พระโพธิสัตว์
สิ่งจูงใจที่ทำให้ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านไปเยือนวัด ซังจูซังเง็นโด (Sanjusangen-do) (ออกเสียงยากชะมัด) เป็นภาพวาดคนยิงธนูหน้าวิหารไม้ที่มีขนาดยาวเป็นพิเศษประกอบในหนังสือภาพ เล่มเล็ก Must-See in Kyoto ที่เลือกซื้อจากวัดคินคะคุจิ (วัดศาลาทอง)
วัดซังจูซังเง็นโด เป็นวัดที่แปลกสักหน่อย เพราะไม่ได้ตั้งชิดเป็นส่วนหนึ่งกับหุบเขารอบนอกอย่างวัดอื่น ในเกียวโตที่ได้ไปเยือนก่อนหน้านี้ ภาพวาดที่เห็นในหนังสือเล่มเล็กกะทัดรัดจำลองจากงานเทศกาลแข่งขันยิงธนูที่ เรียกว่า Toshi-ya เทศกาลนี้มีมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิม ก่อนที่จะกลายเป็นงานเทศกาลประจำปีในทุกๆ วันที่ 15 ของเดือนมกราคม ฉันเพิ่งจะสังเกตจากภาพวาดนี่ละว่า คันธนูของญี่ปุ่นดูจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ทำให้ท่วงท่าการยืน การเหนี่ยวสายของคนยิงธนูดูสง่างาม ใช้ส่วนสัดของร่างกายอย่างเต็มที่
ทว่าเมื่อได้เข้าไปเยี่ยมชมวัดจริงๆ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจไม่ยักใช่พื้นที่ข้างวิหารใหญ่ที่เป็นสถานที่จัดงาน เทศกาลยิงธนู แต่เป็นภายในตัววิหารเอง ที่ด้านในประดิษฐานด้วย รูปปฏิมากรพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา และไม่ได้มีเพียงรูปสองรูป หากมีถึง 1,001 รูป
รู้เรื่องราวของพระโพธิสัตว์น้อยเสียยิ่งกว่าน้อย คงด้วยนับถือพุทธแบบไทย ๆ ที่เป็นนิกายหินยาน ไม่ได้มีเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์แบบนิกายมหายาน ที่เน้นเรื่องของการบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ที่ถือกันว่าบุคคลที่จะบรรลุพุทธภูมิ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ จะต้องผ่านการบำเพ็ญบารมี คอยช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ พระโพธิสัตว์จึงเป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญบารมีจนสำเร็จ หากปฏิญาณว่า จะยังไม่เสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้า จนกว่าจะช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยเสียก่อน
พระโพธิสัตว์องค์ประธานตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางวิหาร ขนาดใหญ่กว่าองค์อื่น ประทับในท่านั่งบนฐานดอกบัว ขณะที่อีก 1,000 รูปที่เหลือ ประทับยืนบนฐานดอกบัว แถวละ 10 องค์ จากผนังวิหารด้านหนึ่ง ไปจรดผนังวิหารอีกด้านหนึ่ง และทุกองค์นั้นล้วนมีสีทองอร่าม
การเลื่อนไหลของวัฒนธรรม ความเชื่อ แปรไปตามสถานที่ตั้ง
ปฏิมากรพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาที่อยู่เบื้องหน้า มีรูปหน้าที่อิ่มเอิบ คล้ายสตรีเพศ หากเป็นบุรุษ ด้วยมีเส้นเขียนเป็นพระมัตสุเหนือริมฝีปาก ชาวญี่ปุ่นเรียกขานพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาของพวกเขาว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม (Kannon Bodhisattva) หากชาวจีนจะถือว่าเป็นอิสตรี เรียกขานว่า 'พระแม่เจ้ากวนอิม' หรือเจ้าแม่กวนอิมที่เราคุ้นเคยกันนั่นแหละ และสำหรับภาษาสันสกฤตแล้ว นั่นคือพระอวโลกิเตศวรนั่นเอง
ลักษณะเด่นของรูปปฏิมากรของพระอวโลกิเตศวรคือ จำนวนกร เศียร และพระเนตรที่มีจำนวนมากมาย นัยเพื่อช่วยสอดส่องและช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้มากยิ่งขึ้น แสดงถึงความเมตตาที่มีอย่างล้นเหลือ
พระโพธิสัตว์กวนอิมของญี่ปุ่น มีเศียร 11 เศียร พระเนตร 11 คู่ จำนวนกร 1,000 กร แขนจำนวนมากมายขนาดนั้น ทดแทนด้วยสัญลักษณ์ 40 กร และเศียรที่อยู่ด้านบนสุดเป็นเศียรพระพุทธรูปแบบที่เราคุ้นชิน นั่นคือพระอมิตาภะพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าในอดีต) เพราะเชื่อกันว่าพระอวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์ประจำพระองค์ และตามความเชื่อ พระอมิตาภะพุทธเจ้านี่แหละที่เป็นผู้บันดาลให้พระโพธิสัตว์กวนอิมมีเศียร 11 เศียร และมีกร 1,000 กร เพื่อจะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้ดังใจ และ...คงจะทันใจด้วยกระมัง
เดินไปเรื่อยๆ ตามทางระเบียงภายในวิหาร นอกจากองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมจำนวนมากที่ชวนตื่นตา สถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นที่เน้นเส้นสายในแนวตรง เนื่องจากใช้หลักการของเสาและคานอวดให้เห็นชัดๆ แล้ว เบื้องหน้าแถวของพระโพธิสัตว์กวนอิม ปรากฏรูปปั้นเทพเจ้าผู้ทำหน้าที่เป็นเสมือนเทพผู้ปกป้องพระโพธิสัตว์ ทั้งสิ้น 28 องค์ ยืนตระหง่าน
มองเผินๆ รูปปั้นเทพเจ้าเหล่านั้นเหมือนเทพเจ้าในวัฒนธรรมความเชื่อของจีน โดยสะท้อนออกทางรูปลักษณ์ อาภรณ์ เครื่องประดับ แต่เมื่อมองชื่อที่ติดอยู่ด้านล่าง จึงรู้ว่าเทพเจ้าเหล่านั้น หลายๆ องค์เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และบางองค์เป็นอมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ หากทั้งหมดดูห่างเหิน แปลกแยกไปเมื่อปรากฏในรูปแบบศิลปะแบบจีน
Daibenkudoku-ten ไม่คุ้นเลยใช่มั้ย แต่พอเหลือบตาไปอีกนิดใกล้ๆ กัน Lakshmi ลองอ่านออกเสียงดังๆ ...ลักษมี... พระนางลักษมี? ตวัดตาขึ้นมองเหนือฐานรูปปั้น พระนางลักษมี!! เทพีแห่งความงดงาม อุดมสมบูรณ์ เนี่ยนะ... ปกติเคยคุ้นแต่ใบหน้าที่หวานแช่มช้อย นัยน์ตากลมโต และมีจุดแต้มสีแดงบริเวณหน้าผากแบบสาวภารตะ พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือดอกบัว แต่เบื้องหน้าพระนางลักษมีกลับสวมใส่อาภรณ์แบบสตรีชาวจีน ใบหน้าสี่เหลี่ยมอิ่มเอิบ นัยน์ตาสองข้างหลุบต่ำมองเบื้องล่าง แทบไม่มีเค้าที่เหมือนกันเลย ระหว่างพระนางลักษมีแบบอินเดียกับจีน เว้นสิ่งเดียวคือรูปร่างของพระนางที่ท้วมนิดๆ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
ในเมื่อมีพระนางลักษมีแล้ว ย่อมไม่แปลกที่จะมีพระนารายณ์ ในเมื่อพระนารายณ์อวตารไปที่ใด พระนางลักษมีย่อมอวตารตามไปเป็นพระชายาด้วยทุกครั้ง
Naraen-kengo.....Narayana พระนารายณ์ เทพเจ้าผู้ปราบมาร อยู่ในท่วงท่าที่ดุดัน ท่อนบนที่เปลือยให้เห็นมัดกล้ามเป็นมัดๆ ดูแข็งแรงและแข็งแกร่ง น่าเกรงขาม (พวกผู้ชายอาจจะอิจฉา six pack ของท่านก็เป็นได้)
นอกเหนือจากพระนางลักษมี และพระนารายณ์ ยังมี ท้าวธตรัฐ (Toho-Ten....Dhatarastra) เทพเจ้าประจำทิศตะวันออก ท้าววิรูปักษ์ (Birubakusha...Virupaksa) เทพเจ้าประจำทิศตะวันตก ทั้งสององค์เป็นสองในท้าวจตุโลกบาล ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้คุ้มครองศาสนาและโลกทั้งสี่ทิศ ฉันไม่แน่ใจว่ามีครบถ้วนทั้ง 4 องค์หรือไม่ แต่ไม่เห็นท้าววิรุฬหก-เทพเจ้าประจำทิศใต้ กับท้าวกุเวร-เทพเจ้าประจำทิศเหนือ แต่น่าจะมีครบทั้งสี่องค์ เป็นไปได้ว่า ฉันอ่านภาษาสันสกฤตที่เขียนเป็นอักษรโรมันไม่เข้าใจ
นอกเหนือจากเทพ แล้วก็มี อสูร (Ashura... Asura) ผู้มักต่อกรกับเทพเจ้าเสมอ อสูรที่นี่มีสี่หน้า และสี่กรใบหน้าดุดัน
เทพ มีอสูร แล้วต่อไปเป็น อมนุษย์ อมนุษย์ที่ดูง่าย ไม่ต้องอ่านภาษาสันสกฤตที่เขียนเป็นอักษรโรมันก็พอเดาได้ คือ ครุฑ เพราะใบหน้าจะมีจะงอยปากแหลม ๆ และมีปีกกางออกด้านหลัง ยืนเป่าขลุ่ย เห็นปุ๊บรู้ทันทีว่าครุฑแน่นอน เมื่อมองอักษรโรมันด้านล่าง เขียนไว้ว่า Garuda...เป็นการยืนยันว่าไม่พลาด ครุฑจริงๆ ด้วย นอกจากครุฑก็มี มโหราค (Mahoraga) เจ้าแห่งงูที่ยืนดีดพิณอยู่ และ กินนร (Kinnara) อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งนกเพศชายสะพายกลองสองหน้าอยู่ด้านหน้า
เทพเจ้า 28 องค์ ยังเพิ่มด้วยเทพอีกสององค์คือ เทพเจ้าแห่งลม และ เทพเจ้าแห่งฝน ภาษาสันสกฤตเขียนกำกับไว้ด้วยอักษรโรมัน Vayu...วายุ Varuna....วรุณ
พอเดินพ้นวิหารใหญ่ออกมา ลืมเรื่องการยิงธนูไปได้เลย ในหัวเต็มไปด้วยเรื่องของเทพเจ้าฮินดูกับพราหมณ์ที่แผ่อิทธิพลมาถึงยังญี่ปุ่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น