24 พฤษภาคม 2559

ภูเขา วัด ทะเล เมืองประวัติศาสตร์.... เกาหลีใต้ ตอนที่ 9 และบทส่งท้าย

9. พิพิธภัณฑ์ คยองจู 
                สุดท้าย... ฉันพบว่า การเที่ยวชมเมืองประวัติศาสตร์จะสมบูรณ์แบบหากตบท้ายด้วยการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
                อะไรที่ไม่คาดหวัง มักจะเหนือความคาดหมายเสมอ พิพิธภัณฑ์ต่างจังหวัดเล็ก ๆ ไม่น่ามีอะไรน่าสนใจ... นั่นเป็นความคิดแรกที่มีต่อพิพิธภัณฑ์คยองจู  ทำให้ผ่านเลยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไปไม่รู้กี่ครั้ง จนในที่สุด...ใกล้หมดเวลาในเมืองคยองจูเข้าไปทุกที  จึงตัดสินใจเข้าไปชมด้านใน
                First Impression  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เสียค่าเข้าชม... ยิ้มกริ่มเลยล่ะ  อะไรที่ฟรีนี่ชอบจริง ๆ   แต่จริง ๆ แล้ว ต้องชมทางเกาหลีใต้เองที่ไม่ใคร่จะเก็บเงินค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เท่าใดนัก ตามนโยบายสร้างความรู้ ความเข้าใจในบ้านเมือง ก็เป็นกุ้งท่ามกลางฝูงปลาวาฬนี่เนะ ถ้าไม่พยายามทำให้ฐานของตนแกร่งจากราก แล้วจะหนีรอดจากฝูงปลาวาฬได้อย่างไร
                เมื่อเข้าไปด้านใน ของที่จัดวางแสดงมีทั้งที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่รับจากต้นวัฒนธรรมใหญ่อย่างจีน และอินเดีย แต่หลายชิ้นงานอีกเช่นกัน ที่ดูแปลกตา  ดูมีรากมีลักษณะของตนเองอย่างน่าทึ่ง  เหมือนสุสานมูนดิน ที่ไม่หมือนสุสานใดในโลก  นั่นทำให้ฉันชอบพิพิธภัฑณ์แห่งนี้เป็นพิเศษชอบเหนือกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวัน และที่เกียวโตด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นเพียงความรู้สึกชมชอบตามรสนิยมส่วนตัวเท่านั้น
                ชิ้นงานที่วางแสดงนอกจากจะมีความน่าตื่นตาด้วยตัวเองแล้ว  การนำเสนอทำได้ดีมาก ๆ  หากเป็นชิ้นงานเล็ก ๆ จะวางแสดงรวมกันในโต๊ะและตู้กระจกเป็นหมวดหมู่  หากเป็นงานชิ้นใหญ่ จะจัดวางแสดงน้อยชิ้นในห้องโถงกว้าง เพื่อให้มีพื้นที่เปิดโล่งเดินชมงานได้สะดวก และยังมีที่นั่งจัดวางเป็นจังหวะพอเหมาะพอดี...ให้นั่งพักไปด้วย  และได้ชมงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน







                และประสาผู้หญิง (ซะละมัง) งานวางแสดงที่โปรดที่สุดเป็นพวกเครื่องประดับ
                เท่าที่กวาดตามองคร่าว ๆ ผู้คนยุคสมัยชิลลานิยมเครื่องประดับที่ทำด้วยหยกกับทองคำ
                หยกนั้นทำเป็นรูปตัวงอ ๆ หัวโตมีรูเจาะ และมีหาง เรียกขานในภาษาอังกฤษว่า  comma shape jade เข้าใจตั้งชื่อแฮะ รูปลักษณ์คล้ายเครื่องหมายจุลภาคจริงๆ เสียด้วย บริเวณส่วนหัวที่มีรูเจาะ นั้นเพื่อห้อยประดับตามชิ้นงานต่าง  ๆ ไม่ว่าจะกำไล สร้อยคอ กระทั่งสายคาดเอว
                ทองคำนั้นนำไปทำเป็นเครื่องประดับ ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แต่ที่ตื่นตาที่สุดคือมงกุฏ และสายคาดเอวและยิ่งนำมาจัดวางเรียงเป็นเครื่องแต่งกายชุดใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่มงกุฏ สร้อยคอ ต่างหู สายคาดเอว จนถึงรองเท้า ยิ่งดูอลังการมาก... หากนึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงชุดของราชินีซอนต๊อก ในละครเรื่องซอนต๊อก มหาราชินีสามแผ่นดินที่เคยฉายทางช่องสาม เธอสวมใส่ชุดเครื่องประดับที่จำลองจากของจริงที่นี่
                ทั้งมงกุฏ เครื่องประดับ สายคาดเอวเหล่านี้เป็นสมบัติที่ขุดพบจากสุสานมูนดิน นำมาจัดวางแสดง ช่วยให้เห็นภาพความเชื่อมโยงหลังจากที่ได้เดินชมสุสานมูนดินมาก่อนหน้านี้ นี่เป็นธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกันในหลายอารยธรรม ที่ในหลุมฝังศพกษัตริย์จะฝั่งเครื่องราชกุธภัณฑ์ลงไปด้วย

comma shape jade
เครื่องประดับนำมามาจัดวางเรียงครบชุด
ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ : หมวกทองคำ 
ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ :มงกุฏและสายคาดเอวทองคำ

ป้ายภาพจากละครเรื่องราชินีซอนด๊อก สังเกตมงกุฏที่สวมใส่จำลองจากของจริงภายในพิพิธภัณฑ์
                ชิ้นงานอีกกลุ่มที่จัดวางแสดง และเห็นว่าแปลกคือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับม้า ไม่ว่าจะชุดเกราะซึ่งไม่ได้เป็นเกราะเฉพาะสำหรับนักรบหากสำหรับม้าด้วย และเครื่องประดับอานม้าต่าง ๆ และยังมีจอกทำจากเขาสัตว์ตั้งอยู่บนเครื่องปั้นดินเผารูปนักรบสวมใส่ชุดเกราะ และหมวกเหล็ก ในมือถือหอกและโล่นั่งอยู่บนหลังม้า บ่งให้รู้เป็นนัยว่านักรบในสมัยอาณาจักรชิลลาเชี่ยวชาญในเรื่องของการขี่ม้า เป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะเป็นทักษะจำเป็นของชนเผ่าที่มีบรรพบุรุษเร่ร่อนมาจากเอเชียตะวันตกเฉียงเหนือ


ชุดเกราะของนักรบ ที่เผื่อแผ่ไปถึงม้าด้วย

ชุดเกราะของนักรบ ที่เผื่อแผ่ไปถึงม้าด้วย
จอกทำจากเขาสัตว์ตั้งอยู่บนเครื่องปั้นดินเผารูปนักรบสวมใส่ชุดเกราะ และหมวก
ในมือถือหอกและโล่นั่งอยู่บนหลังม้า ผลงานชิ้นนี้เป็นงานชิ้นเอกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ
              การเดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์นั้น  บางครั้งสิ่งของที่จัดวางแสดงมีจำนวนมากจนละลานตา ความรู้ที่มีอยู่น้อย ทำให้แยกชิ้นงานเด่น ๆ ออกจากชิ้นงานทั่วไปไม่ออก หลาย ๆ พิพิธภัณฑ์จึงทำรายการพร้อมแผนผังคล้ายลายแทงชี้บอกที่ตั้งผลงานชิ้นเอก เพื่อให้ผู้มาเยือนตามลายแทงเข้าไปชมผลงานชิ้นเด่น ๆ ได้ครบถ้วน  พิพิธภัณฑ์ที่ทำแบบนี้คือพิพิธภัฑณ์ลูฟว์ที่ปารีส  กระทั่งพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใหญ่มากอย่างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวันเอง  แม้ไม่มีลายแทงชี้บอกทางแบบที่ลูฟว์ แต่จะมีข้อมูลติดโปรยให้เห็นเป็นระยะว่า ผลงานชิ้นเอกที่นี่คือ  งานหยกแกะสลักรูปผักกาด และงานแกะสลักหินเป็นชิ้นหมูสามชั้น เป็นการย้ำให้เข้าไปชม  สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่นี่ เปรียบไม่ได้กับลูฟว์อย่างแน่นอน และเทียบชั้นไม่ได้กับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวันที่เป็นสถานที่สดงศิลปวัตถุจีนล้ำค่าที่ดีที่สุดในโลก แต่หากอยากรู้ว่าชิ้นงานไหนสำคัญเป็นพิเศษให้สังเกตที่ป้ายว่าเป็น “national treasure”  หรือไม่ หากมีนั่นหมายถึง คุณกำลังยืนอยู่เบื้องหน้าผลงานชิ้นเอกของอาณาจักรชิลลา

ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ : ฝักดาบทองคำ 
ผลงานชิ้นเอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ : พระไภษัชยคุรุตถาคต พระตถาคตเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งโอสถรักษาโรค
                หลายคนบัญญัติลักษณะของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ไว้ว่าจะต้องเป็นสถานที่ที่มีชีวิต และเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดี สำคัญจะต้องมีเทคโนโลยีสมัยใหม่และการจัดแสง สี เสียงที่น่าสนใจ
                ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีภาพยนตร์เกี่ยวกับวัดช็อคกูรัมฉายให้ดู  จำลองภาพการสร้างวัด  และอธิบายถึงภาพแกะสลักที่อยู่ตรงผนังของถ้ำ  ช่วยเสริมให้เข้าใจถึงผังของตัววัด และวิธีการสร้างหลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่จริงมาแล้ว และภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีรูปแกะสลักจำลองของพระอวโลกิเตศวรพระมัญชุศรีโพธิสัตว์  และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เมื่อไม่สามารถชมใกล้ ๆ ได้ที่วัดช็อกกูรัม สามารถมายืนดูพินิจระยะใกล้ ๆ ได้ภายในพิพิธภัณฑ์... นี่แหละ ฉันถึงกล่าวตั้งแต่ต้นว่า การเที่ยวชมเมืองประวัติศาสตร์จะสมบูรณ์แบบต่อเมื่อได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นการตบท้าย อะไรที่ยังสงสัย อะไรที่ยังไม่เข้าใจ จะได้คำตอบสุดท้ายที่นี่นี่เอง

แผ่นภาพจำลองผังโครงสร้างวัดช็อคกูรัมและภาพสแกะลักบนฝาผนัง

ภาพแกะสลักจำลองพระอวโลกิเตศวรภายในวัดถ้ำช็อคกูรัม

                พื้นที่รอบ ๆ ของตัวพิพิธภัณฑ์ยังมีการจำลองสิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ อย่างเจดีย์ทาโบทับ และเจดีย์ช็อกกาทับ ที่อยู่ภายในเขตวัดพุลกุกซา ให้ได้ชมอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง โดยเฉพาะเจดีย์ช็อกกาทับที่อยู่ระหว่างซ่อมแซมมีอาคารสร้างล้อมปิดไว้ จึงได้เห็นภาพเจดีย์ชัด ๆ ที่พิพิธภัณฑ์นี่เอง
                ภายในเขตพิพิธภัณฑ์ยังมีผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่ง  ได้แก่ระฆัง เอมอีเล (Emille)  ซึ่งในภาษาชิลลามีความหมายว่าแม่ แขวนไว้ที่ศาลาหน้าประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์  ตามตำนานเล่าขานกันว่าได้มีการนำเด็กทารกมาสังเวยการสร้างระฆังใบนี้เพื่อให้มีเสียงที่ไพเราะ เมื่อมีการเคาะระฆัง ระฆังจึงดังคล้ายเสียง.. เอม อี เล ที่แปลว่าแม่  แต่เดิมนั้นมีการเคาะระฆังใบนี้ทุก ๆ โมงเช้า แต่ได้ยกเลิกธรรมเนียมนั้นไปแล้ว เหลือแต่การเคาะในโอกาสพิเศษเเช่นในวันปีใหม่  จึงไม่มีโอกาสได้ฟังว่าเสียงระฆังของช่างเกาหลีที่ว่าไพเราะที่สุดในโลกนั้นจริงหรือไม่

                เดินชมงานทั้งในตัวอาคารและนอกอาคารจนทั่วถ้วน ได้เวลานั่งเหยียดขา พักเท้า  พื้นที่รอบ ๆ ตัวพิพิธภัณฑ์ เปิดโล่ง กระทั่งแลเห็นทิวเขาลิบ ๆที่โอบล้อมอยู่รอบตัวเมือง   คยองจูนับเป็นเมืองประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ที่น่ารัก น่ามาเยือนเมืองหนึ่งเลยทีเดียว

อาคารพิพิธภัณฑ์ และเจดีย์จำลองทาโบทับ
.....
หมายเหตุ


หากอยากฟังเสียงระฆังเอมอีเลว่ามีเสียงไพเราะอย่างไร เข้าไปลองฟังได้ที่  http://www.youtube.com/watch?v=7YEyMLX3sD8  จะได้ยินเสียงระฆังที่บันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 60

บทส่งท้าย
                จากพิพิธภัณฑ์คยองจูกลับไปยังที่พักไม่ได้ใกล้ ๆ เลย น่าจะเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางด้วยซ้ำ แต่ถ้ามองจากแผนที่ ผังของตัวเมืองคยองจูยั่วยวนให้อยากเดินมาก ๆ ด้วยถัดจากพิพิธภัณฑ์ไปเพียงนิดเดียวตามทิศทางเข้าสู่ตัวเมืองจะผ่านป่าใจกลางเมืองที่จะไปบรรจบกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ได้เดินสำรวจไปบ้างแล้วในเย็นวันแรกที่มาถึง
                และคิดไม่ผิดที่เลือกเดินกลับ ด้วยระหว่างทางได้เห็นบรรยากาศของสวนป่าที่ร่มรื่น ทั้งยังเป็นป่าที่มีชีวิต ด้วยมีผู้คนออกมาเดินเล่น ขี่จักรยาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย  ยิ่งใกล้ถึงสวนสาธารณะได้เห็นภาพพ่อแม่พาเด็กเล็ก ๆ ออกมาวิ่งเล่น และเล่นว่าวด้วยกันภายในสวน นี่เป็นคุณภาพชีวิตที่เห็นแล้วชวนอิจฉา พื้นที่ป่า พื้นที่สวน พื้นที่ประวัติศาสตร์ผสมกันเป็นสถานที่กว้างใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ สถานที่ออกกำลังกาย และสถานที่พักผ่อน  ฉนั้น ใครอย่ามาถามคำถามยอดฮิตกับฉันเลยเชียว ว่าคนเกาหลีใต้หน้าตาเป็นอย่างไร  สวยหล่อเหมือนในซีรี่ย์มั้ย  เพราะฉันจะตอบไม่ตรงคำถาม เพราะพาลจะพูดอยู่นั่นแหละว่าสภาพบ้านเมืองในเกาหลีใต้ สวย น่าอยู่ มีการบริหารจัดการที่ดีอย่างไร




หมายเหตุ
เมืองคยองจูไม่มีของที่ระลึกสวย ๆ งาม ๆ วางขาย มีแต่ขนมที่ไม่ว่าจะเดินไปตรงไหนของตัวเมือง ต้องได้เห็น นั่นคือ Gyeongju Traditonal Bread  และไม่รู้ว่าชาวเมืองขายของเก่งหรือขายไม่เก่งกันแน่ เพราะในที่สุดเมื่อไม่รู้จะซื้ออะไรก็ซื้อเจ้าขนมปังพื้นบ้านนี่แหละเจ้าขนมปังที่ว่า มองหน้าตาอย่างไรก็ไม่เหมือนขนมปัง เหมือนขนมเปี๊ยะมากกว่า ลองบิชิมดูจึงรู้ว่าด้านในสอดไส้ถั่วแดงหวาน ๆ ไว้ ยิ่งอบออกมาใหม่ ๆ ทั้งหอม ทั้งอร่อย เสียแต่ว่าเก็บได้ไม่กี่วันเท่านั้น แต่นั่นแสดงว่าไม่ใส่สารกันบูดสินะ

หมายเหตุ... งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหญิงไทย

เกาหลีใต้ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8