20 ธันวาคม 2556

หิมาลายาตะวันออก ตอนที่ 4

 8. สู่สิกขิม 

สิกขิม ชื่อนี้ได้ยินบ่อยไม่แพ้ดาร์
จีลิ่งทีเดียว

สิกขิมเป็นรัฐขนาดเล็กทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ขนาบด้วยประเทศเนปาลทางตะวันตก ประเทศภูฏานทางตะวันออก และ เขตปกครองพิเศษทิเบตทางตอนบ 

กังต๊อก (Gangtok) เมืองหลวงของรัฐที่เราไปเยือนเป็นเมืองใหญ่ ประชากรและสิ่งก่อสร้างแน่นหนา อาคารพาณิชย์หลายชั้นสร้างขนาบไปกับทางถนนที่เวียนไต่ไปตามเนินเขา ทำให้เห็นเส้นทางบันไดเล็กๆ เป็นเหมือนซอกซอยในแนวตั้งเชื่อมระหว่างอาคารพาณิชย์ที่เวียนอยู่คนละชั้น

จอแจทั้งรถและคน... นี่ไม่ใช่ภาพเมืองของรัฐสิกขิมในจินตนาการ ไม่คาดคิดว่าหลังจากนั่งรถหลังขดหลังแข็ง ผ่านผืนป่า ผ่านสายน้ำ ผ่านขุนเขามาหลายต่อหลายลูก จะเจอเข้ากับดงตึกแถวพาณิชย์ขนาดใหญ่บนเขาเป็นลูกๆ แม้จะเห็นภาพแบบนี้เตือนมาพอเป็นเลาๆ ที่ 'กาลิมปง' กับ 'ดาร์จีลิ่ง' แต่อาคารพาณิชย์ที่นั่นไม่มากชั้นและแน่นหนาเท่าที่นี่ ที่สำคัญมีสะพานลอยข้ามถนนซะด้วย (ไม่รู้ล่ะ ฉันชอบใช้สะพานลอยเป็นดัชนีชี้วัดความวุ่นวายของตัวเมือง)

กังต๊อกเป็นเมืองใหญ่... เมืองใหญ่มากจริงๆ 

ขณะที่เดินหอบหิ้วสัมภาระผ่าน ถนนสายคนเดิน เพื่อตรงไปยังที่พัก ผู้คนที่ผ่านไปมาแต่งเนื้อแต่งตัวหลากหลาย ทั้งแบบสมัยนิยมโดยเฉพาะพวกวัยรุ่น และแบบพื้นถิ่นที่ยากจะบ่งบอกแน่ชัดว่าพื้นถิ่นไหนกันแน่ เนปาล อินเดีย ฤาจะเป็นทิเบต

เข้าไปในโรงแรม วางสัมภาระเรียบร้อย แอบมองลอดหน้าต่างลงมายังบรรยากาศเบื้องล่างอีกครั้ง 'ถนนสายคนเดิน' ที่นี่รับรูปแบบจากเมืองใหญ่ในยุคปัจจุบันมาอย่างเห็นได้ชัด ถนนกว้างขนาบด้วยอาคารพาณิชย์สองด้าน ตรงเกาะกลางถนน ตกแต่งด้วยกระถางไม้ประดับ เสาไฟสีดำแบบตะวันตก รูปปั้นครึ่งท่อนบุคคลสำคัญที่มองแต่ไกลก็รู้ว่าเป็น มหาตะมะคานธี และมีเก้าอี้สำหรับให้คนเดินเที่ยวได้นั่งพักเป็นระยะ 

นี่เป็นรูปแบบมาตรฐานสำหรับเมืองยุคปัจจุบันสินะ ไม่น่าเชื่อว่ารูปแบบถนนคนเดิน (แบบให้เดินชอปปิง) จะบุกป่าฝ่าดง มางอกงามถึงที่นี่ได้

แอบมองลอดช่องหน้าต่างแล้วออกไปเดินสัมผัสของจริงบ้าง 

ทันทีที่โผล่หน้าออกไป เสียงดนตรีแว่วหวานจากลำโพงตรงเกาะกลางถนนให้ได้ยิน เคนนี่ จี...นี่มันเสียงแซกโซโฟนของนักดนตรีชื่อดัง...เคนนี่ จี ให้ตายสิ โลกใบนี้ เดี๋ยวนี้การเสพงาน การใช้ชีวิตช่างเชื่อมประสานต่อเนื่องถึงกันได้อย่างน่าทึ่ง และแอบกระซิบเล็กน้อย เมืองหลวงของรัฐสิกขิมนี่เจริญจริงๆ แค่เดินเที่ยวเล่นบน 'ถนนสายคนเดิน' ไปไม่กี่ก้าว ก็แอบเห็นร้านขายน้ำที่มีตู้แช่ขนาดใหญ่ แช่น้ำหวานสารพัดชนิดเย็นเจี๊ยบ 

ชนิดที่ในเมืองกัลกัตตาเองยังหาร้านขายน้ำที่แช่ขวดเย็นเจี๊ยบแบบนี้ได้ลำบากยากเย็


เมืองกังต๊อกเต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ที่สร้างเวียนตามเนินเขา

เมืองกังต๊อกยามค่ำคืน

อาคารพาณิชย์หลายชั้นสร้างขนาบไปกับทางถนนที่เวียนไต่ไปตามเนินเขา

รูปปั้นมหาตะมะ คานธี บนถนน เอ็ม. จี. มาร์จ ชื่อถนน M.G Marg ย่อมาจากชื่อ Mahatma Gandhi

นั่งพบปะพูดคุยริมทาง


รูปร่าง หน้าตา การแต่งกายของชาวสิกขิมหลากเชื้อชาติ-วัฒนธรรม

ถนนสายคนเดิน M.G. Marg ถนนสายหลักที่พาดผ่านใจกลางเมืองกังต๊อก


9. กลิ่นอายทิเบตในเมืองกังต๊อ
เมืองในดินแดนหิมาลายาตะวันออก ล้วนเป็นเมืองหลากเชื้อชาติ-วัฒนธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองกาลิมปง เมืองดาร์จีลิ่งที่ได้เยือนมาก่อนหน้านี้ แต่ภาพผสมผสานดังกล่าวที่เมือง กังต๊อก ดูจะเด่นชัดกว่าที่อื่น คงเป็นเพราะจำนวนประชากรที่หนาแน่น แค่เดินขวักไขว่ผ่านไปมาให้เห็นก็เวียนหัวตุ้บแล้ว ทั้งชุดและรูปร่างหน้าตา จะเป็นชาวเนปาลี ชาวเลปชา (Lepcha) ชาวภูเทีย (Bhutias) หรือชาวอินเดีย ดูปะปนกันไปหมด แยกไม่ออกเลยทีเดียว (ชาวเลปชาและชาวภูเทียเป็นชาวพื้นถิ่นอพยพมาจากทิเบต)

ขณะอยู่บนห้องพัก ฉันค้นพบว่าโทรทัศน์ที่นี่สามารถรับคลื่นทีวีจากประเทศภูฏานได้อย่างชัดแจ๋ว ราวกับกำลังอยู่ในประเทศภูฏานไม่ปาน ภาพกษัตริย์จิกมี่ กษัตริย์ประเทศภูฏานที่เป็นขวัญใจชาวไทยปรากฏบนจอสี่เหลี่ยม ทำเอามือที่จะกดรีโมทเปลี่ยนช่องชะงักค้าง.... เข้าท่านะ นอนอยู่ที่กังต๊อกแต่ดูทีวีประเทศภูฏาน ว่าแล้วเลยหยิบกล้องใกล้ตัวขึ้นมาถ่ายรูปกษัตริย์จิกมี่ในจอทีวี... กะว่าจะเอาไปอวดพวกเพื่อนสาวๆ สักหน่อย


ร่มและประตูทางเข้าวัดเอนเช สีสันสดใสไม่แพ้กันเลยทีเดียว

วิหารวัดเอนเช

กลิ่นอายทิเบตที่นี่เข้มข้น บนถนนคนเดิน การเดินสวนผ่านกับพระลามะเป็นเรื่องแสนธรรมดา ร้านอาหารทิเบตเองมีให้เห็นทั่วไป คราวอยู่ดาร์จีลิ่งได้กินแต่โมโม คราวนี้ล่ะจะได้ลองอาหารทิเบตอย่างอื่นดูบ้าง ข้าวผัดสไตล์ทิเบต โมโมทั้งแบบนึ่งแบบทอด และที่ได้ยินชื่อบ่อยๆ ทุกปา...ก๋วยเตี๋ยวน้ำแบบทิเบต รสชาติอาหารแปลกลิ้น จะว่าอร่อยก็ไม่เชิง แต่มีพระลามะนั่งฉันอาหารอยู่โต๊ะข้างๆ ด้วยนี่สิ ช่วยให้อาหารมื้อนั้นช่างเป็นอารมณ์อาหารมื้อทิเบต


เมืองกังต๊อกยังมีวัดทิเบตสวยๆ หลายแห่ง โอ่อ่า และใหญ่โตกว่าที่เมืองกาลิมปงและดาร์จีลิ่ง

วัดแรกที่ได้ไปเยือนคือวัด เอนเช (Enchey) ทางเดินนำเข้าสู่ตัววัดร่มรื่น ตัดด้วยสีเข้มสดของธงมนตราที่พาดผ่าน และแถวของกงล้อมนตราขนาดเล็กที่ขนาบไปตลอดเส้นทาง ตัววิหารของวัดเคลือบด้วยแม่สีอย่างสีเหลือง สีแดง เช่นเคย หันไปทางไหนจึงดูเจิดจ้าไปห
มด


ขณะที่ไปเยือนเป็นจังหวะพอดีกับที่ลามะน้อยรูปหนึ่ง ได้เดินเคาะระฆังไปทั่วตัววัด ก่อนไปหยุดที่อาคารฝั่งตรงข้ามกับตัววิหาร

พระลามะผู้ใหญ่ได้มารวมตัวกัน ก่อนเดินเป็นแถวเข้าไปยังด้านในวิหาร

การสวดมนต์กำลังจะเริ่มขึ้น

ความอยากรู้ทำให้โผล่หน้าชะโงกมองเข้าไปด้านใน คุณลุงเจ้าหน้าที่ใจดีเห็นพวกเราสนอกสนใจ จึงกวักมือเรียกให้เข้าไปนั่งฟังพระสวดมนต์ด้านใน

นับเป็นโอกาสดีครั้งหนึ่ง สำหรับพุทธศาสนิกชนนิกายเถรวาทอย่างพวกเราที่ได้ฟังบทสวดมนต์ของนิกายวัชรยาน เครื่องเป่า ระฆัง ฉาบ ที่เห็นวางแต่แรกในวิหาร ถูกนำมาใช้ประกอบการสวดมนต์ เป็นการตอบคำถามที่สงสัยแต่แรกว่า อุปกรณ์เหล่านี้วางไว้ในวิหารสำหรับเพื่ออะไร

ภาษาในบทสวด ท่วงทำนอง และเสียงเครื่องดนตรี ย้ำให้นึกถึงสิ่งที่เพิ่งอ่านเจอไม่นานมานี้ที่ว่า พิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาพุทธนั้นเป็นเพียงอุบาย เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่มีการกำหนดวิธีการที่แน่ชัด พิธีกรรมของชาวพุทธจึงมีความยืดหยุ่น และแตกต่างไปตามวัฒนธรรม ตามความนิยมของแต่ละชนชาติ แต่ละสังคม

พิธีการดำเนินไป ระหว่างนั้นใครที่ต้องการจะเข้ามาไหว้พระประธานในวิหารสามารถเข้ามาไหว้ได้ตามปกติ นั่นช่วยลดความเคร่งขรึมของพิธีการไปได้มากทีเดียว

ภายในวัดเอนเช มีห้องที่เรียกว่า Butter Lamp ซึ่งภายหลังพบว่า วัดทิเบตใหญ่ๆ ล้วนมีห้องนี้ทั้งนั้น ตอนเข้าไปในห้องรู้สึกอบอุ่น เพราะมี ตะเกียงเนย จำนวนมากจุดไฟวางเรียงราย สีของตัวไฟและภาชนะที่บรรจุที่เป็นสีทองอันเป็นโทนสีร้อน ยิ่งให้รู้สึกอุ่นเข้าไปอีก... ช่วยขับไล่อากาศเย็นชื้นจากฝนที่ตกด้านนอกเกือบตลอดเวลาได้ดีเชียว และไม่รู้เพราะอย่างนั้นหรือเปล่า เลยมีลามะน้อยนั่งจับกลุ่มกันเต็มห้อง และเด็กยังคงเป็นเด็ก ในมือลามะน้อยที่เป็นจุดศูนย์กลางที่เพื่อนๆ มุงล้อมมีเครื่องเล่นเกมส์ขนาดเล็กอยู่ในมือ

ตะเกียงเนยนั้นใช่เรียกกันเล่นๆ เพราะตัวเชื้อไฟทำมาจากเนยจริงๆ อันเป็นผลิตผลจากนมของตัวจามรี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนจากเนยเป็นน้ำมันพืชธรรมดาๆ นี่แหละ

การจุดตะเกียงเนยเชื่อกันว่าเป็นการจุดประกายปัญญา เพราะแสงสว่างทำให้มองเห็นได้ชัดเจน ช่วยขับไล่ความไม่รู้ออกไป

ว่าไปแล้วธรรมเนียมการจุดเทียน จุดตะเกียงไฟ ดูจะละม้ายคล้ายกันทุกศาสนา

แต่ธรรมเนียมที่นี่แปลกสักหน่อยตรงที่มีการแยกห้องออกมาเป็นสัดเป็นส่วน




ชาวพุทธวัชรยานเชื่อว่าการจุด 'ตะเกียงเนย' คือการจุดประกายปัญญา

ตะเกียงเนย