หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานต่อเนื่องจาก เซี่ยงไฮ้ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ ตอนนั้นเดินทางมาเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้างานเอ็กซ์โป หากคราวนี้มีโอกาสได้เที่ยวชมงานเอ็กซ์โปจริง ๆ งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Herb for Health
เจ้าตัวการ์ตูนสีฟ้าที่ยืนตาโตยิ้มกว้างขวาง อวดผมที่แหงนตวัดเหมือนคลื่นแห่งท้องทะเล..... เจ้าตัว Hai Baoหรือเจ้าขุมทรัพย์แห่งท้องทะเล สัญลักษณ์ของงานเวิล์ดเอ็กซ์โป 2010 ยืนทักทายผู้คนทั่วเมืองเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ฉันได้มีโอกาสมาเยือนที่นี่
ครั้งนั้น ตอนยืนอยู่หน้า “Shanghai Urban Planning Exhibition Center” “ศูนย์แสดงงานผังเมืองนครเซี่ยงไฮ้” เจ้าตัวขุมทรัพย์แห่งท้องทะเล กำลังนับถอยหลังเป็นตัวเลขอิเล็กทรอนิกส์สีแดง ให้ผู้คนที่ผ่านไปมารู้ว่าอีกกี่วันจะถึงวันงานเวิร์ลเอ็กซ์โป และครั้งนั้นอีกนั่นแหละ นอกจากจะได้เห็นเจ้าตัวขุมทรัพย์แห่งท้องทะเล ยืนยิ้มต้อนรับไปทั่วเมืองแล้ว เซี่ยงไฮ้กำลังวุ่นวาย ด้วยอยู่ในช่วงเร่งรีบที่จะแปลงกายจากตัวหนอนให้กลายเป็นผีเสื้อ... ปกติการผลัดเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวเมืองนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เพื่อเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ การเปลี่ยนแปลงคราวนี้จึงเร่งรัด มีการย้ายโรงงานออกจากพื้นที่ที่จะใช้จัดงานถึง 270 โรง ย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ 18,000 ครัวเรือน และมีการสร้างเส้นทางเดินรถไฟใต้เดินเพิ่มอีก 6 สาย ไม่ว่าหันมองไปทางไหน จึงเห็นแต่งานก่อสร้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งชายหาดไว่ทัน (Waitan) ริมแม่น้ำหวงผู่ (Huangpu) อันเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของตัวเมือง แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านและแยกตัวเมืองออกเป็นสองฟาก ได้แก่ฝั่งผู่ตง (Pudong) และฝั่งผู่ซี (Puxi) ฝั่งผู่ตงนั้นเป็นย่านทันสมัย เต็มไปด้วยตึกระฟ้า ไม่ว่าจะเป็นหอคอยไข่มุกสีชมพู (Oriental Pearl Television Tower) ตึกจินเหมา (Jin Mao Building) ตึกเซี่ยงไฮ้เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ (Shanghai World Financial Center -SWFC) ตึกเหล่านี้ล้วนสูงเกินกว่า 400 เมตรทั้งสิ้น ส่วนฝั่งผู่ซี นั้นเป็น เขตเมืองเก่า เป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำการค้าขายกับจีนในช่วงปี ค.ศ. 1920 ถือเป็นที่ตั้งทำการของบริษัทข้ามชาติแห่งแรก ๆ ของเอเชียเลยทีเดียว สถาปัตยกรรมของอาคารในย่านนี้ จึงเก่าแก่ และคลาสสิคแบบยุโรปสมัยก่อนทันทีที่เราสองคนโผล่หน้าไปยังถนนเลียบชายหาด ด้วยตั้งใจจะรอชมแสงไฟสว่างไสวของบรรดาตึกระฟ้าเขตฝั่งผู่ตงในเวลาค่ำคืน จึงต้องผิดหวังเมื่อเจอเข้ากับแผ่นเหล็กขนาดใหญ่ที่วางกั้นเป็นเขตก่อสร้างไปตลอดชายหาด ทำให้ต้องเดินเบี่ยงเส้นทางไปยังสะพานใกล้ ๆ ที่แม้จะคับแคบเต็มไปด้วยผู้คนที่คิดแบบเดียวกัน แต่ด้วยพื้นที่สะพานที่ยกสูงขึ้น ทำให้สามารถมองข้ามเหล็กกั้นจนเห็นตึกระฟ้าที่ระยิบระยับไปด้วยแสงไฟที่ประดับประดาของฝั่งผู่ตงจนได้...
แต่.. เมืองทุกแห่งล้วนมีรากเหง้า และมีทิศทางที่จะดำเนินต่อไป
“ศูนย์แสดงงานผังเมืองนครเซี่ยงไฮ้” ที่ฉันหยุดยืนมองเจ้าตัวขุมทรัพย์ท้องทะเล นับถอยหลังถึงวันจัดงาน ได้ทำหน้าที่ในการเก็บรากเหง้าของตัวเมืองและทิศทางที่จะเป็นไปของเมืองเซี่ยงไฮ้กระทั่งถึงปี 2020
ด้านในได้เก็บภาพบันทึกอาคาร สถานที่ ย่านที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ของเซี่ยงไฮ้ในอดีตผ่านแผ่นภาพที่จัดวางแสดงตามตู้ไฟ และสมุดเล่มยักษ์พร้อมคำบรรยายประกอบ และได้แสดงภาพเมืองเซี่ยงไฮ้ในอนาคตผ่านแบบจำลองที่ยกทั้งเมืองเซี่ยงไฮ้มาวางแสดง ให้เห็นกันจะ ๆ ว่าในอนาคตเมืองแห่งนี้จะขยายพื้นที่ไปถึงไหน และแต่ละย่านจะมีรูปร่างหน้าตาเช่นไร
และเมื่ออยู่ระหว่างการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพ มุมหนึ่งของด้านใน จึงได้แสดงเรื่องราวการเตรียมการเป็นเจ้าภาพงานเวิล์ดเอ็กซ์โปที่จะมาถึง
เริ่มจากแบบจำลองผังเมืองบริเวณที่จะจัดงานแสดง และอาคารสำคัญ ๆ ที่จะได้อวดโฉมในวันงาน
ที่เด่นแตะตาคือศาลาจีน ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจึงทุ่มเทเต็มที่ รูปแบบอาคารเป็นโครงไม้ที่อวดลักษณะการก่อสร้างแบบเสาและคานที่ยึดโยงกันโดยไม่ต้องใช่ตะปู อันเป็นลักษณะเด่นของการก่อสร้างแบบจีนดั้งเดิม ตัวอาคารทาสีแดงสด นัยว่าสีแดงนั้นคือสีแห่งพระราชวังต้องห้าม เพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณ และความเป็นจีน นอกจากนั้นยังมีแบบจำลองของอาคาร Performance Center Theme Pavilion และ Expo Center ที่ออกแบบตามสมัยนิยม
พ้นจากแบบจำลองเป็นภาพแสดงศาลาของประเทศต่าง ๆ ที่จะร่วมอวดโฉมในงาน ภายใต้แนวคิดหลัก “ Better City, Better Life” .... เมืองที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อแสดงถึงแนวการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น การออกแบบศาลาจัดงานแสดงของแต่ละประเทศ จึงคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มีการกำหนดเรื่องการอนุรักษ์พลังงานเป็นเรื่องสำคัญ
นั่นเป็นการเยือนเซี่ยงไฮ้ของฉันเมื่อปีที่แล้ว... เป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน หากคราวนี้เวลาแห่งการเตรียมตัวผ่านพ้นไปแล้ว... คราวนี้ฉันจะได้เข้าชมงานเวิล์ดเอ็กซ์โปของจริง หลังจากที่ได้เห็นแบบจำลองของบางศาลาในศูนย์แสดงงานผังเมืองฯ
สารภาพ... นอกจากข้อมูลที่ว่ากันว่างานเวิล์ดเอ็กซ์โปเป็นงานมหกรรมโลก ที่ยิ่งใหญ่เป็นลำดับ 3 รองจากการแข่งขันโอลิมปิก และการแข่งขันฟุตบอลโลกแล้ว ฉันนึกภาพไม่ออกจริง ๆ ว่าในแต่ละศาลา หรือที่เรียกทับศัพท์กันว่า pavilion ของแต่ละชาติจะอวด เนื้อหาสาระภายใต้แนวคิดที่ว่า “เมืองที่ดีกว่า ชีวิตที่ดีกว่า” อย่างไร
ทันที่ที่ก้าวเข้าไปในเขตงาน มึนงงกับพื้นที่จัดงานอันใหญ่โต ครอบคลุมอาณาบริเวณถึง 5.28 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยศาลาจากประเทศต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศ ถึง 242 ศาลา (192 ประเทศ และ 50 องค์การระหว่างประเทศ) ... แต่ทางเจ้าภาพเตรียมการไว้อย่างดี มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครยืนแจกแผนที่ให้ผู้เข้าชมงานตรงบริเวณทางเข้า เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนการเดินชมงาน โดยพื้นที่จัดงานได้แบ่งออกเป็นโซน ๆ โดยโซน A เป็นศาลาประจำชาติของประเทศในทวีปเอเชีย ยกเว้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โซน B เป็น ศาลาของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศแถบโอเชียนเนีย และศาลาขององค์การระหว่างประเทศ และโซน C เป็น ศาลาของประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา และแอฟริกา
จำนวนศาลาที่มากมาย และพื้นที่จัดงานที่กินอาณาเขตกว้าง ไม่ต้องคาดหวังเลยว่าจะชมงานได้ทั่วถ้วน นั่นทำให้ประสบการณ์การเข้าชมงานเวิล์ดเอ็กซ์โปของแต่ละคนล้วนต่างกันไป เพราะเส้นทางการเข้าชมงานย่อมไม่เหมือนกันแน่
ฉันนั้นเลือกที่จะชมงานในโซน C เป็นหลัก และได้เข้าชมศาลาที่ร่วมแสดงในงานจำนวน 6 ศาลา
ศาลาของประเทศเดนมาร์กนั้นน่าสนใจ ยืนมองจากด้านนอกเห็นเป็นรูปวงแหวนที่เวียนขึ้นไปด้านบน ที่ชวนน่าสนุกคือมีคนขี่จักรยานยืนอยู่บนดาดฟ้า ชวนให้ฉงนว่ามีแก๊งค์จักรยานใส่หมวกกันน็อคสีขาวไปยืนอยู่บนนั้นได้อย่างไร คำเฉลยอยู่ตรงด้านหน้าบริเวณทางเข้า มีจักรยานสีขาวรูปแบบเดียวกันวางเรียงราย เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่จะเข้าชมด้านใน ว่าจะใช้วิธีขี่จักรยาน หรือจะเดินเข้าไป ที่แท้ศาลารูปวงแหวนที่เห็น เจตนาที่จะเวียนเป็นทางขึ้นให้สามารถรองรับทั้งสองล้อ และสองเท้า เป็นการนำเสนอที่สอดคล้องกับคำประกาศของประเทศเดนมาร์กเองว่า “Cars are so last year . Bikes are so right now” รถน่ะเป็นเรื่องของหลายปีก่อน แต่เดี๋ยวนี้ต้องจักรยานเท่านั้น ประเมินกันว่าการจราจรเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 75% ฉะนั้นถ้าเปลี่ยนวิธีสัญจรกันด้วยจักรยาน จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกกไซด์ได้มหาศาล และเมืองโคเปนเฮเกนก็เลือกที่จะใช้วิธีนั้น เปลี่ยนเส้นทางที่การจรารจรหนาแน่น เป็นเส้นทางสำหรับจักรยาน ผลพลอยได้นอกจากอากาศจะสะอาดขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างในตัวเมือง
เมื่อเข้าไปด้านในถึงเห็นว่าทางที่เวียนขึ้นไปนั้นโอบล้อมสระน้ำที่อยู่ตรงกลาง และมีเงือกน้อยนั่งอยู่ริมสระทักทายผู้มาเยือน นั่นเป็นรูปปั้นนางเงือกที่โด่งดังจากปลายปากกาของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวโคเปนเฮเกน สัญลักษณ์ของประเทศ ตัวจริง เสียงจริง ที่ชาวเดนมาร์กได้พาเธอมาเยือนเซียงไฮ้ ... และคำจำกัดความที่พวกเขาตั้งสำหรับศาลาแห่งนี้คือ “Welfairytales” ฉันชอบนะ... ดินแดนที่น่าอยู่ก็เปรียบเสมือนดินแดนในเทพนิยายนั่นแหละ
ถ้าเงือกน้อยเป็นประดุจสัญลักษณ์การต้อนรับของเดนมาร์ก ประเทศสวีเดนก็ใช้หนูน้อยปิ๊ปปี้ ถุงเท้ายาว ตัวละครเอกในวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของประเทศเป็นหนึ่งในผู้นำเสนอแนวคิด “เมืองที่ดีกว่า ชีวิตที่ดีกว่า” ของชาวสวีเดน ....ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลายล้วนเกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมนุษย์นี่แหละต้องเป็นผู้แก้ปัญหาดังกล่าว ศาลาของประเทศสวีเดน จึงนำเสนอให้เห็นว่า พวกเขาดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของพวกเขาล้วนชูประเด็นในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นวอลโว่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้เครื่องยนต์ไฮบริด ที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปถึง 30% ผลิตภัณฑ์ตลับลูกปืนของ SKF ที่มีขนาดเบา ช่วยลดการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ของไอเคีย ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล และ... อีกหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่คงกล่าวถึงได้ไม่ครบ
ที่สำคัญ สภาพแวดล้อมที่ดีภายในตัวเมือง รวมไปถึงการมีพื้นที่สำหรับการละเล่นส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และเจ้านวัตกรรมนี้แหละที่จะย้อนกลับมายกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไปอีก
อีกหนึ่งศาลาที่ฉันได้เข้าไปชมคือศาลาประเทศไอร์แลนด์ ศาลาแห่งนี้เน้นอวดวัฒนธรรม ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสความสวยงามของชีวิตริมน้ำ และถนนสายสำคัญของเมืองดับลิน รวมถึงโฉมหน้าคนดังที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ ผ่านแผ่นภาพขนาดใหญ่ และการฉายภาพบนจอยักษ์ เป็นศาลาที่ใช้พื้นที่มหาศาลทีเดียว แต่กลับให้ความรู้สึกดึงดูดน้อยกว่าประเทศเดนมาร์กและสวีเดน สะท้อนให้เห็นว่าสาระที่สื่อจะทวีความน่าสนใจหากมีวิธีการนำเสนอที่ชาญฉลาด
กวาดสายตามองไปรอบ ๆ ศาลาของประเทศสวิสเซอร์แลนด์สะดุดตาด้วยม่านที่มีแผ่นกลมสีแดงติดอยู่ ม่านดังกล่าวทำจากไฟเบอร์ถั่วที่สามารถสลายตัวเองได้ ส่วนแผ่นกลมสีแดงเป็นโซล่าเซลล์เก็บพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในเวลากลางคืน หากเมื่อเข้าไปชมด้านในเนื้อหาและเรื่องราวที่นำเสนอกลับไม่น่าสนใจเท่าด้านนอก อีกทั้งจุดขายของศาลาที่เป็นรถเคเบิ้ลพาผู้ชมจากด้านในศาลาขึ้นไปบนดาดฟ้าด้านบนเพื่อชมธรรมชาติอันงดงามที่ขึ้นชื่อของสวิสเซอร์แลนด์นั้นปิดให้บริการทำให้ความน่าสนใจลดน้อยลงไปแยะเชียว
หลังจากเดินเข้า เดินออก และดูบรรยากาศงานสักพัก จากที่นึกภาพไม่ออกว่างานเวิล์ดเอ็กซ์โปคืออะไร พอจะเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้วว่า เป็นงานที่เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศได้อวดบ้านอวดเมืองของตนเองน่ะเอง จะอวดด้วยศิลปะ วัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ ความทันสมัยของเทคโนโลยี แล้วแต่ที่ต้องการจะมุ่งเน้น แถมยังเป็นโอกาสได้ตอกย้ำผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ของตนเองต่อสาธารณะไม่ว่าจะสวีเดน ที่ยกโขยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นรู้จักกันดีอย่างไอเคีย วอลโว่ อิเล็กทรอลักซ์ Absolute Vodka ฯลฯ ที่คุ้นเคยจนสับสนว่าเป็นผลิตภัณฑ์สัญชาติใดกันแน่มาอวดโชว์ สำหรับฟินแลนด์ เองมีโนเกีย เดนมาร์กมีเบียร์คาร์ลเบิร์ก และสวิสเซอร์แลนด์มีบริษัทผลิตอาหารรายใหญ่อย่างเนสท์เล่ และนาฬิกาแบรน์ดดังอย่างสวอทช์
ขณะเดินออกจากพื้นที่จัดงานแสดง เพื่อไปขึ้นรถไฟใต้ดิน หรือจะรถแท็กซี่ก็ตามแต่เพื่อกลับที่พัก ทึ่งกับการบริหารจัดการของจีนที่สามารถจัดงานรับมือกับผู้คนจำนวนมหาศาลที่วันหนึ่ง ๆ เข้าชมงานในหลักหลายแสน แต่มีสิ่งเล็ก ๆ ที่ฉันแอบทึ่ง (ไม่รู้มีใครคิดเหมือนฉันหรือเปล่า) คือเรื่องของห้องน้ำ ประสบการณ์แรกที่ฉันเคยมาเมืองจีนเมื่อหลายปีที่แล้ว เรื่องของห้องน้ำเป็นเรื่องชวนปวดหัวที่สุด ตั้งแต่ความสะอาด กลิ่นที่อบอวล ทั้งคนจีนเองไม่ชอบปิดห้องน้ำระหว่างทำธุระ ทำให้หลายครั้งที่เปิดผลั๊วะเข้าไป ได้ประสานสายตากับคนข้างในจนปิดประตูแทบไม่ทัน เท่านั้นไม่พอ เสียงเล้งด่ายังดังตามหลังมาอีก ทั้งที่ความจริงเป็นความผิดใคร (ฟ่ะ) และสุดท้าย คนจีนไม่ชอบกดน้ำ จริง ๆ นะ และไอ้ที่ไม่ชอบกดน้ำนี่แหละ ต้นเหตุของกลิ่นสุดทน
แต่คราวนี้ห้องน้ำในงาน world expo สะอาดใช้ได้เลย ฉันไม่เจอปัญหาเรื่องคนจีนไม่ปิดห้องน้ำระหว่างใช้งาน ทั้งไม่เจอปัญหาเรื่องไม่ยอมกดน้ำหลังเสร็จธุระ นั่นเป็นเพราะน้ำในชักโครกจะกดทำความสะอาดเองโดยอัตโนมัติ เมื่อคนใช้เสร็จธุระเปิดประตูออกมา
อย่างว่า... เป็นเจ้าภาพงานเวิร์ลเอ็กซ์โปทั้งที่ สุขลักษณะพื้นฐานไม่ดีขึ้นได้อย่างไร (จริงมั้ย)