27 พฤษภาคม 2554

ปราสาทฮิเมจิ

หมายเหตุ... งานเขียนตอนนี้ ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์


เอาเข้าจริงๆ แล้ว เวลาไปเที่ยวที่ไหน ดูเหมือนสถานที่เที่ยวจะวนเวียนซ้ำอยู่ไม่กี่ประเภท

ลองนับนิ้วดูเล่นๆ ก็ได้  ปราสาท/ราชวัง  โบสถ์/วัด  พิพิธภัณฑ์  โรงละคร  สวนพฤกษศาสตร์....   จริงๆ นะ นับวนเวียนกี่รอบกี่รอบ ก็จะได้ประมาณนี้  สงสัยเป็นเพราะสถานที่เหล่านี้ระดมเอาภูมิรู้ภูมิฝีมือของคนในท้องถิ่น สร้างสรรค์ผลงานกันอย่างเต็มความสามารถ  แล้วภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมความเชื่อของแต่ละที่ แต่ละแห่งล้วนต่างกันออกไป ทำให้ผลงานที่ออกมามีรายละเอียดที่ต่างแปลกไม่ซ้ำกัน (สนุกก็ตรงนี้แหละ)

เมื่อมาญี่ปุ่นคราวนี้  ที่แรกที่ฉันตรงดิ่งไปเยือนจึงเป็นเมือง ฮิเมจิ (Himeji) จังหวัดเคียวโงะ  ด้วยชื่อชั้นที่ว่าปราสาทแห่งเมืองฮิเมจิ  เป็นหนึ่งในปราสาทที่งามงดที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และอีกเหตุผลหนึ่งที่เสริมเข้ามา คือความตั้งใจที่จะใช้ตั๋วแบบ pass ให้คุ้มที่สุด ตั๋วประเภทนี้เป็นตั๋วแบบเหมาจ่ายราคาเดียว ผู้ถือสามารถเดินทางไปไหนก็ได้ในขอบเขตพื้นที่ และจำนวนวันที่ขีดจำกัดไว้ให้ ถ้ายึดเอาเมืองที่พักเป็นฐานในการเดินทาง เมืองฮิเมจิก็อยู่ตรงบริเวณขอบๆ ของพื้นที่ที่ขีดจำกัดวงไว้

สับสนกับสถานที่ที่เรียกว่า 'ปราสาท' อยู่บ้าง  ถ้าอิงความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2542  'ปราสาท' หมายถึง เรือนที่มียอดเป็นชั้นๆ สำหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์

แต่ความหมายปราสาทในดินแดนอื่น ดูจะหมายถึงที่อยู่ที่อาศัยของกษัตริย์ รวมถึงขุนนางในตำแหน่งสำคัญๆ มากกว่าที่จะเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบในไทย

แต่ที่แน่ๆ ปราสาททุกแห่ง ทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนเป็นเรือนที่มียอดเป็นชั้นๆ ลดหลั่นทั้งสิ้น แสดงถึงแนวคิดที่คล้ายคลึง ยิ่งสูงยิ่งโดดเด่นยิ่งอลังการ...ประมาณนั้น  ทำเลที่ตั้งก็มักเลือกที่จะสร้างบนเนินเขาสูง  เวลาไปเที่ยวชมปราสาทที่ไหน เมื่อไร ที่ใดจึงมักไม่ต้องกลัวหลง ไม่ต้องคอยพะวงเปิดดูแผนที่ เพราะแค่แหงนคอมองไปรอบๆ  เดี๋ยวจะได้เห็นยอดสูงของปราสาทที่มักจะอวดโฉมให้เห็นเด่นกว่าสถานที่อื่น

เมืองฮิเมจิไม่ใช่เมืองเล็กๆ ประเภทโผล่หน้าจากสถานีรถไฟปุ๊บแล้วจะแลเห็นยอดปราสาทในทันใด แต่อย่างน้อยก็มี  tourist center ดักอยู่ด้านหน้า ไม่ว่าใครมาที่นี่ ล้วนเพื่อมาเยือนปราสาทฮิเมจิทั้งสิ้น แผนที่เมือง และแผนที่ปราสาทจึงเตรียมพร้อมสำเร็จรูปไว้รองรับนักท่องเที่ยว

ญี่ปุ่น ณ เวลาที่ฉันไปเยือน  เป็นฤดูกาลของความร้อนระอุ ระหว่างทางจากสถานีรถไฟไปยังปราสาทจึงไม่ใช่เวลาแห่งความรื่นรมย์ที่จะเดินทอดหุ่ยชมบ้านชมเมือง คุณป้า ณ  tourist center จึงแนะนำให้เดินไปตาม market street ที่สองฟากฝั่งจะเต็มไปด้วยร้านขายของ และที่สำคัญมีหลังคาครอบเหนือทางเดินที่เลียบขนานไปกับทางถนนที่มุ่งตรงไปสู่ตัวปราสาท



เมื่อพ้นจากเส้นทางตลาดออกสู่ถนนด้านนอก ปราสาทฮิเมจิก็อวดโฉมให้เห็น ปราสาทนกกระสาขาว.... เป็นอีกชื่อหนึ่งของปราสาทแห่งนี้ ด้วยพื้นผิวของตัวปราสาทที่เมื่อพ้นจากฐานหินที่โค้งสูงขึ้นไปแล้วมีสีขาวเด่นสว่าง ยิ่งในช่วงฤดูร้อน ท้องฟ้าสีเข้มยิ่งขับเน้นให้เห็นสีขาวนั้น  ประสมกับยอดหลังคาทรงจั่วที่ลาดโค้งอ่อนช้อยลดหลั่นเป็นชั้นๆ  ประหนึ่งปีกนกที่กางออก เห็นอย่างนั้นแล้ว เปรียบปราสาทนี้เป็นนกกระสานับว่าไม่เกินเลยจริงๆ



นอกจากจะได้ชื่อปราสาทนกกระสาขาว  ปราสาทฮิเมจิยังได้ชื่อว่า ปราสาทเขาวงกต ด้วยเมื่อผ่านเข้าไปในเขตปราสาทแล้ว ทางเดินจะวนซ้อนไปมากว่าจะไปถึงตัวอาคารหลัก

เส้นทางที่วกวนซับซ้อนนี้เป็นความตั้งใจของผู้ก่อสร้างปราสาท เป็นกลวิธีหนึ่งในการป้องกันการโจมตีจากข้าศึก เมื่อข้าศึกหลุดเข้ามาในเขตปราสาท ขณะเจอกับทางเดินที่วกวน เป็นช่วงจังหวะที่ฝ่ายเจ้าของปราสาทที่ซุ่มอยู่บนอาคารหลักสามารถเลือกโจมตีได้ตามใจชอบอย่างง่ายดาย

แต่ ณ พ.ศ.นี้ ทางเดินวกวนไม่เป็นปัญหา มีป้ายชี้บอกทางไปยังตัวปราสาทเป็นระยะ ถ้านึกสนุกลองเดินแยกไปทางอื่น มักจะเจอทางตันเป็นส่วนใหญ่

ระหว่างทาง... ทางเดินจะค่อยๆ ชันขึ้น ผ่านประตูเขตชั้นในเป็นช่วงๆ และที่สะดุดชวนให้หยุดแวะดู คือ พื้นที่ลานกว้างที่ล้อมกั้นด้วยไม้ไผ่ เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นบ่อน้ำ มีบ่อน้ำแบบนี้ให้เห็นอยู่หลายบ่อ เมื่ออ่านป้ายอธิบายจึงรู้ว่า บ่อน้ำในเขตปราสาทมีทั้งสิ้น 33 บ่อ หลงเหลือจนมาถึงปัจจุบัน 13 บ่อ ที่มีการขุดสร้างจำนวนมาก เพราะอะไรจะสำคัญไปกว่าน้ำ ที่เปรียบเสมือนอาหาร หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ในการยังชีพ เป็นการป้องกันหากข้าศึกทำการโอบล้อมกั้นทางเดินน้ำไม่ให้ไหลผ่านมายังเขตปราสาท  น้ำในบ่อก็ยังจุนเจือคนในปราสาทได้เพียงพอ



ทางเดินที่ชันขึ้น เรียกเหงื่อได้มากทีเดียว อย่าแปลกใจที่เห็นป้ายเตือนให้ดื่มน้ำเยอะๆ เห็นมั้ยล่ะ... น้ำสำคัญไฉน

แล้วในที่สุดก็มาถึงลานกว้างด้านบนสุด อันเป็นที่ตั้งของตัวปราสาท ยังไม่ต้องรีบร้อนเข้าไปชมด้านใน เพราะพื้นที่รอบๆ ล้วนเป็นจุดชมวิวเมืองฮิเมจิได้เป็นอย่างดี  ทั้งบริเวณเยื้องข้างๆ มีคุณปู่ต้นไม้ขนาดมหึมา เห็นแล้วชวนชื่นใจต้อนรับขับสู้บรรดานักท่องเที่ยวให้พากันไปนั่งพักใต้ร่มเงา  บางคนถึงกับนอนเหยียดแผ่หลา

ฉันเข้าไปนั่งพักใต้ต้นไม้กับเขาบ้าง  อากาศใต้ไม้ใหญ่เย็นสบาย  ชวนเคลิ้ม ไม่แปลกใจเลยทำไมหนุ่มข้างๆ ถึงนอนได้นอนดีไม่ยอมลุก  ฉันเองกว่าจะตัดใจลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง ต้องใช้กำลังใจอันเข้มแข็ง (อย่างยิ่งทีเดียว) จะได้เข้าไปเยือนตัวปราสาทฮิเมจิเสียที

เพิ่งจะทำเก๋เที่ยวปราสาทฝรั่งมาไม่นาน คราวนี้มาเที่ยวปราสาทญี่ปุ่น จะได้ลองเปรียบเทียบความต่าง-ความเหมือนกันดู

สิ่งที่เหมือนอย่างที่เกริ่นนำไว้  'ยิ่งสูง ยิ่งโดดเด่น'  ยิ่งตั้งบนเนินเขาสูงๆ ได้ยิ่งดี เพราะช่วยให้ง่ายต่อการป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาโจมตี

สิ่งต่างที่เห็นได้ชัดคือ วัสดุที่ใช้งาน ปราสาทฝรั่งใช้อิฐกับก้อนหินในการก่อสร้างทำให้ดูแน่นหนาแข็งแรง ขณะที่ของญี่ปุ่นใช้ไม้เป็นหลัก มองจากภายนอกยังได้เห็นวัสดุที่เป็นหินอยู่บ้าง โดยนำมาก่อสร้างเป็นฐานล่าง แต่เมื่อเข้าไปด้านในปราสาทแล้วจะเจอแต่ไม้อย่างเดียวเป็นวัสดุหลัก และเมื่อใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก เสาและคานด้านในจึงได้อวดเส้นสายอย่างเต็มที่

ที่ต่างอีกอย่างคือ ความหรูหรา ฟุ่มเฟือย ปราสาทแบบฝรั่งวิจิตรโอ่อ่า ทั้งลวดลายบนฝาผนัง ฝ้าเพดาน  เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่ง แต่ปราสาทฮิเมจิเรียบง่ายเป็นที่สุด ไม่มีอะไรเลย ไม่มีการตกแต่งหรูหราอย่างใดทั้งสิ้น ทั้งด้านในยังค่อนข้างมืด เพราะอาศัยแสงสว่างธรรมชาติที่ส่องเข้ามาตามช่องหน้าต่างเพียงอย่างเดียว ทางเดินบันไดที่นำไปสู่ชั้นบนแต่ละชั้น ค่อนข้างแคบและชัน เด็กๆ ดูจะสนุกกว่าผู้ใหญ่ เพราะเหมือนการผจญภัยน้อยๆ  ขณะที่ใครอายุมากหน่อยอาจจะบ่นพึมได้

ที่น่าสนใจเป็น กระเบื้องมุงหลังคาปราสาท ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเข้ามาด้านใน แล้วมองออกไปด้านนอก หลังคาที่โค้งอ่อนช้อย ตรงบริเวณชายคาจะมีกระเบื้องวงกลมปิดอยู่ ลาดลายบนกระเบื้องสังเกตว่ามีหลายแบบ ลวดลายเหล่านั้นเป็นตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของแต่ละตระกูลที่มีส่วนในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมปราสาท ตราที่เห็นมีทั้งรูปดอกไม้ รูปใบไม้ รูปผีเสื้อ รูปจุลภาค และรูปกงจักร

แต่ละชั้นของตัวปราสาท  ยังแปรสภาพเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม แสดงอุปกรณ์อาวุธ ชุดเกราะสมัยโบราณ รวมถึงภาพวาดจำลองวิธีการป้องกันข้าศึกศัตรูภายในปราสาท และสิ่งของล้ำค่าทางวัฒนธรรม

และเมื่อถึงชั้นบนสุด มี ศาลเจ้าชินโต เล็กๆ ตั้งอยู่  (Osakabe Shinto Shrine)  ศาลแห่งนี้เคยตั้งอยู่บนยอดเขาอันที่เป็นที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้  ครั้นมีการก่อสร้างปราสาทขึ้น จึงได้ย้ายศาลเจ้าออกไปตั้งไว้ที่อื่น แต่ภายหลังชาวบ้านรู้สึกถึงเหตุผิดธรรมชาติที่เกิดขึ้น จึงได้ย้ายศาลเจ้ามาตั้งไว้ ณ ที่เดิมในตัวปราสาท
เรื่องราวแค่นั้นอาจไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเล่าต่อว่า เชื่อกันว่า วิญญาณของนักฟันดาบชื่อดัง นามว่า มูซาชิ มิยาโมโตะ (Musashi Miyamoto) สิงสถิตอยู่ ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ คงเรียกความตื่นเต้นแก่ผู้ที่เคยอ่านหนังสือ มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ โดย ดร.สุวินัย ภรณวินัย ได้ไม่น้อย  ด้วยเรื่องราวของนักฟันดาบที่ได้เรียนรู้ว่าการจะเป็นจอมดาบอันดับหนึ่งไร้ผู้ต่อต้านนั้นไม่ใช่เรื่องของพละกำลัง หรือสัญชาตญาณการฆ่าฟัน หากเป็นการฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้หลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน ช่วงท้ายมูซาชิจึงสนใจที่จะฝึกฝนงานศิลปะซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกฝนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ หรืองานแกะสลัก

ชั้นบนสุดยังมีช่องหน้าต่างเล็กๆ  เผยให้เห็นลานกว้างด้านนอก  และตัวเมืองฮิเมจิที่ตั้งอยู่เบื้องล่าง

นักท่องเที่ยวยังคงทยอยเดินเข้าเดินออก ไม่ขาด และตรงคุณปู่ต้นไม้ใหญ่ ก็ยังมีคนนั่งพักอาศัยร่มเงา ดูเหมือนว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้เลยว่ามีสายตาด้านบนจับจ้องมองอยู่...การอยู่บนที่สูงให้อำนาจเช่นนี้เอง


อิ่มกับการได้อยู่บนที่สูงเพียงพอ  ค่อยอำลาตัวปราสาท แต่ก่อนลงไปอย่าลืม ประทับตราปราสาท เก็บไว้เป็นที่ระลึก สถานที่เที่ยวสำคัญๆ ของญี่ปุ่นมักจะมีตราประทับให้ประทับเก็บเป็นที่ระลึกเสมอ

พ้นจากตัวปราสาท  เดินกลับออกไปด้านนอก ต้องเดินวนอ้อมไปอีกด้านหนึ่ง ไม่ซ้ำทางเดินแรกที่เข้ามา ทางเดินนี้จะนำผ่าน ลานฮาราคีรี และบ่อน้ำอีกแห่งที่โด่งดังเพราะมีตำนานผีๆ เกี่ยวกับหญิงสาวรับใช้ที่ถูกทรมานเพราะโดนกล่าวหาว่าขโมยจาน ศพของเธอถูกโยนทิ้งไว้ในบ่อแห่งนี้

ในที่สุดทางเดินวนอ้อมจะวกไปชนรอบกับประตูทางเข้าปราสาท  ทำให้การเดินเข้ามาในเขตปราสาทวนครบรอบเป็นวงกลมพอดี

ก่อนออกจากเขตประสาท กระซิบบอกสักนิดหนึ่ง เห็นทางเดินวกวน มีกำแพงกั้นเป็นชั้นๆ เตรียมการพร้อมเสียขนาดนี้

แต่ปราสาทฮิเมจิไม่เคยถูกข้าศึกบุกเข้าโจมตีเลย

ไม่มีความคิดเห็น: