24 พฤษภาคม 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 9 และบทส่งท้าย

9. พิพิธภัณฑ์ คยองจู 
                สุดท้าย... ฉันพบว่า การเที่ยวชมเมืองประวัติศาสตร์จะสมบูรณ์แบบหากตบท้ายด้วยการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
                อะไรที่ไม่คาดหวัง มักจะเหนือความคาดหมายเสมอ พิพิธภัณฑ์ต่างจังหวัดเล็ก ๆ ไม่น่ามีอะไรน่าสนใจ... นั่นเป็นความคิดแรกที่มีต่อพิพิธภัณฑ์คยองจู  ทำให้ผ่านเลยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไปไม่รู้กี่ครั้ง จนในที่สุด...ใกล้หมดเวลาในเมืองคยองจูเข้าไปทุกที  จึงตัดสินใจเข้าไปชมด้านใน
                First Impression  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เสียค่าเข้าชม... ยิ้มกริ่มเลยล่ะ  อะไรที่ฟรีนี่ชอบจริง ๆ   แต่จริง ๆ แล้ว ต้องชมทางเกาหลีใต้เองที่ไม่ใคร่จะเก็บเงินค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เท่าใดนัก ตามนโยบายสร้างความรู้ ความเข้าใจในบ้านเมือง ก็เป็นกุ้งท่ามกลางฝูงปลาวาฬนี่เนะ ถ้าไม่พยายามทำให้ฐานของตนแกร่งจากราก แล้วจะหนีรอดจากฝูงปลาวาฬได้อย่างไร
                เมื่อเข้าไปด้านใน ของที่จัดวางแสดงมีทั้งที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่รับจากต้นวัฒนธรรมใหญ่อย่างจีน และอินเดีย แต่หลายชิ้นงานอีกเช่นกัน ที่ดูแปลกตา  ดูมีรากมีลักษณะของตนเองอย่างน่าทึ่ง  เหมือนสุสานมูนดิน ที่ไม่หมือนสุสานใดในโลก  นั่นทำให้ฉันชอบพิพิธภัฑณ์แห่งนี้เป็นพิเศษชอบเหนือกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวัน และที่เกียวโตด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นเพียงความรู้สึกชมชอบตามรสนิยมส่วนตัวเท่านั้น
                ชิ้นงานที่วางแสดงนอกจากจะมีความน่าตื่นตาด้วยตัวเองแล้ว  การนำเสนอทำได้ดีมาก ๆ  หากเป็นชิ้นงานเล็ก ๆ จะวางแสดงรวมกันในโต๊ะและตู้กระจกเป็นหมวดหมู่  หากเป็นงานชิ้นใหญ่ จะจัดวางแสดงน้อยชิ้นในห้องโถงกว้าง เพื่อให้มีพื้นที่เปิดโล่งเดินชมงานได้สะดวก และยังมีที่นั่งจัดวางเป็นจังหวะพอเหมาะพอดี...ให้นั่งพักไปด้วย  และได้ชมงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน







                และประสาผู้หญิง (ซะละมัง) งานวางแสดงที่โปรดที่สุดเป็นพวกเครื่องประดับ
                เท่าที่กวาดตามองคร่าว ๆ ผู้คนยุคสมัยชิลลานิยมเครื่องประดับที่ทำด้วยหยกกับทองคำ
                หยกนั้นทำเป็นรูปตัวงอ ๆ หัวโตมีรูเจาะ และมีหาง เรียกขานในภาษาอังกฤษว่า  comma shape jade เข้าใจตั้งชื่อแฮะ รูปลักษณ์คล้ายเครื่องหมายจุลภาคจริงๆ เสียด้วย บริเวณส่วนหัวที่มีรูเจาะ นั้นเพื่อห้อยประดับตามชิ้นงานต่าง  ๆ ไม่ว่าจะกำไล สร้อยคอ กระทั่งสายคาดเอว
                ทองคำนั้นนำไปทำเป็นเครื่องประดับ ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แต่ที่ตื่นตาที่สุดคือมงกุฏ และสายคาดเอวและยิ่งนำมาจัดวางเรียงเป็นเครื่องแต่งกายชุดใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่มงกุฏ สร้อยคอ ต่างหู สายคาดเอว จนถึงรองเท้า ยิ่งดูอลังการมาก... หากนึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงชุดของราชินีซอนต๊อก ในละครเรื่องซอนต๊อก มหาราชินีสามแผ่นดินที่เคยฉายทางช่องสาม เธอสวมใส่ชุดเครื่องประดับที่จำลองจากของจริงที่นี่
                ทั้งมงกุฏ เครื่องประดับ สายคาดเอวเหล่านี้เป็นสมบัติที่ขุดพบจากสุสานมูนดิน นำมาจัดวางแสดง ช่วยให้เห็นภาพความเชื่อมโยงหลังจากที่ได้เดินชมสุสานมูนดินมาก่อนหน้านี้ นี่เป็นธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกันในหลายอารยธรรม ที่ในหลุมฝังศพกษัตริย์จะฝั่งเครื่องราชกุธภัณฑ์ลงไปด้วย

comma shape jade
เครื่องประดับนำมามาจัดวางเรียงครบชุด
ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ : หมวกทองคำ 
ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ :มงกุฏและสายคาดเอวทองคำ

ป้ายภาพจากละครเรื่องราชินีซอนด๊อก สังเกตมงกุฏที่สวมใส่จำลองจากของจริงภายในพิพิธภัณฑ์
                ชิ้นงานอีกกลุ่มที่จัดวางแสดง และเห็นว่าแปลกคือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับม้า ไม่ว่าจะชุดเกราะซึ่งไม่ได้เป็นเกราะเฉพาะสำหรับนักรบหากสำหรับม้าด้วย และเครื่องประดับอานม้าต่าง ๆ และยังมีจอกทำจากเขาสัตว์ตั้งอยู่บนเครื่องปั้นดินเผารูปนักรบสวมใส่ชุดเกราะ และหมวกเหล็ก ในมือถือหอกและโล่นั่งอยู่บนหลังม้า บ่งให้รู้เป็นนัยว่านักรบในสมัยอาณาจักรชิลลาเชี่ยวชาญในเรื่องของการขี่ม้า เป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะเป็นทักษะจำเป็นของชนเผ่าที่มีบรรพบุรุษเร่ร่อนมาจากเอเชียตะวันตกเฉียงเหนือ


ชุดเกราะของนักรบ ที่เผื่อแผ่ไปถึงม้าด้วย

ชุดเกราะของนักรบ ที่เผื่อแผ่ไปถึงม้าด้วย
จอกทำจากเขาสัตว์ตั้งอยู่บนเครื่องปั้นดินเผารูปนักรบสวมใส่ชุดเกราะ และหมวก
ในมือถือหอกและโล่นั่งอยู่บนหลังม้า ผลงานชิ้นนี้เป็นงานชิ้นเอกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ
              การเดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์นั้น  บางครั้งสิ่งของที่จัดวางแสดงมีจำนวนมากจนละลานตา ความรู้ที่มีอยู่น้อย ทำให้แยกชิ้นงานเด่น ๆ ออกจากชิ้นงานทั่วไปไม่ออก หลาย ๆ พิพิธภัณฑ์จึงทำรายการพร้อมแผนผังคล้ายลายแทงชี้บอกที่ตั้งผลงานชิ้นเอก เพื่อให้ผู้มาเยือนตามลายแทงเข้าไปชมผลงานชิ้นเด่น ๆ ได้ครบถ้วน  พิพิธภัณฑ์ที่ทำแบบนี้คือพิพิธภัฑณ์ลูฟว์ที่ปารีส  กระทั่งพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใหญ่มากอย่างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวันเอง  แม้ไม่มีลายแทงชี้บอกทางแบบที่ลูฟว์ แต่จะมีข้อมูลติดโปรยให้เห็นเป็นระยะว่า ผลงานชิ้นเอกที่นี่คือ  งานหยกแกะสลักรูปผักกาด และงานแกะสลักหินเป็นชิ้นหมูสามชั้น เป็นการย้ำให้เข้าไปชม  สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่นี่ เปรียบไม่ได้กับลูฟว์อย่างแน่นอน และเทียบชั้นไม่ได้กับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวันที่เป็นสถานที่สดงศิลปวัตถุจีนล้ำค่าที่ดีที่สุดในโลก แต่หากอยากรู้ว่าชิ้นงานไหนสำคัญเป็นพิเศษให้สังเกตที่ป้ายว่าเป็น “national treasure”  หรือไม่ หากมีนั่นหมายถึง คุณกำลังยืนอยู่เบื้องหน้าผลงานชิ้นเอกของอาณาจักรชิลลา

ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ : ฝักดาบทองคำ 
ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ : พระไภษัชยคุรุตถาคต พระตถาคตเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งโอสถรักษาโรค
                หลายคนบัญญัติลักษณะของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ไว้ว่าจะต้องเป็นสถานที่ที่มีชีวิต และเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดี สำคัญจะต้องมีเทคโนโลยีสมัยใหม่และการจัดแสง สี เสียงที่น่าสนใจ
                ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีภาพยนตร์เกี่ยวกับวัดช็อคกูรัมฉายให้ดู  จำลองภาพการสร้างวัด  และอธิบายถึงภาพแกะสลักที่อยู่ตรงผนังของถ้ำ  ช่วยเสริมให้เข้าใจถึงผังของตัววัด และวิธีการสร้างหลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่จริงมาแล้ว และภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีรูปแกะสลักจำลองของพระอวโลกิเตศวรพระมัญชุศรีโพธิสัตว์  และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เมื่อไม่สามารถชมใกล้ ๆ ได้ที่วัดช็อกกูรัม สามารถมายืนดูพินิจระยะใกล้ ๆ ได้ภายในพิพิธภัณฑ์... นี่แหละ ฉันถึงกล่าวตั้งแต่ต้นว่า การเที่ยวชมเมืองประวัติศาสตร์จะสมบูรณ์แบบต่อเมื่อได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นการตบท้าย อะไรที่ยังสงสัย อะไรที่ยังไม่เข้าใจ จะได้คำตอบสุดท้ายที่นี่นี่เอง

แผ่นภาพจำลองผังโครงสร้างวัดช็อคกูรัมและภาพสแกะลักบนฝาผนัง

ภาพแกะสลักจำลองพระอวโลกิเตศวรภายในวัดถ้ำช็อคกูรัม

                พื้นที่รอบ ๆ ของตัวพิพิธภัณฑ์ยังมีการจำลองสิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ อย่างเจดีย์ทาโบทับ และเจดีย์ช็อกกาทับ ที่อยู่ภายในเขตวัดพุลกุกซา ให้ได้ชมอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง โดยเฉพาะเจดีย์ช็อกกาทับที่อยู่ระหว่างซ่อมแซมมีอาคารสร้างล้อมปิดไว้ จึงได้เห็นภาพเจดีย์ชัด ๆ ที่พิพิธภัณฑ์นี่เอง
                ภายในเขตพิพิธภัณฑ์ยังมีผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่ง  ได้แก่ระฆัง เอมอีเล (Emille)  ซึ่งในภาษาชิลลามีความหมายว่าแม่ แขวนไว้ที่ศาลาหน้าประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์  ตามตำนานเล่าขานกันว่าได้มีการนำเด็กทารกมาสังเวยการสร้างระฆังใบนี้เพื่อให้มีเสียงที่ไพเราะ เมื่อมีการเคาะระฆัง ระฆังจึงดังคล้ายเสียง.. เอม อี เล ที่แปลว่าแม่  แต่เดิมนั้นมีการเคาะระฆังใบนี้ทุก ๆ โมงเช้า แต่ได้ยกเลิกธรรมเนียมนั้นไปแล้ว เหลือแต่การเคาะในโอกาสพิเศษเเช่นในวันปีใหม่  จึงไม่มีโอกาสได้ฟังว่าเสียงระฆังของช่างเกาหลีที่ว่าไพเราะที่สุดในโลกนั้นจริงหรือไม่

                เดินชมงานทั้งในตัวอาคารและนอกอาคารจนทั่วถ้วน ได้เวลานั่งเหยียดขา พักเท้า  พื้นที่รอบ ๆ ตัวพิพิธภัณฑ์ เปิดโล่ง กระทั่งแลเห็นทิวเขาลิบ ๆที่โอบล้อมอยู่รอบตัวเมือง   คยองจูนับเป็นเมืองประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ที่น่ารัก น่ามาเยือนเมืองหนึ่งเลยทีเดียว

อาคารพิพิธภัณฑ์ และเจดีย์จำลองทาโบทับ
.....
หมายเหตุ


หากอยากฟังเสียงระฆังเอมอีเลว่ามีเสียงไพเราะอย่างไร เข้าไปลองฟังได้ที่  http://www.youtube.com/watch?v=7YEyMLX3sD8  จะได้ยินเสียงระฆังที่บันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 60

บทส่งท้าย
                จากพิพิธภัณฑ์คยองจูกลับไปยังที่พักไม่ได้ใกล้ ๆ เลย น่าจะเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางด้วยซ้ำ แต่ถ้ามองจากแผนที่ ผังของตัวเมืองคยองจูยั่วยวนให้อยากเดินมาก ๆ ด้วยถัดจากพิพิธภัณฑ์ไปเพียงนิดเดียวตามทิศทางเข้าสู่ตัวเมืองจะผ่านป่าใจกลางเมืองที่จะไปบรรจบกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ได้เดินสำรวจไปบ้างแล้วในเย็นวันแรกที่มาถึง
                และคิดไม่ผิดที่เลือกเดินกลับ ด้วยระหว่างทางได้เห็นบรรยากาศของสวนป่าที่ร่มรื่น ทั้งยังเป็นป่าที่มีชีวิต ด้วยมีผู้คนออกมาเดินเล่น ขี่จักรยาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย  ยิ่งใกล้ถึงสวนสาธารณะได้เห็นภาพพ่อแม่พาเด็กเล็ก ๆ ออกมาวิ่งเล่น และเล่นว่าวด้วยกันภายในสวน นี่เป็นคุณภาพชีวิตที่เห็นแล้วชวนอิจฉา พื้นที่ป่า พื้นที่สวน พื้นที่ประวัติศาสตร์ผสมกันเป็นสถานที่กว้างใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ สถานที่ออกกำลังกาย และสถานที่พักผ่อน  ฉนั้น ใครอย่ามาถามคำถามยอดฮิตกับฉันเลยเชียว ว่าคนเกาหลีใต้หน้าตาเป็นอย่างไร  สวยหล่อเหมือนในซีรี่ย์มั้ย  เพราะฉันจะตอบไม่ตรงคำถาม เพราะพาลจะพูดอยู่นั่นแหละว่าสภาพบ้านเมืองในเกาหลีใต้ สวย น่าอยู่ มีการบริหารจัดการที่ดีอย่างไร




หมายเหตุ
เมืองคยองจูไม่มีของที่ระลึกสวย ๆ งาม ๆ วางขาย มีแต่ขนมที่ไม่ว่าจะเดินไปตรงไหนของตัวเมือง ต้องได้เห็น นั่นคือ Gyeongju Traditonal Bread  และไม่รู้ว่าชาวเมืองขายของเก่งหรือขายไม่เก่งกันแน่ เพราะในที่สุดเมื่อไม่รู้จะซื้ออะไรก็ซื้อเจ้าขนมปังพื้นบ้านนี่แหละเจ้าขนมปังที่ว่า มองหน้าตาอย่างไรก็ไม่เหมือนขนมปัง เหมือนขนมเปี๊ยะมากกว่า ลองบิชิมดูจึงรู้ว่าด้านในสอดไส้ถั่วแดงหวาน ๆ ไว้ ยิ่งอบออกมาใหม่ ๆ ทั้งหอม ทั้งอร่อย เสียแต่ว่าเก็บได้ไม่กี่วันเท่านั้น แต่นั่นแสดงว่าไม่ใส่สารกันบูดสินะ

หมายเหตุ... งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย

เกาหลีใต้ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8

23 พฤษภาคม 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 8

8. วัดพุทธในคยองจู
                ศาสนาประจำอาณาจักรโบราณชิลลาคือพุทธศาสนา... สถานที่สำคัญลำดับต้น ๆ ที่ใคร ๆ เมื่อมาเยือนคยองจูเป็นต้องไปเยี่ยมชมจึงเป็นวัดพุทธขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยนั้น ได้แก่วัดพุลกุกซา (Bulguksa) และวัดช็อกกูรัม (Seokguram Grotto)  
                วัดพุลกุกซาหากดูจากแผนที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางทีเดียว ประกอบด้วยวิหารใหญ่น้อยหลายหลัง ตั้งอยู่บนเชิงเขา ห่างจากตัวเมืองคยองจูออกไปประมาณ 16 กิโลเมตร แต่...เห็นอยู่ห่างออกนอกตัวเมืองอย่างนั้นหากมีรถเมล์ประจำทางแล่นผ่านตลอดทั้งวัน จึงอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี  
                เมื่อเข้าไปด้านใน ลักษณะของสถาปัตยกรรมวัดแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่รับมาจากจีนอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะลักษณะของผังตัววัด ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นลานสี่เหลี่ยมย่อย ๆ  โดยมีระเบียงทางเดินและประตูทางเข้าเชื่อมต่อถึงกัน ในแต่ละลานจะมีวิหารอยู่หนึ่งหลังเป็นประดุจประธานของพิ้นที่ และ ตรงบริเวณลานด้านหน้าวิหารใหญ่ที่เป็นเสมือนอาคารหลักของตัววัด วิหารแทอุงจอง (Daeungjeon)  มีเจดีย์ขนาดเล็กสององค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าซ้ายขวา  เจดีย์ทั้งสององค์นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเจดีย์ที่งามที่สุดของอาณาจักรชิลลา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติประจำชาติ  ช่วงที่ฉันไปเยือนนั้น เจดีย์องค์เล็กทางด้านซ้ายมือ (หันหน้าเข้าหาวิหาร) อยู่ระหว่างซ่อมแซมบูรณะ มีการสร้างอาคารกระจกล้อมไว้อย่างมิดชิด ทำให้แว่บแรกที่เห็นนึกว่ามีอาคารทรงกล่องสมัยใหม่ที่ไหนโผล่ผุดอยู่กลางลานวัด  จนรู้จากคำอธิบายด้านหน้า ทำให้รู้สึกทึ่งกับกระบวนการการดูแลโบราณสถานของที่นี่  ที่มีการปิดกั้นพื้นที่ที่จะบูรณะอย่างมิดชิด เก็บทั้งฝุ่น และเสียงได้อย่างหมดจด ขณะเดียวกัน ผู้ที่มาเยือน ก็ยังมองผ่านกระจกเห็นการบูรณะนั้นได้
                เมื่อเดินชมอาคารต่าง ๆ และพื้นที่รอบ ๆ  อดนึกเปรียบเทียบกับวัดพงอึนซาในกรุงโซลไม่ได้

                ขณะที่อยู่ในวัดพงอึนซาที่กรุงโซลนั้น ฉันชอบความเรียบง่ายสงบงามภายในตัววิหารที่ทำให้อยากนั่งนิ่ง ๆ อยู่ในนั้นเป็นเวลานาน ๆ  หากที่นี่เปี่ยมด้วยความร่มรื่น และความหลากหลายของพันธุ์ไม้  ดอกไม้หลายชนิดแปลกตาสวยงาม ดึงดูดให้ตรงไปเก็บภาพสวย ๆ นั้นไว้.... สมแล้วที่ว่า หากอยากเห็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของเกาหลีให้ไปชมตามสวนในวัดพุทธต่าง ๆ  วัดจึงไม่ได้เป็นเพียงที่ฝึกบ่มจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ชูใจให้เบิกบานกับธรรมชาติที่รังสรรค์สิ่งสวยงามอยู่ตลอดเวลา

สวนกับกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะเดินเข้าไปในเขตวัด


พระศากยมุนี ภายในวิหารแทอุงจอง
วิหารมูซอลจอน (Museoljeon) 

วิหารพีโรจอน (Birojeon) ที่ประดิษฐานพระไวโรจนะ
พระไวโรจนะภายในวิหารพีโรจอน
วิหารนาฮันจอน (Nahanjeon)

                จากวัดพุลกุกซามุ่งหน้าต่อไปยังวัดช็อคกูรัม
                การไปเยือนวัดช็อคกูรัมนั้นต่างจากวัดพุลกุกซาโดยสิ้นเชิง
                บรรยากาศระหว่างทางเหมือนการจาริกแสวงบุญที่ต้องดั้นด้นเพื่อไปกราบไหว้พระพุทธรูป ขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานภายในถ้ำทรงโดมแปลกตา
                เริ่มตั้งแต่เส้นทางที่คดคี้ยวเป็นพิเศษ ค่อย ๆ ลัดเลาะสู่เขา Tohamsan ซึ่งถ้ามองจากแผนที่แล้วเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในบริเวณ  เมื่อไปถึงลานจอดรถกว้างด้านล่าง ต้องเดินขึ้นเขาต่อไปอีกราว  500 เมตร  นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างเดินไหลตามกันไปเป็นทาง เมื่อไปถึงด้านบน ปรากฏอาคารหลังเล็ก ๆ สร้างครอบปากทางเข้าถ้ำ ที่เพียง เดินเข้าไปในอาคารเพียงนิดเดียวก็จะเห็นถ้ำและพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ด้านใน มีกระจกปิดกั้นไว้  แรกที่เห็นภาพพระพุทธรูปและถ้ำจากแผ่นพับก็รู้สึกว่าน่าสนใจอยู่แล้ว  เมื่อเห็นของจริง แม้จะปิดกั้นด้วยกระจกใส แต่ทั้งองค์พระ และตัวถ้ำงดงาม และน่าพิศวง สมคำอวดอ้างว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของอาณาจักรชิลลา
                ตัวถ้ำนั้นน่าพิศวงตรงไม่ได้เป็นถ้ำตามธรรมชาติ หรือขุดเจาะเข้าไปในภูเขาแต่อย่างใด แต่เป็นถ้ำจำลองที่นำหินแกรนิตสีขาวมาสร้าง ประกอบด้วยห้องคูหาชั้นนอกทรงสี่เหลี่ยม ทอดสู่ห้องชั้นในทรงกลม ที่เพดานยกสูงเป็นทรงโดม  และเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีขนาดใหญ่ที่สลักจากหินแกรนิตสีขาวทั้งองค์
                รูปลักษณ์ของห้องชั้นในทรงกลมที่ยกเพดานสูงเป็นทรงโดม ทำให้นึกถึงสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นงานแบบนี้ในประเทศแถบเอเชีย ทั้งยังสร้างขึ้นตั้งแต่ค.ศ. 751
                กลิ่นอายตะวันตกฟุ้งเจือปน  กระทั่งองค์พระพุทธรูปที่สลักจากหินแกรนิต ตัวจีวรที่ห่มคลุมมีลักษณะเป็นริ้วผ้าแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะของพระพุทธรูปในยุคต้น ๆ ที่ช่างได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน ซึ่งจะว่าแปลกก็ไม่เชิงนัก  เพราะหากไล่เรียงแล้วอินเดียนั้นเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรีกและโรมันมาระยะเวลาหนึ่ง การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น  และหากมองตรงผนังหินด้านหลังองค์พระพุทธรูป จะเห็นวงรัศมีทรงกลมอยู่ในตำแหน่งรองรับกับเศียรองค์พระพอดิบพอดี นี่เป็นอิทธิพลที่รับมาจากกรีกและโรมันอีกเช่นกันที่ช่างมักปั้นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ โดยมีรัศมี halo อยู่ด้านหลัง
                ตามความเชื่อของพุทธนิกายมหายาน มีองค์เทพเจ้ามากมายปกปักศาสนสถาน และองค์พระพุทธเจ้า รูปแกะสลักฝาผนังด้านหลัง ตั้งแต่คูหาสี่เหลี่ยมชั้นนอก ไปจนถึงห้องชั้นในทรงกลม จึงเป็นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ตั้งแต่เทพเจ้าทั้งแปดที่เชื่อกันว่ามีหน้าที่ปกป้องพระพุทธเจ้า  นายทวารบาลทั้งสองที่ดูแลทางเข้าศาสนสถาน ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ พระพรหม พระวิษณุ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวร และสาวกผู้ติดตามทั้งสิบ
                แก่นความเชื่อทางตะวันออกที่ถ่ายทอดออกมาเป็นพุทธศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ให้ความรู้สึกน่าพิศวง ขณะเดียวกันกลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่งดงาม สุดท้ายวัฒนธรรม ความเชื่อบนโลกใบนี้ คงถ่ายเทโอนกันไป กันมาเช่นนี้เอง

อาคารที่สร้างครอบปากทางเข้าถ้ำเมื่อมองจากลานด้านล่าง 
อาคารที่สร้างครอบปากทางเข้าถ้ำ
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในถ้ำ (ภาพจาก www/korea.net



หมายเหตุ... งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย

เกาหลีใต้ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7

17 พฤษภาคม 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 7

๗. คยองจู (Gyeongjo) เมืองหลวงแห่งอาณาจักรโบราณชิลลา
                การได้เดินเที่ยวชมเมืองคยองจูด้วยสองเท้าในเวลาเย็นย่ำของวันแรกทำให้พบว่าเมืองเก่าขนาดเล็กในหุบเขาแห่งนี้ เป็นประหนึ่งเมืองพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง  เพราะไม่ว่าจะเดินไปตรงส่วนไหนของเมืองจะเจอสุสานมูนดินแปลกตา แบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เจอเศษซากของเมืองเก่าที่เคยรุ่งเรืองในอดีต และที่สำคัญบรรยากาศความเป็นเมืองเก่าแบบนี้ถูกร้อยเชื่อมด้วยสวนขนาดใหญ่ ที่ต้นไม้ล้วนใหญ่มหึมา เห็นแล้วชวนหลงไหล ช่วยให้พื้นที่โบราณสถานกลมกลืนไปกับตัวเมือง ไม่ได้กั้นแยกโดดเดี่ยวเพื่อทำเป็นอทุยานประวัติศาสตร์ นั่นทำให้ตัวเมืองทั้งเมือง เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ร่มรื่นด้วยตัวเอง
                บรรยากาศของเมืองที่เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแบบนี้ เคยพบเจอที่อิตาลี ไม่คิดมาก่อนว่าเมืองชื่อประหลาดที่พยายามออกเสียงอยู่หลายครั้ง เคียงจู บ้าง คองจูบ้าง... สุดท้ายคือคยองจู จะให้อารมณ์ความเป็นเมืองแห่งพิพิธภัณฑ์ ได้ไม่แพ้เมืองใหญ่น้อยในอิตาลีเลย
                คนที่ช่วยปรับเสียง เคียงจู คองจู และสุดท้ายเป็นคยองจูคือเจ้าหน้าที่ขายตั๋วที่สถานีรถประจำทางเมืองซกโช ที่ทำหน้าแปลก ๆ ตอนออกเสียงเคียงจูครั้งแรก ครั้นพอออกเสียงถูก ก็ทำหน้าแปลก ๆ อีก ที่กระเหรี่ยงสองตน มาขอซื้อตั๋วล่วงหน้า  ก่อนที่เจ้าหล่อนจะบอกให้มาซื้อตั๋วตอนที่จะเดินทางได้เลย  มาได้คำตอบชัด ๆ ในวันเดินทาง เมื่อคนขับรถรับตั๋วเราไปแล้วก็ทำหน้าแปลก ๆ  ก่อนที่เราสองคนจะพบว่าบนรถทั้งคันมีผู้โดยสารเริ่มต้นที่ 3 คน เท่านั้น
                รถจากเมืองซกโชวิ่งตรงไปยังเมืองคยองจูวันละเที่ยว  ออกแต่เช้า ถึงเมืองคยองจูตอนบ่ายแก่ ๆ .. นี่เป็นรถประจำทางหวานเย็นชัด ๆ  แวะจอดรับส่งผู้โดยสารทุกเมืองที่ผ่าน ทั้งที่สถานีรถ และที่ป้ายรถข้างทาง..... มีผู้โดยสารขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นระยะ ส่วนใหญ่นั่งกันไม่กี่ป้าย ก็ลงกันแล้ว  แต่เห็นเป็นรถหวานเย็นแบบนี้ เข้าจอดแต่ละสถานี แต่ละป้ายรถเคร่งครัดตรงตามเวลา ถ้าถึงก่อนเวลา คนขับจะจอดรอจนกว่าจะถึงเวลารถออก
                เวลาประพฤติตนเป็นนักท่องเที่ยว ฉันชอบรถหวานเย็นแบบนี้ เพราะจะได้เห็นบรรยากาศที่แปลกตา แล้วเที่ยวติดต่อกันหลายวันเข้า ชักเริ่มล้า  การได้นั่งเฉย ๆ บนรถเอื่อย ๆ ชมวิว เป็นความสุขประการหนึ่ง

                และบนรถหวานเย็นนี่เอง ฉันพบว่าไม่ว่ารถจะแล่นเข้าออกเมืองเล็กเมืองน้อยที่ไหน จะได้เห็นโบสถ์คริสต์เล็กๆ อย่างน้อยหนึ่งแห่งอยู่ เสมอ ช่วยย้ำข้อมูลที่ว่าชาวเกาหลีใต้นับถือศาสนาคริสต์มากเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าพุทธศาสนาที่เคยเป็นศาสนาประจำอาณาจักรโบราณ  และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เห็นและ ชอบใจคือการใช้ประโยชน์จากผืนดินอย่างเต็มที่ พื้นที่ริมถนนสองข้างทางไม่มีปล่อยให้รกร้าง ไร้ประโยชน์ หากมีการปลูกพืชผลทางการเกษตรจนแน่นเต็ม กระทั่งพื้นที่ชายธงสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ยังกลายเป็นแปลงปลูกผักน้อย ๆ ให้ชวนสงสัยเล่นๆ ว่าพื้นที่แบบนี้มีเจ้าของด้วยหรือ หรือใครนึกเสียดาย เลยมาขุดดินยกเป็นแปลงปลูกผักเสียเลย



บรรยากาศสถานีรถประจำทางในแต่ละเมือง
                และเมื่อเริ่มเข้าเขตตัวเมืองคยองจู เริ่มเห็นสุสานมูนดินที่คล้ายภูเขาหญ้าลูกเล็ก ๆ  ช่วยปูบรรยากาศความเป็นเมืองเก่า  แต่พอรถเข้าไปจอดในสถานีรถประจำเมือง แล้วเดินออกมายังพื้นที่รอบ ๆ นี่สิ  บรรยากาศแปลก ๆ  ชอบกลด้วยอาคารที่อยู่รอบ ๆ สถานีรถ ล้วนเป็นโรงแรมที่มีสีสันวูบวาบ  นี่มันโรงแรมแนวคู่รักชัด ๆ  คำโปรยหน้าโรงแรมบางแห่งก็ชวนจินตนการ  hot &   fun time แล้วเราสองคนก็จองที่พักแถวนี้เสียด้วยสิ ชื่อก็หว้านหวาน Sugar Motel  และ... เมื่อไปถึงที่พักเป็นไปตามคาด  โรงแรมที่เราจองไว้เป็นโรงแรมแนวคู่รักจริง ๆ ด้วย
                มิน่าเล่า... ตอนที่จองผ่านระบบทางอินเตอร์เน็ต ถึงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแสดงความเห็นว่า “โรงแรมตกแต่งด้วยรสนิยมแปลกๆ”  แต่ เมื่อเทียบราคากับคุณภาพห้อง รวมถึงทำเลที่ตั้งแล้วคุ้ม ห้องกว้างขวาง ใหม่เอี่ยม มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันตามที่โรงแรมชั้นดีควรจะมี  มีโต๊ะเขียนหนังสือ แถมด้วยคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และที่นับเป็นความภาคภูมิใจของโรงแรมคืออ่างจากุชชี่ใหม่เอี่ยมที่เต็มไปด้วยปุ่มใช้งานจนงง  สุดท้ายได้แต่ยืนมองปลง ๆ ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น เพราะใช้ไม่เป็น  ทุกโรงแรมในย่านนี้ตอนที่ฉันเลือกช้อปผ่านระบบทางอินเตอร์เน็ต ล้วนโอ้อวดเรื่องนี้ทั้งสิ้นว่าโรงแรมตนมีอ่างจากุชชี่ใหม่เอี่ยม....ประมาณว่าโรงแรมไหนไม่มีไม่ต้องเสนอหน้ามาให้เลือกเลยเชียว
                นอกจากบรรยากาศของโรงแรมด้านหน้าที่ตกแต่งด้วยสีสันวูบวาบ และบรรยากาศภายในห้องล็อบบี้และทางเดินที่ดูสลัว ๆ แล้ว.... โรงแรมแห่งนี้ก็เหมือนกับโรงแรมที่พักทั่วไป  แถมคุ้มค่ามาก ๆด้วยซ้ำ เมื่อเทียบสภาพห้องกับราคา  แค่เริ่มต้น...เมืองคยองจูก็มีสีสันแล้ว  คิดได้ยังไงว่าที่พักจะต้องมีลักษณะแบบนี้ แถมอาหารเช้ายังบริการเสริฟถึงห้องอีกด้วย

โรงแรมรอบ ๆ สถานีรถเมืองคอยงจู
                 ออกจากห้องพัก... สถานที่แรกที่ตรงดิ่งไปหาคือ I-Information ที่อยู่ใกล้ ๆ กับสถานีรถประจำทาง หลังจากรับแผนที่จากเจ้าหน้าที่มากางเปิดออกดู ต้องยอมรับว่า การท่องเที่ยวของเขาแจ๋วจริง แผนที่ฉบับเดียวเอาอยู่  เก็บสถานที่เที่ยวสำคัญ ๆ ของคยองจูร้อยเรียงเป็นสัญลักษณ์บนแผนที่อย่างครบครัน แถมด้วยภาพประกอบและข้อมูลโดยสังเขป  ก่อนตบท้ายด้วยหมายเลขรถประจำทางที่แล่นผ่านสถานที่นั้น ๆ.... และถ้าขนาดนี้แล้วยังวางแผนการเดินทางไม่ถูก มีตัวอย่างเส้นทางแนะนำพร้อมระยะเวลาประกอบให้เลือกตัดสินใจ
                จากแผนที่ฉบับนั้น สุสานมูนดินกระจายอยู่หลายจุดในตัวเมือง ใกล้ที่สุดที่เดินไปถึงได้ง่าย ๆ  และไม่ไกลจากที่พัก คือ Darerungnon Royal Tomb    ออกไปสำรวจสักหน่อยน่าจะดี
                Darerungnon Royal Tomb  เป็นสวนสุสานที่กั้นพื้นที่เป็นสัดส่วนมีกำแพงล้อมรอบ  กลายเป็นสวนสุสานมูนดินที่ต้องเสียค่าเข้าชม  แต่ก่อนนั้นบ้านเรือนผู้คนตั้งปะปนกับสุสานเหล่านี้ สุสานที่มีขนาดใหญ่เป็นสุสานของกษัตริย์และราชินี เมื่อมีการขุดสำรวจพบสมบัติล้ำค่าจำนวนมากอยู่ด้านใน จึงได้ย้ายผู้คนและบ้านเรือนออกไป และกั้นพื้นที่ส่วนนี้เป็นเขตโบราณสถาน แต่กระนั้น สุสานมูนดินภายในเมืองยังกระจัดกระจายไปทั่ว หลายแห่งอยู่นอกเขตที่กั้นเป็นสัดเป็นส่วน ดังนั้นแม้ไม่เสียเงินเข้าชมภายในพื้นที่นี้ ก็ยังมีโอกาสได้เห็นสุสานมูนดินอื่น ในระยะใกล้เช่นกัน
                แรกนั้นคิดจะหยุดที่สุสานมูนดินเท่านั้นแต่ที่ไหนได้....สวนไม้สวย ๆ ที่ช่วยเชื่อมร้อยสถานที่ต่าง ๆ ของตัวเมือง ทำให้การเดินเพลินกว่าที่คิด ไหนอดีต ไหนปัจจุบัน กลมกลืนกันไปหมดจนแยกไม่ออก สองเท้าจึงพาย่ำไปไกลเกินสวนสุสานมูนดิน กระทั่งไปถึงสวนใหญ่อีกฟากถนน  ก่อนจะหมดแรงตรงหอดูดาวโบราณ... ถ้าทั้งแผนที่ และแผ่นป้ายไม่ระบุตรงกัน มองแต่รูปลักษณ์ภายนอกคงไม่คิดว่าที่นี่เป็นหอดูดาว แน่ เพราะรูปทรงเหมือนสถูปเล็ก ๆ เสียมากกว่า....
                คนที่นี่คงให้ความสำคัญกับหอดูดาวนี้เป็นพิเศษ เพราะกั้นเป็นพื้นที่ที่ต้องเสียค่าเข้าชม  ซึ่งแปลกไม่น้อย เพราะหอดูดาวตั้งอยู่ในพื้นที่สวนที่เปิดโล่ง  ถึงไม่ต้องซื้อตั๋วเข้าชม ยืนมองจากด้านนอกก็เห็นชัดเจนแทบไม่ต่างจากด้านใน  
                จากแผ่นป้ายข้อมูลด้านหน้าระบุว่าหอดูดาวแห่งนี้เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออก สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรชิลลา ยุคราชินีซอนด็อกครองราชย์  และจนบัดนี้ยังไม่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์อะไรกันแน่  แต่ตัวเลขที่เกี่ยวกับการก่อสร้างน่าสนใจทีเดียว มีการใช้หินในการก่อสร้าง 365 ก้อน เท่ากับจำนวนวันใน 1 ปี  ตรงกึ่งกลางของหอมีช่องหน้าต่าง ซึ่งหากนับหินจากฐานล่างสุดไปถึงขอบหน้าต่างด้านล่าง จะพบว่ามี 12 ชั้น และนับจากชั้นเหนือขอบหน้าต่างขึ้นไปถึงข้างบนสุด มี 12 ชั้นเช่นกัน... เป็นตัวเลขที่ทำให้เดากันต่าง ๆ นา ๆ ว่า แทนจำนวนเดือนในหนึ่งปี หรือจะแทน 12 ราศี กันแน่
                แค่ระยะเวลายามเย็นสั้น ๆ ก็ถูกใจเมืองคยองจูมากมาย.... ไม่คิดว่าประเทศที่เน้นภาพการท่องเที่ยวของตนเองด้วยภาพลักษณ์ของการช้อปปิ้ง และตามรอยซีรี่ย์ดังต่าง ๆ จะมีเมืองประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างนี้

ภาพสุสานมูนดินภายในเขต Darerungnon Royal Tomb ในมุมสูง




ภายในสวนอีกฝั่งด้านหนึ่งของถนน มีสุสานมูนดินเช่นกัน
 และเป็นส่วนที่ไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าชม

ภาพนี้ทำให้พอเข้าใจได้บ้างว่าเวลาดูดาวภายในหอจะมีสภาพเป็นอย่างไร
หอดูดาวโบราณ

หมายเหตุ... งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย



10 พฤษภาคม 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 6

๖. อุทยานแห่งชาติโซรัคซาน

                การเดินทางจากเมืองซกโชไปอุทยานแห่งชาติโซรัคซานนั้นสะดวกมากจริง ๆ มีรถประจำทางแล่นจากตัวเมืองไปถึงด้านหน้าอุทยานตลอดทั้งวัน ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านออกเดินทางไปยังอุทยานแต่เช้า เราสองคนนับเป็นผู้โดยสารสองคนแรก และเป็นสองคนสุดท้ายเมื่อไปถึงปลายทาง  ระหว่างทางมีผู้โดยสารขึ้นลงเป็นระยะ ล้วนแต่เป็นคนพื้นถิ่น สะท้อนให้เห็นว่า รถเมล์สายนี้ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว แต่มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของคนที่นี่  การท่องเที่ยวจึงเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น 



                  อุทยานแห่งชาติโซรัคซานยามเช้าเงียบสงบ มีนักท่องเที่ยวบางตา  ตัวสำนักงานบริการนักท่องเที่ยวเองยังไม่เปิด  เราสองคนจึงวางแผนการเที่ยวชมอุทยานจากป้ายแผนที่ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารกระเช้าไฟฟ้า 
                จากแผนที่ อุทยานแห่งนี้กินพื้นที่กว้างคาบเกี่ยวพื้นที่เมืองถึงสี่เมือง  เต็มไปด้วยเทือกเขาหินแกรนิตและหินไนส์ที่สลับซับซ้อน มีลำธารไหลเชื่อมระหว่างแนวสันเขาเป็นทางยาว ก่อให้เกิดภูมิประเทศที่งดงาม แปลกตา บนแผนที่มีเส้นทางเดินเท้าให้เลือกหลายเส้นทาง ตามความเหมาะสมต่อเวลาและสภาพร่างกายของแต่ละคน  มีทั้งแบบใช้เวลาตั้งแต่  30 นาทีขึ้นไปจนถึง 4 ชั่วโมง  หรือจะเลือกเส้นทางที่กระเช้าไฟฟ้าช่วยย่นระยะขึ้นสู่ยอดเขาสูง เพื่อชมวิวอุทยานในมุมกว้างจากด้านบนก็ยังได้
                หลังจากยืนมองชั่งใจ ชั่วขณะ เราสองคนตัดสินใจเลือกเส้นทางกลาง ๆ ใช้ระยะเวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะได้ขึ้นกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปชมวิวด้านบน ด้วยอายุอานามก็ใช่น้อย ๆ กันแล้ว เริ่มจะเข้าข่าย ลุง ๆ ป้า ๆ กันแล้ว
                เส้นทางที่เลือกเป็นเส้นทางราบเลาะเรียบไปกับทางน้ำระหว่างสันเขา  ระหว่างทางจึงได้เห็นภาพสวย ๆ ของสายน้ำ ที่ไหลเซาะผ่านพื้นหิน ต้นไม้ที่ร่มรื่น และผาหินที่ตั้งชะเงื้อมอยู่ใกล้ ๆ แรกเดินนั้นดูโดดเดี่ยว มีเพียงคุณลุง คุณป้า แต่งกายทะมัดทะแมงในมือถือไม้เท้าปีนเขา เดินแซงผ่านไปประปราย  ลักษณะการเดินเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แค่เดินแซงผ่านเราไปเฉย ๆ หากเดินทิ้งหายกันไปเลยเชียว
                เอ... ยังไงกัน.... ตั้งแต่เดินมา เดินตามไม่ทันใครสักคน แถมถูกแซงเอา แซงเอา แล้วคนแซง ก็อายุเยอะ ๆ กันทั้งนั้น
                “เรามาเดินเล่น... พวกนั้นเขามาออกกำลังกาย” คนข้างตัวกล่าวเชิงออกตัว
                ฉันรีบสนองตอบทันควัน ใช่แล้ว ในมือพวกนั้นเป็นไม้ปีนเขา ส่วนในมือเราสองคนเป็นกล้องถ่ายรูป แค่นี้ ก็ต่างกันแล้ว     แต่เดินไปสักพักนี่สิ  บรรยากาศที่เงียบสงบ  เริ่มมีเสียงอึกทึกแว่วให้ได้ยิน  ใกล้ขึ้น ใกล้ขึ้น จนกระทั่งกลุ่มเจ้าของเสียงปรากฏ เป็นกลุ่มเด็กนักเรียนวัยประมาณชั้นมัธยมต้น มาทัศนศึกษาพร้อมคุณครู กลุ่มเด็กเหล่านั้นเมื่อเดินตามมาทันเราสองคน ก็เดินแซงลิ่วผ่านไปในทันที
                เอ๊ะ ! ชักยังไง สรุปแล้ว จะเป็นผู้สูงอายุ หรือเด็กในวัยเรียน ล้วนแซงเราไปทั้งสิ้น.... เอาเถอะ แต่ละคนล้วนมีท่วงจังหวะเป็นของตนเอง จะไปเปลี่ยนจังหวะเพื่อตามใครให้ทันใคร  คงไม่ได้
                เส้นทางที่เลือก สิ้นสุดลงตรงสะพานเชื่อมระหว่างพื้นที่สันเขาด้านหนึ่ง ไปสู่สันเขาอีกด้านหนึ่ง
                จริง ๆ แล้ว เป็นการสิ้นสุดเส้นทางเดินในช่วงแรก เท่านั้น หากต้องการเดินไปต่อนั้นไปได้ แต่เส้นทางจะลำบากและชันขึ้น  กลุ่มเด็ก ๆ และพวกเราหยุดกันแค่นั้น ขณะที่บรรดาผู้สูงอายุทั้งหลาย ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ย้ำอีกครั้ง ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ยังคงเดินไปต่ออย่างมุ่งมั่น... เชื่อแล้วว่าลุง ๆ ป้า ๆ แข็งแรงกันจริง ๆ
                ตรงบริเวณจุดหยุดพักมีป้ายเล่าขานเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย  ๆ อยู่ใกล้ ๆ  ช่วยเสริมจินตนาการขณะยืนชมธรรมชาติรอบ ๆ ตัวได้ดีทีเดียว
สถานที่แห่งนี้เป็นที่โปรดปรานของนางไม้บนสรวงสวรรค์นางหนึ่ง ที่มักจะลงจากสวรรค์เบื้องบนมาเที่ยวเล่นอยู่เนือง ๆ  นั่นเป็นข้อความบนแผ่นป้าย   และตรงบริเวณนั้นอีกเช่นกัน หาก แหงนหน้ามองขึ้นไปด้านบนจะเห็นยอดเขาหินรูปทรงแปลกตาสามยอดตั้งชะเงื้อมอยู่ใกล้ ๆ  โดดเด่นเป็นพิเศษกระทั่งมีชื่อเรียกเฉพาะ และกลายเป็น landmark ของพื้นที่
เรานั่งพักอยู่ตรงนั้นชั่วครู่ ก่อนเดินย้อนกลับไปยังที่ทำการอุทยาน พร้อมกับกลุ่มเด็ก ๆ และตอนนั้นเองที่พบว่า.... โซรัคซานไม่ได้เงียบเชียบอีกต่อไป  เราสองคนเดินสวนกับกลุ่มเด็กทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ยัน ชั้นมัธยมปลาย หลั่งไหลมาทัศนศึกษากันจนเส้นทางที่แรกเดินว่างเปล่า บัดนี้ล้นเต็ม.... เริ่มจะตระหนักตอนนั้นเองว่า คนเกาหลี เดินป่า เดินเขากันตั้งแต่ตัวเล็ก ตัวน้อยอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ชมชอบการเดินป่ากันนัก  ยิ่งสูงวัยมีเวลาว่างมากขึ้นคงโหยหา จึงได้พบผู้สูงอายุตลอดเส้นทาง แต่ที่แปลกคือไม่ค่อยเห็นหนุ่ม ๆ สาว ๆ  อาจเป็นเพราะมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจกว่า แต่สุดท้ายเมื่ออายุมากขึ้นก็หวนกลับมาจนได้






            หลังจากเดินเรียกเหงื่อมาพอเบา ๆ  ต่อด้วยการนั่งกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปยังจุดชมวิวบนยอดเขาด้านบน  แรกหวังแค่ความเพลิดเพลินจากการได้ขึ้นที่สูงโดยไม่ต้องเหนื่อยแรง หากเส้นทางนี้พิเศษกว่านั้น จุดหมายที่แท้ไม่ได้หยุดแค่อาคารจอดกระเช้าไฟฟ้า หากอยู่ที่เส้นทางด้านหลังที่จะนำไปสู่ลานหิกว้างของยอดเขาอีกแห่ง  ณ ตรงนั้น จะได้เห็นวิวชวนอัศจรรย์ ที่ห้อมล้อมด้วยผาหินอันงดงาม และเทือกเขาที่สลับซับซ้อนพาดผ่านท้องฟ้าสีเข้ม.... ลานหินกว้างนั้นค่อย ๆ ลาดเอียงสูงขึ้น สูงขึ้น จนระยะสุดท้ายชันดิ่งจนใกล้เคียง 90  องศา ท้าทายให้หลายคนฮึดไต่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่มีธงชาติปลิวไสวปักอยู่ 
                ใครใคร่ไป  เชิญ
                ฉันลองแล้วสู้ไม่ไหว ปล่อยให้เพื่อนร่วมบ้านขึ้นไปเพียงลำพัง
                ระหว่างรอ  บนลานหินกว้างนั้นแน่นหนาด้วยผู้คน  และประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ....นับเป็นภาพที่สวนทางกับความเคยชินที่ว่า คนมาเที่ยวป่าเที่ยวเขา มักเป็นวัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยสาว แต่นี่สูงอายุกันทั้งนั้น ยิ่งตอนนั่งกระเช้าไฟฟ้ากลับลงไปข้างล่าง ยิ่งอัศจรรย์ขึ้นไปอีก เมื่อพบว่า เราสองคนเป็นผู้โดยสารที่มีอายุน้อยที่สุดในกลุ่ม  ราวกับว่า วัยหนุ่ม วัยสาว ขาดหายไปจากอุทยานแห่งนี้.....









                ภายในอุทยานนอกจากมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ให้เลือกเดินตามสภาพร่างกายและเวลาหลายเส้นทางแล้ว ยังมีวัดเซนเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตอุทยาน ชื่อว่าวัดชินฮึงซา  (Sinheungsa)  เชื่อกันว่าเป็นวัดเซนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก  สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 707 แต่ที่เห็นปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สามในปี ค.ศ. 1645 เนื่องจากโดนไฟป่าเผาเสียหาย  และ... ถ้าหากสนใจปฏิบัติธรรมท่ามกลางความเงียบสงบห้อมล้อมด้วยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ณ วัดแห่งนี้มีโปรแกรม Temple Stay สำหรับชาวต่างชาติเช่นที่วันพงอึนซาในโซลเช่นกัน



                ขากลับจากอุทยานย้อนกลับเข้าไปยังเมืองซกโช ได้นั่งรถเมล์ประจำทางสายเดิม เจอกลุ่มเด็กนักเรียนวัยประมาณชั้นประถมต้นประมาณสิบกว่าคน ตัวยังจิ๋ว ๆ  มาทัศนศึกษากับคุณครู เด็ก ๆ สดใส พูดคุย เล่นกันตลอดทาง จนคุณครูที่มาด้วยส่งเสียงดุอยู่หลายครั้ง หาก เงียบกันได้แป๊ปเดียว ก็กลับมาคุยเล่นสนุกสนานกันใหม่  ทำให้ผู้ใหญ่ที่มีไม่กี่คนบนรถอดอมยิ้มอย่างเอ็นดูไม่ได้
                บรรดาเด็กและคุณครูลงรถตรงป้ายรถเมล์ใกล้กับตลาดปลาในตัวเมือง.. เห็นแล้วอิจฉา  คณะทัศนศึกษากลุ่มน้อย ๆ นี้อาจจะเพิ่งตัดสินใจกันเมื่อเช้านี้เองก็ได้ว่า ไปเดินเล่นที่โซรัคซานกันเถอะ พอตัดสินใจปุ๊ป ก็เดินชักแถวมารอรถตรงป้ายรถเมล์ทันที แล้วชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงดี ก็ได้เดินชมธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กันแล้ว.... ดูเป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย  จนนึกกี่ทีก็ให้รู้สึกอิจฉาทุกที

หมายเหตุ... งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย