4 กรกฎาคม 2554

เดินทางด้วยรถไฟในอินเดีย



เดินทางได้ง่าย ๆ ในอินเดีย
แทบทุกที่ไปถึงได้ด้วยรถไฟ...
เข้าไป check ข้อมูลตารางรถไฟที่ http://www.irctc.co.in ควรทำการสมัครเป็นสมาชิก
เพราะจะช่วยให้สามารถทดลองใส่ชื่อสถานีรถไฟ เพื่อตรวจสอบขบวนรถไฟที่จะผ่านไปยังเมืองที่ต้องการได้รวมทั้งจะทราบตารางเวลา และราคา ทำให้คำนวณค่าใช้จ่าย และวางแผนการเดินทางได้


ชื่อสถานีรถไฟสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ ปกติจะใช้อักษรย่อ เช่นสถานีรถไฟนิวเดลี (new delhi)อักษรย่อ NDSL สถานีรถไฟที่เมืองอัครา (ทัชมาฮาลตั้งอยู่ที่เมืองนี้) ใช้ชื่อย่อ AGC เป็นต้น ต้องนั่งดูข้อมูลในเว็บไซต์เป็นเวลาพอสมควรทีเดียว กว่าจะคุ้นเคยได้

รถไฟอินเดีย ชวนสับสนมาก เพราะมีขบวนรถหลายแบบ superfast, expess, super express... สารพัดแบบ ชั้นที่นั่งก็หลากหลาย ราคาก็แตกต่างกันไป


ถ้าต้องเดินทางตอนกลางคืน ควรมีโซ่คล้องกระเป๋าป้องกันผู้ประสงค์ดีหยิบไปใช้งาน





ถ้าหากโซ่ไม่ได้เตรียมจากเมืองไทย ไม่เป็นไร เพราะที่สถานีรถไฟในอินเดีย จะมีคนเดินเร่ขายโซ่พร้อมที่คล้อง หาซื้อได้ง่าย ๆ

ฉันเดินทางโดยรถไฟทั้งแบบตู้นอน และแบบเก้าอี้นั่งแบบรถทัวร์ ติดใจแบบเก้าอี้นั่งติดแอร์มากกว่า (Class CC)คงเป็นเพราะเดินทางระยะประมาณ 4-5 ชั่วโมง ไม่ได้ไกลมาก

ขบวนรถไฟที่พิเศษมาก ๆ ได้แก่ขบวนที่เรียกว่า The Shatabdi Express ซึ่ง ฉันได้ มีโอกาสนั่งแบบ Class CC ตอนกลับจากชัยปูร์เข้านิวเดลี ที่พิเศษเพราะมีของให้กินตลอดทาง ดีกว่าอาหารบนเครื่องบินอีกนะ จะบอกให้


บรรยากาศบนรถไฟดีกว่ารถไฟบ้านเราเสียอีก แต่ราคาค่อนข้างสูงสักหน่อย



นี่คือเมนูอาหารชุดแรก เป็นของกินเล่น มีขนมคล้ายแป้งทอดมีไส้ข้างใน ถามสาวเจ้าข้าง ๆ บอกว่าเรียกว่า kachori แล้วในกล่องเป็นขนาดลูกเต๋าขนาดใหญ่รสหวาน ขนมถุงของเลย์ แล้วก็น้ำส้มกล่อง





ตามด้วยน้ำซุบ กับขนมปังเป็นแท่ง จากนั้นตามด้วยขนมหน้าตาแปลก ๆ ใส่โอ่งดินเผาใบเล็ก ๆ ลองชิมแล้วเหมือนข้าวหมาก จากนั้นยังไม่พอ คราวนี้ถึง main course ข้าวแกงกระหรี่ไก่ ถึงตอนนั้น กินไม่ไหวแล้ว ต้องยกให้เพื่อนร่วมทางกิน ก่อนตบท้ายด้วยไอติม เห็นมั้ยบอกแล้วว่าอาหารดีกว่าบนเครื่องบินอีก

ก่อนขึ้นรถไฟสิ่งที่ต้องเตรียม...

ควรจะต้องพิมพ์รายละเอียดการเดินทาง รายชื่อสถานีให้เรียบร้อยจากเว็บไซต์ที่แนะนำข้างบน เพราะเมื่อได้ตั๋วมาแล้วจะไม่มีรายละเอียดอะไรที่ช่วยได้เลย เพราะรายละเอียดในตั๋วจะมีแค่ว่ารถไฟหมายเลขอะไร ที่นั่งและตู้หมายเลขที่เท่าไหร่ ูราคาตั๋วกี่บาท แล้วก็วันเดินทาง เท่านี้เองจริง ๆ แม้แต่เวลารถไฟออกยังไม่มีเลย เพราะฉนั้นควรเก็บรายละเอียดทั้งหมดไว้ที่ตัว โดยเฉพาะรายชื่อสถานีทั้งหมด จะได้รู้ว่าเดินทางถึงไหนแล้ว ก่อนขึ้นรถไฟสามารถตรวจสอบหมายเลข ขบวนรถไฟได้อีกครั้งตรงป้ายไฟวิ่งที่หน้าเคาน์เตอร์ขายตั๋ว รวมทั้ง plattform ที่รถจะเข้าจอดด้วย พอรถเข้ามาจอด สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อ ผู้โดยสารได้ที่ข้างโบกี้ จะมีเอกสารรายชื่อผู้โดยสารติดแขวนไว้อยู่

สำหรับเรื่องที่บ่นกันมากว่ารถไฟอินเดียเลทเป็นประจำ พอดีขบวนที่นั่งขึ้นต้นทางทั้งหมด ก็เห็นตรงเวลาดี แต่เวลาถึงที่หมายจะล่าช้าสะสมจากการจอดแต่ละสถานีประมาณ ตั้งแต่ 1- 4,5 ชั่วโมง เลยไม่รู้สึกแย่กับเวลาการเดินทางของรถไฟที่นี่ ทั้งที่ตอนแรกก็เตรียมใจไว้ ยิ่งตอนอยู่บนเครื่องบิน อ่านหนังสือพุทธประวัติวิเคราะห์ที่เขียนโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น มีข้อความหนึ่งถูกใจมาก

"...ท่าทีของชาวอินเดียที่มีต่อเวลาแม้ในทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปอินเดีย
จะพบเห็นเรื่องราว รถไฟที่ไม่มาตามเวลา หรือคนที่นัดไว้แล้วโผล่มาทีหลัง จากเวลาที่นัดเป็นชั่วโมง แต่ในอีกลักษณะหนึ่งก็คือท่าทีที่ไม่สนใจกับเวลา และการปฏิเสธที่จะให้เวลาเข้ามาจำกัดตนนี่แหละ ที่ทำให้เกิดระบบปรัชญา และศาสนาที่ลึกซึ้งอย่างเช่นพุทธศาสนาเป็นต้น"

ก็เพราะอาจเจอข้อความนี่เข้าเลยทำใจไว้ก่อน แต่พอเวลาจริง ๆ ไม่เจอเรื่องไม่ตรงเวลามาก ๆ อย่างที่กลัวเอาไว้

อาหารที่สถานีรถไฟ
ไม่น่าเชื่อว่าหาของกินที่สถานีรถไฟในนิวเดลีไม่ได้.. ไม่ได้ขึ้นที่สถานี นิวเดลี (NDLS) แต่ขึ้นที่ HIZAMUDDIN( NZM ) สถานีใหญ่โต แต่หาของกินไม่ได้ มีแต่ canteen เล็ก ๆ ที่ไม่รู้จะกินอะไร ได้แต่กาแฟถ้วยเดียว แถมเจอดีที่แรกที่นี่เลย ตรงที่แบงค์รูปี มีรอยขาดนิดเดียว คนขายไม่ยอมรับเลย ตอนแรกนึกว่าฟาวล์เสียแล้ว... แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริง ๆ เป็นเรื่องของการฟอร์มมากกว่า ถ้ามีปัญหาเรื่องแบงค์ขาด ให้จ่ายกับพวกคนขับรถ พวกนั้นจะไม่เรื่องมาก รับหมดไม่ว่าแบงค์จะขาดมากแค่ไหน... แต่เจ้าร้านกาแฟนั่น ทำเอาฉันจู้จี้เรื่องเงินไปเลย ใครมาทอนเงินด้วยแบงค์ขาด ๆ ต้องโชว์แบงค์ ร้อง อ๊ะ อ๊ะ ขอแบงค์ที่ไม่ขาดด้วย ก็อยากมาทำเขี้ยวกันก่อนทำไม สำหรับอาหารที่อุดมสมบูรณ์และอร่อยที่สุดกลับอยู่ที่สถานี AGC ที่เมืองทัชมาฮาล เพราะมี food plaza ตั้งอยู่ในสถานี ชื่อร้าน Comesum มีหน้าตาอาหารวางโชว์ ให้เลือกสั่งได้ตามสบาย ราคาก็ไม่แพงด้วย

สำหรับสถานีรถไฟที่วุ่นวายที่สุดก็ต้อง NDLS ไปถึงต้องตั้งหลักดี ๆ เพราะทางออกสามารถออกได้สองทางต้องเลือกให้ดี ๆ



ข้อมูลเพิ่มเติม (1)
มีโอกาสได้กลับไปนั่งรถไฟอินเีดียอีกครั้ง... ระบบการจองตั๋วรถไฟพัฒนาขึ้นอีกระดับ เดี๋ยวนี้มี e-ticket แล้ว สามารถพิมพ์ใช้แทนตั๋วได้เลย... แล้วในตั๋วมีรายละเอียดทุกอย่าง ไม่เหมือนแต่เดิมที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย

สายรถไฟที่ใช้บริการล่าสุด ชื่อว่า padatix express เป็๋นสายรถไฟวิ่งจากเมือลกัลกัตตาไปยังสิริกุรี ต้นทางสำหรับคนที่จะเดินทางไปเที่ยวสิกขิม

ชั้นที่นั่งที่ใช้บริการคือ 3c เป็นตู้นอนติดแอร์ เตียงนอนมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็น 3 ชั้น อีกด้านเป็น 2 ชั้น ด้านที่เป็น 2 ชั้น นอนได้สบายกว่า เพราะคนนอนชั้นล่าง สามารถนั่งเอนตัวดูวิวได้ ถ้าเป็น 3 ชั้น พอดึงที่นั่งปรับเป็นเตียงแล้ว จะนั่งอีกไม่ได้เลย ต้องนอนอย่างเดียว แต่ก็สะดวกสบายดี เพราะได้ลองนอนมาแล้วทั้งสองแบบ


ข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง (2)
สถานทีรถไฟของอินเดีย ถึงจะดูกระมอมกระแมม แต่ก็มีสถานที่อำนวยความสะดวกได้ตามความจำเป็นพื้นฐาน มีห้องให้ฝากกระเป๋า เรียกว่า Cloakroom เป็นห้องจริง ๆ ไม่มีตู้ locker แยก เพราะฉนั้นกระเป๋าที่จะฝากจะต้องมีกุญแจล็อคคล้องของตัวเอง ราคาฝากถูกมาก ไม่กี่รูปี คิดเหมารวม ไม่ได้คิดเป็นชั่วโมง แล้วยังมีห้องให้พักรอระหว่างรอรถไฟ จะมีที่พักสำหรับตั๋วชั้่นนอน หรือเลือกไปนั่งพักห้องพักสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะก็สะดวกดี มีห้องน้ำให้อาบน้ำได้ด้วย 




ไม่มีความคิดเห็น: