื่องบินอีก

ก่อนขึ้นรถไฟสิ่งที่ต้องเตรียม...

ควรจะต้องพิมพ์รายละเอียดการเดินทาง รายชื่อสถานีให้เรียบร้อยจากเว็บไซต์ที่แนะนำข้างบน เพราะเมื่อได้ตั๋วมาแล้วจะไม่มีรายละเอียดอะไรที่ช่วยได้เลย เพราะรายละเอียดในตั๋วจะมีแค่ว่ารถไฟหมายเลขอะไร ที่นั่งและตู้หมายเลขที่เท่าไหร่ ูราคาตั๋วกี่บาท แล้วก็วันเดินทาง เท่านี้เองจริง ๆ แม้แต่เวลารถไฟออกยังไม่มีเลย เพราะฉนั้นควรเก็บรายละเอียดทั้งหมดไว้ที่ตัว โดยเฉพาะรายชื่อสถานีทั้งหมด จะได้รู้ว่าเดินทางถึงไหนแล้ว ก่อนขึ้นรถไฟสามารถตรวจสอบหมายเลข ขบวนรถไฟได้อีกครั้งตรงป้ายไฟวิ่งที่หน้าเคาน์เตอร์ขายตั๋ว รวมทั้ง plattform ที่รถจะเข้าจอดด้วย พอรถเข้ามาจอด สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อ ผู้โดยสารได้ที่ข้างโบกี้ จะมีเอกสารรายชื่อผู้โดยสารติดแขวนไว้อยู่

สำหรับเรื่องที่บ่นกันมากว่ารถไฟอินเดียเลทเป็นประจำ พอดีขบวนที่นั่งขึ้นต้นทางทั้งหมด ก็เห็นตรงเวลาดี แต่เวลาถึงที่หมายจะล่าช้าสะสมจากการจอดแต่ละสถานีประมาณ ตั้งแต่ 1- 4,5 ชั่วโมง เลยไม่รู้สึกแย่กับเวลาการเดินทางของรถไฟที่นี่ ทั้งที่ตอนแรกก็เตรียมใจไว้ ยิ่งตอนอยู่บนเครื่องบิน อ่านหนังสือพุทธประวัติวิเคราะห์ที่เขียนโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น มีข้อความหนึ่งถูกใจมาก

"...ท่าทีของชาวอินเดียที่มีต่อเวลาแม้ในทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปอินเดีย
จะพบเห็นเรื่องราว รถไฟที่ไม่มาตามเวลา หรือคนที่นัดไว้แล้วโผล่มาทีหลัง จากเวลาที่นัดเป็นชั่วโมง แต่ในอีกลักษณะหนึ่งก็คือท่าทีที่ไม่สนใจกับเวลา และการปฏิเสธที่จะให้เวลาเข้ามาจำกัดตนนี่แหละ ที่ทำให้เกิดระบบปรัชญา และศาสนาที่ลึกซึ้งอย่างเช่นพุทธศาสนาเป็นต้น"

ก็เพราะอาจเจอข้อความนี่เข้าเลยทำใจไว้ก่อน แต่พอเวลาจริง ๆ ไม่เจอเรื่องไม่ตรงเวลามาก ๆ อย่างที่กลัวเอาไว้

อาหารที่สถานีรถไฟ
ไม่น่าเชื่อว่าหาของกินที่สถานีรถไฟในนิวเดลีไม่ได้.. ไม่ได้ขึ้นที่สถานี นิวเดลี (NDLS) แต่ขึ้นที่ HIZAMUDDIN( NZM ) สถานีใหญ่โต แต่หาของกินไม่ได้ มีแต่ canteen เล็ก ๆ ที่ไม่รู้จะกินอะไร ได้แต่กาแฟถ้วยเดียว แถมเจอดีที่แรกที่นี่เลย ตรงที่แบงค์รูปี มีรอยขาดนิดเดียว คนขายไม่ยอมรับเลย ตอนแรกนึกว่าฟาวล์เสียแล้ว... แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริง ๆ เป็นเรื่องของการฟอร์มมากกว่า ถ้ามีปัญหาเรื่องแบงค์ขาด ให้จ่ายกับพวกคนขับรถ พวกนั้นจะไม่เรื่องมาก รับหมดไม่ว่าแบงค์จะขาดมากแค่ไหน... แต่เจ้าร้านกาแฟนั่น ทำเอาฉันจู้จี้เรื่องเงินไปเลย ใครมาทอนเงินด้วยแบงค์ขาด ๆ ต้องโชว์แบงค์ ร้อง อ๊ะ อ๊ะ ขอแบงค์ที่ไม่ขาดด้วย ก็อยากมาทำเขี้ยวกันก่อนทำไม สำหรับอาหารที่อุดมสมบูรณ์และอร่อยที่สุดกลับอยู่ที่สถานี AGC ที่เมืองทัชมาฮาล เพราะมี food plaza ตั้งอยู่ในสถานี ชื่อร้าน Comesum มีหน้าตาอาหารวางโชว์ ให้เลือกสั่งได้ตามสบาย ราคาก็ไม่แพงด้วย

สำหรับสถานีรถไฟที่วุ่นวายที่สุดก็ต้อง NDLS ไปถึงต้องตั้งหลักดี ๆ เพราะทางออกสามารถออกได้สองทางต้องเลือกให้ดี ๆ



ข้อมูลเพิ่มเติม (1)
มีโอกาสได้กลับไปนั่งรถไฟอินเีดียอีกครั้ง... ระบบการจองตั๋วรถไฟพัฒนาขึ้นอีกระดับ เดี๋ยวนี้มี e-ticket แล้ว สามารถพิมพ์ใช้แทนตั๋วได้เลย... แล้วในตั๋วมีรายละเอียดทุกอย่าง ไม่เหมือนแต่เดิมที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย

สายรถไฟที่ใช้บริการล่าสุด ชื่อว่า padatix express เป็๋นสายรถไฟวิ่งจากเมือลกัลกัตตาไปยังสิริกุรี ต้นทางสำหรับคนที่จะเดินทางไปเที่ยวสิกขิม

ชั้นที่นั่งที่ใช้บริการคือ 3c เป็นตู้นอนติดแอร์ เตียงนอนมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็น 3 ชั้น อีกด้านเป็น 2 ชั้น ด้านที่เป็น 2 ชั้น นอนได้สบายกว่า เพราะคนนอนชั้นล่าง สามารถนั่งเอนตัวดูวิวได้ ถ้าเป็น 3 ชั้น พอดึงที่นั่งปรับเป็นเตียงแล้ว จะนั่งอีกไม่ได้เลย ต้องนอนอย่างเดียว แต่ก็สะดวกสบายดี เพราะได้ลองนอนมาแล้วทั้งสองแบบ


ข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง (2)
สถานทีรถไฟของอินเดีย ถึงจะดูกระมอมกระแมม แต่ก็มีสถานที่อำนวยความสะดวกได้ตามความจำเป็นพื้นฐาน มีห้องให้ฝากกระเป๋า เรียกว่า Cloakroom เป็นห้องจริง ๆ ไม่มีตู้ locker แยก เพราะฉนั้นกระเป๋าที่จะฝากจะต้องมีกุญแจล็อคคล้องของตัวเอง ราคาฝากถูกมาก ไม่กี่รูปี คิดเหมารวม ไม่ได้คิดเป็นชั่วโมง แล้วยังมีห้องให้พักรอระหว่างรอรถไฟ จะมีที่พักสำหรับตั๋วชั้่นนอน หรือเลือกไปนั่งพักห้องพักสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะก็สะดวกดี มีห้องน้ำให้อาบน้ำได้ด้วย 




ทัชมาฮาล 180 องศา


หมายเหตุ..งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์

.  
                ตึกแถวสี่เหลี่ยมรูปตัวแอลด้านหน้า  อยู่ในสภาพที่ไม่น่าพร้อมใช้งานเอาเสียเลย  กลิ่นสีฟุ้งกระจายจนแสบจมูก  สีใหม่ที่ทาทับก่อให้เกิดริ้วสีใหม่บนสีเก่า  คนงานสองสามคนหิ้วกระป๋องสีเดินผ่าน บางคนนั่งเก็บงานที่ระเบียง ฉันกับเพื่อนร่วมทางออกอาการลังเลเล็กน้อย อดไม่ได้ต้องชโงกกลับไปมองป้ายชื่อสถานที่อีกครั้ง... ไม่ผิดแน่  ที่นี่แหละ   อีเมล์ตอบรับยืนยันการจองห้องพักที่ส่งกลับมา ระบุที่อยู่อย่างชัดเจน ในนั้นให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่พักเพิ่งได้รับการปรับปรุง?? แต่ด้วยสองตาที่เห็นกันซึ่งๆ หน้า  อาคารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าไม่ได้เพิ่งรับการปรับปรุงหรอก  แต่กำลังปรับปรุงอยู่ชัด ๆ  แล้วจะพักได้มั้ยเนี่ย??
                ประตูกระจกห้องด้านข้างเปิดออก ปรากฏร่างหนุ่มใหญ่หุ่นกำลังพอท้วม  ท่วงทีดีมีราศีให้พอคาดเดาได้ว่า เป็นเจ้าของกิจการแน่ ๆ หนุ่มใหญ่นั่นคงเห็นอาการลังเลของเราสองคนเลยชิงเปิดประตูออกมารับแขก
                “ที่อีเมล์มาจองห้องพักใช่มั้ย... เข้ามา เข้ามา
                ท่าทียังคงลังเล
                “ข้างบนพักได้ส่งภาษามือชี้ไปยังชั้นสาม  ห้องข้างบนเรียบร้อยแล้ว
                เพื่อเป็นการยืนยัน เจ้าหน้าที่เด็กหนุ่มร่างผอมพาเราเดินขึ้นไปดูห้องพักบนชั้นสาม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง  มีห้องพักผุดโผล่ขึ้นมาสี่ห้องเป็นแบบของแถม  และ... เด็กหนุ่มบอกกับเราขณะเปิดห้องพักให้ดู  เหลือห้องนี้เป็นห้องสุดท้าย
                ชะโงกหน้าโผล่เข้าไปกวาดตาสำรวจดูคร่าว ๆ  สภาพห้องสมกับราคาไม่กี่ร้อยบาท แต่ที่แน่ ๆ นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียว มีเหตุจูงใจมากกว่านั้น เมื่อพยักหน้าตกลงรับข้อเสนอ และรับกุญแจห้องพักจากเด็กหนุ่ม  ก็พร้อมที่จะเหวี่ยงสัมภาระทิ้งไว้ในห้อง กระโจนขึ้นกระไดขึ้นไปบนดาดฟ้าด้านบนทันที
                ทันทีที่โผล่ร่างขึ้นไปบนดาดฟ้า..... ภาพทัชมาฮาลลิบ ๆ ก็ปรากฏให้เห็น ทั้งที่ตอนนั่งตุ๊ก ๆ อินเดียตะลุยเข้ามาตามทางถนนแคบ ๆ เห็นแต่ตึกแน่นระเกะระกะ นึกภาพไม่ออกสักนิดว่าเข้าใกล้ทัชมาฮาลแล้ว แต่เบื้องหน้า นัยน์ตามองตะลุยผ่านหลังคาดาดฟ้าสารพัดสี ไปหยุดที่หลังคาโดมสีขาว ทัชมาฮาลอยู่ใกล้แค่นี้จริง ๆ ด้วย และนี่เองคือเหตุผลหลักในการเลือกพักที่เกสท์เฮ้าท์แห่งนี้







                เจ้าของเกสท์เฮ้าส์แจ้งข้อมูล..ทัชมาฮาลเปิดต้อนรับผู้มาเยือน 6 โมงเช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และปิดการต้อนรับเวลาทุ่มครึ่ง  เมื่อดวงอาทิตย์ลับฟ้า ว้าว.... ฟังแล้วได้อารมณ์ดีจัง แต่นี่ไม่ใช้ถ้อยเล่น ๆ ประมาณเล่นลิ้นของเจ้าของเกสท์เฮ้าส์ หากเป็นถ้อยจริง ๆ ที่ในโบว์ชัวร์เอกสารท่องเที่ยวที่เป็นทางการของอินเดียก็ใช้ประโยคนี้เหมือนกัน
ยังไม่รีบร้อนที่จะเข้าชมอนุสรณ์แห่งความรักสีขาวนวล  ในเมื่อตกตอนเย็น และช่วงเช้าตรู่  ดาดฟ้าของเกสท์เฮ้าส์ที่นี่จะแปลงโฉมพื้นที่สี่เหลี่ยมธรรมดา เป็นภัตตาคารลอยฟ้า ใครใคร่นั่งกินอาหารเช้า อาหารเย็นอ้อยอิ่งแกล้มทัชเนิ่นนานแค่ไหนทำได้สบาย ตามใจฉัน 
เย็นแรกที่อัครา ฉันกับเพื่อนร่วมทางจึงนั่งมองทัชตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตก กระทั่งพระจันทร์เผยโฉม…. และเช้าแรกของอัคราเช่นกัน ทันทีที่ตื่นขึ้น วักน้ำล้างหน้าเป็นพิธี รีบโผล่พรวดขึ้นไปชมอนุสรณ์แห่งความรักก่อนใคร ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น กระทั่งท้องฟ้าเริ่มแดงฉาน แลเห็นทัชมาฮาลในแดดเช้าชัดตา

เวลาที่จำกัดในการเข้าชมทัชมาฮาลที่เริ่มตอนพระอาทิตย์ขึ้นและจบลงที่พระอาทิตย์ตกจึงไม่ใช่ข้อจำกัด ในเมื่อใคร่นึกอยากชมทัชเมื่อใด ก็แค่ก้าวขึ้นกระไดไปไม่กี่ขั้นก็ได้ยลแล้ว ทั้งยังได้เห็นภาพชีวิตจริง ๆ ในมุมสูงที่ดำเนินอยู่รอบ ๆ  ลุงร่างท้วมส่งเสียงกู่ตะโกนเรียกนกพิราบฝูงมหึมาทุกเย็นให้ลงมากินอาหาร เสียงตะแกดี และดังกระหึ่ม จนน่าตกใจว่าจะตะโกนเรียกนกลงมาได้หมดท้องฟ้า แล้วนกที่อัคราก็เยอะซะด้วยสิ  เด็ก ๆ นัยน์ตาโตแป๋วนั่งเล่นตามร้านค้า บ้างก็เดินไปมาตามทางถนนเวลาสบตาก็จะยิ้มโบกมือให้  สาว ๆ ในชุดสาหรี่สีสดเดินเข้าเดินออก วุ่นวายทำงานบ้านดูแลเด็ก ๆ  บางทีก็ออกมาไล่ลิงตัวเล็ก ๆ ที่ปีนไต่ไปตามหลังคาดาดฟ้า หยิบโน่นนี่กินไปเรื่อย ขณะที่พวกผู้ชายทำงานนอกบ้าน ขายของ ขับรถ เสริฟอาหาร ... ยังไม่เห็นผู้หญิงทำงานนอกบ้านสักคน  บนทางถนนแคบ ๆ ทั้งนักท่องเที่ยว เจ้าถิ่น ตำรวจ ปริมาณคละเคล้า เดินผ่านไปมา  นาน ๆ ครั้ง มีวัวเดินผ่านมาร่วมสัญจรด้วยและมักจะ แผละ แผละ ปล่อยปุ๋ยสด ๆ ลงบนทางถนน  ทำให้ภาพที่เห็นวุ่นวายไปทั้งเสียง และตลบอวลไปด้วยกลิ่น
 
 ๓.
 แอบนึกวางแผนในใจว่าจะเทเวลาหนึ่งวันเต็ม ๆ ในการเข้าชมทัชมาฮาล แต่แผนที่ว่าล้มพับไปโดยปริยายเมื่อรู้ว่า ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดเข้าไปข้างใน นั่นเป็นการจำกัดเวลาในการเข้าชมอย่างนุ่มนวล เพราะแต่ละคนคงไม่สามารถอยู่ได้นานเกินเวลากินอาหารอีกหนึ่งมื้อแน่ สำหรับเครื่องดื่ม..อย่าเพิ่งตกใจถึงไม่ให้นำเข้าไปแต่มีจัดเตรียมไว้ให้พร้อมคนละ 1 ขวด
ในที่สุด…. ก็ถึงเวลาที่ฉันจะได้เข้าไปเยือนอนุสรณ์แห่งความรัก อนุสรณ์สถานที่ฉันเห็นภาพตามสื่อต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่เด็กจนโต กระทั่งชินตาเสียที
บรรยากาศภายในทัชมาฮาล แตกต่างจากภายนอกโดยสิ้นเชิง
ด้านนอก อึกทึกวุ่นวายเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว และกลิ่นอันอบอวล หากภายใน กลับสงบนิ่ง เป็นอีกอาณาเขตหนึ่ง ที่แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากมาย แต่จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะจับกลุ่มนั่งนิ่ง ๆ ตามมุมต่าง ๆ และแน่นอนนัยน์ตาจับจ้องไปที่อาคารสีขาวหลังคาทรงโดม และเชื่อว่าหลายต่อหลายคนได้แอบมองคู่รักหลากหลายคู่ที่ยืนยิ้มสดชื่นเคียงข้างกันถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก… ฉันไม่เคยเห็นสถานที่เที่ยวแห่งไหนมีคู่รักท่องเที่ยวเป็นคู่โดด ๆ มากเท่านี้เลย
 ฉันกับเพื่อนร่วมทางเดินวนเวียนอยู่บริเวณรอบนอก  บางครั้งก็นั่งจ่อมจมที่ม้านั่ง ชมทัชมาฮาลอย่างละเลียด ไม่เร่งรีบที่จะเข้าไปด้านใน ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นคงคล้ายเด็กถือขนมแสนอร่อยในมือที่ค่อย ๆ ละเล็มทีละนิดราวกับเสียดายกลัวว่าของอร่อยในมือจะหมดเร็วเกินไป
เมื่อได้เห็นทัชมาฮาลชัด ๆ ใกล้ ๆ ตาแบบนี้  ฉันรู้สึกทัชมาฮาลเป็นเสมือนหญิงสาวผู้เรียบง่าย แต่มีบุคลิกที่งามสง่า ชวนเพ่งพิศ และยิ่งมองยิ่งรู้สึกว่างามจับตา
 ก็แค่อาคารหินอ่อนสีขาวที่ไม่ได้ตกแต่ง หรือสลักสเลาอะไรให้วิจิตรตระการ  ถ้าไม่ใช่รูปทรง รูปลักษณ์ที่ช่างลงตัวสมบูรณ์แล้ว… จะงามจนหลายคนต้องนำไปพร่ำพรรณาหรอกหรือ





                และเมื่อขึ้นไปบนทัชมาฮาล เข้าไปยังชั้นในสุดที่เป็นเพียงห้องแคบ ๆ และมืดจนแทบมองไม่เห็นอะไร ฉันค่อยตระหนักนึกขึ้นมาได้ว่า ที่นี่คือสุสาน… การมาเยือนทัชมาฮาลเป็นการมาเยือนสุสาน  ทั้งยังเป็นสุสานของคนที่ไม่ได้รู้จัก หรือเกี่ยวข้องอันใดเลย… นอกจากการรับรู้ถึงตำนานความรักที่เล่าสืบต่อกันมา...  ความงามของสถานที่ลวงเอาผู้มาเยือนอย่างฉันเกือบจะลืมสถานภาพที่แท้จริงของสถานที่นี้ไปเลยทีเดียว

๔.
แม้จะเทเวลาหนึ่งวันเต็ม ๆ อยู่ที่ทัชมาฮาลไม่ได้ แต่ที่ป้อมแดง อัครา  ฉันยังคงรู้สึกว่าไม่ได้ไปไหนห่างจากทัชมาฮาล
ป้อมแดง หรือ Agra Fort อยู่ห่างจากทัชมาฮาลไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นสถานที่เที่ยวของเมืองอีกแห่งที่เด่นรองลงมาจากทัชมาฮาล และเรื่องราวของที่นี่บางส่วนได้ผูกเกี่ยวข้องกับทัชมาฮาล เมื่อได้กลายเป็นสถานที่คุมขังพระเจ้าชาห์ ญะฮาน หลังจากที่ถูกพระโอรสจับกุมตัว และชิงราชบัลลังค์ไปครองแทน ด้วยเหตุผลที่ว่าบิดาหมดความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองแล้ว เพราะมัวแต่ใช้เวลาหมดสิ้นไปกับการสร้างสุสานให้กับมารดา  ซึ่งใช้เวลาในการสร้างนานถึง 23 ปี และเมื่อเลือกได้ กษัตริย์ ชาห์ ญะฮานก็เลือกที่จะถูกคุมขังที่ป้อมแดงแห่งนี้  เพื่อจะได้ขึ้นไปบนหอคอยทอดพระเนตรอนุสรณ์สถานที่พระองค์สร้างให้พระมเหสี..พระนางมุมตัส มาฮาล ทุก ๆ วัน และอีก 7 ปีต่อมาจึงได้สวรรคต
 มุมหนึ่งที่ด้านล่างของมุขภายในเขตพระราชฐานฝ่ายในซึ่งเป็นที่คุมขังพระเจ้าชาห์ ญะฮาน ณ บริเวณนั้นฉันสามารถแลเห็นแม่น้ำยมุนาและทัชมาฮาลได้ในระยะไกล  และ ณ บริเวณนั้นเอง… ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับที่อดีตกษัติริย์ ชาห์ ญะฮานทอดพระเนตรมองอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์  ฉันนั่งเหยียดเท้าเอนหลังพิงผนังด้านหนึ่งอย่างเกียจคร้าน รู้สึกพอแล้ว กับการเดินเที่ยวตระเวณมาทั้งวัน . ฉันจะขอหยุดพักนิ่งนาน ๆ  ณ ที่ตรงนี้ล่ะ




๕.
ทัชมาฮาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา  รถตุ๊ก ๆ ขับพาเราข้ามสะพานไม้เก่า ๆ ที่การจราจรวุ่นวายพิลึก ข้ามลำน้ำยมุนามายังอีกฝั่งด้านหนึ่ง
Good View of   Taj”
คนขับรถตุ๊ก ๆ บอกกับเรา  ฉันไม่ใคร่สนใจนัก ด้วยแค่ได้นั่งรถตุ๊ก ๆ ฝ่าการจราจรที่วุ่นวาย ผ่านเข้าไปยังย่านการค้าอันจอแจ ได้เห็นภาพการดำเนินชีวิต ได้เห็นรถเข็นขายอาหารแปลกตา ได้ ผ่านศาลเจ้าแม่กาลีที่อยู่ใต้สะพาน  กระทั่งขับข้ามฝั่งมาอีกด้าน ได้เห็นวิวสงบเงียบของย่านที่อยู่ห่างไกลออกไป ทั้งริมทางถนนหลายช่วงมีผ้าสีสด ๆ ปูเรียงบนพื้น  นั่นไม่ได้เป็นการวางขายผ้า แต่เป็นการตากให้แห้งหลังผ่านการซักล้าง… ได้เห็นภาพต่าง ๆ เหล่านี้ฉันก็พอใจแล้ว  Good View of  Taj ที่คนขับประโคมเมื่อถึงจุดหมายปลายทางที่เขานำพาเราไป จึงไม่ใส่ใจถือเอาเป็นสำคัญ และอีกอย่างฉันคิดว่า ฉันน่าจะได้เห็นทัช… อิ่มพอแล้ว
คนขับไปจอดรถตุ๊ก ๆ ตรงหน้าประตูทางเข้าที่บอกเราว่าเป็นสวน  “เข้าไปข้างในจะได้เห็นทัชมาฮาล” เขาบอกกับเราอย่างนั้น สวนที่ว่าไม่ได้เป็นสวนสาธารณะ แต่เป็นสวนที่ต้องเสียเงินเข้าไปชม ฉันกับเพื่อนร่วมทางยืนมองชั่งใจอยู่ด้านนอกแล้วส่ายหน้า… สภาพที่เห็นไม่มีเค้าเลยว่าด้านในจะสวยคุ้มกับการเสียเงินเข้าไปชม เราหันไปส่งสัญญาณบอกคนขับรถให้รู้ว่าจะไม่เข้าไปข้างใน แต่จะขอเดินเล่นแถวนี้แทน
คนขับไม่ว่าอะไร แต่ชี้มือส่งสัญญาณให้เราเดินไปตามทางถนนด้านหน้า ฉันกับเพื่อนจึงลองเดินเข้าไป  แรก ๆ  คิดแต่ว่าเป็นการเดินเล่นฆ่าเวลา  แต่ปรากฏว่าทางกลับพาเราไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำยมุนา และฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งทัชมาฮาล  ฉันกับเพื่อนยืนนิ่งอย่างคาดไม่ถึงอยู่ชั่วอึดใจ คนขับรถพูดถูก
Good View of Taj
และที่สำคัญเมื่อหันมองไปทางขวามือ ก็ได้เห็นป้อมแดงปรากฏอยู่ลิบ ๆ
ท่าเดินเอื่อย ๆ ของเราสองคนเปลี่ยนเป็นกระฉับกระเฉงขึ้นมาทันที  เร่งฝีเท้าไปให้ติดริมน้ำมากที่สุด เพื่อนร่วมทางดึงกล้องที่คล้องข้างตัวไว้ขึ้นมาถือกระชับ และกดบันทึกภาพจนพอใจ
“เก็บภาพได้ดีกว่า ด้านหน้าอีก”  พูดพึมเบา ๆ
ที่ว่าอย่างนั้น เพราะทัชมาฮาลที่เราเห็นจากด้านหน้า มีหลายจุดที่กำลังดำเนินการซ่อมแซม  ขณะที่มองจากด้านหลังจะไม่เห็นภาพการซ่อมแซมนั้นกวนใจ และกวนเข้ามาในแผ่นภาพ
ฉันกับเพื่อนเดินวนชมทัชมาฮาลจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำยมุนาอย่างอิ่มใจ…. อิ่มใจที่ได้มีโอกาสได้เห็นทัชมาฮาลในแทบจะทุกมุมมอง