24 มกราคม 2557

พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ

พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ.... ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์

ในบรรดาจิตกรเอกของโลก บุคคลที่ฉันรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาที่สุดคงต้องยกให้ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh) จิตรกรชาวฮอลแลนด์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยภาพวาดตัวเองของเขา ปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ให้เห็นบ่อยครั้งตั้งแต่เด็กยันโตจนคุ้นชินกับภาพใบหน้าชายหนุ่มที่เกิดจากฝีแปรงหนาหนัก และเส้นสีฉูดฉาด แปลกตาแต่นั่นทำให้จดจำได้อย่างแม่นยำ

ชีวิตการเป็นศิลปินของแวนโก๊ะเองฉูดฉาด ไม่ต่างจากเส้นสีที่ใช้ 

ชีวิตรักที่ล้มเหลว

ขายภาพเขียนที่วาดไว้ราว 900 ภาพ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เพียงภาพเดียว 

แตกคอกับเพื่อนสนิท

มีปัญหาทางจิต

เฉือนหูตัวเองทิ้งแล้วยังวาดภาพใบหน้าตนเองขณะที่ยังมีผ้าพันแผลพันตรงใบหูได้อย่างสงบนิ่ง.... 

จบชีวิตตนเองด้วยการฆ่าตัวตาย

เมื่อมีโอกาส ฉันกับบรรดาเพื่อนร่วมทางจึงนั่งรถรางจากสถานีรถไฟกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ตรงไปยัง พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ (Vangohg Museum) เพื่อนคนหนึ่งหยิบมือถือที่ได้ดาวน์โหลดแผนที่เมืองอัมสเตอร์ดัมเก็บไว้ขึ้นมาเปิดใช้งานระบบนำทาง 

การมองจุดภาพตนเองที่ค่อยๆ เคลื่อน ตึ่ด ตึ่ด ตึ่ด ไปบนแผนที่บนจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ให้ความรู้สึกสนุกและช่วยให้การเดินทางง่ายขึ้นแยะเชียว ไม่ต้องคอยกังวล คอยยื่นหน้ามองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อดูชื่อสถานที่ว่าถึงที่หมายหรือยัง

ด้านหน้าตึกพิพิธภัณฑ์ แวนโกะ

อาคารพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะที่อยู่เบื้องหน้าเป็นอาคารสไตล์โมเดิร์น เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของแวนโกะและเพื่อนศิลปินร่วมสมัยเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นงานที่แวนโก๊ะและน้องชายที่เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินของเขาได้สะสมไว้

การจัดวางงานแสดง ทำได้อย่างน่าสนใจมากๆ กระทั่งคนที่ไม่ได้เรียนมาทางศิลปะอย่างฉัน ยังเห็นถึงพัฒนาการทางด้านการวาดภาพของแวนโก๊ะอย่างชัดเจน

ผลงานช่วงแรกของแวนโก๊ะเป็นภาพเขียนผู้คน โดยเฉพาะภาพใบหน้าชายหนุ่ม-หญิงสาวที่เป็นชาวไร่-ชาวนาที่มีรูปหน้าหยาบกร้าน สีสันที่ใช้นั้นทึมทึบ ขัดแย้งกับสมัยนิยมตอนนั้น ที่เกิดขบวนการศิลปะใหม่ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ปารีส เรียกว่า Impressionism ซึ่งศิลปินจะใช้เส้นสีที่หนาและสว่าง



ภาพ Head of a Woman วาดเมื่อปี ค.ศ.1885

ภาพ Potato Eater วาดเมื่อปี ค.ศ.1885

เมื่อแวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่ปารีส งานของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลง เขาได้เห็นวิธีการใช้เส้นสีที่สว่างสดใสของเพื่อนศิลปินกลุ่ม Impressionism

“What is required in art nowadays is something very much alive, very strong in color, very much intensified”

นั่นเป็นข้อความที่แวนโก๊ะเขียนไว้

แวนโก๊ะเริ่มฝึกใช้สีที่สดใส เขาไม่มีเงินจ้างคนมาเป็นแบบวาดรูป จึงใช้วิธีการวาดรูปตนเองแทน... นั่นทำให้ ใบหน้าของแวนโก๊ะกลายเป็นใบหน้าหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี

ภาพเขียนรูปตัวเองแรกๆ ของเขายังเป็นโทนสีทึม นั่นคือ 'สีน้ำตาลเทา' ก่อนจะเปลี่ยนกลายเป็น สีเหลือง แดง เขียว และ ฟ้า ในที่สุด สีสดๆ ป้ายตวัดอย่างหยาบๆ ...นี่แหละลักษณะของแวนโก๊ะเขาล่ะ ในที่สุดเขาก็ค้นพบเทคนิคเฉพาะของตนเอง




ภาพ Self- Protrait ปี ค.ศ.1887

ภาพ Self-portrait as a painter ปี ค.ศ. 1888

ภาพ Self-Protrait with Felt Hat ปี ค.ศ. 1888

แวนโก๊ะเรียนรู้เทคนิคการใช้สีจากศิลปินกลุ่ม Impressionism แต่สิ่งที่สื่อออกมานั้นแตกต่างกัน

ศิลปินกลุ่ม Impressionism ใช้สีสดและฝีแปรงที่สะบัดอย่างรวดเร็ว เพื่อจับอารมณ์แสงสีธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกนาที แต่สำหรับแวนโก๊ะเขาใช้สีสดจัด เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่เพื่อสื่อถึงบรรยากาศของสีแสงที่เห็น และนั่นทำให้งานของเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Post-Impressionism ที่เป็นขบวนการต่อยอดจากกลุ่ม Impressionism

งานของแวนโก๊ะและเพื่อนศิลปินในยุคสมัยเดียวกันที่แสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่ใช้สีสด และฝีแปรงที่สะบัดหนา แต่ฉันรู้สึกของฉันว่า ฝีแปรงของแวนโก๊ะนั้นเข้มข้น และปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกออกมาอย่างชัดเจนจนสัมผัสได้ โดยเฉพาะงานในช่วงหลังๆ

ฉันยืนมองภาพเขียนที่แสดงบนผนังห่างๆ แล้วเล่นเกมกับสายตาตนเอง ภาพข้างหน้า เป็นผลงานของแวนโก๊ะใช่หรือไม่

ใช่...
ไม่ใช่...

ฉันเล่นเกมส่วนตัวนี้ และพบว่าฉันทายผิดเพียงภาพเดียวเท่านั้น ฝีแปรงที่เด่นชัด อารมณ์ที่สื่อออกมาชัดเจน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแวนโก๊ะจึงกลายเป็นหนึ่งในจิตรกรเอกของโลกที่ผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และราคาแพงระยับ

ที่ชวนแปลกใจ คือการได้เห็นงานแสดง ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ภายในพิพิธภัณฑ์ มีไม่น้อยเชียวล่ะ!!

แถมภาพเขียนหลายภาพของแวนโก๊ะเองวาดเลียนแบบภาพพิมพ์เหล่านั้นด้วยซ้ำ

เมื่ออ่านรายละเอียดคำอธิบาย จึงรู้ว่า 'ศิลปะภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น' ที่มีการใช้เส้นโค้ง พื้นผิวที่เป็นลาย การใช้สีสันสดใส ความราบของภาพเป็นที่นิยม และมีอิทธิพลต่อศิลปินในยุคสมัยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่รู้มาก่อนจริงๆ

นอกจาก 'ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น' แล้ว ยังมีการแสดง ภาพพิมพ์ศิลปะบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) ซึ่งเป็นงานศิลปะที่เน้นการใช้เส้นโค้งที่พลิ้วไหว อ่อนช้อย ซึ่งศิลปินในกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นเช่นกัน

ศิลปินอีกคนหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้กัน และมีภาพเขียนแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อยู่หลายภาพได้แก่ โคลัต โมเนต์ (Claude Monet)

งานของโมเนต์ต่างจากแวนโก๊ะอย่างเห็นได้ชัด ภาพหวานกว่า และฝีแปรงเป็นเส้นหนาๆ แต้มเป็นจุดๆ

งานของศิลปินสะท้อนความเป็นตัวตนของศิลปินผู้นั้น ฉันรู้สึกอย่างนั้น

ตอนที่ฉันดูภาพเขียนของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)ที่พิพิธภัณฑ์ อุฟฟิซซี่ (Uffizi Museum) ฉันรู้สึกของฉันว่า เขาเป็นคนอ่อนโยนและขี้เล่น

ตอนที่ฉันยืนดูภาพเขียนบนผนังเพดานของ มิเกลันเจโล บูโอนาร์โรติ (Michelangelo Buoarroti) ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน (Vatican Museum) และประติมากรรมเดวิดอันโด่งดังของเขาที่เมืองฟลอเรนซ์ ฉันรู้สึกของฉันว่า เขาเป็นคนเอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น เต็มไปด้วยพรสวรรค์ และพรแสวง ที่หาคนเทียบได้ยาก

โมเนต์ต้องเป็นคนหวาน หวานมากๆ แน่
สำหรับแวนโก๊ะ เป็นคนที่อ่อนโยน อ่อนไหว และมีอารมณ์รุนแรง 
นั่นเป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกและตีความจากภาพเขียนของพวกเขแล้วฉันก็มาถึงภาพเขียนที่น่าจะโด่งดังเป็นลำดับต้น ๆ ของแวนโก๊ะ ภาพวาด 'ดอกทานตะวัน'


ภาพ Sunflowers ปี ค.ศ.1889

ภาพ Sunflowers หรือ ภาพวาด 'ดอกทานตะวัน' เป็นผลงานขณะที่เขาย้ายไปอยู่ที่เมือง Arles แคว้นโปรวองซ์ สีเหลืองสดจัด สมกับเป็นการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสีสัน และแสงแดดที่อบอุ่น

ภาพที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักดีเกือบทั้งหมดของแวนโก๊ะล้วนแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

แต่ที่หาไม่เจอคือภาพ Starry Night....ภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่บทเพลงอันโด่งดัง วินเซนต์ (Starry ,Starry night) ของ Don McLean ปี ค.ศ.1971

ภาพ Starry Night นั้นแสดงอยู่ที่ Museum of Modern art เมืองนิวยอร์กอีกแล้ว....

การที่จะดูผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกสักคนหนึ่งให้ครบทั่วถ้วนนี่ต้องเดินทางให้ควั่กกันเลยทีเดีย

คงเหมือนภาพวาดของ เลโอนาร์โด ดา วินชี แทนที่จะได้เห็นครบๆ ในประเทศอิตาลี กลับมีไปโผล่แสดงที่พิพิธภัณฑ์ประเทศโน้นประเทศนี้ อีกหลายประเทศ

แต่แค่นี้ก็อิ่มแสนจะอิ่ม สีสดๆ ของฝีแปรงของแวนโก๊ะจับตาไปอีกนาน

ขณะเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ มีคนนำของที่ระลึกมาวางขาย.... มีภาพวาด Starry Night แขวนเจิดแจ่มให้เห็น... เหมือนจะบอกกันเป็นนัยๆ ว่า...ไม่ได้เห็นของจริง เห็นภาพพิมพ์เลียนแบบก็ยังดี อย่างน้อยก็แขวนตรงพื้นที่บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะเชียวนะ

เกร็ดน่ารู้
- Impressionism เป็นขบวนการทางศิลปะ เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ.1850- 1875 โดยมีประเทศฝรั่งเศสเป็น
  ศูนย์กลางของกระแสความเคลื่อนไหว ขบวนการทางศิลปะนี้เกิดขึ้นโดยเป็นผลพวงการปฏิวัติฝรั่งเศส
  ในปีค.ศ. 1789 ซึ่งหลังจากการปฏิวัติได้เกิด 'ชนชั้นกลางกลุ่มใหม่' ขึ้นมาในสังคม ชนชั้นกลางกลุ่ม
  นี้ต้องการศิลปะที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ศิลปินกลุ่ม Impressionism ได้
  ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชนชาติกลางเหล่านี้ที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงาม
  โดยการใช้สีสดและฝีแปรงที่สะบัดอย่างรวดเร็ว เพื่อจับอารมณ์แสงสีธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า
  ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเว
ลา
- Post-Impressionism เป็นขบวนการทางศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ.1875-1900 เป็นขบวนการที่ต่อ
  ต้าน Impressionism ขณะที่ศิลปินกลุ่ม Impressionismใช้สีสดจัดเพื่อสื่อถึงบรรยากาศของสีแสงที่
  เห็น แต่ ศิลปินกลุ่ม Post - Impressionism ใช้สีสดจัดเพื่อสื่อแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก
- ชีวิตการเป็นศิลปินของแวนโก๊ะ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 10 ปีเท่านั้น เแวนโก๊ะตัดสินใจเป็นศิลปินในปี
  ค.ศ.1880 เขาได้วาดภาพเขียน (painting) ไว้ราว 900 ภาพและวาดภาพวาด (drawing) ไว้ 1,100
  ภาพ ก่อนที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในปี ค.ศ.1890 ขณะมีอายุเพียง 37 ปี
- พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ จัดแสดงงานภาพเขียนของแวนโก๊ะ จำนวน 200 ภาพ ภาพวาดราว 500 ภาพ
  สมุดสเกตซ์งานของเขา 4 เล่ม และจดหมายอีก 800 ฉบับ นอกจากนี้ยังแสดงงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่น
  570 ภาพ งานภาพพิมพ์ประกอบนิตยสาร 1,500 ภาพ และงานภาพวาดของเพื่อนศิลปินอื่นๆ ของ
  แวนโก๊ะอีกจำนวนมาก

หมายเหตุ : ภาพประกอบส่วนหนึ่งนำมาจาก Wikipedia.org เนื่องจากภายในพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถถ่ายภาพได้

2 มกราคม 2557

หิมาลายาตะวันออก ตอนที่ 6

๑๐.  สู่เพลลิ่ง
            เพลลิ่งเป็นเมืองเล็กที่ไม่รู้จัก และไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เป็นเมืองสุดท้ายของการเดินทางที่ทางการรถไฟอินเดียจัดเส้นทางไว้ สิ่งที่ช่วยยืนยันความเป็นเมืองเล็กคือ อุปกรณ์ GPS ในมือที่ระบุตำแหน่งเมืองเพลลิ่งปรากฏขึ้นมาโดด ๆ ดูห่างไกล และไม่มีเส้นทางถนนแสดง ตอนที่ก้มมองตำแหน่งเมืองเพลลิ่งในอุปกรณ์สี่เหลี่ยม จึงรู้สึกเหมือน กำลังเดินทางสู่เมืองลึกลับ
            เส้นทางสู่เมืองเพลลิ่ง ไต่สูงขึ้นทุกขณะ จนบางช่วงรู้สึกตัวเองอยู่สูงกว่าขุนเขาที่อยู่รายล้อม จนแทบจะหยอกล้อ ยั่วเย้ากับกลุ่มเมฆที่อยู่บนท้องฟ้าได้      นอกจากเส้นทางจะไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ความสมบูรณ์ของป่าที่เก็บกักความชุ่มชื่น ได้กลั่นกลายเป็นหยดน้ำที่ไหลรวมกลายเป็นสายน้ำ ที่เมื่อไหลผ่านที่ชันสูง กลายเป็นน้ำตก ครั้นผ่านที่ลาดต่ำกลายเป็นลำธารรินไหล บางช่วงข้ามผ่านทางถนน เปลี่ยนทางรถเป็นทางน้ำ จนรถต้องค่อย ๆ แล่นผ่านอย่างระมัดระวัง....
            ระหว่างทาง คนขับรถได้หยุดรถแวะพักริมทางที่ร้านอาหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง มีผู้โดยสารแบบพวกเรานั่งแวะทานอาหารอยู่หลายโต๊ะ ด้านในสุด มีห้องน้ำให้เข้าฟรี ต้องยืนต่อคิวรอกันเล็กน้อย ตรงบริเวณนั้นมีหน้าต่างบานกว้างเปิดทิ้งไว้ เผยให้เห็นวิวด้านนอกที่เป็นสันเขา เป็นการยืนรอต่อคิวเข้าห้องน้ำที่คนรอดูจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจกันเท่าไหร่ เพราะใครมีกล้อง ก็ควักกล้อง ใครมีวิดีโอ ก็ควักวิดีโอ ออกมาบันทึกภาพ เบียดมองชมวิวด้านนอกด้วย.... ก็ทิวเขาที่อวดโฉมด้านนอกน่ะ สวยจริงๆ  นะ หนุ่มสิกขิมที่มายืนแอบมองพวกเราถ่ายภาพวิดิโอโดยโทรศัพท์มือถือส่งสายตายืนยัน ขณะเราหันไปสบตา ถึงใครไม่มี ก็อดมองทอดสายตาไปข้างนอกไม่ได้... กระทั่งบางคนแม้ไม่ได้ต่อคิวเข้าห้องน้ำ ยังอุตส่าห์มายืน
            ปลายทางของการเดินทางไปจบตรงที่พักที่เป็นรีสอร์ทเล็ก ๆ บนยอดเขา  เมื่อเปิดประตูดาดฟ้าเพื่อออกไปชมวิวด้านนอก ต้องยืนอึ้งไปชั่วขณะ รอบด้านรายล้อมไปด้วยทิวเขาสูงทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกล แม้ฝนจะยังคงตกพึมพำเหมือนคนขี้บ่น แต่ทิวสีฟ้ายังปรากฏให้เห็น แถมด้วยปุยเมฆขาวนุ่มที่คลอเคลียบนยอดราวกับปุยขนม... โอกาสที่ว่าฟ้าดินแดนเทือกเขาหิมาลายาตะวันออกจะเปิดแค่ 1% ในเดือนกรกฏาคม เป็นอันลืมไปได้เลย.... เพราะแค่วินาทีนั้น ภาพที่เห็นเบื้องหน้า ก็ทำเอาคณะเดินทางย่ำแย่ไปตาม ๆ กันแล้ว









๑๑. เมืองเก่ารัปเดนเฌ
อดีต สิกขิมเคยเป็นรัฐอิสระ ปกครองโดยระบบกษัตริย์ หากถูกเพื่อนบ้านอย่างประเทศภูฏาน และเนปาลรุกรานอยู่บ่อย ๆ  ทำให้ต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยครั้ง จนท้ายสุดได้ผนึกรวมกลายเป็นรัฐหนึ่งของประเทศอินเดีย นับเป็นการสิ้นสุดสถานะการเป็นรัฐอิสระ
ใกล้ ๆ เพลลิ่ง เป็นที่ตั้งอดีตเมืองหลวงแห่งหนึ่งของรัฐสิกขิมชื่อว่ารัปเดนเฌ (Rabdantse)
ทางเข้าสู่อดีตเมืองเก่าเวิ้งว้าง กระทั่งซุ้มป้าย ตัวอาคาร เหมือนถูกสร้างทิ้งไว้ไม่ทันเสร็จ และไม่ได้ใช้งาน ขณะมองภาพด้านหน้าอย่างงง ๆ  หันไปมองคนขับรถ เด็กหนุ่มยังคงยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ ให้พวกเราเดินไปตามทางเล็ก ๆ ด้านใน 
เอาไง เอากัน เมื่อกล้ายืนยัน พวกเราก็กล้าเข้าไป
เมื่อเดินไปตามเส้นทางนั้น พบว่า ทางเดินดังกล่าวค่อย ๆ รุกล้ำเข้าไปในดงเฟินยักษ์ที่ใบแต่ละใบ ใหญ่เกือบเท่าลำตัวพวกเราเลยทีเดียว และเพราะมัวเเพลินไปกับเส้นสายของใบเฟิน และต้นไม้สวย ๆ แปลกตา เมื่อก้มมองไปที่ทางเท้าอีกครั้ง จึงพบว่าทางเดินได้กลายเป็นทางหินไปเมื่อไหร่ไม่ทันรู้ตัว แล้วทางหินนั่นก็สวยเสียด้วย หินแต่ละก้อนมีผลึกสีแวววาวต่างกัน เมื่อนำมาวางเรียงต่อเป็นทางยาว ผสานกับลวดลายของใบไม้ที่ร่วงหล่น กลายเป็นทางเดินเท้าสู่ธรรมชาติที่งดงามเป็นที่สุด
แต่ความงามสงบวางใจไม่ได้เลยเชียว ด้วยจู่ ๆ หนึ่งในคณะได้ร้องลั่นออกมา ขาอันนวลเนียนปรากฏเลือดสีแดงเข้มไหลเป็นทางตรงบริเวณน่อง ลักษณะแบบนี้เห็นปุ๊ป รู้ปั๊ป ฝีมือทากดูดเลือดแน่นอน ยิ่งทิ้งรอยเลือดไว้แบบนี้ แสดงว่าเจ้าตัวหล่นไปนอนอิ่มสบายตรงไหนแล้วก็ไม่รู้  จากที่เดินเรื่อยๆ สบายๆ จึงเริ่มระแวด ระแวง และหวนกลับมาสงสัยอีกครั้งว่า ทางเดินนี้นำไปสู่อะไรกันแน่ แต่แล้วราวกับรู้ใจ จู่ ๆข้างทางก็มีป้ายบอกทางขนาดใหญ่โผล่มาเสียอย่างนั้น
“อย่าเพิ่งเบื่อหรือท้อ ความตื่นเต้นกำลังรอยู่ข้างหน้า”  ถอดใจความในป้ายได้ความหมายประมาณนี้  แล้วบนป้ายนั้นก็มีลูกศรสีแดงชี้บอกทาง พร้อมระยะทางเสร็จสรรพ 200 เมตร
เอ้า...อีกแค่ 200 เมตรเอง
และเมื่อพ้นระยะ 200 เมตร จากทางเดินแคบ ๆ ก็โผล่สู่ลานเปิดกว้างโล่งบนเนินเขา....
ที่สุดเราก็มาถึง เมืองโบราณ... เมืองรัปเดนเฌ
สวยมั้ย... ตอบไม่ถูกเลยทีเดียว  ยังรู้สึกงุน ๆ งง ๆ พิศวงว่ามาถึงซากเมืองโบราณนี้ได้อย่างไร เหมือนเดินหลงพลัดเข้าไปในป่า แล้วอยู่ดี ๆ ก็โผล่พรวดเข้าสู่เมืองโบราณ
เมืองรัปเดนฌ ตั้งอยู่บนเนินสูง ไอฝน และไอหมอกลอยปกคลุมทั่วบริเวณที่เหลือเพียงเค้าโครงซากกำแพงให้พอจินตนาการได้ว่าเคยมีอาคาร ห้องหับตรงไหนบ้าง เผิน ๆ ที่นี่คือซากเมืองโบราณที่ถูกทิ้งร้าง แต่ทางเดินรอบ ๆ ที่สะอาด สะอ้าน ต้นไม้ ต้นหญ้าที่ถูกเก็บกวาดไม่มีรกรุงรังให้เห็นสักนิด ทำให้อดนึกสงสัยอยู่บ้าง หากไม่เหลือบไปเห็นเพิงที่พักตั้งถัดห่างออกไปตรงพื้นที่ด้านล่างเสียก่อน
คงเป็นเดือนกรกฏาคม เสียละมัง ทั้งหมอก และฝนพรมฉ่ำตลอดเวลาอย่างนี้ จึงไม่มีนักท่องเที่ยวรายอื่น กระทั่งเจ้าหน้าที่ก็เก็บเนื้อเก็บตัวเงียบเชียบ
            ริมขอบกำแพงเมืองด้านหนึ่งชิดติดริมสันเขา เป็นที่ตั้งของสถูปสำหรับบูชา มองทอดออกไปเป็นท้องฟ้าเวิ้งว้าง มีร่องรอยผู้คนนำของมาวางสักการะ... นี่เป็นร่องรอยอารยธรรมของรัฐเล็ก ๆ ที่ไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะได้มาเห็น 








หิมาลายตะวันออก ตอนที่ 7

 12. วัดปีมายังเฌ 
วัด ปีมายังเฌ (Pemayangse) เป็นวัดพุทธทิเบตที่ตั้งถัดจากเมืองโบราณ 'รัปเดนเฌ' ไปเล็กน้อย เป็นวัดเก่าแก่ยุคสมัยเดียวกับเมืองรัปเดนเฌ

ก่อนเข้าไปในเขตวัดด้านใน แอบเหลือบเห็นโต๊ะเล็กๆ ด้านหน้า เป็นโต๊ะขายตั๋วเข้าชมสถานที่ แต่ต้องขอบคุณฟ้าฝนเดือนกรกฏาคมอีกซะละมังที่โต๊ะนั้นว่างเปล่า.. ไม่มีนักท่องเที่ยวอีกตามเค

วิหารวัดปีมายังเฌ แปลกตากว่าวัดพุทธทิเบตอื่นที่ได้เยือนมาก่อนหน้านี้ สีหลักของตัววิหารเป็นสีฟ้าเข้ม ต่างจากที่อื่นที่ใช้สีเหลืองเป็นหลัก 



วัด ปีมายังเฌ

เมื่อเข้าไปด้านใน มีทางบันไดด้านหลังพระประธานนำขึ้นไปยังชั้นสอง และชั้นสาม คงไม่ได้ขึ้นไป หากไม่มีพระลามะชี้ชักชวนให้พวกเราขึ้นไปชมด้านบน

วิหารชั้นสองไม่มีอะไรพิเศษ จึงขึ้นสู่ชั้นสาม

บนวิหารชั้นสาม ตรงกลางห้อง วางงาน แกะสลักสรวงสวรรค์จำลอง ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ขณะที่ผนังรอบๆ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า สีสันจัดจ้านตามสไตล์ศิลปะแบบทิเบต แต่น่าแปลกที่หลายช่วงผนังมีผ้าแขวนปิดอยู่... นั่นช่างกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น หนึ่งในคณะจึงเดินตรงไปเปิดแง้มดู

“เฮ้ย...”

หลังผ้าที่ปิดอยู่ เป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งนิ่งอยู่ในท่าสงบ โดยมีหญิงสาวนั่งคร่อมอยู่บนตักในท่าเสพสังวาส เมื่อเดินไปเปิดผ้าทุกผืนที่แขวนปิด ล้วนเป็นภาพพระพุทธเจ้าที่มีหญิงสาวนั่งคร่อมทั้งสิ้น

ภาพเบื้องหลังผืนผ้าที่ปิดอยู่ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในปาง แยบ-ยัม (yab-yum) ของพุทธทิเบตสาย ตันตระ อันเป็นนิกายย่อยนิกายหนึ่งของนิกายวัชรยาน

ลัทธิตันตระเป็นลัทธิความเชื่อหนึ่งกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย เน้นให้ความสำคัญแก่เทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง พุทธศาสนานิกายวัชรยานเกิดขึ้นในยุคที่ลัทธิตันตระกำลังเฟื่องฟู จึงมีอิทธิพลด้านความคิดต่อพุทธนิกายวัชรยาน พระพุทธเจ้าในความเชื่อแบบตันตระจึงมี 'คู่ครอง' 

การที่รูปพระพุทธเจ้ามีพระชายานั่งสวมกอดมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ หมายถึงการรวมตัวกันของ ปัญญา (เพศหญิง) และ กรุณา (เพศชาย) ซึ่งก่อให้เกิดการตรัสรู้

ในหน้าหนังสือพิมพ์ เคยมีข่าวชาวไทยพุทธขุ่นเคืองเมื่อเห็นพระพุทธรูป 'ปางแยบ-ยัม' ด้วยเข้าใจว่าเป็นการหมิ่นแคลนพุทธศาสนา 

แต่พวกฉันมองภาพดังกล่าวแล้วกลับรู้สึกเฉยๆ ที่ร้องเฮ้ย... แต่แรกเพราะแปลกใจ ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ไม่ได้รู้ร้องเพราะรู้สึกว่าภาพดังกล่าวหมิ่นศาสนา หรือพระพุทธเจ้า 

คงเป็นเพราะสีพระพักตร์ของพระองค์ที่สงบนิ่ง ยิ่งถ้าไม่รู้เรื่องพระพุทธรูป 'ปางแยบ-ยัม' ของ 'พุทธทิเบต' มาก่อน ฉันคงนึกว่าภาพดังกล่าว เป็นการจำลองเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอนที่ธิดาพญามารทั้ง 3 ได้แก่ นางราคะ นางตัณหา และนางอรดี ได้เนรมิตเรือนร่างเป็นสตรีงามงด หมายมายั่วยวนพระพุทธเจ้าให้ตบะแตก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากกว่า


13. ทะเลสาปศักดิ์สิทธิ์
เมืองเพลลิ่งเป็นเมืองชวนฉงน ที่สร้างความประหลาดใจได้ตลอด (จริงๆ นะ)

ทะเลสาบ เคเชโอปลารี (Khecheoplari lake) เรียกขานว่า 'ทะเลสาบขอพร' เป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวสิกขิม เส้นทางเดินเข้าสู่ทะเลสาบเป็นป่าครึ้ม ละม้ายกับทางเข้าเมืองโบราณรัปเดนเฌ หากมีธงมนตราแขวนขนานริมทาง
ไปโดยตลอด


                                                                          ทางเดินสู่ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์

เมื่อใกล้ถึงทะเลสาบ ปรากฏเจดีย์ขนาดเล็กแบบศิลปะเนปาล ที่มีการวาดดวงตาพระพุทธเจ้าบนตัวเจดีย์ และตรงฐานล่างมีการวางหินซ้อนกันเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพแก่สถานที่แบบชาวทิเบต สะท้อนให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันของชาวสิกขิม ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ

                                                            เจดีย์ขนาดเล็กแบบศิลปะเนปา


                                                               ดวงตาพระพุทธเจ้าบนเจดีย์


ทะเลสาบเคเชโอปลารี ที่ปรากฏเบื้องหน้า.... เวิ้งว้าง นิ่งสงบ... ธงมนตรา สีขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง แดง พาดผ่านโอบล้อม สะพานไม้ที่ทอดนำสู่ตัวทะเลสาปขนาบด้วยแถวกงล้อภาวนาไปจนสุดทาง

ความเงียบสงบ และสิ่งประดับประดา ขับเน้นให้ทะเลสาบที่เห็นเบื้องหน้า... ไม่ต่างจากวิหารอันศักดิ์สิทธิ์

เรื่องเล่าขาน ว่ากันว่าชาวพื้นถิ่นนับถือทะเลสาบแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีนกทั้งหลายคอยปกป้อง ดูแล โดยคาบใบไม้และกิ่งไม้ที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำไปทิ้ง....

และ... ไม่ได้กล่าวเกินเลย

ทะเลสาบที่เห็นเบื้องหน้า ผิวน้ำนั้นหมดจดนิ่งสนิทเป็นสีเขียว แทบไม่เห็นการไหวกระเพื่อม และหากมองไปรอบๆ ทิวเขาที่ไม่สูงนักโอบล้อมทะเลสาบในระยะประชิด มีริ้วเมฆสีขาวแทรกแซมล่องลอยราวควันธูป.. ภาวะบรรยากาศอย่างนั้น ทะเลสาบได้กลายเป็นมหาวิหารไปแล้วจริงๆ

                                                                      ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์
                                สะพานไม้ที่ทอดนำสู่ตัวทะเลสาบขนาบด้วยแถวกงล้อภาวนาไปจนสุดทาง


                                                                         กงล้อภาวนาบนสะพาน

                       ทิวเขาที่ไม่สูงนัก โอบล้อมทะเลสาบในระยะประชิด มีริ้วเมฆสีขาวแทรกแซมล่องลอยราวควันธูป

บทส่งท้าย 
เช้าสุดท้ายในดินแดนหิมาลายาตะวันออก...

แดดยามเช้าสาดแสงอุ่นเข้ามาในห้องพัก ยั่วให้เดินออกไปยังระเบียงหลังห้อง ทิวเขาสีฟ้าตระหง่านใกล้ราวจะเอื้อมถึง บนยอดเขาเต็มไปด้วยปุยเมฆขาวนุ่มที่คลอเคลียรราวกับปุยขนมเช่นเคย

ฉันเพลินมองภาพนั้น เพื่อจดจำเป็นภาพทรงจำสุดท้าย

แต่แล้ว... ยอดเขาที่มีรอยยับย่นสีขาวได้ค่อยๆ ปรากฏขึ้น ชัดขึ้น จนต้องเพ่งตามอง สีขาวนั้นแปลก แม้จะมีสีเดียวกับกลุ่มเมฆ แต่รอยยับย่นนั้นกลืนไปกับรูปลักษณ์ของยอดเขา

ใช่แล้ว หิมะ! สีขาวนั่นคือหิมะที่ปกคลุมยอดเขา

ฉันแทบจะร้องกรี๊ดออกมา เหลียวหันไปมองหาเพื่อนร่วมคณะ ตอนนี้ทุกคนรู้ตัวกันหมดแล้ว และออกมายืนชมปรากฏการณ์ฟ้าเปิดกันพร้อมหน้า

“ใช่มั้ย ใช่มั้ย” ฉันร้องถามเพื่อนร่วมทางที่ยืนอยู่ตรงระเบียงห้องข้างๆ

“อือ” เสียงตอบยืนยันกลับมา

ในที่สุดพวกเราก็ได้เห็นยอดเขา คันเชนจุนก้า (Kachenjunga) จนได้

ใบหน้าพวกเราแต่ละคนบานฉ่ำแทบจะปริ คงต้องยืมวลีที่ว่า 'สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร' การเดินทางก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่จบ อย่าเพิ่งเลิกหวัง

โอกาส 1 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นจนได้ เห็นมั้ย

                                              

                                           ที่สุดก็ได้เห็นยอดเขาคันเชนจุนก้าจนได้

หิมาลายาตะวันออก ตอนที่ 1    ตอนที่ 2   ตอนที่ 3   ตอนที่ 4   ตอนที่ 5   ตอนที่ 6   ตอนที่ 7