24 มกราคม 2557

พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ

พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ.... ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์

ในบรรดาจิตกรเอกของโลก บุคคลที่ฉันรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาที่สุดคงต้องยกให้ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh) จิตรกรชาวฮอลแลนด์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยภาพวาดตัวเองของเขา ปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ให้เห็นบ่อยครั้งตั้งแต่เด็กยันโตจนคุ้นชินกับภาพใบหน้าชายหนุ่มที่เกิดจากฝีแปรงหนาหนัก และเส้นสีฉูดฉาด แปลกตาแต่นั่นทำให้จดจำได้อย่างแม่นยำ

ชีวิตการเป็นศิลปินของแวนโก๊ะเองฉูดฉาด ไม่ต่างจากเส้นสีที่ใช้ 

ชีวิตรักที่ล้มเหลว

ขายภาพเขียนที่วาดไว้ราว 900 ภาพ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เพียงภาพเดียว 

แตกคอกับเพื่อนสนิท

มีปัญหาทางจิต

เฉือนหูตัวเองทิ้งแล้วยังวาดภาพใบหน้าตนเองขณะที่ยังมีผ้าพันแผลพันตรงใบหูได้อย่างสงบนิ่ง.... 

จบชีวิตตนเองด้วยการฆ่าตัวตาย

เมื่อมีโอกาส ฉันกับบรรดาเพื่อนร่วมทางจึงนั่งรถรางจากสถานีรถไฟกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ตรงไปยัง พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ (Vangohg Museum) เพื่อนคนหนึ่งหยิบมือถือที่ได้ดาวน์โหลดแผนที่เมืองอัมสเตอร์ดัมเก็บไว้ขึ้นมาเปิดใช้งานระบบนำทาง 

การมองจุดภาพตนเองที่ค่อยๆ เคลื่อน ตึ่ด ตึ่ด ตึ่ด ไปบนแผนที่บนจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ให้ความรู้สึกสนุกและช่วยให้การเดินทางง่ายขึ้นแยะเชียว ไม่ต้องคอยกังวล คอยยื่นหน้ามองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อดูชื่อสถานที่ว่าถึงที่หมายหรือยัง

ด้านหน้าตึกพิพิธภัณฑ์ แวนโกะ

อาคารพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะที่อยู่เบื้องหน้าเป็นอาคารสไตล์โมเดิร์น เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของแวนโกะและเพื่อนศิลปินร่วมสมัยเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นงานที่แวนโก๊ะและน้องชายที่เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินของเขาได้สะสมไว้

การจัดวางงานแสดง ทำได้อย่างน่าสนใจมากๆ กระทั่งคนที่ไม่ได้เรียนมาทางศิลปะอย่างฉัน ยังเห็นถึงพัฒนาการทางด้านการวาดภาพของแวนโก๊ะอย่างชัดเจน

ผลงานช่วงแรกของแวนโก๊ะเป็นภาพเขียนผู้คน โดยเฉพาะภาพใบหน้าชายหนุ่ม-หญิงสาวที่เป็นชาวไร่-ชาวนาที่มีรูปหน้าหยาบกร้าน สีสันที่ใช้นั้นทึมทึบ ขัดแย้งกับสมัยนิยมตอนนั้น ที่เกิดขบวนการศิลปะใหม่ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ปารีส เรียกว่า Impressionism ซึ่งศิลปินจะใช้เส้นสีที่หนาและสว่าง



ภาพ Head of a Woman วาดเมื่อปี ค.ศ.1885

ภาพ Potato Eater วาดเมื่อปี ค.ศ.1885

เมื่อแวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่ปารีส งานของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลง เขาได้เห็นวิธีการใช้เส้นสีที่สว่างสดใสของเพื่อนศิลปินกลุ่ม Impressionism

“What is required in art nowadays is something very much alive, very strong in color, very much intensified”

นั่นเป็นข้อความที่แวนโก๊ะเขียนไว้

แวนโก๊ะเริ่มฝึกใช้สีที่สดใส เขาไม่มีเงินจ้างคนมาเป็นแบบวาดรูป จึงใช้วิธีการวาดรูปตนเองแทน... นั่นทำให้ ใบหน้าของแวนโก๊ะกลายเป็นใบหน้าหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี

ภาพเขียนรูปตัวเองแรกๆ ของเขายังเป็นโทนสีทึม นั่นคือ 'สีน้ำตาลเทา' ก่อนจะเปลี่ยนกลายเป็น สีเหลือง แดง เขียว และ ฟ้า ในที่สุด สีสดๆ ป้ายตวัดอย่างหยาบๆ ...นี่แหละลักษณะของแวนโก๊ะเขาล่ะ ในที่สุดเขาก็ค้นพบเทคนิคเฉพาะของตนเอง




ภาพ Self- Protrait ปี ค.ศ.1887

ภาพ Self-portrait as a painter ปี ค.ศ. 1888

ภาพ Self-Protrait with Felt Hat ปี ค.ศ. 1888

แวนโก๊ะเรียนรู้เทคนิคการใช้สีจากศิลปินกลุ่ม Impressionism แต่สิ่งที่สื่อออกมานั้นแตกต่างกัน

ศิลปินกลุ่ม Impressionism ใช้สีสดและฝีแปรงที่สะบัดอย่างรวดเร็ว เพื่อจับอารมณ์แสงสีธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกนาที แต่สำหรับแวนโก๊ะเขาใช้สีสดจัด เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่เพื่อสื่อถึงบรรยากาศของสีแสงที่เห็น และนั่นทำให้งานของเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Post-Impressionism ที่เป็นขบวนการต่อยอดจากกลุ่ม Impressionism

งานของแวนโก๊ะและเพื่อนศิลปินในยุคสมัยเดียวกันที่แสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่ใช้สีสด และฝีแปรงที่สะบัดหนา แต่ฉันรู้สึกของฉันว่า ฝีแปรงของแวนโก๊ะนั้นเข้มข้น และปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกออกมาอย่างชัดเจนจนสัมผัสได้ โดยเฉพาะงานในช่วงหลังๆ

ฉันยืนมองภาพเขียนที่แสดงบนผนังห่างๆ แล้วเล่นเกมกับสายตาตนเอง ภาพข้างหน้า เป็นผลงานของแวนโก๊ะใช่หรือไม่

ใช่...
ไม่ใช่...

ฉันเล่นเกมส่วนตัวนี้ และพบว่าฉันทายผิดเพียงภาพเดียวเท่านั้น ฝีแปรงที่เด่นชัด อารมณ์ที่สื่อออกมาชัดเจน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแวนโก๊ะจึงกลายเป็นหนึ่งในจิตรกรเอกของโลกที่ผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และราคาแพงระยับ

ที่ชวนแปลกใจ คือการได้เห็นงานแสดง ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ภายในพิพิธภัณฑ์ มีไม่น้อยเชียวล่ะ!!

แถมภาพเขียนหลายภาพของแวนโก๊ะเองวาดเลียนแบบภาพพิมพ์เหล่านั้นด้วยซ้ำ

เมื่ออ่านรายละเอียดคำอธิบาย จึงรู้ว่า 'ศิลปะภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น' ที่มีการใช้เส้นโค้ง พื้นผิวที่เป็นลาย การใช้สีสันสดใส ความราบของภาพเป็นที่นิยม และมีอิทธิพลต่อศิลปินในยุคสมัยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่รู้มาก่อนจริงๆ

นอกจาก 'ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น' แล้ว ยังมีการแสดง ภาพพิมพ์ศิลปะบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) ซึ่งเป็นงานศิลปะที่เน้นการใช้เส้นโค้งที่พลิ้วไหว อ่อนช้อย ซึ่งศิลปินในกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นเช่นกัน

ศิลปินอีกคนหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้กัน และมีภาพเขียนแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อยู่หลายภาพได้แก่ โคลัต โมเนต์ (Claude Monet)

งานของโมเนต์ต่างจากแวนโก๊ะอย่างเห็นได้ชัด ภาพหวานกว่า และฝีแปรงเป็นเส้นหนาๆ แต้มเป็นจุดๆ

งานของศิลปินสะท้อนความเป็นตัวตนของศิลปินผู้นั้น ฉันรู้สึกอย่างนั้น

ตอนที่ฉันดูภาพเขียนของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)ที่พิพิธภัณฑ์ อุฟฟิซซี่ (Uffizi Museum) ฉันรู้สึกของฉันว่า เขาเป็นคนอ่อนโยนและขี้เล่น

ตอนที่ฉันยืนดูภาพเขียนบนผนังเพดานของ มิเกลันเจโล บูโอนาร์โรติ (Michelangelo Buoarroti) ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน (Vatican Museum) และประติมากรรมเดวิดอันโด่งดังของเขาที่เมืองฟลอเรนซ์ ฉันรู้สึกของฉันว่า เขาเป็นคนเอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น เต็มไปด้วยพรสวรรค์ และพรแสวง ที่หาคนเทียบได้ยาก

โมเนต์ต้องเป็นคนหวาน หวานมากๆ แน่
สำหรับแวนโก๊ะ เป็นคนที่อ่อนโยน อ่อนไหว และมีอารมณ์รุนแรง 
นั่นเป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกและตีความจากภาพเขียนของพวกเขแล้วฉันก็มาถึงภาพเขียนที่น่าจะโด่งดังเป็นลำดับต้น ๆ ของแวนโก๊ะ ภาพวาด 'ดอกทานตะวัน'


ภาพ Sunflowers ปี ค.ศ.1889

ภาพ Sunflowers หรือ ภาพวาด 'ดอกทานตะวัน' เป็นผลงานขณะที่เขาย้ายไปอยู่ที่เมือง Arles แคว้นโปรวองซ์ สีเหลืองสดจัด สมกับเป็นการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสีสัน และแสงแดดที่อบอุ่น

ภาพที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักดีเกือบทั้งหมดของแวนโก๊ะล้วนแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

แต่ที่หาไม่เจอคือภาพ Starry Night....ภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่บทเพลงอันโด่งดัง วินเซนต์ (Starry ,Starry night) ของ Don McLean ปี ค.ศ.1971

ภาพ Starry Night นั้นแสดงอยู่ที่ Museum of Modern art เมืองนิวยอร์กอีกแล้ว....

การที่จะดูผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกสักคนหนึ่งให้ครบทั่วถ้วนนี่ต้องเดินทางให้ควั่กกันเลยทีเดีย

คงเหมือนภาพวาดของ เลโอนาร์โด ดา วินชี แทนที่จะได้เห็นครบๆ ในประเทศอิตาลี กลับมีไปโผล่แสดงที่พิพิธภัณฑ์ประเทศโน้นประเทศนี้ อีกหลายประเทศ

แต่แค่นี้ก็อิ่มแสนจะอิ่ม สีสดๆ ของฝีแปรงของแวนโก๊ะจับตาไปอีกนาน

ขณะเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ มีคนนำของที่ระลึกมาวางขาย.... มีภาพวาด Starry Night แขวนเจิดแจ่มให้เห็น... เหมือนจะบอกกันเป็นนัยๆ ว่า...ไม่ได้เห็นของจริง เห็นภาพพิมพ์เลียนแบบก็ยังดี อย่างน้อยก็แขวนตรงพื้นที่บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะเชียวนะ

เกร็ดน่ารู้
- Impressionism เป็นขบวนการทางศิลปะ เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ.1850- 1875 โดยมีประเทศฝรั่งเศสเป็น
  ศูนย์กลางของกระแสความเคลื่อนไหว ขบวนการทางศิลปะนี้เกิดขึ้นโดยเป็นผลพวงการปฏิวัติฝรั่งเศส
  ในปีค.ศ. 1789 ซึ่งหลังจากการปฏิวัติได้เกิด 'ชนชั้นกลางกลุ่มใหม่' ขึ้นมาในสังคม ชนชั้นกลางกลุ่ม
  นี้ต้องการศิลปะที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ศิลปินกลุ่ม Impressionism ได้
  ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชนชาติกลางเหล่านี้ที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงาม
  โดยการใช้สีสดและฝีแปรงที่สะบัดอย่างรวดเร็ว เพื่อจับอารมณ์แสงสีธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า
  ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเว
ลา
- Post-Impressionism เป็นขบวนการทางศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ.1875-1900 เป็นขบวนการที่ต่อ
  ต้าน Impressionism ขณะที่ศิลปินกลุ่ม Impressionismใช้สีสดจัดเพื่อสื่อถึงบรรยากาศของสีแสงที่
  เห็น แต่ ศิลปินกลุ่ม Post - Impressionism ใช้สีสดจัดเพื่อสื่อแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก
- ชีวิตการเป็นศิลปินของแวนโก๊ะ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 10 ปีเท่านั้น เแวนโก๊ะตัดสินใจเป็นศิลปินในปี
  ค.ศ.1880 เขาได้วาดภาพเขียน (painting) ไว้ราว 900 ภาพและวาดภาพวาด (drawing) ไว้ 1,100
  ภาพ ก่อนที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในปี ค.ศ.1890 ขณะมีอายุเพียง 37 ปี
- พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ จัดแสดงงานภาพเขียนของแวนโก๊ะ จำนวน 200 ภาพ ภาพวาดราว 500 ภาพ
  สมุดสเกตซ์งานของเขา 4 เล่ม และจดหมายอีก 800 ฉบับ นอกจากนี้ยังแสดงงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่น
  570 ภาพ งานภาพพิมพ์ประกอบนิตยสาร 1,500 ภาพ และงานภาพวาดของเพื่อนศิลปินอื่นๆ ของ
  แวนโก๊ะอีกจำนวนมาก

หมายเหตุ : ภาพประกอบส่วนหนึ่งนำมาจาก Wikipedia.org เนื่องจากภายในพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถถ่ายภาพได้

ไม่มีความคิดเห็น: