ตอนที่ 3 สะท้อนอยู่กลางสระน้ำ
ตรงบริเวณทางเข้าวัด คินคะคุจิ (kinkaku-ji) หรือวัดศาลาทอง สิ่งที่สะดุดตาเพื่อนร่วมบ้านรวมทั้งฉัน เป็นป้ายห้ามใช้ขาตั้งกล้อง
ทำไมห้ามใช้ขาตั้งกล้อง?
เคยเจอแต่ป้ายห้ามถ่ายรูป แต่คราวนี้เจอป้ายห้ามใช้ขาตั้งกล้อง นับว่าแปลกดี
พ้นจากทางเดินเข้า บริเวณด้านในเปิดโล่ง วิหารของวัดคินคะคุจิ เผยโฉมให้เห็นชัดๆ ง่ายๆ ไม่ต้องเสียเวลาโหมโรง ปรากฏให้เห็นชัดตั้งแต่พ้นทางเดินเข้ากันเลยทีเดียว
ตัววิหารเป็นอาคารสามชั้น ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ห่อหุ้มด้วยทองคำ จึงส่องประกายสีเหลืองทองสะท้อนกับน้ำในสระที่นิ่งสนิทราวกระจก ฉะนั้น...ไม่น่าแปลกใช่มั้ย ที่ความหมายของชื่อวัดคือ 'วัดศาลาทอง'
บริเวณริมขอบสระคาคล่ำไปด้วยผู้คน คนมากจริงๆ ยืนออกันหามุมถ่ายรูปแทบจะเรียงต่อคิวกันเลยทีเดียว นั่นทำให้ได้คำตอบสำหรับข้อสงสัย... ทำไมถึงห้ามใช้ขาตั้งกล้อง
ขณะที่พยายามถ่ายรูปวัดศาลาทองกลางสระน้ำ สังเกตเห็นขนาดของวิหาร ขนาดของสระน้ำ และตำแหน่งที่ตั้งวาง ช่างพอเหมาะพอเจาะ ผืนน้ำสะท้อนให้เห็นเงาของตัววิหารได้ครบถ้วนพอดิบพอดี ไม่กว้างจนเกินไป และไม่คับแคบจนเก็บเงาของตัววิหารได้ไม่ครบ และจากการมองผ่านเลนส์นี่เอง ถึงได้รู้สึกถึงความชาญฉลาดของผู้ก่อสร้าง ที่ห่อหุ้มตัววิหารด้านบนด้วยทองคำ ขณะที่ปล่อยให้ชั้นล่างสุดยังคงความเป็นเนื้อไม้ที่เป็นธรรมชาติ ด้วยเมื่อตั้งอยู่กลางสระน้ำ ชั้นล่างที่คงความเป็นเนื้อไม้จะเห็นได้ไม่ชัดนัก ขณะที่ชั้นสองและชั้นสามที่เป็นสีทองจะสะท้อนโดดเด่นบนผิวน้ำ ทำให้ดูเหมือนตัววิหารลอยละล่องอยู่กลางสระ และมีนกชนิดหนึ่ง รูปร่างแปลกประหลาด ยืนสยายปีกอยู่บนหลังคา
ส่วนหัวของนกนั้นเหมือนงู ส่วนหางคล้ายหางปลา บริเวณหลังเหมือนเต่า แต่คอไพล่ไปเหมือนนกนางนวล ปากเป็นจะงอยเหมือนปากไก่ มันคือนกฟีนิกซ์ญี่ปุ่น
และกระซิบต่ออีกสักนิด เจ้าสระน้ำที่สะท้อนเงาของวิหารนี้มีชื่อว่า Kyoko ความหมายคือ... สระกระจก
ความงามนั้นเป็นไฉน?
ตั้งคำถามเสียโก้เก๋ แต่ไม่ได้ตั้งเล่นๆ นะ ที่ถามเพราะมีเรื่องเล่า
วิหารแห่งนี้ ไม่ใช่วิหารดั้งเดิม หากเป็นของใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทน
ว่ากันว่า ชายผู้หนึ่งเคยหลงใหลในความงามของวิหารศาลาทองแห่งนี้ กระทั่งออกบวชเพื่อจะได้ชิดใกล้สิ่งที่หลงใหล แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็เกิดฉุกคิดขึ้นได้ว่า เขาจะเข้าถึงแก่นแท้แห่งความงามนั้นได้อย่างไร หากไม่ทำลายสิ่งที่ทำให้เขาหลงใหลนั้นไปเสีย... คิดได้ดังนั้น ชายผู้นั้นก็เผาวิหารจนวอดวายไปทั้งหลัง
แต่...เขาจะรู้มั้ย ว่าสุดท้าย ความงามนั้นได้ถูกสร้างกลับมาใหม่อีกครั้ง
ความงาม และบรรยากาศของวัดศาลาทองดูจะเอิกเกริก เหมือนสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเป็นวัด... ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เงียบสงบ.. ฉันรู้สึกอย่างนั้น อาจเป็นเพราะตัววิหารใหญ่ที่แยกตั้งอยู่กลางน้ำ ไม่ได้เปิดรับผู้คนให้เข้าไปสวดมนต์ภาวนา ขอพร ทำให้ดูเหมือนว่า ผู้คนส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อชมดูความงามของวิหาร และถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึกมากกว่าที่จะมาเยือนหาความเงียบสงบ ไหว้พระ ขอพร เหมือนเช่นวัดอื่นๆ นั่นทำให้การมาเยือนวัดแห่งนี้ เราไม่คิดที่จะหามุมสงบๆ นั่งทอดหุ่ย อ้อยอิ่ง อยู่นานๆ
แต่เดินไหลตามผู้คนไปเรื่อยๆ จนถึงร้านขายของที่ระลึกตรงบริเวณทางออก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น