25 พฤษภาคม 2554

เที่ยววัด วัด วัด และศาลเจ้าในเกียวโต ตอนที่ 7 เส้นทางสายปรัชญา และวัดศาลาเงิน

เส้นทางสายปรัชญา (The Path of  Philosophy Walk)  ฟังแล้วเก๋เอามากๆ จุดเริ่มต้นของเส้นทางสายปรัชญาเริ่มจากวัด กินคาคุจิ (Gingaku-Ji) คุ้นๆ มั้ย ชื่อละม้ายกับวัดคินคาคุจิ (Kinkaku-Ji) หรือ "วัดศาลาทอง" เอามากๆ เพียงแต่เปลี่ยนจาก K เป็น G เท่านั้นเอง ความหมายก็คล้ายคลึงจากวัดศาลาทอง คือเป็น วัดศาลาเงิน


ตอนที่ไปถึงด้านหน้าวัดศาลาเงิน มีป้ายด้านหน้าขนาดใหญ่ติดแจ้งให้นักท่องเที่ยวทราบว่า วิหารด้านในอยู่ระหว่างซ่อมแซม อาจจะไม่สะดวกนัก แต่สวนด้านในยังคงเปิดให้เข้าชมได้ตามปกติ

ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านอ่านข้อความในป้ายแล้วลังเลกันอยู่ไม่น้อย วิหารปิดซ่อมแซม แล้วด้านในจะมีอะไรน่าดูล่ะ แต่นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ที่ตามมาข้างหลัง แม้จะหยุดยืนอ่านป้ายเช่นกัน แต่พวกนั้นไม่ยักลังเล ยังคงก้าวเข้าไปเพื่อซื้อตั๋วเข้าไปชมด้านใน นั่นทำให้ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านตัดสินใจก้าวตามเข้าไปบ้าง และ...เมื่อได้เข้าไปข้างใน ฉันรู้สึกดีมากๆ ที่ได้ตัดสินใจไปเช่นนั้น



ตัววิหารของวัดศาลาเงินจะสวยงามแค่ไหน สร้างเลียนแบบ "วัดศาลาทอง" ได้คล้ายคลึงเพียงใด ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป ส่วนที่สวยที่สุดของวัดกินคาคุจิในความรู้สึกของฉันคือ สวน ต่างหาก เป็นสวนที่ฉันและเพื่อนร่วมบ้านเทใจกันเกินร้อย ยกให้เป็นสวนที่สวยที่สุดในการเที่ยววัดและศาลเจ้าในเมืองเกียวโต
ทันทีที่พ้นเขตประตูวัดเข้าไปข้างในจะได้เจอกับการนำ ทราย มาตบแต่งพื้นผิวเป็นลานกว้างด้านหน้าวิหารขนาดเล็ก และตัววิหารใหญ่ที่อยู่ระหว่างซ่อมแซมปรับปรุง พื้นทรายเหล่านั้นเป็นเสมือนลานเชื่อมต่อระหว่างสวนกับตัวอาคาร มีสภาพเปิดโล่ง ต่างจากพื้นกรวดทรายในวัดเรียวอันจิ ที่อยู่ในสภาพปิดล้อม จนคล้ายอยู่ในกรอบของแผ่นภาพวาด

และถ้าอยากรู้ว่าลวดลายบนพื้นทรายภายในสวนญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องไปที่วัดศาลาเงินแห่งนี้แต่เช้าจะได้คำตอบ





ชายฉกรรจ์หลายคนทีเดียว เดินวนเวียนไปรอบๆ ผืนทรายด้วยท่าทีขะมักเขม้น พวกเขากำลังสร้างลวดลายบนพื้นทราย และตรวจดูความเรียบร้อย เครื่องมือสำคัญของพวกเขาคือ ไม้กวาดธรรมดาๆ นี่แหละ นำมาใช้กวาดคราดทรายให้เกิดลวดลายไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้นก็มี ฝักบัวรดน้ำ คอยรดทรายให้พอชุ่มขณะทำงาน ว่าไปแล้วฉันว่าเหมือนกระบอกฉีดน้ำของช่างตัดผม ที่เมื่อใดผมของลูกค้าทำท่าจะแห้งเกินไป ต้องพ่นให้ชุ่มใหม่ เพื่อจะได้ตัดแต่งได้ทรงสวยงาม และยังมีอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ฉันไม่เห็น แต่เพื่อนร่วมบ้านยืนยันเป็นนักเป็นหนาคือยาฉีดพ่นไล่แมลง
“จริงน่ะ” ฉันมองหน้าเขาอย่างไม่ค่อยเชื่อถือ
 “จริงสิ” เขายืนยันเสียงขันแข็ง “อ้าว... ไม่เชื่อ มองพื้นสิ พื้นขาวสะอาดเสียอย่างนี้ เกิดมีแมลงมาเกาะล่ะก็ยุ่ง เสียหมด”
ก็มีเหตุผลอยู่
ฉันยังคงมองหน้าเพื่อนร่วมบ้าน ช่างใจว่าจะเชื่อดี หรือไม่เชื่อดี
“จริง” เขายืนยัน
เมื่อยืนยันว่าจริง ก็จริง ก็เหมือนที่เขาว่า เกิดมีแมลงมาเกาะยุ่มย่าม คงหมดสวยไปเป็นกอง

นอกจากลวดลายบนพื้นที่คล้ายคลื่นสลับเป็นแถวแล้ว ด้านหนึ่งยังมีการพูนทรายสูงขึ้นมาเป็น รูปกรวยปลายตัด เหมือนที่ครอบโคมไฟ นัยว่าเพื่อสะท้อนแสงจันทร์ในเวลาค่ำคืน เป็นการขับเน้นให้สวนในยามค่ำคืนงดงามขึ้นไปอีก

พ้นจากพื้นทรายแล้วเข้าสู่บริเวณสวนอย่างเต็มตัว สวนภายในวัดครอบคลุมพื้นที่ราบขึ้นไปจนถึงบนเนินเขา ทำให้พื้นที่สวนมีความลดหลั่นสวยงาม

พื้นผิวหน้าของสวนที่นี่เต็มไปด้วย มอส เหมือนที่เจอที่วัดศาลาทอง และวัดเรียวอันจิ แต่ที่นี่หนาแน่น แลดูชุ่มชื้น และมีหลากหลายชนิดมากกว่า

มอสที่นี่อาจขึ้นเองตามธรรมชาติก็จริง แต่ที่เขียวแผ่คลุมได้ขนาดนั้น ทั้งที่เกียวโตได้ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ทั้งแดดในยามกลางวันก็แสนจัดจ้าน เกิดขึ้นจากฝีมือปั้นแต่งของมนุษย์ที่เสริมเข้าไป พวกเขาบรรจงที่จะค่อยๆ แต้มแผ่นมอสลงบนพื้นผิวดิน เหมือนที่บรรจงสร้างลวดลายบนลานทราย
สวนแห่งนี้ให้ความสำคัญกับมอส ถึงขนาดนำเอามอสชนิดต่างๆ มาวางแสดงในกระบะไม้
กระบะกลุ่มแรก เขียนป้ายติดไว้ว่าเป็น Inhabitants of Ginkaku-Ji แปลว่าอะไรดี... กลุ่มชนพื้นถิ่นแล้วกัน กลุ่มที่ 2  Moss the Interupter กลุ่มพวกอพยพมาอยู่อาศัย และกลุ่มที่ 3 Very Important Moss (like VIP) กลุ่มชนชั้นปกครอง ว่ามั้ย...คล้ายๆ การแบ่งชนชั้นในสังคมมนุษย์เลยนะนั่น
แต่ละกระบะยังซอยแบ่งเป็นช่องเล็กๆ ให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มยังแตกย่อยได้อีกหลายชนิด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของมอสที่นี่


ฉันชอบแนวคิดในการสร้างวัดของชาวญี่ปุ่น พวกเขาให้ความสำคัญกับธรรมชาติแวดล้อมของสถานที่ตั้ง พอๆ กับตัววิหาร  และสภาพแวดล้อมที่สงบงามนั่นเอง ส่งเสริมให้วัดกลายเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง





เมื่อเดินขึ้นไปตามทางเดินจนถึงด้านบนสุดของบริเวณสวน มองย้อนกลับลงไปยังเบื้องล่าง แลเห็นลวดลายบนผืนทรายที่เชื่อมระหว่างตัววิหารกับสวนอย่างชัดเจนอีก ครั้ง......
นี่น่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของสวนและวัดญี่ปุ่นที่ไม่มีที่อื่นเหมือน


จากวัดศาลาเงิน เราจะเริ่มเดินไปตามเส้นทางสายปรัชญา เส้นทางสายปรัชญา ฟังชื่อดูโก้หร่านไม่เบา แต่จริงๆ แล้วเป็นทางเดินเล็กๆ




หนุ่มๆ บนเส้นทางออกจากตัววัดศาลาเงิน ก่อนจะถึงเส้นทางสายปรัชญา



ที่เลียบไปกับคลองเก่า ในแผนที่เขาเรียกแบบนั้น...old canal แต่สำหรับฉันแล้วเมื่อแรกเห็นฉันว่าเหมือนคลองชลประทานบ้านเรามากกว่า

เส้นทางสายปรัชญาเป็นการเรียกขานของนักวิชาการท้องถิ่น  เพราะเป็นทางเดินที่ ศาสตราจารย์ Kitaro Nishida ศาสตราจารย์สาขาวิชาปรัชญาชื่อดังของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เปรียบเสมือนบิดา ผู้ก่อตั้งสถาบันปรัชญาในเกียวโต ใช้เดินทุกวันระหว่างทำงานวิจัย โดยเริ่มต้นจากวัดกินคาคุจิ กระทั่งไปสิ้นสุดที่ศาลเจ้า Nyokuoji

ไม่ได้รอบรู้จากไหน  บังเอิญริมทางเดิน หน้าบ้านหลังเล็กสองชั้นที่ดูเก๋อยู่ในตัว มีแผ่นป้ายไม้อธิบายถึงความเป็นมาของเส้นทางสายนี้ เพียงแต่เสียดายที่ผิวไม้ที่ฉาบด้านหน้าหลุดลอก ทำให้ข้อความบนแผ่นป้ายบางช่วงเลือนหาย  ข้อมูลที่ได้จึงไม่ครบถ้วน แค่พอสังเขปเท่านั้น
บ้านหลังนี้แหละที่มีป้ายติดอธิบายความเป็นมาของเส้นทางสายปรัชญา


วากันว่า ในช่วงที่ ดอกซากุระบานสะพรั่ง เส้นทางสายแคบๆ นี้เป็นที่นิยมยิ่งนัก เป็นเส้นทางเดินชมดอกไม้บานที่สวยมากๆ เส้นทางหนึ่ง แต่ในห้วงฤดูร้อนแบบนี้ ยอมรับว่าฉันดูไม่ออกจริงๆ ว่าต้นไม้ริมทางต้นไหนบ้างที่เป็นต้นซากุระ ทำให้จินตนาการไม่ออกว่ายามซากุระพร้อมใจกันบานสะพรั่งเต็มต้นแล้วเส้นทาง สายนี้จะเป็นอย่างไร

กระนั้นก็ยังรู้สึกนิยมเส้นทางสายนี้  เป็นทางเดินเล็กๆ ที่ร่มรื่น เงียบสงบ และมีความเป็นธรรมชาติเอามากๆ   ไม่มีฝีมือล้นๆ มาแต่งเติม เพื่อที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เป็นพิเศษ อาจมีร้านขายของซุกแทรกอยู่บ้าง แต่ร้านค้าเหล่านั้น ก็กลมกลืนไปกับบรรยากาศ จนไม่เกิดความรู้สึกว่าแปลกปลอมหรือแปลกแยก



เส้นทางสายนี้เรียบขนานไปกับคลองเก่าไปตลอดเส้นทาง  บริเวณต้นทาง มีคนเอาตุ๊กตาหมีน่ารักสองตัว ดูท่าน่าจะเป็นคู่ซี้ต่างขนาด ตัวหนึ่งใหญ่ อีกตัวหนึ่งเล็ก นั่งตกปลาเคียงข้างกัน  แล้วทำเป็นเล่นไป ลองชะโงกไปดูน้ำในคลอง  สายน้ำในนั้นใสแน่ว... และมีปลาแหวกว่ายอยู่จริงๆ เสียด้วย เป็นปลาตัวเบ้อเริ่ม ใหญ่เท่าแขน  คล้ายพวกปลานิล ปลาหมอ พวกปลาที่นำมาทอดกินได้แบบนั้น

ระหว่างทางมีม้านั่งวางเป็นระยะ อย่างนี้เข้าทางเลย  ได้เวลากลางวันพอดิบพอดี ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านฉวยโอกาสกินกลางวันกันริมทางสายปรัชญานี่แหละ ข้าวเหนียวไทย คู่กับปลาญี่ปุ่นที่ซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ต ในยามหิว เข้ากันได้ไม่เลวทีเดียว  แถมยังได้เก็บไว้เป็นความทรงจำพอครึ้มๆ ว่า ครั้งหนึ่ง ได้เคยนั่งกินข้าวกลางวันแกล้มบรรยากาศริมทางที่เรียกว่า ...เส้นทางสายปรัชญา

ไม่มีความคิดเห็น: