20 ธันวาคม 2556

หิมาลายาตะวันออก ตอนที่ 4

 8. สู่สิกขิม 

สิกขิม ชื่อนี้ได้ยินบ่อยไม่แพ้ดาร์
จีลิ่งทีเดียว

สิกขิมเป็นรัฐขนาดเล็กทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ขนาบด้วยประเทศเนปาลทางตะวันตก ประเทศภูฏานทางตะวันออก และ เขตปกครองพิเศษทิเบตทางตอนบ 

กังต๊อก (Gangtok) เมืองหลวงของรัฐที่เราไปเยือนเป็นเมืองใหญ่ ประชากรและสิ่งก่อสร้างแน่นหนา อาคารพาณิชย์หลายชั้นสร้างขนาบไปกับทางถนนที่เวียนไต่ไปตามเนินเขา ทำให้เห็นเส้นทางบันไดเล็กๆ เป็นเหมือนซอกซอยในแนวตั้งเชื่อมระหว่างอาคารพาณิชย์ที่เวียนอยู่คนละชั้น

จอแจทั้งรถและคน... นี่ไม่ใช่ภาพเมืองของรัฐสิกขิมในจินตนาการ ไม่คาดคิดว่าหลังจากนั่งรถหลังขดหลังแข็ง ผ่านผืนป่า ผ่านสายน้ำ ผ่านขุนเขามาหลายต่อหลายลูก จะเจอเข้ากับดงตึกแถวพาณิชย์ขนาดใหญ่บนเขาเป็นลูกๆ แม้จะเห็นภาพแบบนี้เตือนมาพอเป็นเลาๆ ที่ 'กาลิมปง' กับ 'ดาร์จีลิ่ง' แต่อาคารพาณิชย์ที่นั่นไม่มากชั้นและแน่นหนาเท่าที่นี่ ที่สำคัญมีสะพานลอยข้ามถนนซะด้วย (ไม่รู้ล่ะ ฉันชอบใช้สะพานลอยเป็นดัชนีชี้วัดความวุ่นวายของตัวเมือง)

กังต๊อกเป็นเมืองใหญ่... เมืองใหญ่มากจริงๆ 

ขณะที่เดินหอบหิ้วสัมภาระผ่าน ถนนสายคนเดิน เพื่อตรงไปยังที่พัก ผู้คนที่ผ่านไปมาแต่งเนื้อแต่งตัวหลากหลาย ทั้งแบบสมัยนิยมโดยเฉพาะพวกวัยรุ่น และแบบพื้นถิ่นที่ยากจะบ่งบอกแน่ชัดว่าพื้นถิ่นไหนกันแน่ เนปาล อินเดีย ฤาจะเป็นทิเบต

เข้าไปในโรงแรม วางสัมภาระเรียบร้อย แอบมองลอดหน้าต่างลงมายังบรรยากาศเบื้องล่างอีกครั้ง 'ถนนสายคนเดิน' ที่นี่รับรูปแบบจากเมืองใหญ่ในยุคปัจจุบันมาอย่างเห็นได้ชัด ถนนกว้างขนาบด้วยอาคารพาณิชย์สองด้าน ตรงเกาะกลางถนน ตกแต่งด้วยกระถางไม้ประดับ เสาไฟสีดำแบบตะวันตก รูปปั้นครึ่งท่อนบุคคลสำคัญที่มองแต่ไกลก็รู้ว่าเป็น มหาตะมะคานธี และมีเก้าอี้สำหรับให้คนเดินเที่ยวได้นั่งพักเป็นระยะ 

นี่เป็นรูปแบบมาตรฐานสำหรับเมืองยุคปัจจุบันสินะ ไม่น่าเชื่อว่ารูปแบบถนนคนเดิน (แบบให้เดินชอปปิง) จะบุกป่าฝ่าดง มางอกงามถึงที่นี่ได้

แอบมองลอดช่องหน้าต่างแล้วออกไปเดินสัมผัสของจริงบ้าง 

ทันทีที่โผล่หน้าออกไป เสียงดนตรีแว่วหวานจากลำโพงตรงเกาะกลางถนนให้ได้ยิน เคนนี่ จี...นี่มันเสียงแซกโซโฟนของนักดนตรีชื่อดัง...เคนนี่ จี ให้ตายสิ โลกใบนี้ เดี๋ยวนี้การเสพงาน การใช้ชีวิตช่างเชื่อมประสานต่อเนื่องถึงกันได้อย่างน่าทึ่ง และแอบกระซิบเล็กน้อย เมืองหลวงของรัฐสิกขิมนี่เจริญจริงๆ แค่เดินเที่ยวเล่นบน 'ถนนสายคนเดิน' ไปไม่กี่ก้าว ก็แอบเห็นร้านขายน้ำที่มีตู้แช่ขนาดใหญ่ แช่น้ำหวานสารพัดชนิดเย็นเจี๊ยบ 

ชนิดที่ในเมืองกัลกัตตาเองยังหาร้านขายน้ำที่แช่ขวดเย็นเจี๊ยบแบบนี้ได้ลำบากยากเย็


เมืองกังต๊อกเต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ที่สร้างเวียนตามเนินเขา

เมืองกังต๊อกยามค่ำคืน

อาคารพาณิชย์หลายชั้นสร้างขนาบไปกับทางถนนที่เวียนไต่ไปตามเนินเขา

รูปปั้นมหาตะมะ คานธี บนถนน เอ็ม. จี. มาร์จ ชื่อถนน M.G Marg ย่อมาจากชื่อ Mahatma Gandhi

นั่งพบปะพูดคุยริมทาง


รูปร่าง หน้าตา การแต่งกายของชาวสิกขิมหลากเชื้อชาติ-วัฒนธรรม

ถนนสายคนเดิน M.G. Marg ถนนสายหลักที่พาดผ่านใจกลางเมืองกังต๊อก


9. กลิ่นอายทิเบตในเมืองกังต๊อ
เมืองในดินแดนหิมาลายาตะวันออก ล้วนเป็นเมืองหลากเชื้อชาติ-วัฒนธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองกาลิมปง เมืองดาร์จีลิ่งที่ได้เยือนมาก่อนหน้านี้ แต่ภาพผสมผสานดังกล่าวที่เมือง กังต๊อก ดูจะเด่นชัดกว่าที่อื่น คงเป็นเพราะจำนวนประชากรที่หนาแน่น แค่เดินขวักไขว่ผ่านไปมาให้เห็นก็เวียนหัวตุ้บแล้ว ทั้งชุดและรูปร่างหน้าตา จะเป็นชาวเนปาลี ชาวเลปชา (Lepcha) ชาวภูเทีย (Bhutias) หรือชาวอินเดีย ดูปะปนกันไปหมด แยกไม่ออกเลยทีเดียว (ชาวเลปชาและชาวภูเทียเป็นชาวพื้นถิ่นอพยพมาจากทิเบต)

ขณะอยู่บนห้องพัก ฉันค้นพบว่าโทรทัศน์ที่นี่สามารถรับคลื่นทีวีจากประเทศภูฏานได้อย่างชัดแจ๋ว ราวกับกำลังอยู่ในประเทศภูฏานไม่ปาน ภาพกษัตริย์จิกมี่ กษัตริย์ประเทศภูฏานที่เป็นขวัญใจชาวไทยปรากฏบนจอสี่เหลี่ยม ทำเอามือที่จะกดรีโมทเปลี่ยนช่องชะงักค้าง.... เข้าท่านะ นอนอยู่ที่กังต๊อกแต่ดูทีวีประเทศภูฏาน ว่าแล้วเลยหยิบกล้องใกล้ตัวขึ้นมาถ่ายรูปกษัตริย์จิกมี่ในจอทีวี... กะว่าจะเอาไปอวดพวกเพื่อนสาวๆ สักหน่อย


ร่มและประตูทางเข้าวัดเอนเช สีสันสดใสไม่แพ้กันเลยทีเดียว

วิหารวัดเอนเช

กลิ่นอายทิเบตที่นี่เข้มข้น บนถนนคนเดิน การเดินสวนผ่านกับพระลามะเป็นเรื่องแสนธรรมดา ร้านอาหารทิเบตเองมีให้เห็นทั่วไป คราวอยู่ดาร์จีลิ่งได้กินแต่โมโม คราวนี้ล่ะจะได้ลองอาหารทิเบตอย่างอื่นดูบ้าง ข้าวผัดสไตล์ทิเบต โมโมทั้งแบบนึ่งแบบทอด และที่ได้ยินชื่อบ่อยๆ ทุกปา...ก๋วยเตี๋ยวน้ำแบบทิเบต รสชาติอาหารแปลกลิ้น จะว่าอร่อยก็ไม่เชิง แต่มีพระลามะนั่งฉันอาหารอยู่โต๊ะข้างๆ ด้วยนี่สิ ช่วยให้อาหารมื้อนั้นช่างเป็นอารมณ์อาหารมื้อทิเบต


เมืองกังต๊อกยังมีวัดทิเบตสวยๆ หลายแห่ง โอ่อ่า และใหญ่โตกว่าที่เมืองกาลิมปงและดาร์จีลิ่ง

วัดแรกที่ได้ไปเยือนคือวัด เอนเช (Enchey) ทางเดินนำเข้าสู่ตัววัดร่มรื่น ตัดด้วยสีเข้มสดของธงมนตราที่พาดผ่าน และแถวของกงล้อมนตราขนาดเล็กที่ขนาบไปตลอดเส้นทาง ตัววิหารของวัดเคลือบด้วยแม่สีอย่างสีเหลือง สีแดง เช่นเคย หันไปทางไหนจึงดูเจิดจ้าไปห
มด


ขณะที่ไปเยือนเป็นจังหวะพอดีกับที่ลามะน้อยรูปหนึ่ง ได้เดินเคาะระฆังไปทั่วตัววัด ก่อนไปหยุดที่อาคารฝั่งตรงข้ามกับตัววิหาร

พระลามะผู้ใหญ่ได้มารวมตัวกัน ก่อนเดินเป็นแถวเข้าไปยังด้านในวิหาร

การสวดมนต์กำลังจะเริ่มขึ้น

ความอยากรู้ทำให้โผล่หน้าชะโงกมองเข้าไปด้านใน คุณลุงเจ้าหน้าที่ใจดีเห็นพวกเราสนอกสนใจ จึงกวักมือเรียกให้เข้าไปนั่งฟังพระสวดมนต์ด้านใน

นับเป็นโอกาสดีครั้งหนึ่ง สำหรับพุทธศาสนิกชนนิกายเถรวาทอย่างพวกเราที่ได้ฟังบทสวดมนต์ของนิกายวัชรยาน เครื่องเป่า ระฆัง ฉาบ ที่เห็นวางแต่แรกในวิหาร ถูกนำมาใช้ประกอบการสวดมนต์ เป็นการตอบคำถามที่สงสัยแต่แรกว่า อุปกรณ์เหล่านี้วางไว้ในวิหารสำหรับเพื่ออะไร

ภาษาในบทสวด ท่วงทำนอง และเสียงเครื่องดนตรี ย้ำให้นึกถึงสิ่งที่เพิ่งอ่านเจอไม่นานมานี้ที่ว่า พิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาพุทธนั้นเป็นเพียงอุบาย เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่มีการกำหนดวิธีการที่แน่ชัด พิธีกรรมของชาวพุทธจึงมีความยืดหยุ่น และแตกต่างไปตามวัฒนธรรม ตามความนิยมของแต่ละชนชาติ แต่ละสังคม

พิธีการดำเนินไป ระหว่างนั้นใครที่ต้องการจะเข้ามาไหว้พระประธานในวิหารสามารถเข้ามาไหว้ได้ตามปกติ นั่นช่วยลดความเคร่งขรึมของพิธีการไปได้มากทีเดียว

ภายในวัดเอนเช มีห้องที่เรียกว่า Butter Lamp ซึ่งภายหลังพบว่า วัดทิเบตใหญ่ๆ ล้วนมีห้องนี้ทั้งนั้น ตอนเข้าไปในห้องรู้สึกอบอุ่น เพราะมี ตะเกียงเนย จำนวนมากจุดไฟวางเรียงราย สีของตัวไฟและภาชนะที่บรรจุที่เป็นสีทองอันเป็นโทนสีร้อน ยิ่งให้รู้สึกอุ่นเข้าไปอีก... ช่วยขับไล่อากาศเย็นชื้นจากฝนที่ตกด้านนอกเกือบตลอดเวลาได้ดีเชียว และไม่รู้เพราะอย่างนั้นหรือเปล่า เลยมีลามะน้อยนั่งจับกลุ่มกันเต็มห้อง และเด็กยังคงเป็นเด็ก ในมือลามะน้อยที่เป็นจุดศูนย์กลางที่เพื่อนๆ มุงล้อมมีเครื่องเล่นเกมส์ขนาดเล็กอยู่ในมือ

ตะเกียงเนยนั้นใช่เรียกกันเล่นๆ เพราะตัวเชื้อไฟทำมาจากเนยจริงๆ อันเป็นผลิตผลจากนมของตัวจามรี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนจากเนยเป็นน้ำมันพืชธรรมดาๆ นี่แหละ

การจุดตะเกียงเนยเชื่อกันว่าเป็นการจุดประกายปัญญา เพราะแสงสว่างทำให้มองเห็นได้ชัดเจน ช่วยขับไล่ความไม่รู้ออกไป

ว่าไปแล้วธรรมเนียมการจุดเทียน จุดตะเกียงไฟ ดูจะละม้ายคล้ายกันทุกศาสนา

แต่ธรรมเนียมที่นี่แปลกสักหน่อยตรงที่มีการแยกห้องออกมาเป็นสัดเป็นส่วน




ชาวพุทธวัชรยานเชื่อว่าการจุด 'ตะเกียงเนย' คือการจุดประกายปัญญา

ตะเกียงเนย

19 ธันวาคม 2556

หิมาลายาตะวันออกตอนที่ 3

 ระหว่างยอดเขาสูงกับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ
            มาดาร์จีลิ่งต้องชมยอดเขาคันเชนจุงก้า... เขาสูงอันดับสามของโลก
            จุดชมวิวยอดเขาคันเชนจุงก้าอยู่บนสถานที่ที่เรียกว่า Tiger Hill บนเนินเขา Ghum พื้นที่เดียวกับที่ตั้งสถานีรถไฟที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ยามเช้านักท่องเที่ยวทั้งหลายต่างพากันเดินทางมุ่งไปยังที่นี่ เพื่อรอชมแสงแดดยามเช้าส่องต้องยอดเขาคันเชนจุนก้า  ทว่า... ฟ้าเดือนกรกฏามีโอกาสเปิดแค่ 1 % แล้วฝนที่เมืองดาร์จีลิ่งตกชุกเสียยิ่งกว่าเมืองกาลิมปง... เมื่อคนขับรถส่ายหน้า เจ้าของโรงแรมส่ายหน้า พวกเราจึงยอมจำนนเปลี่ยนเวลาเดินทางไปยัง Tiger hill จากเวลา ตี 4 ครึ่ง เป็นเวลา 8 โมงครึ่ง ตามเหตุผลที่ว่า ถึงไปแต่เช้าก็ไม่ได้เห็นหรอก ไปสาย ๆ ก็ได้ ไม่ต่างกัน แล้วรอยยิ้มกึ่งปลอบใจก็ส่งมาให้ “จะได้หลับสบาย ไม่ต้องตื่นเช้า” เอ้า... เป็นการคิดในแง่บวกที่ไม่เลว
            ขณะที่รถแล่นขึ้นไปตามเนินเขา ธงมนตราที่แขวนเป็นแถวพาดผ่านทางถนนดูจะหนาแน่นมากขึ้น สีตัวธงล้วนเป็นสีจัด น้ำเงิน เหลือง แดง เขียว ขาว... ไม่น่าเชื่อว่าสีจัด ๆ แบบนี้เข้ากับธรรมชาติที่โอบรอบได้อย่างดี  ฝนยังคงตก ๆ  หยุด ๆ ช่วงไหนทิ้งระยะหน่อย พยายามมองฟ้ารอบ ๆ ตัว เผื่อว่าเจ้า 1% ที่ว่าจะเกิดขึ้นราวมหัศจรรย์ แต่ดูท่าคนขับรถไม่คิดแบบนั้น กระทั่งคนขายตั๋วทางผ่านขึ้นไปยัง Tiger Hill ก็คงไม่คิดเช่นนั้น เพราะเมื่อพวกเราไม่มีเงินย่อยจ่ายค่าผ่านทางให้ครบตามจำนวนคน ก็ตัดบทรับเงินเท่าที่เรามีอยู่แล้วโบกให้พวกเราผ่านไปอย่างง่าย ๆ เหมือนจะชดเชยโอกาสในการมองเห็นยอดเขาคันเชนจุนก้าให้
            บน Tiger Hill นั้นมีลานและอาคารชมวิวปลูกสร้างอย่างถาวร  ณ เวลานั้นมีเพียงเราสี่ชีวิตเท่านั้นที่เดินวนไปวนมา ท่ามกลางท้องฟ้ามัวซัว... สุดท้าย 1% ก็ไม่เกิดขึ้น 
            ลานชมวิวด้านหน้าพื้นที่กว้างทีเดียว แต่อาคารที่อยู่ด้านหลังชวนทึ่งยิ่งกว่า ด้วยมีถึง 3 ชั้น แล้วใช่ว่าคิดอยากเข้าไปนั่ง จะนั่งได้เลยต้องเสียค่าสถานที่อีก ชั้นบนแพงหน่อย ชั้นล่างย่อมเยาว์ลงมานิด  สะท้อนให้เห็นว่าการมาชมวิวยอดเขาคันเชนจุนก้ายามแสงอาทิตย์แรกส่องนั้นเป็นที่นิยมขนาดไหน... ที่สุดมนุษย์ก็ชมชอบที่สูง ๆ อยู่ดี ถึงไม่ได้ไปอยู่บนนั้น ก็ยังมาชื่นชม
            จากอาคารชมวิว เดินตามทางถนนที่ลาดลงมา กำแพงปูนริมถนนที่ก่อขึ้นเพื่อกั้นแบ่งระดับทางชุ่มชื้นจนมอส และไลเคนแข่งกันเบิกบาน ทำเอาต้องค่อย ๆ ละเลียดเดินมองกำแพงปูนนั้นกันอย่างช้า ๆ  ก้มหน้าพินิจชีวิตเล็ก ๆ กันอย่างจริงจัง ว่าไปแล้วก็ชวนขัน มองไกล ๆ คงเหมือนกำลังเดินชมจิตรกรรมฝาผนังกันอยู่  เอาน่า... ไม่ได้เห็นขุนเขายิ่งใหญ่ ได้เห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่แสนพิเศษนี้แทน แผ่นมอส ไลเคนขึ้นแน่นชิดกันจนเป็นผืนปุยนุ่ม เห็นขนาดเล็ก ๆ อย่างนี้แต่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้พื้นที่รอบ ๆ ได้ดีนักแล ทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างยอดเยี่ยมอีกต่างหาก
 ยิ่งใกล้ถึงเนิน 'ไทเกอร์' ธงมนตราที่แขวนเป็นแถวพาดผ่านทางถนนมีจำนวนหนาแน่นขึ้น
เดินมองแผ่นมอสและไลเคนบนกำแพงปูน

๕ รถไฟสายเด็กเล่น
          รถไฟ Toy Train ที่คุ้นชื่อนักหนานั้นเป็นเพียงฉายา ชื่อเป็นทางการจริง ๆ คือ Darjeeling Himalayan Railway  เส้นทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นโดยอังกฤษสมัยที่ยังปกครองอินเดียอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนของตัวเองได้หลบร้อนจากพื้นที่ราบสู่พื้นที่สูง รถไฟขบวนนี้ขับเคลื่อนโดยใช้หม้อต้มไอน้ำ อันเป็นเทคโนโลยียุคแรก ๆ ของรถไฟ  จน ณ ปัจจุบันรถไฟขบวนนี้ยังแล่นโดยใช้หัวรถจักรไอน้ำ เป็นรถไฟสายเชื่องช้าที่ค่อย ๆ เคลื่อนขยับสู่ดินแดนขุนเขา และความไม่เปลี่ยนแปลงนี้เอง ทำให้ขบวนรถไฟสายนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก    
รถไฟสาย Toy Train มีลักษณะน่าเอ็นดู รางแคบ โบกี้สั้น  ทางวงแหวนที่วิ่งวนก่อนถึงเมืองดาร์จีลิ่งยิ่งให้ความรู้สึกเหมือนขบวนรถไฟของเล่นเข้าไปอีก ด้วยแล่นผ่านทางเวียนแคบ ๆ ที่เรียกว่าบาเซียตา ลูป (Basiata Loop)  วนผ่านสวนอนุสรณ์สถานสงคราม (War Memorial) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ระลึกถึงทหารกูรข่าที่เสียชีวิตในสงครามประกาศอิสรภาพอินเดีย
            บริเวณสวนอนุสรณ์สถานสงคราม เป็นจุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งของเมืองดาร์จีลิ่งที่สามารถมองเห็นตัวเมืองและภูเขาที่รายล้อมโดยเฉพาะยอดเขาคันเชนจุงก้าได้ในวันที่อากาศดี ท้องฟ้าเปิด
            รถไฟสาย Toy Train นอกจากจะวิ่งประจำวันละเที่ยวเพื่อขนส่งผู้โดยสารจากสถานีสิริกุรีมายังเมืองดาร์จีลิ่งแล้ว ยังมีตารางการวิ่งระยะทางสั้น ๆ จากสถานี Ghum มายังดาร์จีลิ่ง และแวะหยุดจอดที่บาเซียตา ลูปให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิวบริเวณสวนอนุสรณ์สถานสงครามเป็นเวลา 10 นาที
            และขณะที่เตร็ดเตร่บริเวณอนุสรณ์สถานสงคราม เพลินดูดอกไม้ที่ผุดขึ้นมาทั้งจากความตั้งใจของมนุษย์ที่ปลูกประดับและที่ขึ้นเองราววัชพืชแต่งอกงามและมีเสน่ห์ได้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะต้นผีเสื้อใบเขียวที่รูปร่างเหมือนผีเสื้อใบม่วงที่เลี้ยงที่บ้านเปี๊ยบ ผิดแต่สีใบ และที่ต่างกัน แต่กระนั่นยังคาดเดาได้ว่า...นี่ต้องเป็นญาติตระกูลเดียวกันแน่ แล้วเสียงปู๊น ๆ ก็ดังขึ้น... มองออกไปเห็นควันดำทะมึนมาแต่ไกล  รถไฟมาแล้ว แค่นี้ก็ชวนให้ตื่นเต้น
ขบวนรถไฟสีฟ้าขนาดสั้นได้ค่อย ๆ เคลื่อนขยับเข้ามาใกล้ ข้ามสะพานเล็ก ๆ ก่อนแล่นวนในสวน ราวจะอวดโฉม ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นขบวนรถไฟจำลอง จนกระทั่งหยุดจอด และมีผู้โดยสารลงมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกนั่นแหละ ทำให้ที่เคลิ้ม ๆ อยู่ นึกขึ้นมาได้อีกครั้งว่า นี่รถไฟของจริงนะ ไม่ใช่รถไฟของเล่น ก่อนจะวิ่งถือกล้องไปถ่ายขบวนรถไฟใกล้ ๆ
          
                                                                   อนุสาวรีย์อนุสรณ์สงคราม

                                                            รถไฟแวะจอดพักในสวนอนุสรณ์สงคราม

                                                         รถไฟแล่นผ่านสะพานบริเวณสวนอนุสรณ์สงคราม

วัชพืชภายในสวน ลักษณะคล้าย 'ผีเสื้อราตรี' ไม้ประดับบ้านเรา เพียงแต่สีใบเป็นสีเขียว พอจะเหมาเดาได้ว่าเป็นพืชตระกูลเดียวกันแน่

๖.  ชาดาร์จีลิ่ง
            อืมม์ ดาร์จีลิ่งเป็นแหล่งปลูกชา มีพื้นที่ปลูกชากว่าแสนไร่ ผลิตใบชาได้ประมาณ 9 -10 ล้านกิโลกรัมต่อปี (เท่านั้นเอง)  สถานที่นี้จึงเป็นเสมือนสถานที่พิเศษสำหรับต้นพืชที่ชื่อว่าชา
ในแง่ความเชื่อของชาวพื้นถิ่น
ที่นี่เป็นสถานพำนักของเทพเจ้า... ลมหายใจที่รินรดได้ช่วยปัดเป่าความร้อนแห่งแสงอาทิตย์และให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนดิน ผืนอากาศ ทั้งยังมีน้ำพุที่พวยพุ่งจากเศียรกลายเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิต
ในแง่วิทยาศาสตร์ ดินแดนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ระดับความสูง 750 – 2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อากาศอบอุ่น อยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุก อันเป็นสภาวะแวดล้อมที่ต้นชาชอบทั้งสิ้น
ระหว่างทางสู่ตัวเมืองได้เห็นไร่ชาเป็นระยะ สังเกตได้ง่ายดาย ด้วยปลูกเป็นแถวเป็นแนวลดหลั่นตามแนวเนินเขา และหากเดินวนเวียนในจตุรัสที่โรแมนติคที่สุดในโลก ร้านขายชา และชา และชา จะปรากฏแทรกตามมุมนั้น มุมนี้ ให้เห็นตลอด
 หลุดเข้าไปในหลายร้าน.... ชาดาร์จีลิ่งที่วางขาย หลากหลายจนเลือกซื้อไม่ถูก มีทั้งชาดำ ชาขาว ชาเขียว และชาอูหลง.... ชาหลายชนิดที่ว่า ไม่ได้มาจากหลากสายพันธุ์ หากแตกต่างกันตรงกระบวนการแปรรูปภายหลังการเก็บเกี่ยว 
ชาเขียวและชาขาว เป็นชาที่มีขั้นตอนในการแปรรูปน้อยที่สุด ใบชาที่เก็บมาจะถูกทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว โดยไม่ผ่านกระบวนการบ่มหมัก ชาสองชนิดนี้แตกต่างตรงตำแหน่งของใบชาที่เก็บนำมาแปรรูป ชาขาวจะแปรรูปจากตูมยอดอ่อนที่ปกคลุมด้วยขนเล็กๆ สีขาว ขณะที่ชาเขียวแปรรูปจากใบชาที่อยู่ถัดลงมาและจะใชัเวลาอบให้แห้งนานกว่าชาขาว
สำหรับชาดำ ใบชาที่เก็บมาจะถูกทำให้แห้ง  และผ่านกระบวนการบ่มหมักอย่างเต็มกระบวนการ
เครื่องดื่มที่ได้จึงมีสีแดงเข้มจนถึงสีดำ  และสุดท้ายชาอูหลง ใบชาที่นำแปรรูปจะถูกทำให้แห้งและบ่มหมักในระยะเวลาสั้น ๆ ชาที่ได้จึงมีคุณสมบัติกึ่งกลางระหว่างชาเขียวกับชาดำ
...
            เลือกไม่ถูก และดูไม่เป็น  สีหน้าฉันคงฟ้องเต็มที่
            คนขายจึงหยิบชามาหนึ่งขยุ้มเล็ก ๆ กำไว้ในอุ้งมือ แล้วใช้ปากเป่าให้ไอร้อนผ่านเข้าไปทำปฏิกริยา... กลิ่นหอมของชาฟุ้งขึ้นมาทันใด ฉันเพิ่งจะรู้ว่านี่คือวิธีการดมกลิ่นใบชา.... อืมม์ แต่ไม่ได้ผลอยู่ดี ฉันยังคงเลือกซื้อไม่ถูกอยู่ดี ได้แต่ยิ้ม และกล่าวขอบคุณ
            แต่... สุดท้าย มาดาร์จีลิ่งแล้วไม่ได้หอบหิ้วใบชากลับบ้านก็กระไรอยู่
            ระหว่างทางผ่านไปยังศูนย์หัตถกรรมชาวทิเบตอพยพ ผ่านไร่ชา มีแผงวางขายของริมทางด้านหน้า รถเลี้ยวเข้าไปจอดใกล้ ๆ  คนขับรถบุ้ยใบให้พวกฉันลองเดินเข้าไปดู
            หน้าไร่ชา... ก็ต้องขายชาสิ
ห่อบรรจุชา ที่นี่ง่าย ๆ ไม่ได้เน้นงดงาม ราคาย่อมเยาว์กว่าที่เห็นขายตามร้าน ขณะกวาดตามอง ถ้วยใบเล็ก ๆ บรรจุชาเขียวหอมกรุ่นก็ส่งมาให้ลองชิม
Sugar หรือ No Sugar  ตามแต่จะเลือก
            ชาร้อน ๆ ในอุ้งมือส่งกลิ่นหอมระเหย ขณะจิบลิ้มรส นัยน์ตาเพื่อนร่วมกลุ่มซอกแซกกว่านั้น เหลือบไปเห็นเจ้าของแผงกำลังห่อก้อนโมโมะ.. เกี๊ยวซ่าแบบทิเบตตัวอวบอ้วน ก่อนค่อย ๆ หย่อนใส่ลงหม้อนึ่งเตาถ่าน....นี่สดใหม่และน่าสนใจไม่แพ้ใบชา เจ้าตัวรีบส่งเสียงเจรจาสอบถาม
            โมโมะนี้ไม่ได้ทำไว้ขาย หากทำไว้กินเอง แต่สุดท้ายเมื่อได้เห็นนัยน์ตาอ้อนวอน พวกเราเลยได้กิน
โมโมะแกล้มชาเขียว เป็นมื้ออาหารแสนอร่อยในเพิงเล็กข้างทางริมไร่ชา
            และคงเดาได้ ก่อนเดินออกจากแผงด้วยท้องที่อิ่มตึง และไม่ต้องคิดมาก ที่นี่มีชาเขียวชนิดเดียวเท่านั้น   ทุกคนจึงได้ชาเขียวติดไม้ติดมือจากดาร์จีลิ่งเป็นของฝากไปทั่วถ้วน


                                                                       ไร่ชาแห่งดาร์จีลิ่ง

                                                                 คนงานเก็บใบชา

๗.  น้ำตกฤดูร้อนชันนู (Chunnu Summer fall)
          ถัดเลยจากตัวเมืองดาร์จีลิ่งไปประมาณ 10 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายเก่า ที่เวียนขึ้น ๆ ลง ๆ ผ่านขุนเขา และไร่ชา แล้วจู่ ๆ ทางก็ดิ่งลงอย่างฉับพลัน สู่หุบเขาเบื้องล่าง
            ด้านหน้าปรากฏสายน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านทางหินเป็นชั้น ๆ ลงมายังเบื้องล่าง มีแมกไม้บดบังเป็นกรอบสองข้าง
            น้ำตก !  ไม่แปลกที่จะมีน้ำตกในพื้นที่ที่สมบูรณ์ท่ามกลางขุนเขา ไหนจะถ้อยความเชื่อที่ว่า มีน้ำพุที่พวยพุ่งจากเศียรกลายเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิต แต่ที่ชวนทึ่งคือการจัดการต่างหากเล่า น้ำตกที่เห็นเบื้องหน้ามีการจัดทำเส้นทางเดินอย่างดีเป็นทางขนานนำไปสู่การชมน้ำตกด้านบนที่สูงชัน และหากอยากข้ามฟากจากน้าตกด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งมีการทำสะพานข้ามเป็นระยะ ๆ ให้สามารถเดินข้ามไปได้... และนั่นหมายความว่าสามารถหยุดยืนชมวิวในมุมสูงได้จากกลางสะพาน โดยไม่ต้องลงไปเดินลุยตัวน้ำตกให้เปียกปอน หรือเป็นอันตราย
            เป็นการจัดการที่ดีเยี่ยมเชียวล่ะ
                                                                 


                                                                             น้ำตกฤดูร้อนชันนู

                                                     ทางเดินขนานนำไปสู่การชมน้ำตกในระยะใกล้ชิด

                                                             สวนหินใกล้น้ำตกฤดูร้อนชันนู
            จากจังหวะของทางเดินและสะพานที่สร้างอย่างกลมกลืน รวมถึงเส้นสายบนราวสะพาน ชวนให้เผลอนึกไปบางครั้งว่ากำลังอยู่ในประเทศจีน หรือไต้หวัน ไม่น่าเชื่อว่าน้ำตกที่เห็นเบื้องหน้าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศอินเดีย
            และ...อีกแล้ว ต้นไม้ดอกไม้ที่แทรกแซมตามทางเดินเที่ยวชมน้ำตกสวยเหลือเกิน... ปนเปทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และด้วยน้ำมือมนุษย์ แต่การปลูกที่ไม่จงใจ ทำให้ผสมผสานกันได้ดี  แค่เดินดูดอกไม้ ที่ฉ่ำสี แผ่นมอส แผ่นไลเคนที่อุดมก็เพลิดเพลินแล้ว ทดแทนโอกาส 1% ที่ท้องฟ้าจะเปิด ทดแทนการไม่ได้ไปสวนสัตว์เพื่อชมแพนด้าแดง สัตว์พื้นถิ่นที่มีเฉพาะที่นี่เพราะถนนขาด แล้วถ้อยประโยคหนึ่งก็ผลุดขึ้นมา เดือนกรกฏา... เป็นฤดูดอกไม้บาน
            ดอกไม้ที่นี่สวยจริง ๆ นะ ยืนยันอีกครั้ง


                                                             ดอกไม้สีสันสดสวยบริเวณน้ำต