สิงคโปร์ ไม่เคยเป็นที่หมายอย่างจริงจังในการเดินทางสักครั้ง
ครั้งแรกของสิงคโปร์เป็นการ Stop Over ประมาณเป็นที่เที่ยวเล่นของแถมก่อนกลับบ้าน ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ไม่ได้ตั้งใจอีกตามเคย แค่ถือโอกาสตามคนร่วมบ้านที่มีโอกาสมาดูงาน พาเจ้าตัวเล็กมาเปิดหูเปิดตา
ฟังดูเหมือนฉันออกจะเมินๆ ประเทศนี้... แต่ให้ตายเถอะ แม้ไม่ตั้งใจ แต่ใจยวบทุกทีเวลาได้มาเยือน...ที่ยวบน่ะ เพราะฉันเป็นโรคภูมิแพ้ ประมาณว่าแพ้สีเขียว แพ้ต้นไม้ใหญ่ แล้วสิงคโปร์น่ะ เห็นเป็นเกาะเล็กกระจิด เล็กเสียยิ่งกว่ากรุงเทพฯ แต่ทั่วทั้งเกาะกลับเต็มแน่นไปด้วย ต้นไม้ แล้วเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์พูนสุขเสียด้วย ทั้งที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แท้ๆ ใจที่ยวบพลอยเปลี่ยนเป็นใจหายเมื่อนึกถึงต้นไม้ใหญ่ที่บ้านเราที่มักถูกตัด ให้พิกลพิการกระทั่งแคระแกร็นได้สมใจ (ใครก็ไม่รู้)
ระหว่างทางจากสนามบินไปยังที่พักบนถนนออร์ชาร์ด (orchard) พลพรรคต้นไม้น้อยใหญ่ชักชวนกันมาชักแถวต้อนรับผู้มาเยือน กระทั่งขึ้นไปยังห้องพักของโรงแรมหรูใจกลางเมือง ยืนมองบรรยากาศเมืองผ่านแผ่นกระจกหนาลงมาข้างล่างด้วยสายตานก สีเขียวเข้มยังคงห้อมล้อมกลมกลืนไปกับอาคารสูงนำสมัย สมกับที่ 'ลีกวนยู' ได้วางกลยุทธ์ไว้ตั้งแต่ปีค.ศ.1963 ที่จะพัฒนานำสิงคโปร์ไปสู่การเป็นเมืองแห่งสวน ด้วยคิดว่าสีเขียวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุน ในสิงคโปร์
การเดินทางครั้งนี้ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่มีความตั้งใจที่จะเที่ยวชมสถานที่ไหนเป็นพิเศษ ตอนกางแผนที่เมืองสิงคโปร์ออกดูกับเพื่อนร่วมบ้าน ชั่งใจกันอยู่พักใหญ่ว่าจะพาตัวเล็กไปที่ไหนดี เคลื่อนสายตามองดูสถานที่เที่ยวตามจุดต่าง ๆ ของเมือง แล้วก็ไปสะดุดเข้ากับจุดสีเขียวที่กินพื้นที่กว้างใจกลางแผ่นกระดาษ
Singapore Botanic Gardens
ฉุกใจขึ้นมา... ประเทศที่ต้นไม้ข้างทาง ริมถนน ริมอาคารยังสวยจับความรู้สึกคนมาเยือนได้ขนาดนี้ แล้วสวนจริงๆ ที่อยู่จริงๆ ของต้นไม้ของเขาจะสวยจับใจได้ขนาดไหน...
ฉันตัดสินใจในตอนนั้นเอง ฉันจะพาตัวเล็กไปเที่ยวสวน
เรื่องหว่านล้อมเพื่อนร่วมบ้านให้ไปไหนไปด้วยกันน่ะไม่อยาก แต่เจ้าตัวเล็กนี่สิ...
“ไปเที่ยวสวนกันนะ” ฉันบอกเจ้าลูกชาย ท่าทางเจ้าตัวน้อยอึ้งๆ ไป ก็เด็กที่ไหนจะอยากเดินเที่ยวดูต้นไม้บ้าง ไม่เหมือนเดินดูสิงสาราสัตว์ตามสวนสัตว์นี่นา นั่นน่ะสำหรับเด็กๆ ตื่นเต้นกว่าเยอะ
"ไปนะ..ไปน่า ... ในสวนมีสัตว์เยอะเลย" ฉันปล่อยหมัดเด็ดสุดท้าย เจ้าตัวเล็กชอบเรื่องสัตว์เป็นทุนอยู่แล้ว เจอมุขนี้เขาไปเสร็จทันที
Singapore Botanic Gardens (สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์) ทางเข้าแจ่มทีเดียว ร่มรื่น กว้างขวาง ทางเดินสะดวกสบาย อาคารที่สร้างตรงทางเข้าดูดีมีรสนิยม คล้ายศาลาขนาดใหญ่ ดูกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศของสวนเขตร้อน และที่ชอบที่สุดคงเป็นซุ้มข้อมูลที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่คอยตอบข้อซักถาม พร้อมแผ่นพับ แผนที่ข้อมูลพร้อมพลัน
ทางเข้าสวน
จากข้อมูลในแผนที่ สวนแห่งนี้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วน Central Core, Tanglin Core และ Bukit Timah Core ที่สะดุดน่าสนใจก็ตรง สวนแห่งนี้เปิดตั้งแต่ตีห้าถึงเที่ยงคืน เท่ากับเปิดทำการ 18 ชั่วโมงต่อวัน และไม่มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูหรือค่าเข้าชมแต่อย่างไร เว้นแต่ใครจะเข้าชม National Orchid Garden ที่อยู่ข้างใน ซึ่งจะคิดค่าเข้าชมพิเศษแยกต่างหาก
เมื่อย่างก้าวเข้าไปในเขตสวน สัมผัสถึงความสงบและร่มเย็น ต้นไม้ใหญ่แต่ละต้นดูโอ่อ่า ทรงภูมิ บ่งให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่สวนเกิดใหม่อย่างแน่นอน และเมื่อลองไล่เรียงความเป็นมา สวนแห่งนี้ก่อตั้งตั้งแต่ปีค.ศ.1859 นับเวลาก็ 148 ปี (เท่านั้นเอง)
เจ้าตัวเล็กดูจะตื่นเต้นกับ Palm Valley ซึ่งกินพื้นที่ช่วงหนึ่งของสวนในบริเวณ Central Core คงเป็นเพราะพื้นที่เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ ชวนวิ่งเล่น แล้วต้นปาล์มนานาชนิดก็ดูแปลกตาโดยเฉพาะส่วนใบที่ไม่เหมือนต้นไม้ทั่วไป เจ้าตัวเล็กที่ปกติชอบดูต้นไม้ในสวนที่บ้านอยู่แล้วเลยออกจะโปรดๆ สักหน่อย ยิ่งเจ้าตัวช่างสังเกตพอตัว ถึงขนาดเคยออกปากถามฉันกับเพื่อนร่วมบ้านมาแล้ว
“ต้นไม้นี่มีคนออกแบบใบให้ใช่มั้ย…ใบถึงไม่เหมือนกันเลย”
อืมม์...ทำเอาฉันทึ่งไปเลย เพราะจำได้ว่า ตอนเล็กๆ ไม่เห็นเคยสงสัยหรือสังเกตเห็นอะไรแบบนี้ เวลาวาดรูปใบไม้ทีไร ก็วาดทรงยาวๆ รีๆ แบบเดียวตลอด แถมระบายสีก็สีเขียวสีเดียวนี่แหละ ทั้งที่รูปทรงของใบไม้มีตั้งหลายแบบ สีก็มีตั้งหลายสี
พื้นที่ในสวนเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ เดินเล่นสนุกสำหรับเด็กๆ
เดินเที่ยวสักพัก จากนกที่แล่นถลาไปมา เจ้าตัวเล็กเริ่มเบื่อ นั่งพักบ่อยขึ้น และเริ่มฉุกใจขึ้นมาได้ เอ๊ะ!
ไหนแม่ว่ามีสัตว์เยอะแยะไง?
เริ่มเบื่อแล้วครับ...
สังเกตตราสัญลักษณ์ของสวนบนพนักเก้าอี้.. ดูสวย ให้ความรู้สึกใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ดี
มีสิ… ฉันเฉไฉ ให้เจ้าตัวเล็ก ดูนก ดูมด ดูแมลงข้างทางแทน... พอกล้อมแกล้มไปได้
“สัตว์ไม่เห็นจะเยอะเลย” บ่น
“น่า... แต่ต้นไม้สวยไม่ใช่เหรอ”
“หือ” เจ้าตัวเล็กยอมรับ
ดีนะ...พอเริ่มจะเบื่อ ก็เจอเข้ากับอุโมงค์น้ำตกจำลองพอดี เจ้าตัวเล็กเลยกระตือรือร้นอีกครั้ง แล้วพอเลยน้ำตกจำลองเดินขึ้นเนินไปได้หน่อย ก็เจอเข้ากับคุณปู่ต้นไม้ ดูเก่าแก่ ใจดี มีลูกหลานเป็นไม้เกาะเล็กๆ ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ไม่รู้ว่าต้นอะไร แต่เห็นปุ๊บชวนนึกถึงผู้สูงอายุใจดีที่มีลูกหลานห้อมล้อม ฉันเลยเรียกของฉันว่า 'คุณปู่ต้นไม้'
ฉันอวดรูปคุณปู่ต้นไม้ต้นนี้ให้ใครดู ไม่มีใครคิดว่าเป็นสถานที่ในประเทศสิงคโปร์สักคน ด้านหลังคุณปู่ต้นไม้ เห็นต้นอะไรแปลกๆ ขึ้นเป็นสายเป็นแถวๆ แถมออกดอกสีสวยด้วย รีบตรงเข้าไปดูด้วยความใคร่รู้ พอไปถึงค่อยรู้ว่าเป็นต้นกล้วยไม้ที่ขึ้นกอดเกี่ยวกับเสาปูนที่ทาสีเขียวไว้ ทำให้มองไกลๆ คิดว่าเป็นลำต้น และเป็นความรู้ใหม่เอี่ยมสำหรับตัวฉันเองที่เพิ่งรู้ว่าดอกไม้ประจำชาติของ สิงคโปร์เป็นดอกกล้วยไม้ และเป็นดอกของเจ้าต้นที่ขึ้นเกาะแท่งปูนเป็นแถวอยู่ตรงหน้านี่แหละ Vanda Miss Joaquim
Vanda Miss Joaquim ดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์
Vanda Miss Joaquim เป็นกล้วยไม้พันธุ์ผสมตามธรรมชาติระหว่าง Vanda hookeriana และ Vanda teres Vand Miss Joaquim เป็นดอกไม้ประจำชาติของสิงคโปร์ก็จริง แต่ชื่อไม่มีเค้าเอเชียเอาเสียเลย เพราะตั้งชื่อตามสุภาพสตรีชาวอาร์เมเนียนที่เป็นผู้ค้นพบกล้วยไม้ชนิดนี้ เป็นคนแรกในสวนของเธอ
นอกจากต้นไม้สวยๆ บรรยากาศดีๆ ร่มรื่นที่ชวนชื่นอกชื่นใจ ในสวนยังตกแต่งด้วย รูปปั้น ตามจุดต่างๆ ได้อย่างน่าดูชม ดูมีชีวิตชีวา
'สาวน้อยขี่จักรยาน' เป็นสาวแรกที่ได้เจอ ใบหน้าสาวน้อยแย้มยิ้มสดใส ท่วงท่าที่ขี่จักรยานดูเบิกบาน สนุกสนาน ก่อนจะเจอะเจอสาวน้อยอีกคนนั่งเปลือยเท้าแกว่งชิงช้าตรงพงหญ้าดูอ่อนหวาน คล้ายกับกำลังดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัว แต่ที่เซ็กซี่ที่สุด คือหญิงสาวเปลือยกายนอนคว่ำบนเปลที่ผูกระหว่างต้นไม้ใหญ่สองต้น ใบหน้าที่หลับตาพริ้มคล้ายยิ้มน้อยๆ ราวกับต้องการจะบอกว่า ไม่มีที่ไหนอยู่แล้วสบายใจเท่าในสวนที่เต็มไปด้วยไม้ใหญ่
สาวน้อยขี่จักรยาน
สาวน้อยแกว่งชิงช้า
สาวสวยนอนเปล
ถัดจากกลุ่มสาวๆ คราวนี้เป็นคุณแม่ที่อุ้มลูกเล่นอยู่กลางสวน 'Swing Me Mama' ผลงานของคุณแม่ Dominic Benhura ที่ได้รับแรงบันดาลใจขณะอุ้มลูกเล่น ไม่มีรายละเอียดมากมาย เป็นแค่โครงคร่าวง่ายๆ แต่ได้อารมณ์
ประติมากรรม Swing Me Mama
บ่ายคล้อยแล้ว...ฉัน เพื่อนร่วมบ้าน และเจ้าตัวเล็ก เดินกลับออกจากสวน ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนอารมณ์ของรูปปั้นที่แสดงออกผ่านใบหน้าและท่วงท่า...
เบิกบานและมีความสุข