2 มกราคม 2557

หิมาลายาตะวันออก ตอนที่ 6

๑๐.  สู่เพลลิ่ง
            เพลลิ่งเป็นเมืองเล็กที่ไม่รู้จัก และไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เป็นเมืองสุดท้ายของการเดินทางที่ทางการรถไฟอินเดียจัดเส้นทางไว้ สิ่งที่ช่วยยืนยันความเป็นเมืองเล็กคือ อุปกรณ์ GPS ในมือที่ระบุตำแหน่งเมืองเพลลิ่งปรากฏขึ้นมาโดด ๆ ดูห่างไกล และไม่มีเส้นทางถนนแสดง ตอนที่ก้มมองตำแหน่งเมืองเพลลิ่งในอุปกรณ์สี่เหลี่ยม จึงรู้สึกเหมือน กำลังเดินทางสู่เมืองลึกลับ
            เส้นทางสู่เมืองเพลลิ่ง ไต่สูงขึ้นทุกขณะ จนบางช่วงรู้สึกตัวเองอยู่สูงกว่าขุนเขาที่อยู่รายล้อม จนแทบจะหยอกล้อ ยั่วเย้ากับกลุ่มเมฆที่อยู่บนท้องฟ้าได้      นอกจากเส้นทางจะไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ความสมบูรณ์ของป่าที่เก็บกักความชุ่มชื่น ได้กลั่นกลายเป็นหยดน้ำที่ไหลรวมกลายเป็นสายน้ำ ที่เมื่อไหลผ่านที่ชันสูง กลายเป็นน้ำตก ครั้นผ่านที่ลาดต่ำกลายเป็นลำธารรินไหล บางช่วงข้ามผ่านทางถนน เปลี่ยนทางรถเป็นทางน้ำ จนรถต้องค่อย ๆ แล่นผ่านอย่างระมัดระวัง....
            ระหว่างทาง คนขับรถได้หยุดรถแวะพักริมทางที่ร้านอาหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง มีผู้โดยสารแบบพวกเรานั่งแวะทานอาหารอยู่หลายโต๊ะ ด้านในสุด มีห้องน้ำให้เข้าฟรี ต้องยืนต่อคิวรอกันเล็กน้อย ตรงบริเวณนั้นมีหน้าต่างบานกว้างเปิดทิ้งไว้ เผยให้เห็นวิวด้านนอกที่เป็นสันเขา เป็นการยืนรอต่อคิวเข้าห้องน้ำที่คนรอดูจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจกันเท่าไหร่ เพราะใครมีกล้อง ก็ควักกล้อง ใครมีวิดีโอ ก็ควักวิดีโอ ออกมาบันทึกภาพ เบียดมองชมวิวด้านนอกด้วย.... ก็ทิวเขาที่อวดโฉมด้านนอกน่ะ สวยจริงๆ  นะ หนุ่มสิกขิมที่มายืนแอบมองพวกเราถ่ายภาพวิดิโอโดยโทรศัพท์มือถือส่งสายตายืนยัน ขณะเราหันไปสบตา ถึงใครไม่มี ก็อดมองทอดสายตาไปข้างนอกไม่ได้... กระทั่งบางคนแม้ไม่ได้ต่อคิวเข้าห้องน้ำ ยังอุตส่าห์มายืน
            ปลายทางของการเดินทางไปจบตรงที่พักที่เป็นรีสอร์ทเล็ก ๆ บนยอดเขา  เมื่อเปิดประตูดาดฟ้าเพื่อออกไปชมวิวด้านนอก ต้องยืนอึ้งไปชั่วขณะ รอบด้านรายล้อมไปด้วยทิวเขาสูงทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกล แม้ฝนจะยังคงตกพึมพำเหมือนคนขี้บ่น แต่ทิวสีฟ้ายังปรากฏให้เห็น แถมด้วยปุยเมฆขาวนุ่มที่คลอเคลียบนยอดราวกับปุยขนม... โอกาสที่ว่าฟ้าดินแดนเทือกเขาหิมาลายาตะวันออกจะเปิดแค่ 1% ในเดือนกรกฏาคม เป็นอันลืมไปได้เลย.... เพราะแค่วินาทีนั้น ภาพที่เห็นเบื้องหน้า ก็ทำเอาคณะเดินทางย่ำแย่ไปตาม ๆ กันแล้ว









๑๑. เมืองเก่ารัปเดนเฌ
อดีต สิกขิมเคยเป็นรัฐอิสระ ปกครองโดยระบบกษัตริย์ หากถูกเพื่อนบ้านอย่างประเทศภูฏาน และเนปาลรุกรานอยู่บ่อย ๆ  ทำให้ต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยครั้ง จนท้ายสุดได้ผนึกรวมกลายเป็นรัฐหนึ่งของประเทศอินเดีย นับเป็นการสิ้นสุดสถานะการเป็นรัฐอิสระ
ใกล้ ๆ เพลลิ่ง เป็นที่ตั้งอดีตเมืองหลวงแห่งหนึ่งของรัฐสิกขิมชื่อว่ารัปเดนเฌ (Rabdantse)
ทางเข้าสู่อดีตเมืองเก่าเวิ้งว้าง กระทั่งซุ้มป้าย ตัวอาคาร เหมือนถูกสร้างทิ้งไว้ไม่ทันเสร็จ และไม่ได้ใช้งาน ขณะมองภาพด้านหน้าอย่างงง ๆ  หันไปมองคนขับรถ เด็กหนุ่มยังคงยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ ให้พวกเราเดินไปตามทางเล็ก ๆ ด้านใน 
เอาไง เอากัน เมื่อกล้ายืนยัน พวกเราก็กล้าเข้าไป
เมื่อเดินไปตามเส้นทางนั้น พบว่า ทางเดินดังกล่าวค่อย ๆ รุกล้ำเข้าไปในดงเฟินยักษ์ที่ใบแต่ละใบ ใหญ่เกือบเท่าลำตัวพวกเราเลยทีเดียว และเพราะมัวเเพลินไปกับเส้นสายของใบเฟิน และต้นไม้สวย ๆ แปลกตา เมื่อก้มมองไปที่ทางเท้าอีกครั้ง จึงพบว่าทางเดินได้กลายเป็นทางหินไปเมื่อไหร่ไม่ทันรู้ตัว แล้วทางหินนั่นก็สวยเสียด้วย หินแต่ละก้อนมีผลึกสีแวววาวต่างกัน เมื่อนำมาวางเรียงต่อเป็นทางยาว ผสานกับลวดลายของใบไม้ที่ร่วงหล่น กลายเป็นทางเดินเท้าสู่ธรรมชาติที่งดงามเป็นที่สุด
แต่ความงามสงบวางใจไม่ได้เลยเชียว ด้วยจู่ ๆ หนึ่งในคณะได้ร้องลั่นออกมา ขาอันนวลเนียนปรากฏเลือดสีแดงเข้มไหลเป็นทางตรงบริเวณน่อง ลักษณะแบบนี้เห็นปุ๊ป รู้ปั๊ป ฝีมือทากดูดเลือดแน่นอน ยิ่งทิ้งรอยเลือดไว้แบบนี้ แสดงว่าเจ้าตัวหล่นไปนอนอิ่มสบายตรงไหนแล้วก็ไม่รู้  จากที่เดินเรื่อยๆ สบายๆ จึงเริ่มระแวด ระแวง และหวนกลับมาสงสัยอีกครั้งว่า ทางเดินนี้นำไปสู่อะไรกันแน่ แต่แล้วราวกับรู้ใจ จู่ ๆข้างทางก็มีป้ายบอกทางขนาดใหญ่โผล่มาเสียอย่างนั้น
“อย่าเพิ่งเบื่อหรือท้อ ความตื่นเต้นกำลังรอยู่ข้างหน้า”  ถอดใจความในป้ายได้ความหมายประมาณนี้  แล้วบนป้ายนั้นก็มีลูกศรสีแดงชี้บอกทาง พร้อมระยะทางเสร็จสรรพ 200 เมตร
เอ้า...อีกแค่ 200 เมตรเอง
และเมื่อพ้นระยะ 200 เมตร จากทางเดินแคบ ๆ ก็โผล่สู่ลานเปิดกว้างโล่งบนเนินเขา....
ที่สุดเราก็มาถึง เมืองโบราณ... เมืองรัปเดนเฌ
สวยมั้ย... ตอบไม่ถูกเลยทีเดียว  ยังรู้สึกงุน ๆ งง ๆ พิศวงว่ามาถึงซากเมืองโบราณนี้ได้อย่างไร เหมือนเดินหลงพลัดเข้าไปในป่า แล้วอยู่ดี ๆ ก็โผล่พรวดเข้าสู่เมืองโบราณ
เมืองรัปเดนฌ ตั้งอยู่บนเนินสูง ไอฝน และไอหมอกลอยปกคลุมทั่วบริเวณที่เหลือเพียงเค้าโครงซากกำแพงให้พอจินตนาการได้ว่าเคยมีอาคาร ห้องหับตรงไหนบ้าง เผิน ๆ ที่นี่คือซากเมืองโบราณที่ถูกทิ้งร้าง แต่ทางเดินรอบ ๆ ที่สะอาด สะอ้าน ต้นไม้ ต้นหญ้าที่ถูกเก็บกวาดไม่มีรกรุงรังให้เห็นสักนิด ทำให้อดนึกสงสัยอยู่บ้าง หากไม่เหลือบไปเห็นเพิงที่พักตั้งถัดห่างออกไปตรงพื้นที่ด้านล่างเสียก่อน
คงเป็นเดือนกรกฏาคม เสียละมัง ทั้งหมอก และฝนพรมฉ่ำตลอดเวลาอย่างนี้ จึงไม่มีนักท่องเที่ยวรายอื่น กระทั่งเจ้าหน้าที่ก็เก็บเนื้อเก็บตัวเงียบเชียบ
            ริมขอบกำแพงเมืองด้านหนึ่งชิดติดริมสันเขา เป็นที่ตั้งของสถูปสำหรับบูชา มองทอดออกไปเป็นท้องฟ้าเวิ้งว้าง มีร่องรอยผู้คนนำของมาวางสักการะ... นี่เป็นร่องรอยอารยธรรมของรัฐเล็ก ๆ ที่ไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะได้มาเห็น