20 พฤษภาคม 2554

เที่ยววัด วัด วัด และศาลเจ้าในเกียวโต ตอนที่ 1 วัดคิโยมิสุ

หมายเหตุ.. เรื่องชุด "เที่ยววัด วัด วัด และศาลเจ้าในเกียวโต" ตีพิมพ์ที่ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์

ตอนที่ 1 วัดคิโยมิสุ

เกียวโต มีวัดพุทธ 1,500 แห่ง มีศาลเจ้าชินโต 300 แห่ง พิพิธภัณฑ์ 100 แห่ง พระตำหนักสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานของพระจักรพรรดิ 2 แห่ง พระราชวัง 1 แห่ง  ปราสาท 1 แห่ง และร้านขายงานศิลป์และงานฝีมืออีก 5,000 แห่ง

กวาดตาถัดลงไปด้านล่างอีกไม่กี่บรรทัด ก็จะเจอประโยค “หากมาเกียวโตหนเดียว หรือแม้แต่สิบหน คุณไม่มีทางเที่ยวสถานที่เหล่านั้นได้หมด” นั่นเป็นข้อมูลจากหนังสือ Inside Guide ฉบับประเทศญี่ปุ่น

แล้วฉันกับเพื่อนร่วมบ้านมีเวลา ณ เกียวโตแค่ 7 วัน จะเที่ยวได้ถ้วนทั่วสักแค่ไหนเชียว!!

หากนั่น นับเป็นข้อมูลที่ดียิ่งสำหรับการเตรียมตัวเตรียมใจเที่ยวแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ  ในเมื่อจะอย่างไรเสีย คุณไม่มีทางเที่ยวสถานที่เหล่านั้นได้หมด”

แผนที่ที่แสดงสถานที่เที่ยวที่น่าสนใจของเกียวโตกางอยู่เบื้องหน้า เป็นสิ่งน่าท้าทายสำหรับการเลือกเยือนวัดที่มีอยู่ 1,500 แห่ง และศาลเจ้า 300 แห่ง  ครานี้ เราจะได้เที่ยวสถานที่ที่มีแต่ วัด วัด วัด และศาลเจ้าให้จุใจ

วัดในเกียวโตเป็นวัดทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน ที่ผ่องถ่ายผ่านมาทางประเทศจีนและเกาหลี สัญลักษณ์ที่ใช้แทนสถานที่ให้เห็นบนเนื้อกระดาษคือเครื่องหมายสวัสติกะ
สำหรับศาลเจ้า เป็นศาลเจ้าใน ลัทธิชินโต อันเป็นศาสนาดั้งเดิมเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่น  เป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้ามากมาย โดยเชื่อว่า วัตถุทุกอย่างในธรรมชาติล้วนมีวิญญาณสิงสถิตอยู่  ฉะนั้น ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ ทุ่งนา  ท้องทะเล  และสัตว์  ล้วนแล้วเป็นเทพเจ้าได้ทั้งสิ้น ด้วยคำนึงถึงสิ่งที่สิงสถิตอยู่ ณ ที่นั้นๆ สัญลักษณ์ที่ใช้แทนศาลเจ้าบนเนื้อกระดาษคือ โทรี....ประตูทางเข้าศาลเจ้าที่แยกเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ออกจากโลกภายนอก.. โทรีประกอบด้วยเสา 2 เสา และ มีไม้ 2 ท่อนขวางอยู่ข้างบน

วัด คิโยมิสุ (Kiyomizu-dera) ในความหมายไทย 'วัดธารน้ำใส' เป็นวัดแห่งแรกที่เลือกไปเยือน  นั่นเป็นอิทธิพลจากการที่วัดแห่งนี้เพิ่งจะได้รับการเลือกจากประชาชนทั่วโลก ให้เข้ารอบสุดท้ายเป็น 1 ใน 21 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ที่จัดโดยองค์กรเอกชน '7 wonders foundation' แห่งสวิตเซอร์แลนด์  และแม้การจัดครั้งนี้จะโดนค่อนขอดเรื่องของความน่าเชื่อถือในการคัดเลือก สถานที่  แต่นั่นแหละ... บรรดานักอยากเห็นนักอยากย่ำไปยังที่ต่างๆ จะเห็นด้วยกับวิธีการหรือผลการตัดสินหรือไม่อย่างไร  แต่อย่างน้อยก็ติดตามผลและเก็บรายชื่อสถานที่เหล่านั้นไว้ในซอกหนึ่งของความ ฝันที่เตรียมจะทำให้เป็นความจริงในการเดินทางครั้งต่อๆ ไป

 ข้อมูลจาก Inside Guide อีกครั้ง
 ....ผังเมืองของเกียวโตเป็นรูปสี่เหลี่ยม  สมัยก่อนห้ามวัดอยู่ภายในนคร และนั่นทำให้วัดสำคัญๆ  ของ
เกียวโตส่วนใหญ่อยู่ในหุบเขานอกตัวเมือง.....



ฮิงาชิยามะ เป็นชื่อทิวเขานอกตัวเมือง และวัดคิโยมิสุตั้งอยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้น  การเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างๆ ในเมืองเกียวโตนั้นสะดวกสบาย มีทั้งระบบรถไฟใต้ดิน ระบบรถเมล์ประจำทางให้เลือกใช้บริการ  หรือใครใคร่จะปั่นจักรยานก็ไม่ว่ากัน เพราะคนท้องถิ่นปั่นกันให้ครึ่กบนฟุตบาทให้เห็นทั่วไป

บริเวณด้านหน้าทางเดินนำไปสู่ตัววัดคิโยมิสุ เต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึก ในรูปลักษณ์เรือนญี่ปุ่นดั้งเดิม กลิ่นอายของความเป็นเมืองเก่าปรากฏชัดตรงบริเวณขอบนอกของตัวเมืองนี่เอง

เมื่อใกล้ถึงตัววัด ทางเดินเริ่มลาดชันขึ้นทุกขณะ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นจุดศูนย์รวมของจิตใจมักสร้างบนที่สูง เรียกร้องให้บางช่วงจังหวะเรือนร่างท่อนบนของผู้มาเยือนต้องโน้มต่ำลง เพื่อส่งแรงฮึดให้สองขาก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ ความเหนื่อยเมื่อสะสมถึงจุดจุดหนึ่งจะกลายเป็นความชาชิน เท้าจะก้าวไปข้างหน้าโดยอัตโนมัติ และฉันมักรู้สึกเสมอว่า ช่วงเวลานั้นจะเป็นช่วงเวลาที่มีสมาธิเป็นอย่างยิ่ง เป็นช่วงเวลาที่ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง มีแต่การจดจ่อถึงจังหวะการก้าวของร่างกาย เหมือนกับการนั่งสมาธิที่กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

วัดคิโยมิสุที่ได้เข้าไปสัมผัสในยามเช้านิ่ง สงบงาม สอดคล้องเป็นบริบทเดียวกับสถานที่ตั้ง


ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า คนและสรรพสิ่งที่สร้างขึ้นต้องเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ วัดคิโยมิสุสะท้อนให้เห็นความเชื่อนั้น วิหารใหญ่ของวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นสถาปัตยกรรมที่หนุนส่งให้ตัววัดติด 1 ใน 21 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่นั้นเรียบง่าย ปราศจากความหรูหรา ไม่มีงานปั้นแต่งหรือแกะสลักอะไรที่วิจิตรพิสดาร ทั้งสีสันที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นสีสันแท้ๆ ของวัสดุที่นำมาใช้  กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติที่เป็นทัศนียภาพแวดล้อม





เฉลียงไม้ด้านหน้าของตัววิหารที่ยื่นออกไปเหนือหุบเหว  ชวนอัศจรรย์ตรงฐานรองรับเป็นต้นซุงขนาดใหญ่หลายร้อยต้น  ที่ยึดโยงกันไว้ด้วยวิธีการเข้าลิ่ม ไม่ได้ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว  นอกจากความพิเศษทางเรื่องสถาปัตยกรรม ยังมีเรื่องเล่าประเพณีเก่าแก่ ....ประเพณีการโดดระเบียง ว่ากันว่า สมัยก่อนใครกระโดดจากระเบียงสูงแห่งนี้ลงไปยังพื้นเบื้องล่าง แล้วยังรอดชีวิตอยู่ได้ จะอธิษฐานขอสิ่งใดล้วนสมปรารถนา แต่ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวได้รับการยกเลิกไปแล้ว




เฉลียงด้านหน้านั้นปราศจากหลังคา เมื่อเดินออกมาข้างนอก จะได้เห็นภาพต้นไม้ขึ้นเบียดเสียดกันหนาแน่นงดงาม  ขณะที่เมื่อมองไปอีกด้านหนึ่งจะได้เห็นภาพเมืองเกียวโตทั้งเมือง โดยเฉพาะอาคารที่เป็นเสาแหลมสูงสีขาว...หอคอยเกียวโต ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายที่สุด  เป็นจุดสังเกตที่ตั้งของตัวเมือง

ภาพทิวทัศน์ที่ปรากฏบนเฉลียงด้านหน้าวิหารใหญ่ ยังงดงามไม่เท่าภาพที่จะได้เห็นจากเฉลียงอาคารหลังที่อยู่ถัดไปที่มีขนาด เล็กกว่า จากตรงนั้นจะได้เห็นภาพเมืองเกียวโตทั้งเมืองเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน ก็จะได้เห็นภาพวิหารใหญ่อย่างชัดเจน  แลเห็นเสาไม้ขนาดใหญ่ที่สูง 13 เมตร  รองรับเฉลียงด้านหน้าพอวับๆ แวมๆ ให้ตื่นตาด้วยมีไม้ใหญ่ขึ้นบดบังพื้นที่ด้านล่างจนมองเห็นได้แค่มุมเดียว  ทำให้มองเผินๆ คล้ายจู่ๆ ก็มีวิหารลอยเด่นขึ้นมาท่ามกลางดงไม้  หลังคาของวิหารคล้ายกับหมวกขนาดใหญ่สวมทับพื้นที่อาคารด้านล่าง หลังคานั้นมีขนาดใหญ่เอามากๆ สังเกตดีๆ มีขนาดใหญ่กว่าตัววิหารด้วยซ้ำ ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นโปรดปรานหลังคาขนาดมโหฬารอย่างนี้นักแล

ขณะเพลิดเพลินกับบรรยากาศที่สงบนิ่ง เสียงไซเรนรถดังจากตัวเมืองด้านล่างล่องลอยมาให้ได้ยิน ก่อนจะจางเงียบหายไป อารมณ์สะดุดเล็กน้อย  แต่นั่นแหละ...เหมือนเป็นการย้ำให้รู้ว่าความสงบกับความวุ่นวายบางครั้งก็ แยกกันไม่ออก ก้ำกึ่งปะปนกันอยู่ตลอดเวลา

มีทางเดินเล็กๆ ลาดลงจากพื้นที่ด้านบนนำลงมายังพื้นที่ใต้วิหารใหญ่ด้านล่าง  ระหว่างทางสังเกตเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ริมทางโดนตัดออกไปจำนวนหนึ่ง แต่ก็ได้รับการปลูกทดแทนในตำแหน่งใกล้เคียง นึกเดาเล่นๆ กับเพื่อนร่วมบ้าน ว่าไม้ใหญ่พวกนี้คงปลูกไว้สำหรับซ่อมแซมตัววัดให้คงอยู่ไปตลอดกาลแน่ๆ



พื้นที่ใต้วิหารใหญ่ มีธารน้ำไหลลงมายังบ่อน้ำสามสาย ผู้คนที่ผ่านมาถึงตรงนั้นล้วนหยุดแวะ และเดินขึ้นไปหยิบกระบวยน้ำที่วางอยู่ด้านหลังยื่นออกมารองรับน้ำแต่ละสาย และยกขึ้นดื่ม บางคนตักใส่ขวดน้ำพลาสติกตุนกระทั่งเต็ม  คุ้นชินอยู่บ้างกับการมีบ่อน้ำตั้งอยู่หน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้คน ที่จะเข้าไปสักการะได้ตักน้ำชำระล้างมือให้สะอาด แต่ไม่เคยเห็นถึงขนาดตักน้ำขึ้นมาดื่ม

ข้อมูลคร่าวๆ ที่อ่านมาก่อนล่วงหน้าผุดขึ้นมา ที่นี่มีธารน้ำตกศักดิ์สิทธิ์ 3 สาย เชื่อกันว่าใครที่ได้ดื่มน้ำจากธารน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้จะมีสุขภาพอนามัยที่ แข็งแรง!!


ฉันว่าสถานที่ท่องเที่ยวเป็นตัวอย่างอันดียิ่งที่เมื่อใครสักคนหนึ่งทำอะไร คนอื่นจะทำตามกัน  ถ้ามีกลุ่มนักท่องเที่ยวสักสองสามคนโยนเหรียญเงินลงไปในบ่อน้ำ รับรองได้ว่า คนอื่นๆ จะต้องโยนตาม และไม่ช้าบ่อนั้นจะเต็มไปด้วยเหรียญ ถ้ามีใครสักคนเดินไปขัดถูรูปปั้นอะไรสักรูปหนึ่ง คนอื่นๆ ก็จะทำตาม ไม่ช้ารูปปั้นนั้นก็จะมันเป็นเงาวับด้วยหลายมือช่วยกันขัดถู

ฉันไม่รอช้าที่จะกลายเป็นพวกทำอะไรทำตามกันกับเขาบ้าง  แต่คิดไว้ว่าจะแค่รองน้ำมาล้างมือก็เพียงพอแล้ว ไม่กล้าถึงขั้นจะยกขึ้นดื่ม ก็ฉันเห็นกระบวยใบเดิมๆ ถูกหยิบขึ้นมาดื่มต่อๆ กัน ไม่รู้กี่คนต่อกี่คน ครั้นถึงคราวตัวเองได้ไปหยิบกระบวยตักน้ำขึ้นมาบ้างถึงค่อยเข้าใจว่าทำไมคน อื่นๆ  ถึงได้กล้าดื่มน้ำจากกระบวยกัน เพราะตรงที่วางกระบวยตักน้ำนั้น มีแสงสีม่วงอ่อนๆ เรืองสว่าง  ว้าว...นั่นมันแสงอัลตราไวโอเลต!!  ญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้เสมอ ความเชื่อ วิถีแบบเดิม สอดคล้องกับความเจริญล้ำของเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ  มิน่าเล่าถึงได้กล้าตักน้ำใส่กระบวยดื่มกัน แต่นั่นแหละ ศรัทธาฉันยังไม่แรงกล้าขนาดนั้น

แค่รองน้ำมาล้างมือก็รู้สึกมีส่วนร่วมเพียงพอแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: