28 เมษายน 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 2

. พระราชวังที่ยังคงบูรณะ และพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น
                หลังจากซื้อตั๋วเข้าชมพระราชวังเคียงบ๊อก  อย่าเพิ่งรีบร้อนผ่านประตูตรงดิ่งเข้าไปด้านใน ลองเยี่ยมหน้ามองไปยังด้านหลังประตูทางเข้า จะเห็นชั้นหนังสือวางหลบมุมอยู่... หนังสือเล่มบาง ๆ อธิบายถึงประวัติความเป็นมา และลักษณะของสถาปัตยกรรมตัวพระราชวังได้อย่างน่าสนใจ   ขณะเดินเที่ยวชม หากกางหนังสือเล่มนี้ไปด้วย  จะช่วยให้สังเกตเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แอบซุกซ่อนได้ไม่น้อยเลยเชียว
                ปุจฉา... ถามเล่น ๆ  ทำไมถึงวางหนังสือในมุมอับอย่างนี้หนอ
                วิสัชฉนา... ตอบเล่น ๆ แบบเดาสุ่ม.. ใครใจร้อน ใจเร็ว รีบเร่งนัก ให้ผ่านแล้ว ผ่านไป ใครที่เรื่อย ๆ มา เรียง ๆ  ย่อมได้เจอกัน
                ฉันถามเอง ตอบเอง อย่างนี้แล้วกัน
                ตรงบริเวณด้านในหลังประตูทางเข้ามีระเบียงทางเดินขนานไปกับแนวกำแพง แวะนั่งพักตรงนั้น ยังไม่รีบร้อนฝ่าเปลวแดดตรงไปยังอาคารหลังแรก ลองเปิดหนังสือเล่มบาง ๆ นั้นออกดู ปกด้านในแสดงแผนภาพพระราชวัง.... มองผ่านอย่างรวดเร็ว  ผังโครงสร้างคล้ายคลึงพระราชวังต้องห้ามของจีน.... นั่นคือแยกพื้นที่พระราชวังออกเป็นลานสี่เหลี่ยมย่อยๆ   แต่ละลานล้อมกั้นด้วยแนวกำแพง และเชื่อมต่อถึงกัน ด้วยประตูผ่านเข้าออก  ตัวอาคารด้านหน้า มีขนาดใหญ่โอ่อ่า ทรงความสำคัญ ก่อนที่จะลดหลั่นขนาด และโอบล้อมด้วยอาคารหลังเล็กกว่า คล้ายบริวารที่รายรอบไปตามลำดับชั้น นับเป็นผังการก่อสร้างตามวิถีแบบตะวันออก ที่มีจีนเป็นแม่ใหญ่ ที่ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ตามลำดับชั้น
                ประชาชนย่อมสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์เจ้าผู้ปกครอง
                ผู้ที่ต่ำศักดิ์กว่าให้ความนบนอบต่อผู้ที่สูงศักดิ์กว่า
                ลูก หลาน ให้ความเคารพต่อบิดา
                ภรรยาเคารพสามี
                สรวงสวรรค์ กษัตริย์ บิดา ครูบาอาจารย์ เป็นที่เคารพ กราบไหว้ในสังคม
                นอกจากลักษณะของแผนผังแล้ว มองไปที่หลังคา.....
                ไม่ว่าจะหลังคาตรงประตูกำแพง หรือตัวอาคาร  ล้วนมีขนาดใหญ่ และมีลักษณะโค้งงอนขึ้นทั้ง ๔ ด้าน นี่เป็นลักษณะที่รับอิทธิพลเต็ม ๆ จากจีนอีกแล้ว ว่าไปแล้วก็ละม้ายคล้ายกันไปหมดทั้ง จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี  รับไปแล้วก็ไปปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของตน  เวลานั่งมองหลังคาพวกนี้ฉันชอบนึกเปรียบเป็นหมวกใบใหญ่  หมวกพวกนี้เป็นหมวกปีกกว้างเพื่อกันฝนไม่ให้สาด ไหลซึมเข้าไปในตัวอาคารที่สร้างจากไม้   นอกจากนี้มุมที่แหงนสูงขึ้นทั้งสี่ด้านยังช่วยเปิดรับแสงสว่างจากด้านนอก และช่วยให้ทัศนวิสัยการมองจากด้านในออกไปด้านนอกดีขึ้น
                ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งเเป็นข้อสุดท้าย และเป็นข้อที่ฉันชอบมากที่สุด
                ไม่ได้เป็นเหตุผลทางปัจจัยใช้สอย แต่เป็นเหตุผลทางรูปลักษณ์ ความงาม
                หลังคาที่แอ่นโค้งขึ้นทำให้ตัวอาคารคล้ายนก... นกที่เชิดหัวขึ้นสูงทะยานบินขึ้นสู่ท้องฟ้า               


หลังคาตรงประตูทางเข้าภายในพระราชวัง โค้งงอนขึ้นทั้งสี่ด้าน
 เหมือนนกที่เชิดหัวขึ้นสูงทะยานบินขึ้นสู่ท้องฟ้า


รูปปั้นสัตว์ประดับบนสันหลังคา เชื่อว่าช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย


                ........

เข้าสู่พื้นที่ด้านใน....
ตำหนักพระราชวังที่อยู่บริเวณด้านหน้าใหญ่โตโอ่อ่า  หากเมื่อเข้าไปเยี่ยมชมด้านใน พบว่าการตกแต่งภายในของแต่ละตำหนักเรียบง่าย  กระทั่งตำหนักท้ องพระโรงสำหรับกษัตริย์เสด็จออกว่าราชการ และต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง  ที่น่าจะวิจิตรบรรจงที่สุด ยังดูธรรมดา
                ความเรียบง่ายนี้เป็นความตั้งใจ ด้วยพระราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังในยุคราชวงศ์โชซอนที่นับถือลัทธิขงจื้อใหม่   ลัทธิขงจื้อใหม่เชื่อว่าอำนาจที่แท้ของกษัตริย์นั้นเกิดจากคุณธรรม และความเที่ยงธรรมในการปกครองประเทศ   พระราชวังของกษัตริย์จึงควรโอ่อ่า แต่มิควรอวดโอ่  เพราะเท่ากับข่มประชาชนของตนเอง (ฉันชอบแนวคิดนี้จังเลย)
หลังจากเดินชมดู พบว่าในความเรียบง่ายนั้นมีเสน่ห์
ลองพินิจดูรูปแกะสลักที่ตั้งประดับตามกำแพงมุมเสาต่าง ๆ จะพบสัตว์ผู้พิทักษ์ทั้ง 4 ตามคติความเชื่อ เต่า  เสือ มังกร นกยูง  และยังผสมด้วยสัตว์อีก 12 ราศี  ทั้งหมดแกะสลักในลักษณะกลมมน  อ้วน ๆ ป้อม ๆ  ใบหน้าใส่จินตนาการละม้ายหน้าคน ที่สำคัญทุกตนจมูกใหญ่มาก ทำให้ใบหน้าดูตุ่ย ๆ บางหน้าก็ดูเจ้าเล่ห์เสียอย่างนั้น ช่างไม่ดุดันกันเสียเลย ทำให้การตั้งอยู่ของรูปปั้นแกะสลักคล้ายเพียงเพื่อปราม  ไม่ได้ตั้งใจข่มขู่ให้เกรงกลัว นั่นยิ่งเสริมความเรียบง่ายของตัวพระราชวังให้มีความเป็นมิตรยิ่งขึ้น
                ในหมู่สัตว์แกะสลัก  ตัวที่ใหญ่ท้วน น่ารักที่สุด  ต้องยกให้สัตว์พื้นเมืองที่เรียกว่า Seosu  คุณ Seosu นั้นแยกตัวจากบรรดาเพื่อน ๆ นอนผึ่งอยู่บนขอบสะพาน  ลักษณะเป็นสัตว์บกผสมน้ำ  มีขาสองขา และหางแบบหางปลา..... แว่บแรกที่เห็นตัวอุ้ย ๆ ให้นึกถึงฟาลคอร์ เจ้ามังกรนำโชค พาหนะของอัทเทรอูในหนังสือเรื่องจินตนาการไม่รู้จบ ที่นึกถึงไม่ใช่อะไร เห็นลำตัวอ้วน ๆ ยาว ๆ น่าเอ็นดูคล้าย ๆ กัน
                ส่วนด้านหลังของพระราชวัง พื้นลานไม่กว้างขวางเหมือนบริเวณด้านหน้า เป็นส่วนที่พักอาศัย ภายในลานประกอบด้วยอาคารหลัก และอาคารรองที่รายล้อม  แสดงถึงประมุขของบ้าน ที่ห้อมล้อมด้วยบริวาร
                บริเวณนี้แอบอวดความก้าวหน้าทางวิทยาการในยุคราชวงศ์โชซอนให้เห็นจากนาฬิกาแดดที่วางแสดงอยู่  และเมื่อเดินผ่านไปยังด้านหลังเป็นสวนระเบียง สะดุดตาด้วยปล่องไฟที่ก่อจากอิฐสีส้ม เรียงรายเป็นแถว สีส้มกับสีเขียวอ่อนของต้นไม้ และสีชมพูสดของดอกอาซาเลีย ทำให้สวนสว่างด้วยสีสัน .... และจากตรงนั้น เดินทะลุไปอีกนิด เหมือนหลุดออกจากเขตพระราชวังโดยไม่รู้ตัว คล้ายเข้าสู่สวนสาธารณะผืนใหญ่ ที่คนเกาหลีเอง พาลูกหลานมานั่งเล่นปิคนิค และพักผ่อน แต่หากเดินไปเรื่อย ๆ จะยังคงเห็นอาคาร ป้ายแสดงข้อมูล  และพื้นที่กั้นปิดล้อมในบางจุด   จึงรู้ว่ายังอยู่ในพื้นที่เขตพระราชวังนั่นแหละ แต่หลายส่วนอยู่ระหว่างซ่อมแซม และก่อสร้างขึ้นใหม่
                คนเกาหลีใต้นั้นเปรียบประเทศของตน ประหนึ่ง  กุ้งกลางฝูงปลาวาฬ”  ด้วยลักษณะที่ตั้งล้อมด้วยประเทศมหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น จึงถูกรุกรานมาโดยตลอด เหมือนกุ้งที่พร้อมจะถูกปลาวาฬกินเป็นอาหาร จนในที่สุดถูกยึดครอง และตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยญี่ปุ่นเป็นเวลานานกว่า 30 ปี  ตัวพระราชวังเคียงบ๊อกเอง โดนญี่ปุ่นเผาทำลายเสียหาย  ต้องค่อย ๆ บูรณะขึ้นมาใหม่ ประตูกำแพงพระราชวังด้านหน้าที่มีทหารในชุดสีสันสดใสยืนประจำการ เพิ่งจะบูรณะเสร็จเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง  การที่รู้สึกเหมือนจู่ ๆ เดินหลุดออกจากเขตพระราชวัง จึงไม่แปลก พระราชวังแห่งนี้ยังบูรณะไม่เสร็จ ไม่มีแนวกำแพงด้านหลังให้สังเกต ทั้งอาคารด้านหลังเมื่อพ้นจากตำหนักของกษัตริย์และราชินีไปแล้ว ทิ้งช่วงระยะห่าง.... เหมือนปลีกแยกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสวนกว้าง มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง....


คุณ Seosu  สัตว์บกผสมน้ำ นอนผึ่งบนกำแพง
Geunjeongjeon Hall : ตำหนักท้องพระโรงสำหรับกษัตริย์เสด็จออกว่าราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ด้านหน้าทางเข้าตำหนักท้องพระโรง เต็มไปด้วยรูปแกะสลักที่ตั้งประดับตามกำแพงมุมเสาต่าง ๆ
ใบหน้าของรูปปั้นแกะสลักจะละม้ายคล้ายหน้าคน จมูกจะใหญ่มากเป็นพิเศษ
นาฬิกาแดด
ตำหนักที่ประทับกษัตริย์ เรียบง่ายเป็นอย่างยิ่ง
                 เมื่อเดินพ้นกลุ่มอาคารพระราชวังออกมา พบพื้นที่รายล้อมรอบ ๆ เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่
 จังหวะของสถานที่ ต้นไม้ และพื้นที่ว่าง...ประสานรวมกันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ชวนรื่นรมย์  ภาพเด็ก ๆ วิ่งเล่นใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยมีพ่อกับแม่นั่งมองดูอย่างผ่อนคลายนั้นสะท้อนให้เห็นภาพนั้นเป็นอย่างดี


เมื่อพ้นกำแพงด้านหลัง เข้าสู่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่
สวนกว้างด้านหลังที่ร่มรื่น
ศาลา Hyangwonjeong ที่ปรากฏให้เห็น ทำให้รู้ว่ายังอยู่ในบริเวณเขตพระราชวัง
                พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี (The National Folk Museum of  Korea)  ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเรียนรู้นี้  รูปลักษณ์ของอาคารดึงดูดความสนใจด้วยหลังคาซ้อนแบบเจดีย์ 5 ชั้นสีน้ำเงินเข้ม มองเห็นเด่นแต่ไกล
                พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้จำกัดพื้นที่เฉพาะภายในอาคาร หากพื้นที่รอบ ๆ นับเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงเช่นกัน       ขณะที่ตรงดิ่งจะเข้าชมภายในอาคาร เหลือบเห็นลานวงกลม วางรูปแกะสลักหิน 12  สัตว์ปี  ที่ร่างเป็นมนุษย์ในชุดพื้นบ้านเกาหลี หากศรีษะเป็นสัตว์ทั้ง 12 ชนิด ความสูงของรูปแกะสลักประมาณหน้าอก ทำให้เหมือนเด็กตัวน้อย ๆ ที่ยืนล้อมเป็นวงกลม  รูปลักษณ์ตัวน้อย ๆ นั้น ดูจะถูกใจนักท่องเที่ยวที่ยืนออผลัดกันถ่ายรูปคู่กับสัตว์ปีเกิดของตนเอง
                ระบบการนับ 12 สัตว์ปีเป็นหนึ่งรอบมีต้นกำเนิดจากจีนก่อนแพร่ไปยังเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว เขมร และหยุดที่ไทย ไปไม่ถึง พม่า ศรีลังกา และอินเดีย  ยิ่งทางตะวันตกยิ่งไม่รู้จักใหญ่  รู้จักแต่ระบบการนับ 12 ราศีประจำเดือน ฉันจำได้ว่าเคยดูรายการแข่งขันรายการหนึ่งของอเมริกา ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องตอบว่าสัตว์ประจำปีเกิดของตนคือสัตว์อะไร ยังจำสีหน้าผู้เข้าแข่งขันได้ว่างุนงงแค่ไหน....  และ ตอบคำถามนั้นไม่ได้  นั่นทำให้ฉันจำได้อย่างแม่นยำว่าตะวันตกไม่รู้จัก 12 สัตว์ปี 


รูปแกะสลักหิน 12 สัตว์ปี


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี



                พิพิธภัณฑ์นั้นมีหลายประเภท  ... พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา  พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี แต่หน้าที่หลัก ๆ ล้วนไม่แตกต่างนั่นคือ รวบรวมวัตถุสำคัญ  สงวนรักษา และจัดวางแสดง
 พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของเกาหลีมุ่งที่จะแสดงถึงขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลี  ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน  วัตถุที่วางแสดงจึงมิใช่วัตถุล้ำค่า แต่เป็นข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของยุคสมัยต่าง ๆ 
ขณะเดินย่ำในพิพิธภัณฑ์ใดๆ ไ ม่ว่าที่ไหน  สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือความเหมือนของมนุษย์ที่ไม่ว่าจะอยู่อาศัย ณ ทีใดของโลกจะคิดค้นสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ที่มีรูปแบบและหน้าที่ใช้สอยที่คล้ายคลึง  ยิ่งถ้าถอยเวลาย้อนกลับไปไม่ไกล  ข้าวของเครื่องใช้พวกนั้น ณ ที่มุมใด ๆ ของโลก ไม่ได้แค่ละม้าย.... แต่เหมือนกันเลย ขณะที่เดิน ๆ อยู่ ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านจึงหยุดเท้ากันกึก เมื่อเห็น จักรเย็นผ้า ตู้เก็บของ โทรศัพท์บ้าน และของใช้จิปาถะอื่น   ที่เหมือนกับที่เคยจับต้องเมื่อสมัยยังเด็ก.....
            นอกจากวิถีประจำวัน ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังแสดงให้เห็นประเพณีการละเล่นของแต่ละท้องถิ่น....  และเฉกเช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้  ประเพณีการละเล่นในแต่ล่ะวัฒนธรรมโลก ล้วนมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกัน  การละเล่นสวมหน้ากากของที่นี่ ทำให้ฉันนึกถึงการละเล่นผีตาโขนของบ้านเรา ย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า มนุษย์ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ที่ใด มีวิธีคิด และการกระทำ ไม่ต่างจากกัน
                พ้นจากอาคาร ออกมาเดินเล่นรอบ ๆ
                ถนนสู่อดีต จำลองสภาพบ้านเรือน ความเป็นอยู่ในยุคสมัย 1970 -1980 ให้ได้สัมผัสจริง ๆ ไม่ใช่แค่จัดแสดงอยู่ในอาคาร
                หากเดินไปเรื่อย ๆ จะพบที่ตั้งแสดงรูปปั้นหินแกะสลักที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเชจู  รูปปั้นพวกนี้เรียกว่ารูปแกะสลักหินปู่ เป็นรูปปั้นชายแก่สวมหมวกหน้าตาใจดี ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้พิทักษ์เกาะ.... ยืนมองดี ๆ แล้วก็เห็นขันตรงที่จมูกของหินปู่ใหญ่เชียว  ถึงจะตั้งอยู่บนเกาะห่างไกลออกไป แต่จมูกของรูปแกะสลักมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กับรูปแกะสลักในกรุงโซลเลย

รูปแกะสลักจำลองหินปู่ สัญลักษณ์ของเกาะเชจู  
บรรยกาศด้านนอกเขตพระราชวังและพิพิธภัณฑ์

หมายเหตุ
เกาหลีใต้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมของตน ทั้งความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประเพณีพื้นบ้าน  วิถีชีวิต โดยสะท้อนผ่านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายและหลากหลายประเภท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชน และ ที่สำคัญส่วนใหญ่ มักเข้าชมฟรีนี่สิ (อิจฉา)

(บทความนี้ ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารหญิงไทย)

24 เมษายน 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 1

. ปฐมบท กรุงโซลกับภูขา

                ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตรงไหน ในเกาหลีใต้ ลองหันซ้าย แลขวา ต้องได้เห็นภูเขา....
                คำกล่าวนั้นปรากฏในหนังสือเล่มหนึ่ง และไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงเลย  ขณะที่เดินก้าวออกจากสถานีรถไฟฟ้าเมียงดง (Myeong-dong) ย่านชอปปี้งดังของกรุงโซล ภาพปรากฏที่เห็นเบื้องหน้าคือหมู่ตึกแน่นหนาด้วยผู้คน และรถรา ไม่น่าแปลกใจอะไร  ย่านจับจ่ายใช้สอยที่ไหนในเมืองใหญ่ของโลก ล้วนเป็นแบบนี้ทั้งสิ้น  แต่เมื่อหันมองไปอีกด้าน  พื้นที่ถนนลาดเอียงขึ้นเป็นเนินสูง  อาคารก่อสร้าง เบาบาง และที่สำคัญแลเห็นภูเขาที่อยู่ด้านหลังลิบ ๆ  ที่พักที่จองไว้ล่วงหน้าอยู่ ณ บริเวณนั้น   ตีนเขาในเมืองโซล
                นั่นเป็นก้าวแรกที่พ้นจากรถไฟใต้ดินในกรุงโซล
                ก้าวที่สองจากรถไฟใต้ดินกรุงโซลอีกครั้ง  เพื่อตรงไปยังพระราชวัง เคียงบ๊อก (Gyeongbokgung)  พระราชวังที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของราชวงศ์โชซอนที่ปกครองประเทศเกาหลีเป็นราชวงศ์สุดท้าย  ดอกอาซาเลียสีชมพูเข้มสดแย้มต้อนรับ ดึงดูดสายตาให้มองตลอดขณะเดินขึ้นบันไดที่เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
                ดอกอะไรหนอ ??  ถามกับตนเอง... ท้องฟ้าสีเข้ม กับดอกสีสด.... จนเข้าไปใกล้ จึงเห็นรายละเอียดของดอกที่บานหนาแน่น.... ดอกอาซาเลียนั่นเอง

                เดินไปตามทาง กระทั่งถึงประตูทางเข้าพระราชวัง.... เผยโฉมอาคารแรกโอ่อ่าให้เห็น แต่ที่สำคัญเบื้องหลังนี่สิ.... ภูเขา !!




                เพียงแค่วันแรกในเกาหลีใต้ ฉันเผชิญหน้ากับภูเขาสองครั้งสองคราว
                ตามเส้นทางการเดินทางที่วางไว้คร่าว ๆ   เมื่อละจากกรุงโซล ตั้งใจมุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติโซรัคซาน  (Soraksan) นั่นเป็นความตั้งใจที่จะเดินทางไปหาขุนเขา แต่นี่ในกรุงโซลแท้ ๆ  ยังไม่ทันได้เรียกร้องหาภูเขาสักนิด แต่ภูเขาก็โผล่ทักทายไม่หยุดไม่หย่อน
                ภูมิประเทศของกรุงโซลนี่มันยังไงนะ.... ภาพเมืองสมัยใหม่ที่วาดไว้ไม่ได้นึกถึงเขาใด ๆ เลย.... แต่นี่กลับเจอแต่เขา กับเขา
                การเดินทางเป็นอย่างนี้นี่เอง เหมือนการออกไปพบปะกับผู้คน  บางคนน่าสนใจเป็นทุนเดิม ทำให้มีแรงบันดาลใจหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสียละเอียดยิบ  ครั้นได้พบปะ พูดคุย... บุคลิก นิสัย เหมือนที่รับรู้มาก่อนล่วงหน้า  ทำให้ยิ่งรัก ยิ่งชอบมากขึ้น  แต่นั่นแหล่ะ ร้อยทั้งร้อย....คิดว่ารู้จักดีแล้ว  ยังแอบมีอะไรซุกซ่อนให้แปลกใจอยู่ดี  กระทั่ง บางครั้ง ต้องแอบร้อง เฮ้ย...ในใจ  เสน่ห์ของการเดินทางอยู่ตรงนี้แหละ
                คนบางคนอีกเหมือนกัน เห็นแล้วไม่ชอบ ไม่อยากยุ่ง แต่พอได้พูดได้คุยอย่างเสียไม่ได้ กลับรู้สึกไม่เลวเลย บางคนถึงกลับเปลี่ยนเป็นชอบก็มี   แต่ที่ยิ่งพาลไม่ชอบเข้าไปใหญ่ก็มีเหมือนกัน
                 และสำหรับบางคนไม่ได้สนใจอะไรนักหนา แค่รู้จักจากคำร่ำลือ แต่พอได้เจอตัวจริง  กลับผิดคาด น่าสนใจ และน่าทำความรู้จักให้ดียิ่งขึ้น   ดูเหมือนกรุงโซลสำหรับฉันจะอยู่ในประเภทสุดท้าย
                การพบปะกับภูเขาในกรุงโซล เป็นจุดสะดุดแรกที่ทำให้ฉันสนใจเมืองนี้มากขึ้น เมื่อกางแผนที่ภูมิประเทศของกรุงโซลออกดู จึงพบว่ากรุงโซลอยู่ท่ามกลางขุนเขาดี ๆ นี่เอง
ขุนเขาที่โอบล้อมกรุงโซลทางทางทิศใต้ คือภูเขา  Namsan ที่ฉันพักอยู่
                ทางทิศเหนือคือ ภูเขา Bugaksan ที่อวดโฉมหลังพระราชวัง
                ทางทิศตะวันตกคือภูเขา Inwangsan
                และทางทิศตะวันออกคือภูเขา Naksan
                จึงไม่ต้องแปลกใจ หากเปิดดูข้อมูลแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงโซลแล้วเจอเส้นทางเดินเขาแนะนำอยู่หลายเส้นทาง
                ภูเขานัมซาน (Namsan) อยู่ใกล้ที่พักนิดเดียว.... เช้า ๆ  ออกไปเดินเที่ยวเล่นสักหน่อยเป็นไร ไม่ได้มีจุดหมายที่บนยอดสูง หรือหอคอย N-seoul ที่ตั้งอยู่บนนั้น แค่อยากดื่มด่ำบรรยากาศของภูเขาที่อยู่ใกล้ที่พัก  เมื่อผ่านสถานี Cable Car จึงเมินเฉยต่อพาหนะทุนแรง ยังคงไปต่อด้วยสองเท้า  ถึงวัยจะเลยคำว่า หนุ่ม ๆ สาว ๆ ไปแล้ว  แต่ลุงกับป้าก็ยังอยากจะทดสอบ ความแข็งแรง และแข็งแกร่งของร่างกาย
                บรรยากาศบริเวณทางขึ้นเขานัมซานน่ารักเชียว  มีไม้ใหญ่ที่ใบเล็กละเอียดเขียวนุ่มให้ร่มเงาไปตลอดทาง..  แถมเดินไปได้หน่อยเดียวก็เจอลานแบดมินตันขนาดใหญ่ข้างทาง ให้ลุง ๆ ป้า ๆ ได้ออกกำลังกาย....ยืนมองด้วยความอิจฉา.... ถ้าฉันเป็นลุง ๆ ป้า ๆ แถวนี้  จะเดินมาเล่นแบดมินตันที่นี่ทุกวันเลยเชียว
                ริมทางถนนมีเส้นทางลัดเป็นทางบันไดตัดตรงขึ้นไปอยู่หลายเส้นทาง สุดท้าย ลองสุ่มเลือกเส้นทางหนึ่งที่ร่มรื่นเป็นพิเศษ แม้ทางจะลาดขึ้นเนินไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ชันจนเกินไป  แถมยังมีสีสันสด ๆ จากกลีบดอกอาซาเลียแต่งแต้ม สมคำร่ำลือที่ว่าดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยต้นอาซาเลีย
                โผล่จากทางลัดขึ้นมาอีกที เจอทางถนนที่ทอดยาวไปด้านหน้า แต่คราวนี้ไม่ใช่ทางถนนสำหรับรถวิ่งแล้ว  แต่เป็นทางถนน ที่ปูด้วยวัสดุนุ่มเท้ายกให้คนครอบครอง  ฉนั้นจะเดิน จะวิ่ง ไม่มีรถกวนใจ  ทั้งระหว่างทาง ยังเอาอกเอาใจคนที่มาออกกำลังกาย โดยจัดให้มีลานกว้างสำหรับนั่งพักเป็นระยะ บางลานอยู่ในมุมที่เหมาะสม ก็กลายเป็นจุดชมวิวอาคารระฟ้าที่อยู่ด้านล่าง... ความพิเศษของเขาลูกนี้คงอยู่ตรงนี้ แนบชิดกับตัวเมืองที่วุ่นวาย เหมือนเดินออกจากบ้านไปหน้าปากซอยก็ถึงแล้ว
                ความเนียนละเมียดระหว่างทางปรากฏให้เห็น พรรณไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ หลากหลายขึ้นแทรกแซมระหว่างทาง.... ไม่ปล่อยให้พื้นที่ครอบครองด้วยพืชเพียงไม่กี่ชนิด  ทางระบายน้ำริมถนนแทนที่จะเป็นท่อระบายน้ำธรรมดา กลับขุดเป็นทางน้ำ คล้ายเส้นทางน้ำธรรมชาติที่ไหลรินจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ กลายเป็นทางชุ่มน้ำสำหรับพืชพรรณเล็ก ๆ
                คุณลุงคุณป้าที่นี่ชอบเดิน.... เดินกันเป็นกลุ่ม  ฉับ ๆ แซงพวกฉันสองคน คนแล้ว คนเล่า รัฐบาลกับประชาชน ดูจะรู้อกรู้ใจกันดี  ชอบออกกำลังกาย ชอบเดินกันนัก ฉันทำที่ทางสวย ๆ ให้พวกเธอก็แล้วกัน....











               พื้นที่บริเวณภูเขานัมซาน ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติ ตั้งแต่ปี ค.. 2009  มีการรื้อถอนตัวอาคารที่ตั้งอยู่รอบ ๆ ออกไป  เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และปรับปรุงระบบบริการสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ได้โดยสะดวก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนพิการ
                อืมม์..... ฉันชอบเมืองที่มีภูเขา... และต้นไม้เยอะ ๆ น่ะ....  หลังจากพบปะ พูดคุยกับกรุงโซลชั่วเวลาสั้น ๆ ... ฉันว่า... ฉันชอบเมืองนี้นะ... บอกใคร ๆ ที่ใกล้ตัว  พากันขมวดคิ้วกันใหญ่ วัยป้า ๆ อย่างฉันเนี่ยนะ ชอบกรุงโซล.....
              ทำไมต้องแปลกใจกันด้วย?   เมืองทันสมัยอย่างกรุงโซล ใช่ว่ามีแต่แหล่งช็อปปิ้งถูกใจวัยหนุ่ม วัยสาว ซะเมื่อไหร่ หากมีมุมที่สะท้อนให้เห็นทัศนะและแนวคิดในการพัฒนาเมืองให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ ที่น่าสนใจ และถูกใจวัยป้า ๆ อย่างฉันเช่นกัน 

หมายเหตุ... ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย

เกาหลีใต้ตอนที่ 2   ตอนที่ 3