15 มิถุนายน 2554

ทุ่งหญ้า และป่าสน อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

หมายเหตุ... งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์

ทุ่งหญ้าสวันนา
                ได้ยินแล้วชวนให้นึกถึงภาพทุ่งหญ้ากว้างสุดลูกหูลูกตาในทวีปแอฟริกา แถมพ่วงด้วสัตว์น่าเกรงขามอย่างสิงโต สัตว์คอยาวโย่งโกะอย่างยีราฟ เดินเยื้องย่างไปมา.... นั่นเป็นอิทธิพลของสารคดีที่ฉายให้เห็นทางโทรทัศน์แท้ ๆ
                แล้วภาพดังกล่าวฉันกับเด็ก ๆ ก็ได้เห็นที่ด้านหลังที่พักอุทยานทุ่งแสลงหลวง ตรงหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หนองแม่นา
                ทุ่งหญ้ากว้างลิบ ๆ สีทอง มีไม้ใหญ่อย่างต้นสนสองใบที่ช่างเป็นต้นไม้ฟอร์มสวยเสียเหลือเกินในความรู้สึกของฉัน กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ  เหลืออย่างเดียวที่ขาดไป  คือไม่มีสัตว์ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ให้เห็นเท่านั้น
                รุ่งเช้าของที่นี่ในยามฤดูหนาว... เรียกเสียงกรี๊ดของเด็ก ๆ ได้ดี เหลือเกิน ด้วยโผล่หน้าออกไปนิดเดียว ก็เห็นหมอกหนาลอยอ้อยอิ่งปกคลุมไปทั่ว ทำให้ภาพต้นไม้ บ้านพัก ทางเดินรอบ ๆ ดูนุ่มนวล และมีมิติใกล้ไกล น้ำค้างเกาะพราวบนพื้นจนต้นหญ้าชุ่ม
                หมอก.... หมอก
                เสียงเด็ก ๆ ร้องลั่น
                อยู่บ้านน่ะเหรอ... น้าน นาน ถึงจะได้เห็นภาพหมอกหนาล้อเล่นกับทุ่งหญ้า ต้นไม้แบบนี้
                ไป... ไปเดินเล่นกัน ฉันกล่าวชวน
                เท่านั้นแหละ ตัวเล็กสองคนคึกคักเหลือเกิน รีบคว้าหยิบเสื้อกันหนาว กับหมวก แล้วเดินลุยออกไปสำรวจข้างนอก... อากาศดี สดชื่นอย่าบอกใคร  โดยเฉพาะเมื่อได้ย่ำไปด้านหลังบ้านพักเจอทางถนนที่ลุยเข้าไปในทุ่งหญ้า เดินไปตามทางเรื่อย ๆ ต้นไม้ที่โผล่เด่นมาท่ามกลางไอหมอก อวดเค้าโครง กิ่งก้าน รู้สึกไปเองหรือเปล่า... ว่าชวนมองกว่ายามปกติ  จนแดดเริ่มไล้ไล่ไอหมอกนั่นแหละ จึงค่อยเดินกลับบ้านพัก





                ทุ่งหญ้าสวันนาแค่แถวบริเวณที่พักเป็นแค่ภาพยั่ว อยากเห็นทุ่งกว้าง ๆ สวย ๆ  ต้องขับรถลุยไปตามเส้นทางไปสู่ทุ่งนางพญา ซึ่งอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หนองแม่นา 14 กิโลเมตร ทางค่อนข้างลำบากสักหน่อย จะลุยเข้าไปได้ ต้องเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น
                ระหว่างทาง ได้เห็นป่าทุ่งหญ้าสีทองบนเนินลาดสูงต่ำ มีไม้ยืนต้นกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ  ลักษณะป่าทุ่งหญ้าแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแห้งแล้งของพื้นที่ ที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชจำพวกหญ้าที่มีวงจรชีวิตสั้น  และสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ป่าบริเวณนี้เกิดไฟป่าบ่อยแน่นอน ทำให้ทำลายเมล็ดของไม้ใหญ่ไปเกือบหมด... สมกับที่ว่าต้นหญ้าเป็นต้นไม้ที่ช่างมหัศจรรย์ ต้นอะไรขึ้นไม่ได้ ฉันขึ้นก่อน  ค่อย ๆ นำพาความอุดม สมบรูณ์กลับสู่พื้นดิน และถ้าสามารถป้องกันไฟป่าได้อย่างจริงจัง ทุ่งหญ้ากว้างพวกนี้ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นป่าใหญ่ได้ต่อไปในอนาคต


                แล้วเราก็ไปถึงทุ่งนางพญา
                ทุ่งนางพญาต่างจากทุ่งแสลงหลวง ตรงมีต้นสนสองใบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่
                เด็ก ๆ ชอบมาก วิ่งเข้าไปสำรวจด้านใน ต้นสนเป็นไม้ใหญ่ที่ลำต้นสูงตระหง่าน สง่า ชวนมอง ยิ่งยามแหงนมองเรือนยอดที่พุ่งขึ้นไปด้านบน จะได้เห็นเส้นสายของกิ่งก้านที่สมมาตรตัดกับฟ้าสีเข้ม
                ร่มเงาแห่งป่าสน
                นอกจากความสูงใหญ่ของสนจะให้ความร่มรื่นแล้ว ความรู้สึกสดชื่นที่คุณได้รับเมื่อยืนอยู่ท่ามกลางป่าสนเกิดจากการที่ต้นสนมีสาร terpentile ที่ทำให้หายใจสะดวก  ป่าสนจึงเหมาะเป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ...
                นั่นเป็นข้อความในแผ่นป้ายที่ทางอุทยานติดตั้งไว้
                สูดหายใจเข้าลึก ๆ  ไม่รู้อุปทานหรือย่างไร รู้สึกสดชื่น  ปลอดโปร่ง เนื้อตัว จิตใจ มันพองโตไปหมด หรือว่า... กำลังชิดใกล้กับผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก... ต้นไม้ ซะละมัง



                  ภายในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงครอบคลุมสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง แก่งวังน้ำเย็น แก่งหินขนาดใหญ่ที่สามารถลงเล่นน้ำได้อยู่ห่างจากที่พักไปประมาณ  7 กิโลเมตร  ทุ่งหญ้าโนนสนที่ว่ากันว่าในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ดอกไม้นานาชนิดผลิบานเต็มทุ่ง อยู่ห่างจากที่พักไป 16 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเข้าไปในทุ่งอีก16 กิโลเมตร  นั่นเป็นข้อมูลที่ได้จากที่ทำการอุทยาน น่าเสียดายว่า ไม่ยักมีหนังสือสวย ๆ คู่มือศึกษาธรรมชาติวางขายบ้างเลย  ฉันเคยซื้อหนังสือ คู่มือทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  เขียนโดย เพชร มโนปวิต จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร  อธิบายถึงผืนป่าห้วยขาแข้ง และเส้นทางเดินธรรมชาติเขาหินแดง  ว่าระหว่างทาง ผู้มาเยือนจะได้พบเจอกับสภาพป่าแบบไหน  เจอะเจอพรรณไม้ ต้นไม้ รวมถึงโอกาสที่จะได้เจอะเจอสัตว์อะไรบ้าง  อธิบายได้เข้าใจง่าย และภาพประกอบสวยแจ่มอย่าบอกใคร  ถึงไม่ต้องอยู่ในป่าห้วยขาแข้ง ฉันก็ยังหยิบมาอ่าน มาพลิกดูภาพประกอบอยู่เรื่อย ๆ   ถ้าอุทยานแห่งชาติของประเทศไทยทุกแห่งจัดทำหนังสือแบบนี้จะช่วยให้ผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เข้าใจถึงวงจรชีวิตทางธรรมชาติ มีความรู้เรื่องราวของพรรณไม้ และสภาพผืนป่าในประเทศได้ดียิ่งขึ้น
                ...
                การมาเที่ยวกับเด็ก ๆ  ที่พลังงานเหลือเฟือต้องคอยหากิจกรรมให้ทำไม่ให้อยู่นิ่ง  ช่วงเช้า ๆ เย็น ๆ ที่อากาศกำลังดี  เด็ก ๆ พากันไปเช่าจักรยานขี่วนรอบบริเวณที่พัก  ทางที่ลาดขึ้น ๆ ลง ๆ ทำเอาสนุกกันใหญ่  นอกจากการขี่จักรยานแล้ว  กิจกรรมอีกอย่างที่สนุกไม่น่าเชื่อคือการก้ม ๆ เงย ๆ เก็บลูกสน
                ต้นสนนอกจากจะมีฟอร์มต้นที่สวยงามแล้ว ลูกสนที่หล่นตกใต้ต้นที่มีลักษณะเป็นโคนรูปกรวย ประกอบด้วยเกล็ดแตกอ้าเป็นกลีบแข็ง ๆ คล้ายกลีบดอกไม้ที่ติดอยู่ตรงแกนกลาง ดึงดูดไม่แพ้กัน แรก ๆ ที่เห็น เด็ก ๆ เก็บมาดูอย่างสงสัย ว่าคืออะไร... ก่อนสรุปง่าย ๆ ว่าสวยดี  จากนั้นจึงพากันไปเดินเก็บลูกสน เลือกที่สวย ๆ กลีบที่แตกอ้าครบถ้วน สมบูรณ์ แข่งกันว่าใครจะเก็บลูกสนได้มากกว่ากัน และลูกสนของใครจะสมบูรณ์สวยกว่ากัน
                จากนั้น กิจกรรมการเก็บลูกสนเริ่มบรรเจิดกว่าเดิม
มีการเลื่อนถังขยะมาวางตรงตำแหน่งเหมาะ ๆ เพื่อแข่งกันโยนลูกสนลงถัง
ลงบ้าง ไม่ลงบ้าง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยลงกันหรอก
แล้วจู่ ๆ เจ้าตัวโตก็ปิ๊งวาบขึ้นมา บอกพ่อกับแม่ว่า ลูกสนเวลาโดนน้ำแล้วกลีบที่เป็นเกล็ดแตกอ้าจะหุบลง  พอแห้งแล้วกลีบที่หุบจะกลับมาบานใหม่
                ทำเอาพ่อกับแม่หูผึ่ง  ไปรู้จากไหนเนี่ย ?
                เจ้าตัวโต ทำหน้าฉงนมองพ่อกับแม่
                จะรู้จากไหน... ที่รู้ก็จากการอ่านทั้งนั้นแหละ
                ฟังดูดีเนอะ  พ่อกับแม่ยังไม่รู้เลย  อย่างนี้ต้องทำการทดลองกันสักหน่อย
ทดลองครั้งแรกไม่ได้ผล เพราะคิดว่าลูกสนแค่เปียกน้ำก็พอแล้ว แต่นั่นไม่พอต้องแช่ลูกสนทั้งลูกลงไปในน้ำ  แล้วต้องใช้เวลาด้วยนะ ไม่ใช่จุ่มพรวดแล้วหยิบขึ้นมา แล้วไม่น่าเชื่อ...กลีบแข็ง ๆ ที่บานออกได้หุบลงมาแนบกับแกนกลางจริง ๆ ด้วย
เจ้าตัวโตตื่นเต้น  ลูกสนมันตายแล้วไม่ใช่เหรอ ทำไมมันยังหุบได้ละ
ไม่ใช่แค่กลีบหุบ พอปล่อยให้ลูกสนแห้งสนิทกลีบที่หุบก็กลับมาบานได้ใหม่จริง ๆ ด้วย
มันตายแล้วไม่ใช่ ทำไมมันยังทำยังงี้ได้ล่ะ 
เอ้า... แล้วในหนังสือไม่ได้บอกไว้หรือไง  ถึงคราวพ่อกับแม่ถามบ้าง
ไม่รู้ เจ้าตัวโตส่ายหน้า  จำไม่ได้ว่าบอกไว้หรือเปล่า
                กลายเป็นภาระที่หลังจากจบการเดินทางแล้ว ต้องมาหาคำตอบของการทดลอง ว่าทำไมลูกสนที่หล่นร่วงจากต้นแล้ว ถึงยังคงหุบและบานได้?
                และนี่คือคำตอบ
                ลูกสนที่หล่นร่วงจากต้นแล้วจะยังคงรักษากลไกสมัยที่ยังทำหน้าที่เป็นอวัยวะช่วยในการแพร่พันธุ์ของต้นไม้ โดยในช่วงที่เมล็ดยังไม่สมบูรณ์ เกล็ดของลูกสนจะหุบสนิทเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดร่วงหล่นออกมา กระทั่งเมล็ดสมบูรณ์พร้อมในสภาพที่อากาศแห้ง เกล็ดจะบานออกเป็นการปลดปล่อยเมล็ดที่ห่อหุ้ม เมื่อทำหน้าที่
โปรยปรายเมล็ดเรียบร้อย ลูกสนจะหลุดร่วงจากขั้ว และตราบใดที่ลูกสนนั้นยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  จะยังคงหุบเกล็ดที่แตกอ้าเมื่อได้รับน้ำ และเกล็ดจะบานออกอีกครั้งเมื่อแห้งสนิท เป็นเช่นนั้น ทั้งที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่บนต้นอีกแล้ว
                และ... เป็นจริงเสียด้วยที่ว่าตราบใดที่ลูกสนยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  เกล็ดจะหุบเมื่อได้รับน้ำ และบานอีกครั้งเมื่อแห้งสนิท  เพราะเมื่อกลับถึงบ้าน ฉันได้ลองหยิบเอาลูกสนที่เคยเก็บมาจากต่างประเทศเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วมาทดสอบ และน่าทึ่ง ที่ลูกสนลูกนั้นเกล็ดยังคงบานและหุบได้เช่นเดียวกับลูกสนที่หล่นร่วงจากต้นใหม่ ๆ ที่ทุ่งแสลงหลวง


ไม่มีความคิดเห็น: