หมายเหตุ... งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์
ภูเขาไฟ…
พ่อไปยืนโม้ชี้ ๆ จิ้ม ๆ ที่แผนทีโลกแผ่นโตที่ติดฝาผนังให้เจ้าลูกชายดู… ประมาณจะอวดว่างั้นเถอะ..ว่าพ่อกับแม่กำลังจะไปเยือนภูเขาไฟ เจ้าลูกชายที่ไม่ได้ไปด้วย ทำหน้าเบ้ ๆ ประมาณไม่เข้าใจว่าพ่อกับแม่จะไปทำอะไรกัน ก่อนจะพูดงึมงำ สวนกลับมา ชนิดทำให้พ่อกับแม่สะดุ้งเฮือก
“เฮ้อ… ไปทำไม ภูเขาไฟ หวังว่าคงไม่ตายกันหรอกนะ”
เป็นงั้นไป…เจ้าลูกชายตัวดีช่างอวยพรล่วงหน้าได้เด็ดดวงจริง ๆ
ว่ากันว่า… อยากรู้จักอินโดนีเซีย ต้องรู้จักภูเขาไฟ… เป็นคำยืมมาจากนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ผู้เขียน “บันทายฉมาร์ เดียงพลาโต และหลวงพระบาง” หนังสือที่ธีรภาพ โลหิตกุลให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นวรรณกรรมแห่งการเดินทาง
ไหน ๆ จะเดินทางไปยังภูเขาไฟ ที่อินโดนีเซียทั้งที ลองไปค้นคำว่า “ Volcanoes” กับ “Indonesia ” ใน wikipedia สารานุกรมฉบับไซเบอร์ดูเล่น ๆ เจอะเข้ากับข้อมูล Lists of Volcanoes in Indonesia แค่ปรายตามองภาพ Major Volcanoes ที่ประกอบเนื้อหาก็อึ้งแล้ว เกาะเล็กเกาะน้อยทั้งหลายที่รวมกันกลายเป็นประเทศอินโดนีเซีย เต็มไปด้วยภูเขาไฟจริง ๆ เป็นแนวยาวตลอด ตั้งแต่เกาะสุมาตราที่เป็นเกาะใหญ่สุดที่อยู่ด้านบน ไล่เรียงถึง เกาะชวา ไปกระทั่งเกาะเล็ก เกาะน้อย ที่อยู่ด้านปลาย คำกล่าวที่ว่า อยากรู้จักอินโดนีเซีย ต้องรู้จักภูเขาไฟ เลยขลังขึ้นมาทันควัน
แล้ว… ไปทำไม คำถามเจ้าลูกชาย
คำตอบของพ่อกับแม่…. ก็บ้านเราไม่มีภูเขาไฟน่ะสิ…
…………….
ภูเขาไฟที่ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านเลือกที่จะไปเยือน คือภูเขาไฟโบรโม (Mount Bromo ) ตั้งอยู่บนเกาะชวา คงต้องยกเป็นความดีความชอบของ Air Asia สายการบินที่มีคำขวัญ “Now everyone can fly” ที่ได้ขยายเส้นทางบินเผื่อแผ่ไปถึงเมืองเล็กเมืองน้อย ช่วยเปิดโอกาสให้การเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไปได้โดยง่ายสะดวกขึ้น
เส้นทางบินเริ่มจาก กรุงเทพ ไปยังกัวลาลัมเปอร์ และกัวลาลัมเปอร์ไปยังสุราบายา
สุราบายาครองความหมายเมืองใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซียรองจากเมืองจากาต้าร์ และเป็นเมืองตั้งต้นสำหรับผู้ที่ต้องการไปเยือนภูเขาไฟโบรโม เพื่อนชายอีกหนึ่งบินมาสมทบฉันกับเพื่อนร่วมบ้านจากบาหลีเราตั้งต้นการเดินทางจากที่นี่ ฉันได้จองซื้อ Package tour ของโรงแรมที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับภูเขาไฟโบรโมผ่านทางอินเตอร์เน็ต Package Tour ที่ว่าเหมาค่าบริการตั้งแต่รถตู้ที่จะขับมารับที่โรงแรมที่สุราบายา พาไปยังที่พักที่ Cemoro Lawang อันเป็นพื้นที่ในการตั้งต้นเข้าชมภูเขาไฟ ห้องพัก 1 คืน อาหารค่ำ 1 มื้อ รถจี๊ปขับเคลื่อนสี่ล้อที่จะมารับตอนตี 3 เพื่อพาไปชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขา Pananjakan ม้าขี่ที่จะนำขึ้นไปยังปล่องภูเขาไฟ อาหารเช้าหนึ่งมื้อ และรถตู้ขับพากลับไปส่งยังโรงแรมที่สุราบายา เบ็ดเสร็จ สนนราคาเพิ่มขึ้นจากราคาค่าที่พักไม่กี่บาท จากที่คิดแค่จะจองห้องพักเพียงอย่างเดียว จึงเปลี่ยนใจเป็นซื้อบริการแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ
ถึงเวลานัด คนขับรถมารับที่โรงแรมตามเวลานัดหมาย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
ถึงเวลานัด คนขับรถมารับที่โรงแรมตามเวลานัดหมาย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
เส้นทางช่วงสุดท้ายเริ่มเข้าเขต Cemoro Lawang อันเป็นพื้นที่เขตภูเขา บรรยากาศข้างทางเริ่มเปลี่ยน ภาพเกษตรกรรมแบบขั้นบันได ท่ามกลางม่านฝน และม่านหมอกปรากฏให้เห็น ผลิตผลเหล่านั้น… ใหญ่ สมบูรณ์ ชวนตื่นตาสะท้อนให้เห็นความอุดมของผืนดินบริเวณนี้ บ้านหลังเล็กชั้นเดียวตั้งอยู่ริมทางให้เห็นเป็นระยะ น่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม หลายหลังซุกอยู่ท่ามกลางผลผลิตที่ปลูกเป็นแถวแนวยาว … ร่างคนเคลื่อนไหวเก็บเกี่ยวผลงานจากผืนดิน สงบ และเรียบง่าย
ไอเย็นชื้นที่เกาะพราวบนกระจกใส ชวนเชิญให้ลองยื่นมือไปแตะกระจกรถ … เย็นเฉียบ…. พอคาดเดาได้ว่าอากาศด้านนอกจะเป็นอย่างไร
น่าขัน… ที่เมื่อบางคนรู้ว่าฉันจะเดินทางมาอินโดนีเซีย… หน้านิ่วเล็กน้อย
“อากาศคงร้อนละสิ”
นิยามการเที่ยวของคนบางคน ความศิวิไลซ์มาพร้อมอากาศหนาวเย็น ความด้อยพัฒนามาพร้อมอากาศร้อนจัด ไม่ได้มาเพราะความสงสัย ต่อคำว่า “ไฟ” ที่ห้อยอยู่ตรงท้ายพยางค์ ที่ฟังแล้วชวนร้อนอุ่น
ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เตือนย้ำนักหนาว่า อากาศที่นี่จะหนาวเย็น โดยเฉพาะตอนเช้ามืดขณะขึ้นไปดูวิวพระอาทิตย์ขึ้น…ถึงตอนนี้แค่เข้าเขตชายขอบ ความเย็นเจี๊ยบด้านนอกแทบจะทะลุกระจกเข้ามาด้านใน
บ้านชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ริมทาง รูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมครอบด้วยหลังคาทรงจั่ว กระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักแบบเดียวกับภาพวาดสมัยเด็ก ๆ … เสียดาย อย่างเดียว ถ้าบ้านแต่ละหลังพร้อมใจกันปลูกไม้เมืองหนาวที่ออกดอกสีสันสวย ๆ ละก้อ… ที่นี่ชนบทยุโรปชัด ๆ
รถตู้ไปจอดสงบนิ่งหน้าที่พัก ซึ่งสร้างเป็น ลักษณะ complex ประกอบด้วยเรือนพักหลังเล็ก ๆ ง่าย ๆ เชื่อมต่อกัน ตั้งอยู่ริมหน้าผา กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม แต่ที่เด่นแตะตา ชนิดกระโดดลงจากรถปุ๊ปต้องเหลียวหันไปมอง คือ ภูเขาไฟโบรโม ที่อวดโฉมกันให้เห็นจะ ๆ จากหน้าที่พัก ท่ามกลางผืนทรายสีดำ ชนิดที่ไม่ต้องไปเดินหาจุดชมวิวที่ไหนไกล ๆ
คณะร่วมทางเบิกตาโพลง “โห ได้เห็นกันใกล้ ๆ ขนาดนี้เชียว”
ขนาดฉันนั่งอ่านข้อมูลของที่พัก… ที่บรรยายสรรพคุณพร้อมภาพประกอบ ‘อยู่ใกล้ภูเขาไฟแค่เอื้อม’ จากอินเตอร์เน็ต ยังพลอยตื่นเต้นไม่แพ้คนอื่น
Check in เก็บข้าวของกันเรียบร้อย โผล่กลับมายืนหน้าสลอนหน้าที่พักอีกครั้ง ท่ามกลางความเขียวชะอุ่มรอบ ๆ ตัว ภาพกลุ่มภูเขาไฟสีหม่นเทาจากผืนทรายสีดำ และกลุ่มควันที่พ่นออกจากกรวยตัดด้านบนที่ปรากฏให้เห็นดูแปลกตา ราวกับเป็นภูมิทัศน์จากสถานที่ไหนไกล ๆ ที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับจุดที่ยืนอยู่เลย
จริง ๆ แล้ว โบรโมไม่ได้เป็นภูเขาไฟที่อวดโฉมโดดเดี่ยว หากเป็นหนึ่งในกลุ่มภูเขาไฟหลาย ๆ ลูกที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ “Bromo-Tengger Semeru” แต่ที่โดดเด่น เป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ ก็ตรงที่เข้าไปเยือนถึงขอบปล่องได้ง่ายที่สุด ทั้งยังเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ ใจกลางปล่องยังคงระอุพ่นควันกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายคนเรียกกลุ่มควันที่ปล่อยออกมาว่า “ลมหายใจเทพเจ้า”
กลุ่มควันที่ล่องลอยจากปล่องด้านบนที่เป็นแอ่งกว้างคล้ายหลุม ทำให้ตัวภูเขาไฟโบรโมที่มีสัณฐานป้านเตี้ยดูคลุมเครือ กลายเป็นภาพประกอบด้านหลังให้กับภูเขาไฟบาตอก (Mount Batok ) ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า รูปทรงของภูเขาไฟบาตอกสมมาตร พูนสูงขึ้นคล้ายขนมพุดดิ้ง รอยจีบย่นรอบ ๆ อันเกิดจากลาวาที่ไหลออกมายามปะทุระเบิด ทำให้แปลกตากว่าภูเขาทั่วไป สีเขียวอ่อนที่เกิดจากพันธุ์ไม้ที่ขึ้นปกคลุม ทำให้ภูเขาไฟบาตอกดูมีชีวิตชีวา อ่อนเยาว์ ท่ามกลางความหม่นเทาของผืนทรายและกลุ่มควัน ด้านหน้าบริเวณตีนเขา วัดฮินดูสีเข้มตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว… ขับเน้นให้ภาพที่เห็นเบื้องหน้าคล้ายดินแดนแห่งเทพเจ้า… พรุ่งนี้เช้า… สินะ ที่จะได้เข้าไปเยือน
หมอก เมฆ ลมฝนพัดมาตึง ๆ ก่อนจางหาย และเวียนวนมาอีกครั้ง…. ช่วงจังหวะเวลาที่มาเยือนดูเหมือนจะไม่เหมาะสม…. เจ้าหน้าที่ที่โรงแรมที่สุราบายา อุตส่าห์อวยพรเอาใจช่วย
“หวังว่าจะโชคดี ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น”
จังหวะ เวลาของการดำเนินชีวิต ไม่ได้สอดคล้องกับฤดูกาลของทุกหนทุกแห่ง เมื่อพอมีเวลาว่าง จึงออกเดินทาง… สถานที่แต่ละแห่ง คงไม่ได้งามเฉพาะฤดูกาลที่นิยม
เดินเที่ยวรอบ ๆ Cemoro Lawang แม้นไม่มีกลุ่มภูเขาไฟที่ให้ภาพแปลกตาแก่ผู้ที่ไม่คุ้นชิน ก็สวยงามในรูปแบบของตัวเองด้วยภูมิลักษณะที่เป็นเนินเขาสลับซ้อน แปลงเกษตรอวดผลผลิตงาม ๆ ที่ลาดตามไหล่เขา และอากาศที่สดชื่นโปร่งสบาย
คงเป็นเพราะช่วงที่ฉันเดินทางไปเยือนไม่ได้อยู่ในฤดูกาลท่องเที่ยว ร้านรวงที่เปิดขายของจึงมีไม่กี่ร้าน ของที่ระลึกยวนตายวนใจนักท่องเที่ยว ไม่ใคร่จะมี อันนี้คงไม่เกี่ยวกับเรื่องฤดูท่องเที่ยวหรือไม่ใช่ น่าจะเป็นเรื่องของการขายไม่เป็นมากกว่า ของที่ระลึกยอดนิยมที่วางขายตามร้าน และที่มีหนุ่ม ๆ ทั้งหนุ่มใหญ่หนุ่มน้อย หอบใส่กระบะ เดินตามตื้อขายให้นักท่องเที่ยวคือหมวก ผ้าพันคอ และถุงมือ ที่ปักคำว่า Gunung Bromo (Gunung ภาษาอินโดนีเซียแปลว่า ภูเขา) เรียกได้ว่าเป็นของที่ระลึกแบบพื้นฐานจริง ๆ ประมาณว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ แล้วอากาศที่นี่หนาวเย็นเสียขนาดนี้ จะขายอะไร? ถ้าไม่ใช่อุปกรณ์เสริมความอบอุ่นให้กับร่างกาย ราคาหมวก ถุงมือ และผ้าพันคอที่คนขายนำเสนอไม่แพงเลย ทั้งยังต่อรองได้อีก ทำให้ถึงจะเตรียมตัวมาพร้อม ฉันกับเพื่อนหนุ่ม สุดท้ายก็ซื้อไว้เป็นที่ระลึกจนได้
บรรยากาศดี ๆ อากาศสบาย ๆ อย่างนี้ทีไร ความอยากกาแฟกำเริบทุกที หันมองซ้ายแลขวา…จะมีร้านกาแฟบ้างมั้ย… เห็นกระต๊อบหลังเล็ก ๆ ริมทาง เปิดประตูกว้างทิ้งไว้… มองผ่านช่องหน้าต่างเข้าไปเห็นมีโต๊ะตั้งอยู่กลางห้อง มีร่างชายผู้หนึ่งนั่งก้มหนาก้มตากินอาหารที่อยู่ในจาน และตรงหน้าต่างที่อยู่ถัดไปด้านใน ได้ประยุกต์เอากรอบที่หนาของหน้าต่าง ใช้เป็นชั้นวางขวดน้ำดื่ม มองคะเนคร่าว ๆ น่าจะเป็นร้านขายของ ขายอาหาร ทำนองนั้นลองเดินเข้าไป คุณป้าที่อยู่ด้านหลังโผล่ร่างออกมามอง
“Coffee”
แกยิ้ม พยักหน้า
ฉันชี้นิ้ว นับเรียงไปทีละคน ส่งสัญญานให้รู้ว่า เอามาจำนวนแก้วเท่าจำนวนคนนี่แหละ
แกพยักหน้า แล้วหายไปข้างใน
กวาดสายตามองไปรอบ ๆ สุดท้ายสายตาทุกคู่ก็ไปหยุดจับจ้องที่จานข้าวของลูกค้ารายเดียวที่กำลังนั่งกินอย่างเอร็ดอร่อย… หน้าตาของอาหารในจานเป็นข้าวราดแกงคล้ายพวกแกงกระหรี่ สีเหลืองสวย พร้อมชิ้นไก่ และเครื่องเคียงที่เป็นผักแบบรวมมิตรมีทั้งถั่วงอก กระหล่ำปลีราดน้ำสีแปลก ๆ
โห… หน้าตาน่ากินพิลึก แถมดูสะอาดสะอ้านอีกด้วย
พอป้าแกเดินผ่านให้เห็นแว่บ ๆ จากด้านใน เลยรีบเรียก ส่งภาษาใบ้ชี้ไปที่จานข้าวของพ่อหนุ่มนั่น ก่อนชูหนึ่งนิ้ว ประมาณว่า “เอาแบบเนี่ยะ… จานนึง”
ผ่านไปพักใหญ่พอประมาณ กาแฟร้อน ๆ ถึงยกมาเสริฟ ตามด้วยข้าวราดแกงที่สั่งไป ควันลอยฉุยตลบอวล ทั้งจากแก้วกาแฟ และจานข้าว ก่อกวนพยาธิในท้องพิลึก
ลองยกกาแฟขึ้นมาจิบ กาแฟของคุณป้ารสชาติกลมกล่อมไม่เลว ติดตรงที่แกไม่ยักกรองผงกาแฟให้ กินไปต้องคอยถ่มผงออกมาใส่กระดาษ สุดท้ายต้องขอช้อนมาตักผงที่ลอยบนผิวหน้าทิ้งไป ถึงพอดื่มได้
เจ้าเพื่อนตัวดี ที่เป็นตัวตั้งตัวตี อยากลองอาหารจานเด็ดของคุณป้า ลองตักอาหารขึ้นมาชิม แล้วชมเปราะ
“อร่อยจริง ๆ”
แต่เจ้าตัวกลับกินแค่ช้อนสองช้อน ก่อนถือถ้วยกาแฟไปนั่งดื่มละเลียดด้านนอก
“อร่อยจริง ๆ แต่ยังไม่หิว”
ปล่อยภาระให้ที่เหลือจัดการกันต่อไป แต่.. อาหารคุณป้าอร่อยจริง ๆ น่ะแหละ รสชาติออกหวานนิด ๆ แต่ถูกปาก ขณะนั่งกิน มีลูกค้าเพิ่มเข้ามาสมทบ เป็นสองสาวนักศึกษา ที่มาสำรวจเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว ทั้งคู่สั่งอาหารแบบเดียวกับที่พวกฉันกินอยู่… หรือจริงๆ แล้วคุณป้าแกขายอาหารอยู่ชนิดเดียวก็ไม่รู้
เจียนมืดค่ำ พวกเราค่อยเดินกลับที่พัก… ยิ่งค่ำ… ลมพัดแรงขึ้น เสียงลมพัดโดนอาคารดังกึง ๆ ฟังน่ากลัวเหมือนกัน... นั่งหลบซุกตัวกันตรงห้องอาหารของที่พัก... ตอนแรกนึกบ่นในใจว่าทำไมห้องอาหารถึงไม่กรุด้วยแผ่นกระจกใสแผ่นใหญ่ ๆ รอบด้าน แทนหน้าต่างเป็นบาน ๆ จะได้เห็นทิวทัศน์ด้านนอกได้ชัด ๆ ถึงคราวนี้ค่อยเริ่มเข้าใจ...ก็ที่พักตั้งอยู่ใกล้ ๆ ริมหน้าผา รับแรงลมเต็ม ๆ คงกลัวลมพัดเอากระจกแตกปลิวเป็นชิ้น ๆ ซะละมัง
ยังคงมีนักท่องเที่ยวท้องถิ่นทยอยขับรถขึ้นมาพักเรื่อย ๆ กลุ่มพ่อค้านักตื้อที่เดินขาย หมวก ผ้าพันคอ และถุงมือ ยังคงปักหลักจับกลุ่มกันข้าง ๆ ห้องอาหารเพื่อรอขายของ บางคนหาบเอาหม้อก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ มาตั้งวางขายด้วย เห็นภาพนั้นแล้ว ฉันว่าเป็นภาพเกื้อกลูที่น่ารักทีเดียวระหว่างเจ้าของกิจการกับคนท้องถิ่น
…………….
…………….
ใกล้ตีสาม...
เสียงฝนด้านนอกตกหนัก ไม่มีวี่แววว่าจะซาลง
คำอวยพรที่ว่า “หวังว่าจะโชคดี ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น” ท่าจะเป็นหมัน ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ารายการพาไปดูพระอาทิตย์ขึ้นจะโดนยกเลิกด้วยมั้ย.. .. มีเสียงรถแล่นเข้ามาจอดในลานจอดรถ ทำให้เลิกม่านออกไปดู รถโฟร์วิลล์หลายคันเข้ามาจอด... แสดงว่า The show must go on รีบแต่งตัวให้รัดกุมพร้อมออกไปเผชิญอากาศหนาว
รถคันที่บริการพวกเราขับตะลุยฝ่าฝนออกจากลานไปเป็นคันแรก และยืนยันการเป็นคันแรกสุดอีกครั้งเมื่อคนขับไปจอดตรงด่านทางเข้า แล้วลงไปไขกุญแจเปิดประตูกั้นถนนออก
ทั้งหมอก ทั้งฝน ปะพรมจนมองแทบไม่เห็นด้านนอก กระทั่งเริ่มมีไฟส่องสว่างจากรถที่ขับตามหลังมาอีกหลายคัน ทำให้บรรยากาศดูคึกคักขึ้น
ใช้เวลาประมาณ 40 นาที รถก็นำพวกเราไปถึงยอดเขา Pananjakan
นักท่องเที่ยวจากไหน มารวมตัวกันที่นี่เต็มไปหมด ระหว่างรอฟ้าใกล้สาง นั่งจิบกาแฟอุ่น ๆ ตรงร้านริมทาง คราวนี้ที่ร้านไม่ลืมที่จะกรองผงกาแฟให้ ทำให้นั่งจิบกาแฟได้ละมุนขึ้น กระทั่งได้เวลา นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินตามกันไปยังจุดชมวิว… ฝนหยุดตกแล้ว อัฒจรรย์ตรงลานกว้าง ช่วยให้การชมดูพระอาทิตย์ขึ้นไม่แออัด นักท่องเที่ยวสามารถเลือกที่นั่ง นั่งลดหลั่นกันลงมาโดยไม่ต้องยืนเบียดแย่ง แอบหวังอีกครั้งว่า ฟ้าจะเปิด แล้วอวดโฉม ภาพพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางกลุ่มภูเขาไฟ
ชาวพื้นถิ่น เดินถือช่อดอกไม้ที่เป็นดอกหญ้าสีสด เก็บจากข้างทางมามัดรวมกัน หลายช่อเกิดจากดอกหญ้าหลายชนิดผสมปนเป จนได้จังหวะงดงาม บางช่อเกิดจากดอกหญ้าชนิดเดียวเดี่ยว ๆ มั่นอกมั่นใจ แต่บางช่อก็เกิดจากการตั้งใจใช้ดอกหญ้าที่สีสันตัดกันอย่าง ม่วงกับเหลือง มาผสมรวมกัน ณ ที่เดียว
มัดดอกไม้เหล่านี้ เร่ขายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อนำไปถวายเทพเจ้า
ณ… ที่แห่งไหน มักมีตำนาน ตำนานการก่อเกิด และการดับสูญ
เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณภูเขาไฟแห่งนี้ปกครองโดยราชินี Roro Anteng และราชา Joko Seger ทั้งคู่ได้ครองคู่ร่วมกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่มีวี่แววที่จะมีบุตร หรือบุตรี สืบทอดสายโลหิต ด้วยความร้อนรุ่มใจ จึงได้เดินทางไปยังยอดภูเขาไฟ เพื่อสวดอ้อนวอนขอบุตร และบุตรีจากเทพเจ้า
ถ้อยคำอ้อนวอนนั้น ก้องกังวานจากภายในปล่องภูเขาไฟ และล่องลอยไปถึงเบื้องบน คำอ้อนวอนนั้นประสบผล ได้รับความเห็นใจจากเทพเจ้า ที่ตัดสินใจที่จะประทานเด็ก ๆ ให้แก่พวกเขา แต่มีข้อแลกเปลี่ยน พวกเขาจะต้องบูชายัญบุตรหรือบุตรีคนสุดท้ายให้แก่เทพเจ้า
ไม่ช้านาน ทั้งคู่ก็มีบุตร และบุตรีพรั่งพร้อมจำนวนมากถึง 25 คน ณ ห้วงเวลานั้น Roro Anteng และ Joko Seger เปี่ยมด้วยความสุข แม้ลึก ๆ จะรู้สึกกลัวอยู่บ้าง เนื่องจากรู้ว่า คำสัญญาจะต้องถูกทวงถามภายในวันหนึ่งวันใด แล้ววันนั้นก็มาถึง เทพเจ้าได้ทวงคำมั่นสัญญา
พวกเขาได้พาลูก ๆ ทั้งหมดหลบหนี เนื่องจากไม่ต้องการบูชายัญบุตรคนสุดท้าย Kesuma ให้กับเทพเจ้าแต่ภูเขาไฟได้ระเบิดขึ้น และกลืนร่าง Kesuma ลงไปในปล่อง ทันทีที่ร่าง Kesuma หายไป ทุกอย่างได้คืนกลับสู่ความสงบ เสียงของ Kesuma ได้ดังกังวานขึ้น ประสงค์ถ่ายทอดสารไปยังพี่ ๆ ของเขา ทุก ๆ ปี ในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนที่ 12 (ตามปฏิทินพื้นเมือง) ให้จัดพิธีถวายสิ่งสักการะแด่เทพเจ้า เพื่อความอุดมสมบูรณ์ และสงบสุขของผืนแผ่นดิน ซึ่งได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
เช้าแล้ว…. ไม่มีวี่แววว่าฟ้าจะเปิด นักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม ตัดสินใจที่จะเลิกรอ และกลับไปในที่สุด รวมทั้งพวกเราด้วย
รถแล่นไปตามทางถนน เพื่อตรงไปยังภูเขาไฟโบรโม ขณะเข้าไปจอดบริเวณตีนเขา Batok ณ เวลานั้น คึกคักด้วยเพิงชั่วคราวของคนนำทาง และม้าที่เตรียมไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวเช่าขี่ขึ้นไปข้างบน ค่าบริการแบบเหมาจ่ายเบ็ดเสร็จ ครอบคลุมถึงค่าบริการม้าด้วย เมื่อไปถึง จึงได้รับแจกบัตรชื่อม้าที่จะเป็นพาหนะนำพาคนละหนึ่งใบ
ตื่นเต้นไม่น้อย ตอนปีนขึ้นไปนั่งคร่อมบนหลังม้า…. ก็นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้อยู่บนพาหนะที่มีชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่เครื่องจักรที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เมื่อเจ้าสี่เท้าเริ่มย่างก้าว ตัวโอนเอนไปมา..มือรีบตะครุบสายจับแน่น…ตัวเกร็งไปหมด รู้สึกเหมือนจะตกเอา.. กระทั่งผ่านไปสักพัก เริ่มคุ้น ถึงค่อยรู้ว่าต้องไม่เกร็ง ร่างจะโอนจะเอียงไปทางไหน ปล่อยไป… ค่อยทำให้รู้สึกว่าการนั่งม้าเพลิดเพลินดีเหมือนกัน
ม้าก้าวย่างไต่ขึ้นไปตามทางที่ค่อย ๆ ชันขึ้นทีละน้อยอย่างช้า ๆ เสียงลมหายใจของมันดังฟืดฟาด และเหงื่อที่ไหลย้อยของเจ้าของที่คอยระวังดึงรั้งไม่ให้เจ้าสีเท้าก้าวพลาดตกจากทางที่ลัดเลาะตามไหล่เขา ทำให้รู้ว่าเป็นงานที่หนักหนาไม่น้อย….
ที่สุดก็ไปถึงตีนบันได ต่อไปนี้…. ต้องใช้สองเท้านำร่างของตนเองขึ้นไปเอง
เริ่มมีคนพื้นถิ่น นำมัดดอกไม้มาตื้อขายอีกครั้ง… แต่ไม่หลากหลายและสวยเท่าที่ pananjakan
ขณะเดินไปตามทางบันได ลมพัดวูบมาบางจังหวะ นำพากลิ่นกำมะถันแสบจมูกมาด้วย ผ้าพันคอที่นอกจากจะให้ความอบอุ่น เริ่มมีประโยชน์เพิ่มขึ้น ช่วยในการใช้ปิดจมูกเพื่อกรองกลิ่น
ความใจร้อน ทำให้เร่งฝีเท้า... พยายามจะขึ้นไปให้ถึงข้างบนให้เร็วที่สุด อยากเห็นภาพที่จะปรากฏด้านบน และปล่องภูเขาไฟ
แต่ครั้นไปถึงข้างบนจริง ๆ หมอกฝนปกคลุมไปทั่วจนมองไม่เห็นอะไร และที่ร้ายที่สุด กลิ่นกำมะถันฉุนจัด จนหายใจไม่ได้ ผ้าพันคอที่หยิบมาปิดจมูก ไม่ช่วยอะไรเลย ท้ายสุด กลายเป็นว่า เมื่อเดินขึ้นไปถึง ทุกคนต่างยอมแพ้ หันหลังเดินย้อนกลับลงไปข้างล่างในทันที
เพื่อนร่วมทาง ที่เดินถือดอกไม้ขึ้นมา โยนดอกไม้ลงไปในปล่องภูเขาไฟ ที่มองไม่เห็นอะไรเลย….
ดินแดนเทพเจ้า ยินยอมให้มนุษย์ตัวเล็ก ๆ รุกล้ำเข้าไปเยือนเพียงเท่านี้
………
กลับถึงบ้าน
เจ้าตัวเล็กสองคน ออกมาต้อนรับ
“อ้าว… ไม่เห็นตัวดำเลย” เสียงตัวโตกว่าข้องใจ
“จริงด้วย” ตัวเล็กเสริม “ทำไมตัวไม่ดำ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น