19 มิถุนายน 2557

หุบเขากังกาลา โอกินาวา

(ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์)
 กังกาลา... กังกาลา.... โทนเสียงที่เปล่งออกมาของหญิงสาวที่อยู่ด้านหน้า ทั้งตื่นเต้นและลึกลับอยู่ในที กังกาลา กังกาลา....   ผี  ผีแน่ ๆ คนนำทางต้องกำลังเล่าถึงตำนานลึกลับในหุบเขาที่ฟังแล้วขนลุก ขนพอง ครั้นหันไปทางคุณอิเรอิที่เป็นคนนำพวกเราเที่ยว เจ้าตัวรีบถ่ายทอดเป็นภาษาไทยทันที
                “กังกาลา เป็นเสียงหินครับ หินที่โยนจากด้านบนลงมายังหุบเขาด้านล่าง แล้วข้างล่างนี่ลึกมาก เสียงเลยดังนาน กว่าจะหยุด”
                “อ้อ... ดังกึง กึง กึง ร่วงลงมาทำนองนั้น” คนใกล้ตัวพยักหน้างึกหงัก ทำนองเข้าใจ  ส่วนฉันรู้สึกเสียอารมณ์มากกว่า นึกว่าจะได้ฟังตำนานอะไรสยอง ๆ สักหน่อย หันไปมองสาวน้อยคนนำทางอีกครั้ง ใบหน้าเก๋นั่นกำลังยิ้มน้อย ๆ
                เออ... เจ้าตัวก็เล่าธรรมดานี่แหละ อาจมีน้ำเสียงตื่นเต้นเจือลงไปบ้าง   หากตัวฉันเองนี่แหละที่เสริมเติมแต่งเข้าไปเอง  คิดเอง เออเองเป็นตุเป็นตะ

                และเจ้าเสียงหล่นกึง กึง กึง ที่คนญี่ปุ่นฟังเป็นกังกาลา กังกาลา จึงกลายเป็นชื่อหุบเขาแห่งนี้
..........
                หุบเขากังกาลา (Gangala Valley) ตั้งอยู่บนเกาะโอกินาวาตอนใต้  แรกโผล่ไปยังบริเวณด้านหน้าทางเข้า เห็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่  ที่ด้านในถูกจับแปลงโฉมเป็น Cave Café สำหรับนักท่องเที่ยว  รู้สึกชอบขึ้นมาทันที คงเป็นเพราะโพรงถ้ำนั้นดูโปร่งโล่ง  และมีต้นไม้เขียวชะอุ่มอยู่ด้านหน้า  ใบสีเขียวที่เป็นมันนั้นยังชุ่มน้ำจากฝนที่ตกลงมาปรอย ๆ ประสานรวมกันแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น อยากนั่งทอดหุ่ยดื่มกาแฟสักแก้วขึ้นมา
                ฉันหันไปชูนิ้วโป้งให้กับคุณอิเรอิที่เดินตามมาทีหลังด้วยอยากสื่อให้รู้ว่า .... ปิ๊งสถานที่นี้ตั้งแต่
แว่บแรกเลยเชียว
แรกเห็นก็ชอบสถานที่นี้แล้ว
                การเข้าไปชมหุบเขากังกาลาด้านในจะต้องมีคนนำทาง จู่ ๆ จะเข้าไปชมเลยนั้นไม่ได้ ซึ่งทางการท่องเที่ยวเองได้จัดรอบในการเข้าชมไว้วันละสี่รอบ ใช้เวลาในการเดินชมประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
                คุณอิเรอินำพวกเรามาถึงก่อนเวลาเล็กน้อย จึงมีเวลาที่จะเตร็ดเตร่ดูของที่ระลึกที่วางขายใน Cave Café  ก่อนที่จะเข้าชมด้านใน ของที่ระลึกพวกนี้เปรียบเสมือน Information ภาครวบรัด  อะไรที่เป็นทีเด็ดของที่นี่ จะถูกงัดนำมานำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อหา
                น้องคนหนึ่งในคณะหยิบพัดที่ทำเป็นรูปหน้าคนยุคโบราณขึ้นมาทาบบนใบหน้าตนเองแปลงสภาพกลายเป็นหนุ่มมนุษย์ถ้ำ... อืมม์ ต้องมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณในหุบเขาแห่งนี้แหง๋ ๆ
                เหลือบตามองดูของที่ระลึกอื่น ๆ เห็นภาพถ่ายที่ถ่ายจากในถ้ำแขวนเรียงเป็นแถว ทุกคนพุ่งสายตาไปที่ภาพหนึ่งโดยไม่ได้นัดหมาย
                หนุ่ม ๆ พากันยิ้มกริ่ม  ด้วยภาพหินที่งอกย้อยลงมานั้นละม้ายคล้ายองคชาติโดยไม่ต้องใช้จินตนาการใดช่วยเสริมแต่ง  นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในการชมหุบเขาแห่งนี้โดยไม่ต้องสงสัย ไม่เชื่อแค่ดูสายตาแต่ละคน  นี่ขนาดยังไม่เห็นของจริงนะยังวิบวับกันเสียไม่มี
                และ...มองเลยไปยังหนังสือเล่มโตที่วางขายอยู่ด้านหน้าใกล้ ๆ กัน... หน้าปกเป็นภาพไม้ใหญ่ที่มีรากอากาศจำนวนมากงอกลงมาพันลำต้นขนาดใหญ่   ต้น GAJUMARU .... ต้นไทร  ต้นไทรแน่ ๆ  จะมีไม้ใหญ่ชนิดไหนในโลกนี้อีกที่เต็มไปด้วยกิ่งก้านห้อยย้อย และรากอากาศรุงรังแบบนี้  และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เมื่อกางแผ่นพับที่คุณอิเรอิแจกให้กับทุกคน ปรากฏภาพต้นไทรขนาดใหญ่ มีหญิงสาวที่ขนาดตัวเหลือเล็กนิดเดียวเมื่อยืนเทียบกับไม้หญ่ที่สง่างามนั้น
                “ต้น Gajumaru ครับ... ภาษาไทยเรียว่าอะไร ผมไม่ทราบ”
                “ต้นไทร.... Banyan Tree
                “อ้า... ต้นไทร” คุณอิเรอิพยายามออกเสียงตาม
                ฉันชี้ไปที่อักษรญี่ปุ่นที่โปรยบนรูปภาพ   “หมายถึงอะไรคะ”
                คุณอิเรอินิ่งไปสักครู่พยายามเรียบเรียง  “เออ... หมายถึง เงียบ และงดงามครับ”
                เงียบและงดงาม... ต้นไทรใหญ่ของที่นี่คงเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของหุบเขากังกาลา

ปรับพื้นที่ถ้ำกลายเป็น Cave Cafe

นี่คือโฉมหน้า Minatogawa Man
.......

                ต้นไม้เดินได้
                ได้เวลาเข้าชมหุบเขาด้านใน เจ้าหน้าที่หญิงสาวที่เป็นคนนำทางได้นำคณะฯ ทั้งหมดไปยังลานที่อยู่ถัดลึกเข้าไปใน Cave Café  เล็กน้อย  บริเวณนั้นมีม้านั่งจัดเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยวนั่งฟังเจ้าหน้าที่อธิบายถึงข้อมูลเบื้องต้นของสถานที่ รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
                เสียงภาษาญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยสระสั้น ๆ  ผสมกับใบหน้าเก๋ ๆ และท่าทางคล่องแคล่วของหญิงสาวทำให้ฟังได้เพลินเชียว แม้จะไม่เข้าใจตัวภาษาก็ตาม
                ระหว่างอธิบาย.. หญิงสาวได้ยกแผ่นภาพที่เตรียมไว้ ยกขึ้นประกอบเป็นระยะ นั่นไง ภาพวาดจำลองมนุษย์โบราณอีกแล้ว ใบหน้าเดียวกับที่น้องผู้ชายได้ลองยกขึ้นมาทาบทับใบหน้าตนเองก่อนหน้านี้  คุณอิเรอิทำหน้าที่ล่ามอธิบายให้พวกเราฟัง และเป็นอย่างที่คาดไว้ ในหุบเขาแห่งนี้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ  นับอายุถอยหลังไปได้ถึง 18,000 ปีเลยเชียว  เชื่อกันว่าโครงกระดูกเหล่านี้เป็นของชนกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่บนเกาะ  และนักโบราณคดี เรียกขานคนกลุ่มนี้ว่า Minatogawa Man
                ปฐมนิเทศเสร็จ  หญิงสาวได้ผายมือไปด้านหลัง  แจ้งให้ทราบว่ามีกระติกน้ำสแตนเลสบรรจุชามะลิหอม ๆ เย็น ๆ  เตรียมไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้จิบแก้กระหายระหว่างเดินอยู่ด้านใน  เป็นบริการเล็ก ๆ น้อยๆ ที่น่ารักทีเดียว
                ออกจากตัวถ้ำ  เดินไปตามเส้นทางสู่พื้นที่ด้านนอก
                ต้นไม้หลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ เกี่ยวกอดขียวชะอุ่มรอบด้าน  ตั้งแต่ไม้ใหญ่ยืนต้น ไม้ล้มลุก ไม้เกาะเกี่ยว ไม้อิงอาศัย..... นี่นับเป็นหุบเขาที่อุดมสมบบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
                เจ้าหน้าที่ชี้ชวนให้มองไปที่ศาลาเล็ก ๆ ข้างทาง บนนั้นมีเฟินข้าหลวงหลังลายเกาะอยู่ ทีเด็ดอยู่ตรงที่บอกว่านำมากินได้นี่สิ   ทำเอาคนไทยตาโต ไปตาม ๆ กัน ไม่ยักรู้กันมาก่อนว่า เฟินชนิดนี้กินได้ด้วย ต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่ถูกชี้ชวนให้ชม เป็นกอไผ่ขนาดใหญ่ริมทาง พร้อมข้อมูลที่ว่าเป็นไผ่พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แต่...ต้นไม้ที่ภูมิใจนำเสนอจริง ๆในหุบเขากังกาลา คือต้นไทรขนาดใหญ่ที่มีรากอากาศงอกจากลำต้นลงดิน ช่วยค้ำจุนให้ลำต้นตั้งตะหง่านไปด้านบน
                “ต้นไม้เดินได้ คือฉายาของต้นไม้ชนิดนี้ครับ”  คุณอิเรอิแปลให้พวกเราฟัง
                เป็นฉายาที่ช่างคิดจริงเชียว  แถมเห็นภาพอีกด้วย รากที่งอกจากลำต้นลงสู่ดิน เป็นเสมือนการก้าวย่างเดินของต้นไม้ แม้จะทีละนิด ทีละนิด ก็ตาม รากอากาศที่แข็งแรงเหล่านี้เกาะเกี่ยวยึดกับผนังหิน และปากโพรงถ้ำที่ล้วนเกิดจากปะการัง ลองจินตนาการย้อนกลับไป หุบเขาแห่งนี้ครั้งหนึ่งคงเคยเป็นทะเล




เจ้าหน้าที่สาวบรรยายข้อมูลน่าสนใจของหุบเขากังกาลา


โพรงถ้ำและต้นไทรเป็นภาพที่เห็นตลอดทาง

                ถ้ำเพศหญิง ถ้ำเพศชาย และเทพเจ้า
                หุบเขาที่เคยเป็นทะเล เต็มไปด้วยโพรงถ้ำมากมาย ....ถ้ำที่เกิดจากปะการัง
                ถ้ำเพศหญิงเป็นหนึ่งในบรรดาถ้ำเหล่านั้น   มีหินที่มีรูปร่างคล้ายผู้หญิงอยู่ภายใน หากพื้นที่ที่เล็กแคบจึงไม่อนุญาตให้เข้าชมด้านใน  จึงไม่ได้เห็นของจริงว่าจะละม้าย คล้ายแค่ไหน  ถัดจากถ้ำเพศหญิงไปไม่ไกล เป็นถ้ำเพศชาย ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้เป็นพิเศษ  ด้วยใคร ๆ ก็อยากหิ้วตะเกียงเข้าไปส่องชมหินที่งอกย้อยลงมาเป็นแท่งเดี่ยวโดด ๆ ใกล้ ๆ  ว่าจะเหมือนองคชาติขนาดไหน เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ยิ่งรู้สึกเหมือน  นี่คงเป็นที่มาในการเรียกถ้ำแห่งนี้ว่าถ้ำเพศชายสินะ
                สัญลักษณ์เพศหญิง  และเพศชาย มักเกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์
                เชื่อกันว่า ภายในถ้ำเพศหญิงและเพศชายมีเทพเจ้าสถิตอยู่ด้านใน เทพเจ้าแห่งถ้ำเพศหญิงนั้นอำนวยพรแก่ผู้มากราบไหว้ให้คลอดลูกได้ง่าย ขณะเทพเจ้าแห่งถ้ำเพศชายนั้นอำนวยพรแก่ผู้มากราบไหว้ให้เลี้ยงลูกได้ง่าย ถ้าคิดอย่างขัน ๆ ก็ต้องว่า ช่างแบ่งหน้าที่กันทำได้ดีจริง

ถ้ำเพศหญิง
ถ้าเพศชาย



                ไม้ใหญ่  และเสียงกึง กึง กึง
                ถัดเลยจากถ้ำเพศชาย เจ้าหน้าที่นำพวกเราเดินทะลุโพรงถ้ำ และกำลังจะเดินไปตามทางเดินที่สร้างลอดใต้ทางถนนเพื่อไปยังพื้นที่หุบเขาที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง นั่นฟ้องให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้ปลีกวิเวกแต่อย่างใด หากทับซ้อนอยู่กับพื้นที่ตัวเมืองนี่แหละ
                แต่เดี๋ยวก่อน หยุดตรงด้านหน้าทางเดินที่สร้างลอดใต้ทางถนน
                เจ้าหน้าที่สาวได้เฉลยถึงที่ของของชื่อหุบเขา ณ ตรงนี้เอง  กังกาลา กังกาลา .... ซึ่งก็คือเสียงกึง กึง กึง ของก้อนหินที่หล่นลงมาในหุบเขานี้เอง
                ทันทีที่พ้นทางลอดใต้ถนน  ก็เผชิญหน้ากับต้นไทรใหญ่ต้นเดียวกับที่อยู่บนแผ่นพับที่คุณอิเรอิแจกให้กับทุกคน  สายตาทุกคนจับจ้องไปที่ต้นไทรนั้น..... เงียบ และงดงาม นี่เป็นไม้ใหญ่  Gajumaru ที่ใหญ่ที่สุดที่ได้เห็น
                “อายุ 250 ปี แล้วครับ” คุณอิเรอิแจ้งกับพวกเรา
                เท่ากับ 3 ชั่วอายุคน.... คุณทวดแล้วสินะ  เป็นคุณทวดที่มาดเท่ สง่างามสุด ๆ จนบรรดาหลาน ๆ ทุกคน เต็มใจ และพร้อมใจที่จะถ่ายรูปหมู่กับคุณทวด ทั้งที่ต่างกลุ่มต่างมา และ ต่างไม่รู้จักกัน


ต้น Gajumaru หรือ ไทร พญาไม้ใหญ่ของหุบเขากังกาลา

สุสานเก่า และ โครงกระดูกมนุษย์โบราณ
                หุบเขากังกาลาเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายกว่าที่คาดไว้
                ภายในหุบเขาแห่งนี้มีสุสานเก่า  ซึ่งจะไม่สังเกตเห็นเลย หากเจ้าหน้าที่ไม่ชี้ให้ดู  ด้วยพื้นที่ที่เข้าสู่สุสานนั้นกลมกลืนไปกับผนังถ้ำข้างทาง  มีผิดแผกให้สังเกตตรงที่ผนังดังกล่าวจะก่อขึ้นจากก้อนหินก้อนเล็ก ๆ วางเรียงต่อกันเป็นแนวเรียบร้อย  เว้นช่องสี่เหลี่ยมเล็กแคบไว้....
                หันไปทางคุณอิเรอิ  “สุสานเก่าแห่งนี้ไม่ได้ใช้งานแล้วครับ แต่...อาจจะยังมีคนมากราบไหว้บรรพบุรุษเป็นได้”
                และสิ่งที่ยืนยันว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้ปลีกวิเวกแต่อย่างใด เมื่อคนนำทางพาพวกเราไปยังระเบียงไม้ที่ยกพื้นขึ้นสูง ทำให้กลายเป็นจุดชมวิวพื้นที่รอบ ๆ หุบเขา... กวาดตามองแล้วก็รู้สึกทึ่ง เมื่อถัดเลยไปเพียงนิดเดียวก็เห็นบ้านคนแล้ว...
                และที่ต้องแอบนินทากันเล็กน้อย เมื่อเจ้าหน้าที่ชี้ให้คณะชมต้นมะละกอแกร็น ๆ ที่ขึ้นอยู่ริมทาง
                มะละกอเนี่ยนะ อยากจะร้องแบบนั้น
                แต่คุณอิเรอิรีบเฉลย   “คือที่ญี่ปุ่น ไม่ค่อยได้เห็นต้นมะละกอครับ เลยชี้ให้ดู”
                จะมีให้เห็นก็ที่โอกินาวานี่แหละ แล้วจะไม่ให้อวดสักหน่อยได้อย่างไร เพราะคณะที่เข้าชมหุบเขากังกาลาพร้อม ๆ กับพวกเรา เป็นชาวญี่ปุ่นที่มาจากจังหวัดอื่นเสียส่วนใหญ่
                ในที่สุดก็มาถึงจุดที่มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พื้นที่บริเวณนั้น ปล่อยพื้นที่ให้เห็นร่องรอยของการขุดเจอไว้อย่างตั้งใจ และมีเปลือกหอยขนาดใหญ่วางไว้ตรงกลางด้านบน
                เจ้าหน้าที่หยุดให้ยืนชมดูอยู่ชั่วขณะ  ก่อนนำสู่พื้นที่ที่เป็นถ้ำกว้าง มีเก้าอี้จัดวางเตรียมไว้พร้อม  แต่ละคนเลือกที่นั่งตามใจชอบ ฟังเจ้าหน้าที่เล่าเรื่องราวของหุบเขากังกาลาอีกครั้ง แผ่นป้ายง่ายๆที่เตรียมไว้ ถือประกอบเปลี่ยนทีละแผ่น ทีละแผ่น   นี่เป็นการปัจฉิมนิเทศสินะ นั่งมองเจ้าหน้าที่สาวขณะปฏิบัติหน้าที่แล้วก็นึกนิยม  การเดินเที่ยวชมพื้นที่ในหุบเขาที่เป็นไปอย่างเพลิดเพลิน ต้องยกความดีความชอบให้หญิงสาวด้านหน้ากว่าครึ่งเลยทีเดียว ลักษณะการพูดจาที่คล่องแคล่ว  เต็มอกเต็มใจที่จะให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ ผสมกับกริยาที่ละมุนละไมนอบน้อม ทำให้ทุกคนตบมือกันกราวใหญ่ ขณะที่เธอโค้งเป็นสัญญาณให้รู้ว่า.... การเข้าชมหุบเขากังกาลาสิ้นสุดลงแล้ว หนุ่ม ๆ ในกลุ่มรีบตรงดิ่งเข้าหาหญิงสาว เพื่อจะขอถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึกทันที และไม่ผิดหวัง เมื่อเธอยิ้มตอบรับอย่างเต็มใจ
                เสน่ห์ของสถานที่ประสานกับเสน่ห์ของตัวบุคคล ทำเอาชาวคณะที่เดินทางไปด้วยกัน เลือกหุบเขากังกาลาเป็นที่เยือนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะโอกินาวาเลยทีเดียว

สุสานเก่าภายในหุบเขา

บริเวณที่ขุดเจอโครงกระดูกมนุษย์โบราณ

บรรยกาศปัจฉิมนิเทศ

สนใจข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกาะโอกินาวา ดูได้ที่  https://www.facebook.com/visit.okinawa.th
หากสนใจเข้าชมหุบเขากังกาลา ต้องจองก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ที่ เบอร์โทรศัพท์ในเว็บไซต์ http://www.gangala.com/