30 พฤษภาคม 2554

เรื่องชุดไต้หวัน ตอนที่ 3 ทาโรโกะ....ช่องเขา และสายน้ำ

ทาโรโกะ (Taroko) ต้อนรับฉันด้วยสายฝนพรำ
                รถบัสคันใหญ่ได้เวียนรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟ  มุ่งตรงเข้าสู่เขตอุทยานทาโรโกะ   ทางถนนธรรมดาได้กลายเป็นเส้นทางเลาะเลียบไปตามไหล่ผา และทะลุผ่านขุนเขา ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ขณะที่รถแล่นอยู่ภายในอุโมงค์   ความมืดและแสงสว่างจากหลอดไฟเป็นเสมือนผ้าคลุมที่คอยเปลี่ยนฉากที่จะปรากฏขึ้นที่ปลายอุโมงค์อีกด้าน  ภาพที่ปรากฏผ่านหยดน้ำบนแผ่นกระจกดูคลุมเครือ ประสมกับหมอกฝนที่แผ่ปกคลุมยอดทิวเขา ทำให้คล้ายเข้าสู่ดินแดนที่ล่องลอย   แต่แล้ว... โลกก็พลันดิ่งลงสู่เบื้องล่าง เขาที่สูงเสียด ปรากฏสายน้ำไหลลดเลี้ยวตรงกลาง กัดเซาะโตรกเขาทั้งสองด้านเผยให้เห็นเนื้อหินอ่อนที่อวดลวดลาย
                ฉันแนบหน้าติดกับกระจก... นี่เป็นงานเสกสรรจากธรรมชาติที่แปลกตาและงดงามที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน...
                ทาโรโกะ..... ชื่อแปลก...ฟังเป็นญี่ปุ่นมากกว่าจีน และก็เป็นภาษาญี่ปุ่นจริง ๆ เสียด้วย  ชาวญี่ปุ่นเป็นคนตั้งชื่อสถานที่นี้ช่วงที่มีอำนาจปกครองเหนือดินแดน
                จากสถานีรถไฟในเมือง เข้าสู่เขตอุทยาน  และไปถึงที่หมายสุดท้ายคือเมืองเทียนเสียง  (Tiensieng) ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นหนึ่งชั่วโมงที่ได้ทึ่งไปกับความสวยงามของสถานที่ และความเพียรพยายามของมนุษย์ที่ได้สร้างถนนผ่านเข้ามาในหุบผาแห่งนี้  และก่อนที่ฉันจะลงจากรถ ยกมือขึ้นมองนาฬิกาอีกครั้ง เพิ่งจะบ่ายโมงเท่านั้นเอง... นั่นทำให้ตระหนักถึงความน่าทึ่งของการเดินทางอีกครั้ง ว่าแท้จริงในวันหนึ่ง ๆ เราสามารถทำอะไรได้ตั้งมากมาย นี่แค่ประมาณแค่ครึ่งวันเท่านั้น เราสองคนเดินทางได้ระยะทางตั้งยาวไกล  เริ่มจากการเดินทางออกจากที่พักในเมืองไทเป สู่สถานีรถไฟ  ระหว่างทางยัง ค้นพบร้านขนมโมจิที่ทำสดใหม่ หอมอร่อย รสขนมมีให้เลือกตั้งแต่ชาเขียว ถั่วลิสง สตรอเบอรี่ งาดำ ถั่วเหลือง แค่ได้ทดลองชิมชิ้นแรก ฉันรู้เลยว่า ก่อนกลับบ้าน ฉันจะต้องแวะกลับมาซื้อขนมที่นี่อีกครั้ง
                จากนั้นเรานั่งรถไฟ โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองฮัวเหลียน  (Hualien) ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก และขึ้นรถ Shuttle Bus ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวฟรีจากสถานีรถไฟเมืองฮัวเหลียน เวียนไปตามจุดท่องเที่ยวสำคัญของอุทยานกระทั่งถึงที่หมายปลายทางสุดท้ายคือเมืองเทียนเสียง
                และราวกับทาโรโกะเอ็นดูเราสองคน ฝนที่พรำลงมาตลอดทางมาเว้นช่วงเอาเมื่อรถถึงที่หมายนี่เอง ช่วยให้เราสองคนสามารถเดินลากระเป๋าจากสถานีรถ เดินไปตามทางที่สูงชัน เพื่อตรงไปยังที่พักได้โดยไม่เปียกปอน
                ระหว่างทางผ่านร้านค้าตรงแถวสถานีรถ แอบเหลือบเห็นของกินบางอย่าง วางย่างบนเตาปิ้ง.... หน้าตาเหมือนไส้กรอกอีสานเปี๊ยบ... กำลังหิวพอดี เดี๋ยวเถอะ.. ขอขึ้นไป check in เข้าที่พักให้เรียบร้อย แล้วจะย้อนกลับลงมา.. เห็นทางเดินขึ้นเนินเหมือนไม่ชันอะไรมาก... แต่ทำเอาเหนื่อยหมือนกัน แต่กำลังใจมี... ไส้กรอกอีกสานนั่นไง... นั่นเป็นเรื่องอาหารใส่ท้อง แต่อาหารตาก็ชวนให้หายเหนื่อยเหมือนกัน  มีผีเสื้อบินว่อนต้อนรับเราสองคนไปตลอดทางเดินขึ้นสู่ที่พัก แล้วไม่ใช่ผีเสื้อตัวเล็ก ๆ แต่เป็นผีเสื้อตัวโตบิ๊กเบิ้ม สีสันบาดตา...
                ทันทีที่ถึงที่พัก กระทั่งถึงวันถัดมา  ทาโรโกะชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนตลอดเวลา   แรกคิดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเที่ยวชมรอบ ๆ อุทยาน  แต่คนอื่น ๆ ไม่ยักเดือดร้อนพากันเดินลุยฝนถือร่มออกไป  อย่างนั้นจะให้เรานั่งเฉย ๆมองข้างนอกผ่านม่านฝน... ไม่มีทาง คนอื่นไป เราก็ไปบ้างสิ
                เริ่มต้นจากสำรวจพื้นที่ใกล้ ๆ บริเวณที่พักกันก่อน เดินย้อนกลับไปที่สถานีรถ เพิ่งจะสังเกตว่ามีที่ทำการไปรษณีย์ตั้งอยู่  ด้านหน้าตึกประดับเป็นรูปโมเสกชนเผ่าพื้นถิ่น สดใสแตะตาดี ใครชอบการ stamp ตราประทับเก็บไว้เป็นที่ระลึก เข้าไปได้เลย... ด้านใน มีตราประทับวางเตรียมพร้อมให้นักเที่ยวเที่ยวได้ stamp ตรา เก็บไว้ในบันทึกความทรงจำ
                จากนั้นเดินข้ามสะพานที่มีราวกั้นสีเหลืองสดไปอีกฝั่ง  เป็นที่ตั้งวัดเสียนเต๋อ (Xiangde)  เดินลัดเลาะขึ้นเนินไปเรื่อย ๆ เจอเข้ากับพระอรหันต์ทององค์ใหญ่ ตั้งอยู่หน้าวิหาร  แวะนมัสการไหว้พระก่อนที่จะเดินขึ้นเนินต่อไป จุดหมายเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมเจ็ดชั้น ที่เห็นลิบ ๆ ตั้งแต่อยู่บนสะพาน เจดีย์แปดเหลี่ยมเปิดประตูทิ้งกว้างทุกชั้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่เดินขึ้นไป ได้เดินออกมานอกระเบียงเพื่อชมวิวเมืองเทียนเสียงที่อยู่ด้านล่าง ขณะที่ออกมายืนชมวิวนอกระเบียง ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวละครในภาพวาดทิวทัศน์แบบจีน ที่ยืนอยู่ท่ามกลางขุนเขา แมกไม้ และมีธารน้ำไหลอยู่เบื้องล่าง

               อุทยานทาโรโกะนั้นกินพื้นที่ประมาณ 900 ตารางกิโลเมตร  การจะเที่ยวชมให้ทั่วเลยต้องอาศัยรถนำพา รถ Shuttle Bus นั้นให้บริการนักท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง แต่ตารางเวลาขาดความชัดเจน ทำให้รถแท๊กซี่ที่จอดรอผู้โดยสารที่สถานีรถได้รับความนิยมกว่า อีกทั้งราคา และการให้บริการเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ลูกค้าไม่ลำบากใจในการติดต่อใช้บริการ
                จุดท่องเที่ยวสำคัญของทาโรโกะนั้นห่างกันในหลักกิโล  และสิ่งที่อวด เป็นโตรกผา ถ้ำ สายน้ำ และสะพาน
                เราสองคนเริ่มต้นการเที่ยวชมที่อาจจะสวนทางกับชาวบ้าน คือเริ่มจากด้านในสุดออกไปเขตด้านนอก เริ่มจากเส้นทางเดินลี่สุ่ย  (Lyushui)  ที่มีระยะทางเดินยาว 1.9 กิโลเมตร  และนี่เป็นเส้นทางเดินที่ฉันชอบมากที่สุด  ตอนที่คนขับรถแท็กซี่ที่เราเหมาใช้บริการชี้ให้ดูทางเดินเข้า และนัดเจอกันอีกครั้งในอีกสองชั่วโมงข้างหน้า ฉันกับเพื่อนร่วมบ้าน มองเส้นทางที่คนขับรถชี้ให้ดูแล้วไม่ได้คาดหวังอะไรเป็นพิเศษ  รู้สึกว่าแปลกก็อีตรงเป็นการเดินป่าที่กางร่มนี่แหละ ดีที่ว่าทางอุทยานปรับเส้นทางเดินจนเดินได้ง่าย แม้มือหนึ่งจะถือร่ม อีกมือต้องคอยประคองกล้อง แต่ก็ไปได้โดยไม่ทุกลักทุเลอะไรมากมาย
                ช่วงทางเดินระยะแรกเป็นเหมือนทางเดินป่าทั่วไป กระทั่งไปเจอเข้ากับถ้ำ.. เรื่องทางเดินทะลุเขานี่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของทาโรโกะเลยเชียว  และความมืดภายในถ้ำยังคงเป็นสเมือนผ้าคลุมเปลี่ยนฉากที่จะปรากฏที่ปลายถ้ำอีกด้าน



                ทันทีที่โผล่ออกไปพบแสงสว่างอีกครั้ง ทิวทัศน์ที่ปรากฏขึ้น เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ระยะทางสั้น ๆ นำพาเราสองคนทะลุสู่ทางเดินเรียบหน้าผาที่ขนานไปกับทางถนน และโตรกผาที่มีแม่น้ำลิวู(liwu) ไหลลัดเลาะผ่านตรงกลาง ขณะเดินเรียบไปตามไหล่ผา  รู้สึกราวกับกำลังเดินบนระเบียงทางเดินของมหาวิหาร เพื่อชื่นชมกับภาพจิตรกรรมฝาผนังจากธรรมชาติ.... รู้สึกอย่างนั้นเลยทีเดียวละ
                1.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินป่าที่สวยสุด ๆ เส้นทางหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว





                จุดแวะพักเพื่อชมวิวถัดไปคือสะพานชิมู (cihmu)  สะพานราวแขวนสีแดงสดที่มีเสาเป็นรูปตัว H ราวสะพานสร้างจากหินอ่อน ใกล้ ๆ ด้านข้างมีศาลาที่พักตั้งอยู่ มองเผิน ๆ ถ้าไม่ทันสังเกตเหมือนไม่มีอะไร กระทั่งคนขับรถแท็กซี่ทำหน้าที่ไกด์ที่ดี ชี้ให้ดูฐานหินที่เป็นที่ตั้งของศาลาว่ามีสัณฐานเหมือนกบ พอมีคนชี้แนะเท่านั้นแหละ พอมองไป... เออ เหมือนกบจริง ๆ ด้วย แถมตบท้ายน่ารักว่าศาลาด้านบนเป็นเสมือนมงกุฎของเจ้ากบ อย่างนี้กบที่ทาโรโกะก็ต้องเป็นเจ้าชายกบละสิ...








                จุดชมวิวต่อไปเป็นเส้นทางอุโมงค์เก้าโค้ง (Tunnel of  Nine Turns)   บริเวณนี้ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ที่จะเดินเข้าไปชมอุโมงค์ข้างในจะต้องสวมหมวกกันน็อคสีขาว ที่มีสัญลักษณ์ของทางอุทยานสกรีนอยู่ก่อน
                เป็นการกระตุ้นต่อมผจญภัยเล็ก ๆ  ให้รู้สึกคึกคักขึ้นมาในฉับพลัน
หากชื่ออุโมงค์เก้าโค้งก็จริง แต่ระยะทางของอุโมงค์สั้นจุ๊ด  ความรู้สึกคึกคักเลยจางหายในเร็วพลัน มารู้สึกตื่นตัวอีกครั้งก็ตอนเจอป้าย ระวังหินร่วง  กรุณาผ่านอย่างรวดเร็ว   ให้ตายเถอะ... แล้วเจ้าก้อนหินที่นอนกระเด็นกระดอนตรงอีกฟากของทางเดินที่คั่นด้วยเส้นสีแดง ห้ามผ่านน่ะ ใหญ่ ๆ ทั้งนั้น เกิดจับพลัดจับพลูหล่นลงมายังเขตที่เดินกันอยู่ละก้อ... ตัวใครตัวมันเลยเชียว  แต่เขาคงคำนวณกันแล้วล่ะ ว่าปลอดภัย ถึงจะมีหินร่วงหล่นมาแถวบริเวณที่ปล่อยให้เดินผ่านเข้าไปได้ ก็คงเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย ที่หมวกกันน็อคเอาอยู่  (หวังว่านะ)
                อุโมงค์เก้าโค้ง เป็นจุดที่เผยเนื้อหินอ่อนของหน้าผาให้เห็นในระยะประชิด  เพราะเป็นจุดที่หน้าผาสองด้านเผชิญในระยะใกล้ ห่างกัน แค่ประมาณ 10 เมตรเท่านั้น โดยที่มี... มนุษย์ตัวกระจ้อยอย่างเรา ๆ ยืนแหงนคอมองกันตาปริบ ๆ 


                 ถัดจากอุโมงค์เก้าโค้ง เป็นจุดชมวิวที่เรียกว่า หน้าผาโพรงนกนางแอ่น (Swallow Grotto) อุทยานทาโรโกะยังคงลักษณะเด่นของเรื่องอุโมงค์ตามเคย  ก่อนเข้าไปถึงหน้าผา ต้องเดินผ่านอุโมงค์เข้าไป  แต่อุโมงค์ตรงจุดนี้สร้างไว้สองเลนสำหรับรถแล่นด้านหนึ่ง และอีกด้านสำหรับนักท่องเที่ยวเดินผ่านเข้าไปชมหน้าผา

                ไม่ได้เห็นตัวนกนางแอ่น เห็นแต่รอยพรุนที่กระจายทั่วหน้าผา มีป้ายติดบอกข้อมูลว่า จะมีนกนางแอ่นบินมาที่หน้าผานี้ในฤดูร้อน และฤดูใบไม้ผลิ  เพื่อยึดครองรอยพรุนของหินเป็นรวงรังของพวกมัน


                จุดแวะพักถัดไปคือ ศาลเจ้าแห่งสายน้ำนิจนิรันด์ (Eteranal Spring Shrine) ซึ่ตั้งงอยู่บริเวณต้น ๆ ทางเข้าของอุทยานทาโรโกะ... ภาพศาลเจ้าที่ตั้งอยู่บริเวณชิงเขาที่สลับซ้อน และมีเมฆแผ่ปกคลุมอยู่ด้านบน  ทั้งมีธารน้ำที่ไหลลงสู่ผืนหินเบื้องล่าง  นับเป็นงานสร้างสรรค์ที่ลงตัวระหว่างธรรมชาติกับงานก่อสร้างของมนุษย์ 
                ศาลเจ้าแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตขณะทำการก่อสร้างทางถนน จำนวน 225 คน และได้รับบาดเจ็บอีก  702 คน   ฉันว่าศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงศาลที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิต และผู้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความไม่ยอมแพ้ เพราะศาลที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เป็นศาลที่สร้างขึ้นมารอบที่สามแล้ว จากที่เคยพังเพราะดินถล่ม และแรงพัดของพายุไต้ฝุ่น มาสองรอบ



                และสุดท้ายก่อนอำลาทาโรโกะ  เราหยุดแวะที่ประตูทางเข้าอุทยาน และตรงบริเวณนี้เองที่เราได้เห็นสายน้ำลิวูไหลสู่มหาสมุทรแปซิฟิก กลายเป็นส่วนหนึ่งของน้ำสีฟ้าซีด  ที่เห็นอยู่ลิบๆ  
             

ไต้หวัน ตอนที่1 พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน 


    

เรื่องชุดไต้หวัน ตอนที่ 2 เย๋หลิ่ว...การผุผังและการเกิดใหม่

การเดินทางไปยังเย๋หลิ่ว(Yehliu) ของฉันกับเพื่อนร่วมบ้านยังคงอาศัยลิ้นออกเสียงภาษาจีนที่ว่าชัดนัก
เริ่มต้นจากนั่งรถไฟระยะสั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เราก็ได้ลงไปปร๋อที่สถานีรถไฟเมือง จีหลง (Keelung) เมื่อเดินออกจากสถานี ไม่ทันได้รู้สึกเคว้งคว้าง ก็เจอเข้ากับป้าย Visitor Center และเพียงเดินเข้าไปในนั้น เอ่ยชื่อ “เย๋หลิ่ว” ออกไป...ก็ได้กระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ ที่เจ้าหน้าที่เขียนหมายเลขรถบัส พร้อมชื่อเย๋หลิ่วเป็นภาษาจีนให้เราถือไว้สำหรับสื่อสาร พร้อมทั้งเดินออกมาส่งด้านหน้า เพื่อชี้ให้ดูว่าจะไปขึ้นรถบัสได้ที่ไหน

รถบัสที่เรานั่งเป็นรถบัสประจำทาง จอดแวะรับผู้โดยสารตามป้ายไปเรื่อยๆ ... ชอบก็ตรงบัตร easy card ของระบบขนส่งมวลชนของที่นี่ นอกจากจะใช้ได้กับรถไฟใต้ดิน รถเมล์ที่ไทเปแล้ว ยังใช้ได้กับรถไฟที่วิ่งออกนอกเมือง กระทั่งใช้ได้กับรถบัสประจำทางที่นี่  ช่วยให้ไม่ต้องวุ่นวายกับการเตรียมหาเศษเงินในการจ่ายเป็นค่าโดยสาร

แรกฉันเข้าใจว่ารถบัสคงแล่นเข้าไปจอดในเขต อุทยานเย๋หลิ่ว แต่ไม่ยักใช่ กลับจอดที่ป้ายทางเข้าด้านหน้าเท่านั้น คนขับที่รู้ว่าเราสองคนจะลงที่ป้ายนี้ ตะโกนบอกชื่อเย๋หลิ่วชัดเจน มีผู้โดยสารลงรถพร้อมกับเราสองสามคน น้อยกว่าที่คิดไว้ แถมไม่ได้ไปทางเดียวกับเราเสียด้วย

จากป้ายทางเข้าด้านหน้า เดินไปตามทางถนนระยะทางเอาเรื่องพอสมควร  แถมบรรยากาศข้างทางมีเรือประมงจอดเรียงรายเกยฝั่ง อุปกรณ์เครื่องมือ รวมถึงหลอดไฟจำนวนมากที่แขวนบนลำเรือ ให้ความรู้สึกเหมือนเข้าสู่เขตหมู่บ้านชาวประมงมากกว่าที่กำลังจะเข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวหย่อนใจทางธรรมชาติ  จะมีให้รู้สึกว่ามาไม่ผิดที่ผิดทางก็ตรงมีรถบัสขนาดใหญ่แล่นผ่านเป็นระยะๆ นั่นแหละ

ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านหันมองหน้ากัน...อ้อ... เข้าใจล่ะ นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่เขามากันเป็นหมู่คณะนี่เอง
เมื่อเข้าไปในเขตอุทยาน ฝั่งด้านหนึ่งเป็นลานจอดรถกว้าง มีรถจอดแน่นขนัด...ขณะอีกฝั่งเป็นที่ตั้งอาคารทำการ  เป็นทั้งที่ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่ขายตั๋ว และร้านกาแฟ คนแน่นหนาเชียว บรรยากาศความคึกคักแอบซ่อนอยู่ด้านในนี่เอง ถูกตัดต่อด้วยการขนส่งผู้คนผ่านพาหนะหลายล้อที่แล่นฉิว ทำเอาพวกที่มาด้วยสองเท้าจากถนนทางเข้าด้านหน้า อย่างเรา รู้สึกเงียบเหงาไปถนัดใจ

เย๋หลิ่ว เป็นทั้งชื่อ แหลม...ผืนดินที่ยื่นเข้าไปในฝั่งทะเล...และเป็นทั้งชื่ออุทยานทางธรรมชาติ


แรกที่เดินไปตามทางเข้า ยังรู้สึกเฉยๆ เพราะเสริมเติมแต่งด้วยมือมนุษย์มากไปหน่อย ไม่ว่าจะตุ๊กตารูปเห็ดสีสดที่ตั้งแต่งประดับ  สวนต้นไม้ที่เป็นระเบียบ  เลยรู้สึกเหมือนเดินชมสวน กระทั่งเส้นทางเดินแคบๆ นำไปสู่ลานหินกว้างริมทะเลนั่นแหละ...ถึงได้เห็นภาพปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปลกตา  พื้นที่ลานหินกว้างเต็มไปด้วยแท่งหินสูงๆ ต่ำๆ ที่ผ่านการสลักเสลาของสายน้ำ สายลม และกาลเวลา

ขณะที่เดินผ่านเข้าไป เหมือนสู่โลกอีกใบหนึ่ง โลกที่ประกอบด้วยเส้นสายของลายหิน และความโค้งเว้า กลมมนที่เนียนสวย นำพาสายตาให้มองเห็นกลุ่มหินเหล่านั้นแปรเปลี่ยนเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ที่มาก
กว่าการเป็นหินธรรมดา


ชื่อเย๋หลิ่วนั้นมีที่มาหลากหลาย แต่ฟังแล้วไม่สนุก...เลยไม่เอามาเล่าดีกว่า
สู้เรื่องนี้ไม่ได้  ฉันชอบที่คนพื้นถิ่นเรียกลานหินกว้างนี้ว่า “เต่าเย๋หลิ่ว”  ไม่ต้องเหาะเหินขึ้นไปกลางอากาศ แล้วมองย้อนลงมาข้างล่าง  ก็พอจินตนาการได้ว่าร่องรอยของเส้นหินที่บางช่วงบุ๋มลง บางช่วงนูนขึ้น จะละม้ายคล้ายกระดองของเจ้าเต่าที่คุดคู้ขนาดไหน

สมัยก่อน แหลมเย๋หลิ่ว นี้เป็นเส้นทางสายการค้าสำคัญระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับจีนไต้หวัน  แต่กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่อันตราย มีเรือประสบอุบัติเหตุจมบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก  กระทั่งมีตำนานเล่าขานกันว่าที่เป็นแบบนี้ เพราะมีเต่าใหญ่คอยสร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย  เจ้าเต่านั่นสนุกจนเกินเลย จนเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องส่งเทพธิดาลงมาปราบพยศ
“เจ้าเต่า...ไฉนเจ้าถึงทำร้ายชีวิตผู้คนไปจำนวนมากเช่นนี้ เอาล่ะ ด้วยพลังอำนาจของข้า ข้าจะลงโทษเจ้า และอย่าหวังว่าเจ้าจะหลบหนีไปได้”

และเพราะตำนานเรื่องเล่านี้ ยามใดที่อากาศเปลี่ยนแปลง มีกลุ่มควันลอยละล่องเหนือผืนหินที่ยื่นเข้าไปในฝั่งทะเล ผู้คนก็จะพากันพูดว่า “ดูสิ... เจ้าเต่าใกล้ตายนั่น หายใจรวยรินเป็นครั้งสุดท้ายอีกแล้ว”
แผนที่ในมือที่ได้มาตอนซื้อตั๋วเข้าไปในเขตอุทยาน  ช่วยเร้าความตื่นเต้นในแต่ละย่างก้าว ด้วยการทำเส้นทางและแสดงที่ตั้งของก้อนหินต่างๆ ที่ตั้งชื่อตามรูปลักษณ์ที่ละม้าย พร้อมภาพถ่ายของจริงเป็นการยืนยัน

หินเห็ด...Mushroom Rock  ดูจะมีจำนวนมากที่สุด กระจัดกระจายให้เห็นไปทั่ว
เข้าใจตั้งชื่อนะ เพราะเหมือนเห็ดจริงๆ เสียด้วย  ตรงบริเวณที่เป็นฐานค่อนข้างกว้าง ก่อนที่ตรงส่วนกลางจะขอดกิ่ว และกลับมาบานแฉ่งอีกครั้งตรงบริเวณด้านบนที่เหมือนหมวกเห็ด ทั้งยังมีรอยพรุนเหมือนฟองน้ำ มองแล้วก็เหมือนลวดลายบนหมวกเห็ดอีกนั่นแหละ

นอกจากหินเห็ด  มีกลุ่มหินบริเวณชายฝั่งที่เนื้อหินถูกน้ำซัดกัดกร่อนจนเนียนละมุน เป็นรูปทรงระฆังคว่ำ ได้รับการตั้งชื่อว่า หินเทียน... Candle Rock ไม่ได้โน้มเอียงตามชื่อที่ตั้ง แต่ด้านบนที่ตัดเรียบของหินทรงระฆังคว่ำกลุ่มนั้น มีเศษติ่งหินตั้งอยู่ในจังหวะที่ช่างพอเหมาะพอเจาะเหมือนเป็นไส้เทียนที่โผล่ขึ้นมาพอดี

และถ้าหันมองมาอีกด้าน จะเห็นประติมากรรมหินในชื่อ หินไอติม...Ice Cream Rock  หินไอติมดูไม่สวยนวลเนียนเหมือนประติมากรรมหินชิ้นอื่น แต่น่าทึ่งตรงที่มองปุ๊บ แล้วชวนให้นึกถึงไอศกรีมได้ในทันที
ลักษณะของแหลมเย๋หลิ่วนั้นแคบยาว มีการทำสะพานทางเดินเป็นระยะเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว...ทั้งบางช่วงยังยกเป็นพื้นที่สูง เพื่อชมวิวในมุมกว้าง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ

งานประติมากรรมหินที่นี่ ไม่ได้เกิดจากหินก้อนใหญ่เป็นก้อนๆ แล้วถูกน้ำ ถูกลม กัดกร่อน สลักเสลา แต่จริงๆ เกิดจากเศษหินที่ผุพัง แล้วถูกน้ำพัดพาสะสมอัดตัวเป็นชั้นๆ จนกระทั่งเศษหินเหล่านั้นกลับกลายมาเป็นหินอีกครั้ง... เป็นการผุพังและเกิดใหม่...วนเวียนเป็นวัฏจักร



งานชิ้นเด่นของที่นี่คือประติมากรรม หินเศียรราชินี...Queen’s  Head  Rock  กวาดตามองหาไม่ยาก ตรงบริเวณไหนที่มีคนต่อคิวยาวๆ ตรงนั้นแหละ
และนั่นไง...ที่ยืนกางร่มต่อแถวกันอยู่ ลองมองไล่ไปจนถึงต้นแถว...หินราชินีตั้งอยู่ตรงนั้น มองจากไกลๆ ละม้ายคล้ายเศียรราชินีผู้สูงศักดิ์จริงๆ เสียด้วย เสี้ยวหน้าด้านข้างเชิดเล็กน้อย  และสวมมงกุฎด้านหลัง
เห็นอย่างนั้นแล้ว เดินตรงดิ่งไปที่หมายเพื่อต่อคิวถ่ายรูปคู่กับหินเศียรราชินีกับเขาบ้าง  แต่...เมื่อย่นระยะทางเข้าไปใกล้...จากที่มองคล้ายเศียรราชินีเริ่มไม่เหมือน รูปร่างดูเปลี่ยนแปลกไป...  ไปละม้ายอีกครั้งเมื่อไปยืนมองใกล้ๆ  แต่ฉันรู้สึกว่าเวลา มองจากมุมไกลๆ เศียรราชินีดูมีสง่าราศีกว่าเวลามองใกล้ๆ เยอะเลย... อาจเป็นเพราะถ้ามองจากที่ไกลๆ จะได้รับการเสริมให้โดดเด่นขึ้นจากผืนหินกว้างที่ดูเวิ้งว้าง และท้องฟ้าสีจัดของยามกลางวันซะละมัง



หินเศียรราชินีแต่เดิมมีรูปลักษณ์เช่นเดียวกันหินเห็ด แต่ส่วนด้านบนที่บานเป็นหมวกเห็ดได้หักพังลงมาในช่วงปี ค.ศ.1962-1963  ทำให้มองเหมือนเสี้ยวหน้าด้านข้างของราชินีอลิซาเบธ
เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1962-1963 ดูนมนาน แต่ถ้าเทียบอายุของประติมากรรมหินก้อนนี้แล้ว ยังแสนเยาว์วัย ตามวิธีการคิดคำนวณทางวิทยาศาสตร์ หินก้อนนี้สูง  8 เมตร และจากสถิติการยกตัวขึ้นสูงของแผ่นดินไต้หวันทางตอนเหนือ ที่ขยับสูงขึ้นปีละประมาณ 2-4 มิลลิเมตร  เท่ากับว่างานประติมากรรมหินชิ้นนี้มีอายุประมาณ 4,000 ปี...ฉะนั้น ใครจะไปรู้ ประติมากรรมหินก้อนนี้อาจเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์มาแล้วหลายครั้งหลายคราก็เป็นได้

บริเวณส่วนคอที่ระหงของหินเศียรราชินี เกิดจากสายลม แสงแดด  และสายฝนช่วยกันกล่อมเกลา มีความยาวเส้นรอบวง 158 เซนติเมตร ขณะที่เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 50 เซนติเมตร  ชวนให้หวั่นไหวว่า ประติมากรรมชิ้นนี้จะอยู่ในรูปลักษณ์นี้ได้อีกนานแค่ไหนเชียว  และเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ จึงร้องขอนักท่องเที่ยวขณะถ่ายรูปคู่กับราชินี กรุณาอย่าโอบรอบคอราชินี (นะจ๊ะ) เพื่อที่ราชินีจะได้ชูลำคออันระหงอยู่ได้ไปอีกนานๆ


พ้นจากลานหินกว้าง สามารถเดินขึ้นไปชมวิวบนหน้าผาสูง เมื่อมองลงมา จะได้เห็นผลงานทางธรรมชาติอีกชิ้นหนึ่ง ตรงบริเวณชายฝั่ง
หินเต้าหู้...bean curd rock  คนไต้หวันตั้งชื่อให้อย่างนั้น มองแล้วเฉยๆ รู้สึกเหมือนสะพานหินที่ยื่นเข้าไปในทะเลมากกว่า เพิ่งจะมีงานประติมากรรมหินชิ้นนี้แหละ ที่มองแล้วจินตนาการไม่เหมือนที่คนพื้นถิ่นเขาเห็นกัน

แอบกระซิบบอก จากบนเชิงผาด้านบน ไม่ได้แค่เห็นผลงานของคลื่นทะเลที่ซัดกร่อนชายหาดเท่านั้น  แต่จะได้เห็นพันธุ์ไม้แปลกๆ ที่ขึ้นตามเชิงผาด้วย...และดอกไม้ที่ชูช่อแถวนั้น ก็สวยจับใจ แปลกตา เป็นเสมือนของหวานตบท้าย


หลังจากได้เสพผลงานประติมากรรมหินจนอิ่มสมใจ

ไต้หวัน ตอนที่1 พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน 



เรื่องชุดไต้หวัน ตอนที่1 พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน งานสร้างสรรค์ของมนุษย์

หมายเหตุ งานเขียนชุดไต้หวัน ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์์

คนที่ฉันเที่ยวอ้าแขนกว้างๆ บอกใครต่อใครว่า 'รักเท่าฟ้า' เคยบอกฉันแต่ยังเล็ก “พิพิธภัณฑ์ที่ไต้หวัน เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุจีนล้ำค่าที่ดีที่สุดในโลก”
บางครั้ง บางครา เราก็ตามรอยคนที่เรารักเป็นนักหนาโดยไม่ตั้งใจ

หมู่อาคารที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เด่นตรงหลังคาสีเขียวที่ชายคาโค้งแหลมงอนขึ้นตามแบบลักษณะของสถาปัตยกรรมจีน สีเขียวนั้นสดใสสอดรับกับบรรยากาศแมกไม้รอบด้านที่เขียวชอุ่มร่มรื่น...ช่างเป็นการใช้สีเขียวปรับอุณหภูมิ ปรับความรู้สึกของผู้มาเยือนให้พร้อมที่จะเข้าไปซึมซับความงามของศิลปวัตถุที่วางแสดงอยู่ด้านใน



National Palace Museum เป็นชื่อเรียกภาษาอังกฤษของที่นี่ หากในภาษาจีนเรียกว่า กู้กง อันเป็น 'กู้กง' เดียวกับ 'พระราชวังต้องห้าม' ที่กรุงปักกิ่ง ที่จำได้แม่นนัก เพราะเคยเดินวนเที่ยวถามทางใครต่อใครแถวจัตุรัสเทียนอันเหมินอยู่รายรอบ แต่ไม่ยักมีใครรู้จัก “forbidden city” สักคน จนเปล่งคำว่า “กู้กง”  ออกไปเท่านั้นแหละ เสียงร้องอ๋อ เข้าใจในบันดล แม้จะชี้บอกทางกันไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็ช่วยให้ฉันพาตัวไปถึง 'พระราชวังต้องห้าม' จนได้

ส่วนหนึ่งเป็นที่ลิ้นคนไทย เวลาออกเสียงภาษาจีนแล้ว “ชัดจนน่าตกใจ”
รูมเมทชาวจีนคนหนึ่งเคยบอกฉันไว้อย่างนั้น เมื่อครั้งหนึ่งเราคุยกันถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองจีน  แล้วฉันเอ่ยชื่อ “กุ้ยหลิน” ออกมา สาวหมวยทำตาโต แสดงท่าอัศจรรย์ใจ ว่าฉันช่างออกเสียง กุ้ยหลินได้ชัดเสียเหลือเกิน  และการออกเสียงภาษาจีนของสถานที่แต่ละแห่งได้ชัดจนน่าตกใจตามที่เธอว่า ช่วยให้การสื่อสาร ถามเส้นทางไปเยือนสถานที่หลายๆ แห่งในไต้หวันนั้นง่ายกว่าที่คิดไว้

กู้กงที่ไต้หวัน กับกู้กงที่ปักกิ่งนั้นมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง  ศิลปวัตถุที่แสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไต้หวัน ล้วนขนย้ายมาจากพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังกู้กง เป็นการย้ายหนีในช่วงที่จีนประสบปัญหาการถูกรุกรานจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าถูกทำลาย

เมื่อเข้าไปในอาคาร...ผู้คนหนาแน่น ลองไปดูสถิติที่คนช่างเก็บเขาเก็บไว้เป็นข้อมูล ที่นี่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะที่มีผู้เข้าชมมากเป็นลำดับที่ 11 ของโลกในปีค.ศ. 2009 และที่น่ารักน่าชังและชอบมาก คือ ราคาค่าตั๋วเข้าชม แค่ 160 TWD เท่านั้น ทั้งที่เปรียบเทียบเชิงชั้นแล้วพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นยอดแห่งหนึ่งของโลก



ก่อนเข้าไปในห้องแสดงงาน แวบเข้าไปชม Children Gallery ที่อยู่ใกล้ๆ เป็นพื้นที่สำหรับคุณพ่อคุณแม่พาเด็กๆ เข้าไปทำกิจกรรม เล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปชมงานด้านใน ขณะที่กำลังจะออกจากพื้นที่ เหลือบเห็นรูปตรงบริเวณทางออก เป็นภาพวาดเด็กพร้อมผู้ใหญ่ และเจ้าผักกาดเขียวขี่หลังตั๊กแตน พร้อมที่จะเข้าไปตะลุยผจญภัยในพิพิธภัณฑ์...ภาพนี้เรียกรอยยิ้มได้กว้าง เพราะผลงานชิ้นเอกที่วางแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ใครต่อใครมาเยือนแล้วต้องไม่พลาดเข้าชมคืองานแกะสลักหยกเป็นรูปผักกาดมีตั๊กแตนเกาะแฝงอยู่ ก็เจ้าตั๊กแตนตัวนั้นนั่นแหละ ที่กลายเป็นพาหนะนำพาเด็กๆ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมเจ้าตัวหัวผักกาดที่ติดสอยห้อยตามไปเป็นเพื่อน


ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งห้องนิทรรศการออกเป็น 3 ชั้น  เก็บรักษาวัตถุล้ำค่ากว่าหกแสนชิ้น แต่ไม่ต้องตกใจ!! ทั้งหมดไม่ได้นำออกแสดงในคราวเดียว แต่ทำการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของที่วางแสดงทุกๆ สามเดือน ว่ากันว่าในปีหนึ่งๆ จะวางแสดงงานได้ประมาณ 60,000 ชิ้น นั่นเท่ากับว่า ถ้ารักกันจริง สามารถกลับมาเยือนที่นี่ได้เรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก็จะได้ชมงานทุกชิ้นครบถ้วน

ห้องนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็นห้องแสดงงานศิลปวัตถุประเภทต่างๆ
ชั้นแรก นั้นแสดงงานเอกสารโบราณและหนังสือหายาก ศิลปะและเครื่องเรือนสมัยราชวงศ์ชิง และงานประติมากรรมทางพุทธศาสนา ที่ฉันออกจะชอบใจและติดใจคืองานที่เรียกว่า Curio Box  กล่องใส่ของขนาดเล็ก ที่มองจากด้านนอกเหมือนกล่องใส่ของธรรมดา แต่เมื่อเปิดออกจะพบช่องเล็กช่องน้อยแอบซ่อนอยู่ด้านในสำหรับเก็บของ สมกับชื่อ curio ที่มีรากคำมาจาก curious ที่หมายถึงอยากรู้อยากเห็น...  กล่องที่ยิ่งเปิดออก ยิ่งชวนให้อยากรู้ ว่ามีช่องสำหรับเก็บของซุกซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง และจะต้องเปิดออก ดึงออก หรือกระทั่งหมุนจากช่องไหน.... ฉันชอบนะ แสดงออกถึงความละเมียดผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อย..ฉันเชื่อว่าแต่ละคนจะต้องแอบมีกล่องเก็บของใบโปรดของตัวเองอยู่
ทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้แค่จัดวางแสดงงานเท่านั้น แต่ได้ใช้สื่อสมัยใหม่มาประกอบ  ทั้งหนังสารคดีสั้น แอนิเมชันภาพเคลื่อนไหว และช่างเปรียบเทียบ นำการจัดสรรพื้นที่ภายใน curio box  ไปเทียบเคียงกับวิถีชีวิตของคนปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์พื้นที่แคบๆ ที่ต้องพยายามจัดสรรพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด

ชั้นที่ 2 แสดงงานภาพวาด  ศิลปะคัดลายมือ และงานเซรามิค
ภาพวาดแบบจีนนั้นค่อนข้างคุ้นเคย ชินตา ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดทิวทัศน์ ป่าเขา ต้นสน  ดูแปลกตาไปบ้างเมื่อไปเจอเข้ากับภาพวาดดอกไม้สีสด ที่ไม่ค่อยได้เห็นมาก่อน และที่ทำให้หยุดยืนดูอยู่นาน เพราะชอบและทึ่งเป็นพิเศษ เป็นภาพวาดไม้ใหญ่บนหน้าผา ที่หากมองเผินๆ ก็เหมือนภาพวาดทิวทัศน์ทั่วไป แต่ในภาพนั้น ซุกซ่อนนกหลากชนิดไว้ และทางพิพิธภัณฑ์ก็เข้าใจทำนำภาพนกของจริงมาเทียบกับนกในภาพวาดซึ่งเหมือนกันเสียเหลือเกิน ชวนให้อดพิศวงไม่ได้ว่า จิตรกรวาดภาพนกเหล่านั้นได้อย่างไร ในเมื่อสมัยก่อนไม่มีกล้องที่จะจับภาพนิ่ง แล้ววาดลอกเลียนอีกที นั่นเท่ากับจะต้องใช้ความอดทน และช่างสังเกตอย่างมหาศาล

สำหรับผลงานชิ้นเอกที่มีคนมุงดูจำนวนมากคือภาพวาดแนวนอนที่มีความยาวถึง 11 เมตร เป็นภาพที่มีชื่อว่า Along the River During the Ching-ming Festival  เป็นภาพวาดแสดงบรรยากาศในวันเทศกาลเช็งเม้ง อันเป็นวันไหว้บรรพบุรุษที่สุสานของคนจีน

ภาพนี้ไม่ได้ถ่ายในพิพิธภัณฑ์ แต่ถ่ายตรงระหว่างทางเดินในสถานีรถไฟใต้ดินที่ได้จำลองภาพวาดเทศกาลเช้งเม้งในพิพิธภัณฑ์ไว้

แค่ขนาดความยาวของภาพวาดก็ดึงดูดแล้ว เมื่อไปยืนดูใกล้ๆ เป็นภาพพาโนรามา ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวรายละเอียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นต่างๆ ในวันงานเทศกาล เช่น การแสดงกายกรรม การโยนห่วง ละครลิง...ว่ากันว่าในภาพวาดมีจำนวนคนมากกว่า 4,000 คนเลยเชียว...แล้วอย่างนี้ จะไม่หยุดแวะยืนดูกันได้อย่างไร

สำหรับห้องงานเซรามิค ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่วางแสดงล้วนสวยงาม ประณีตทั้งสิ้น แต่ของใช้ที่คาดไม่ถึงว่าจะทำจากเซรามิคได้คือ หมอน...หมอนที่ใช้หนุนหัวนี่แหละ  มีทั้งแบบที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมธรรมดา วาดลวดลายงดงามด้านบน กระทั่งประดิษฐ์เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ที่มากกว่าการเป็นแท่งสี่เหลี่ยมธรรมดาก็มีให้เห็น  ขณะชมงานไปก็อดจินตนาการไปด้วยไม่ได้ว่า... คนสมัยก่อนใช้แท่งเซรามิคแบบนี้นอนหนุนหัวได้อย่างไร แล้วงานแบบนี้ก็ไม่เคยเห็นจากไหน นอกจากในพระราชวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่งแล้วก็ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

และที่ชั้น 2 ก่อนที่จะขึ้นไปสู่ชั้น 3 ผ่านมุมขายของที่ระลึก เจ้าตัวหัวผักกาดพร้อมตั๊กแตนตัวเขียวเป็นตัวชูโรงอีกตามเคย...เหมือนต้องการจะสะกิดเตือนกลายๆ ว่า ขึ้นไปชั้น 3 แล้ว อย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยียนผมหน่อยนะ

เอาละ...ขึ้นถึงชั้น 3 แล้ว ตรงดิ่งไปที่ห้องแสดงงานหยกแกะสลัก มุมไหนที่มีกลุ่มคนหนาแน่นมุงอยู่ ตรงเข้าไปได้เลย งานหยกแกะสลักรูปผักกาด อันเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งพิพิธภัณฑ์รออยู่
ชิ้นหยกที่นำมาแกะสลักเป็นหยกสองสี สีขาวกับสีเขียว ตรงบริเวณก้านใบเป็นสีขาว ก่อนที่ตรงปลายด้านบนเป็นกลีบใบสีเขียว และมีตั๊กแตนเกาะอยู่  นอกจากฝีมือการแกะสลักที่ประณีต จนสามารถสร้างสรรค์วัตถุที่แข็งให้กลายเป็นชิ้นผักที่สดและเปราะบางแล้ว สีธรรมชาติของชิ้นหยกเองยังเป็นตัวเสริมให้งานหยกแกะสลักชิ้นนี้กลายเป็นผลงานระดับสุดยอด



ไม่ห่างจากหยกแกะสลักรูปผักกาด มีงานแกะสลักอีกชิ้นหนึ่งที่โด่งดังเป็นผลงานชิ้นรอง  นั่นคือ งานแกะสลักหินเป็นชิ้นหมูสามชั้น เห็นของจริงแล้วก็อดหมั่นไส้คนใกล้ๆ ตัวไม่ได้ เขามีโอกาสมาเยือนไต้หวันก่อนหน้าฉัน และของที่ระลึกที่เขาส่งถึงฉัน คือ ภาพโปสการ์ดรูปชิ้นหมูสามชั้นชิ้นนี้แหละ  ก่อนจะบรรจงลงลายมือว่า “คิดถึง” สรุปว่าเห็นหมูสามชั้นแล้วคิดถึงฉันว่างั้นเถอะ...(น่านัก)
อืมม์  เห็นชิ้นงานของจริงแล้ว เล็กกว่าที่คาดไว้...และไม่รู้ลำเอียงเพราะมีเบื้องหลังความนัยระหว่างฉัน เพื่อนร่วมบ้าน และชิ้นหมูสามชั้นหรือเปล่า...ฉันกลับรู้สึกชอบงานชิ้นนี้กว่าหยกผักกาดอีก ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นชิ้นหมูจริงๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงเท่าหยกผักกาด เป็นเพราะสีของชิ้นงานไม่สดสว่างเหมือนชิ้นผักแกะสลักซะละมัง (ไม่รู้ล่ะ ฉันคิดของฉันเอง)



เพลิดเพลินจากงานชิ้นเล็กๆ ละเมียดอย่างหยกแกะสลัก ลองผ่านเลยไปชมงานชิ้นใหญ่หนาหนักอย่างงาน เครื่องทองสัมฤทธิ์ กันบ้าง และถ้าจะให้รู้สึก...เข้าถึง...ต้องไปยืนชมดูขั้นตอนการทำเครื่องทองสัมฤทธิ์ที่อธิบายผ่านสื่อ multimedia ที่อยู่ด้านหน้า กรรมวิธีการทำซับซ้อนและยุ่งยากชะมัด เห็นแล้วก็ทึ่งไปกับความมีน้ำอด น้ำทน และเพียรพยายามของคนสมัยก่อน
เมื่อเข้าไปดูงานด้านใน เนื้อวัตถุหนาหนักและแข็งแรงกลับกลายเป็นภาชนะใส่อาหาร น้ำ และสุราเสียอย่างนั้น...มีที่เป็นเครื่องดนตรีเหมือนกัน แต่ไม่หลากหลายเท่าที่เป็นภาชนะบรรจุอาหาร  ภาชนะพวกนี้มีขาตั้งสามขา ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงกระถางธูปขนาดใหญ่ที่ตั้งตามหน้าวิหารในวัดจีน นั่นแหละ...รูปลักษณ์ประมาณนั้น

เห็นแล้วอดรู้สึกไม่ได้ว่า เป็นความตั้งใจที่จะอวดโอ่หรือเปล่า เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังและอำนาจ ในการนำวัสดุที่มีขั้นตอนการหลอมสร้างที่ซับซ้อนมาเป็นภาชนะขนาดใหญ่สำหรับการดื่ม การกิน กิจกรรมที่น่าจะเป็นกิจวัตรประจำวันธรรมดาๆ ที่กลายเป็นไม่ธรรมดาขึ้นมา

การเที่ยวเดินชมดูพิพิธภัณฑ์ที่นี่จบเร็วกว่าที่คาดไว้.... นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์ของที่นี่กับพระราชวังต้องห้าม ทำให้ฉันคิดเผื่อใจเตรียมไว้กับการเจอะเจอพิพิธภัณฑ์ที่ไม่รู้จบ เช่นเดียวกับที่พระราชวังต้องห้ามที่ฉันเดินเที่ยวชมตั้งแต่สายๆ ไปยันบ่ายคล้อย เดินผ่านหมู่อาคารกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที จนฉันเรียกขานของฉันเองว่า 'พระราชวังไม่รู้จบ' แล้วหน้าตาของหมู่อาคารแต่ละกลุ่มก็ช่างเหมือนกันเหลือเกิน ถ้าการเดินเที่ยวชมไม่มีเส้นทางที่ชัดเจน ตรงดิ่งจากประตูทางเข้าด้านหน้าไปสิ้นสุดตรงประตูทางออกด้านหลัง อาจจะเผลอคิดได้ว่าเดินวนกลับมาทีเดิม

เอาล่ะเมื่อชมงานครบทุกห้องแล้ว...ลงจากพาหนะตั๊กแตนสีเขียวได้ แล้วก็อำลาเจ้าหยกผักกาดด้วย...ถ้ายังติดอกติดใจกันอยู่  คราวหน้าถ้ามีโอกาสกลับมาแวะชมกันใหม่ก็ได้ อย่างที่เกริ่นบอกก่อนหน้านี้   ถ้าอยากจะชมงานทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ครบทั่วถ้วน

ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี นั่นแหละ

ไต้หวัน ตอนที่1 พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน 


27 พฤษภาคม 2554

ปราสาทฮิเมจิ

หมายเหตุ... งานเขียนตอนนี้ ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์


เอาเข้าจริงๆ แล้ว เวลาไปเที่ยวที่ไหน ดูเหมือนสถานที่เที่ยวจะวนเวียนซ้ำอยู่ไม่กี่ประเภท

ลองนับนิ้วดูเล่นๆ ก็ได้  ปราสาท/ราชวัง  โบสถ์/วัด  พิพิธภัณฑ์  โรงละคร  สวนพฤกษศาสตร์....   จริงๆ นะ นับวนเวียนกี่รอบกี่รอบ ก็จะได้ประมาณนี้  สงสัยเป็นเพราะสถานที่เหล่านี้ระดมเอาภูมิรู้ภูมิฝีมือของคนในท้องถิ่น สร้างสรรค์ผลงานกันอย่างเต็มความสามารถ  แล้วภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมความเชื่อของแต่ละที่ แต่ละแห่งล้วนต่างกันออกไป ทำให้ผลงานที่ออกมามีรายละเอียดที่ต่างแปลกไม่ซ้ำกัน (สนุกก็ตรงนี้แหละ)

เมื่อมาญี่ปุ่นคราวนี้  ที่แรกที่ฉันตรงดิ่งไปเยือนจึงเป็นเมือง ฮิเมจิ (Himeji) จังหวัดเคียวโงะ  ด้วยชื่อชั้นที่ว่าปราสาทแห่งเมืองฮิเมจิ  เป็นหนึ่งในปราสาทที่งามงดที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และอีกเหตุผลหนึ่งที่เสริมเข้ามา คือความตั้งใจที่จะใช้ตั๋วแบบ pass ให้คุ้มที่สุด ตั๋วประเภทนี้เป็นตั๋วแบบเหมาจ่ายราคาเดียว ผู้ถือสามารถเดินทางไปไหนก็ได้ในขอบเขตพื้นที่ และจำนวนวันที่ขีดจำกัดไว้ให้ ถ้ายึดเอาเมืองที่พักเป็นฐานในการเดินทาง เมืองฮิเมจิก็อยู่ตรงบริเวณขอบๆ ของพื้นที่ที่ขีดจำกัดวงไว้

สับสนกับสถานที่ที่เรียกว่า 'ปราสาท' อยู่บ้าง  ถ้าอิงความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2542  'ปราสาท' หมายถึง เรือนที่มียอดเป็นชั้นๆ สำหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์

แต่ความหมายปราสาทในดินแดนอื่น ดูจะหมายถึงที่อยู่ที่อาศัยของกษัตริย์ รวมถึงขุนนางในตำแหน่งสำคัญๆ มากกว่าที่จะเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบในไทย

แต่ที่แน่ๆ ปราสาททุกแห่ง ทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนเป็นเรือนที่มียอดเป็นชั้นๆ ลดหลั่นทั้งสิ้น แสดงถึงแนวคิดที่คล้ายคลึง ยิ่งสูงยิ่งโดดเด่นยิ่งอลังการ...ประมาณนั้น  ทำเลที่ตั้งก็มักเลือกที่จะสร้างบนเนินเขาสูง  เวลาไปเที่ยวชมปราสาทที่ไหน เมื่อไร ที่ใดจึงมักไม่ต้องกลัวหลง ไม่ต้องคอยพะวงเปิดดูแผนที่ เพราะแค่แหงนคอมองไปรอบๆ  เดี๋ยวจะได้เห็นยอดสูงของปราสาทที่มักจะอวดโฉมให้เห็นเด่นกว่าสถานที่อื่น

เมืองฮิเมจิไม่ใช่เมืองเล็กๆ ประเภทโผล่หน้าจากสถานีรถไฟปุ๊บแล้วจะแลเห็นยอดปราสาทในทันใด แต่อย่างน้อยก็มี  tourist center ดักอยู่ด้านหน้า ไม่ว่าใครมาที่นี่ ล้วนเพื่อมาเยือนปราสาทฮิเมจิทั้งสิ้น แผนที่เมือง และแผนที่ปราสาทจึงเตรียมพร้อมสำเร็จรูปไว้รองรับนักท่องเที่ยว

ญี่ปุ่น ณ เวลาที่ฉันไปเยือน  เป็นฤดูกาลของความร้อนระอุ ระหว่างทางจากสถานีรถไฟไปยังปราสาทจึงไม่ใช่เวลาแห่งความรื่นรมย์ที่จะเดินทอดหุ่ยชมบ้านชมเมือง คุณป้า ณ  tourist center จึงแนะนำให้เดินไปตาม market street ที่สองฟากฝั่งจะเต็มไปด้วยร้านขายของ และที่สำคัญมีหลังคาครอบเหนือทางเดินที่เลียบขนานไปกับทางถนนที่มุ่งตรงไปสู่ตัวปราสาท



เมื่อพ้นจากเส้นทางตลาดออกสู่ถนนด้านนอก ปราสาทฮิเมจิก็อวดโฉมให้เห็น ปราสาทนกกระสาขาว.... เป็นอีกชื่อหนึ่งของปราสาทแห่งนี้ ด้วยพื้นผิวของตัวปราสาทที่เมื่อพ้นจากฐานหินที่โค้งสูงขึ้นไปแล้วมีสีขาวเด่นสว่าง ยิ่งในช่วงฤดูร้อน ท้องฟ้าสีเข้มยิ่งขับเน้นให้เห็นสีขาวนั้น  ประสมกับยอดหลังคาทรงจั่วที่ลาดโค้งอ่อนช้อยลดหลั่นเป็นชั้นๆ  ประหนึ่งปีกนกที่กางออก เห็นอย่างนั้นแล้ว เปรียบปราสาทนี้เป็นนกกระสานับว่าไม่เกินเลยจริงๆ



นอกจากจะได้ชื่อปราสาทนกกระสาขาว  ปราสาทฮิเมจิยังได้ชื่อว่า ปราสาทเขาวงกต ด้วยเมื่อผ่านเข้าไปในเขตปราสาทแล้ว ทางเดินจะวนซ้อนไปมากว่าจะไปถึงตัวอาคารหลัก

เส้นทางที่วกวนซับซ้อนนี้เป็นความตั้งใจของผู้ก่อสร้างปราสาท เป็นกลวิธีหนึ่งในการป้องกันการโจมตีจากข้าศึก เมื่อข้าศึกหลุดเข้ามาในเขตปราสาท ขณะเจอกับทางเดินที่วกวน เป็นช่วงจังหวะที่ฝ่ายเจ้าของปราสาทที่ซุ่มอยู่บนอาคารหลักสามารถเลือกโจมตีได้ตามใจชอบอย่างง่ายดาย

แต่ ณ พ.ศ.นี้ ทางเดินวกวนไม่เป็นปัญหา มีป้ายชี้บอกทางไปยังตัวปราสาทเป็นระยะ ถ้านึกสนุกลองเดินแยกไปทางอื่น มักจะเจอทางตันเป็นส่วนใหญ่

ระหว่างทาง... ทางเดินจะค่อยๆ ชันขึ้น ผ่านประตูเขตชั้นในเป็นช่วงๆ และที่สะดุดชวนให้หยุดแวะดู คือ พื้นที่ลานกว้างที่ล้อมกั้นด้วยไม้ไผ่ เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นบ่อน้ำ มีบ่อน้ำแบบนี้ให้เห็นอยู่หลายบ่อ เมื่ออ่านป้ายอธิบายจึงรู้ว่า บ่อน้ำในเขตปราสาทมีทั้งสิ้น 33 บ่อ หลงเหลือจนมาถึงปัจจุบัน 13 บ่อ ที่มีการขุดสร้างจำนวนมาก เพราะอะไรจะสำคัญไปกว่าน้ำ ที่เปรียบเสมือนอาหาร หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ในการยังชีพ เป็นการป้องกันหากข้าศึกทำการโอบล้อมกั้นทางเดินน้ำไม่ให้ไหลผ่านมายังเขตปราสาท  น้ำในบ่อก็ยังจุนเจือคนในปราสาทได้เพียงพอ



ทางเดินที่ชันขึ้น เรียกเหงื่อได้มากทีเดียว อย่าแปลกใจที่เห็นป้ายเตือนให้ดื่มน้ำเยอะๆ เห็นมั้ยล่ะ... น้ำสำคัญไฉน

แล้วในที่สุดก็มาถึงลานกว้างด้านบนสุด อันเป็นที่ตั้งของตัวปราสาท ยังไม่ต้องรีบร้อนเข้าไปชมด้านใน เพราะพื้นที่รอบๆ ล้วนเป็นจุดชมวิวเมืองฮิเมจิได้เป็นอย่างดี  ทั้งบริเวณเยื้องข้างๆ มีคุณปู่ต้นไม้ขนาดมหึมา เห็นแล้วชวนชื่นใจต้อนรับขับสู้บรรดานักท่องเที่ยวให้พากันไปนั่งพักใต้ร่มเงา  บางคนถึงกับนอนเหยียดแผ่หลา

ฉันเข้าไปนั่งพักใต้ต้นไม้กับเขาบ้าง  อากาศใต้ไม้ใหญ่เย็นสบาย  ชวนเคลิ้ม ไม่แปลกใจเลยทำไมหนุ่มข้างๆ ถึงนอนได้นอนดีไม่ยอมลุก  ฉันเองกว่าจะตัดใจลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง ต้องใช้กำลังใจอันเข้มแข็ง (อย่างยิ่งทีเดียว) จะได้เข้าไปเยือนตัวปราสาทฮิเมจิเสียที

เพิ่งจะทำเก๋เที่ยวปราสาทฝรั่งมาไม่นาน คราวนี้มาเที่ยวปราสาทญี่ปุ่น จะได้ลองเปรียบเทียบความต่าง-ความเหมือนกันดู

สิ่งที่เหมือนอย่างที่เกริ่นนำไว้  'ยิ่งสูง ยิ่งโดดเด่น'  ยิ่งตั้งบนเนินเขาสูงๆ ได้ยิ่งดี เพราะช่วยให้ง่ายต่อการป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาโจมตี

สิ่งต่างที่เห็นได้ชัดคือ วัสดุที่ใช้งาน ปราสาทฝรั่งใช้อิฐกับก้อนหินในการก่อสร้างทำให้ดูแน่นหนาแข็งแรง ขณะที่ของญี่ปุ่นใช้ไม้เป็นหลัก มองจากภายนอกยังได้เห็นวัสดุที่เป็นหินอยู่บ้าง โดยนำมาก่อสร้างเป็นฐานล่าง แต่เมื่อเข้าไปด้านในปราสาทแล้วจะเจอแต่ไม้อย่างเดียวเป็นวัสดุหลัก และเมื่อใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก เสาและคานด้านในจึงได้อวดเส้นสายอย่างเต็มที่

ที่ต่างอีกอย่างคือ ความหรูหรา ฟุ่มเฟือย ปราสาทแบบฝรั่งวิจิตรโอ่อ่า ทั้งลวดลายบนฝาผนัง ฝ้าเพดาน  เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่ง แต่ปราสาทฮิเมจิเรียบง่ายเป็นที่สุด ไม่มีอะไรเลย ไม่มีการตกแต่งหรูหราอย่างใดทั้งสิ้น ทั้งด้านในยังค่อนข้างมืด เพราะอาศัยแสงสว่างธรรมชาติที่ส่องเข้ามาตามช่องหน้าต่างเพียงอย่างเดียว ทางเดินบันไดที่นำไปสู่ชั้นบนแต่ละชั้น ค่อนข้างแคบและชัน เด็กๆ ดูจะสนุกกว่าผู้ใหญ่ เพราะเหมือนการผจญภัยน้อยๆ  ขณะที่ใครอายุมากหน่อยอาจจะบ่นพึมได้

ที่น่าสนใจเป็น กระเบื้องมุงหลังคาปราสาท ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเข้ามาด้านใน แล้วมองออกไปด้านนอก หลังคาที่โค้งอ่อนช้อย ตรงบริเวณชายคาจะมีกระเบื้องวงกลมปิดอยู่ ลาดลายบนกระเบื้องสังเกตว่ามีหลายแบบ ลวดลายเหล่านั้นเป็นตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของแต่ละตระกูลที่มีส่วนในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมปราสาท ตราที่เห็นมีทั้งรูปดอกไม้ รูปใบไม้ รูปผีเสื้อ รูปจุลภาค และรูปกงจักร

แต่ละชั้นของตัวปราสาท  ยังแปรสภาพเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม แสดงอุปกรณ์อาวุธ ชุดเกราะสมัยโบราณ รวมถึงภาพวาดจำลองวิธีการป้องกันข้าศึกศัตรูภายในปราสาท และสิ่งของล้ำค่าทางวัฒนธรรม

และเมื่อถึงชั้นบนสุด มี ศาลเจ้าชินโต เล็กๆ ตั้งอยู่  (Osakabe Shinto Shrine)  ศาลแห่งนี้เคยตั้งอยู่บนยอดเขาอันที่เป็นที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้  ครั้นมีการก่อสร้างปราสาทขึ้น จึงได้ย้ายศาลเจ้าออกไปตั้งไว้ที่อื่น แต่ภายหลังชาวบ้านรู้สึกถึงเหตุผิดธรรมชาติที่เกิดขึ้น จึงได้ย้ายศาลเจ้ามาตั้งไว้ ณ ที่เดิมในตัวปราสาท
เรื่องราวแค่นั้นอาจไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเล่าต่อว่า เชื่อกันว่า วิญญาณของนักฟันดาบชื่อดัง นามว่า มูซาชิ มิยาโมโตะ (Musashi Miyamoto) สิงสถิตอยู่ ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ คงเรียกความตื่นเต้นแก่ผู้ที่เคยอ่านหนังสือ มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ โดย ดร.สุวินัย ภรณวินัย ได้ไม่น้อย  ด้วยเรื่องราวของนักฟันดาบที่ได้เรียนรู้ว่าการจะเป็นจอมดาบอันดับหนึ่งไร้ผู้ต่อต้านนั้นไม่ใช่เรื่องของพละกำลัง หรือสัญชาตญาณการฆ่าฟัน หากเป็นการฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้หลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน ช่วงท้ายมูซาชิจึงสนใจที่จะฝึกฝนงานศิลปะซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกฝนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ หรืองานแกะสลัก

ชั้นบนสุดยังมีช่องหน้าต่างเล็กๆ  เผยให้เห็นลานกว้างด้านนอก  และตัวเมืองฮิเมจิที่ตั้งอยู่เบื้องล่าง

นักท่องเที่ยวยังคงทยอยเดินเข้าเดินออก ไม่ขาด และตรงคุณปู่ต้นไม้ใหญ่ ก็ยังมีคนนั่งพักอาศัยร่มเงา ดูเหมือนว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้เลยว่ามีสายตาด้านบนจับจ้องมองอยู่...การอยู่บนที่สูงให้อำนาจเช่นนี้เอง


อิ่มกับการได้อยู่บนที่สูงเพียงพอ  ค่อยอำลาตัวปราสาท แต่ก่อนลงไปอย่าลืม ประทับตราปราสาท เก็บไว้เป็นที่ระลึก สถานที่เที่ยวสำคัญๆ ของญี่ปุ่นมักจะมีตราประทับให้ประทับเก็บเป็นที่ระลึกเสมอ

พ้นจากตัวปราสาท  เดินกลับออกไปด้านนอก ต้องเดินวนอ้อมไปอีกด้านหนึ่ง ไม่ซ้ำทางเดินแรกที่เข้ามา ทางเดินนี้จะนำผ่าน ลานฮาราคีรี และบ่อน้ำอีกแห่งที่โด่งดังเพราะมีตำนานผีๆ เกี่ยวกับหญิงสาวรับใช้ที่ถูกทรมานเพราะโดนกล่าวหาว่าขโมยจาน ศพของเธอถูกโยนทิ้งไว้ในบ่อแห่งนี้

ในที่สุดทางเดินวนอ้อมจะวกไปชนรอบกับประตูทางเข้าปราสาท  ทำให้การเดินเข้ามาในเขตปราสาทวนครบรอบเป็นวงกลมพอดี

ก่อนออกจากเขตประสาท กระซิบบอกสักนิดหนึ่ง เห็นทางเดินวกวน มีกำแพงกั้นเป็นชั้นๆ เตรียมการพร้อมเสียขนาดนี้

แต่ปราสาทฮิเมจิไม่เคยถูกข้าศึกบุกเข้าโจมตีเลย

ทางรถไฟสายโรแมนติค (เกียวโต)

หมายเหตุ เรื่องนี้ตีพิมพ์ที่กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์์


ใครว่า เกียวโต มีแต่วัด วัด วัด และศาลเจ้า เกียวโตไม่ได้มีแต่วัด วัด วัด และศาลเจ้าเพียงอย่างเดียว สถานที่เที่ยวทางธรรมชาติก็มีเช่นกัน....



และที่หย่อนใจทางธรรมชาติที่เป็นที่นิยมนักหนาคือทางรถไฟสายโรแมนติก

ทางรถไฟสายโรแมนติคเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า รถไฟสายซากาโน่ ตั้งอยู่ในย่าน อาราชิยามา (Arashiyama)  อันเป็นย่านเที่ยวเล่น พักผ่อนของชาวเีกียวโต ที่เป็นที่นิยมเอามากๆ แล้วก็ต้องเชื่อจริงๆ  เพราะแค่นั่งรถเมล์เข้าไปในเขตนั้นก็สัมผัสได้แล้ว.... ผู้คนมหาศาล เดิน เที่ยว กิน ช้อป เต็มสองข้างถนน  ท่ามกลางแดดที่ร้อนเปรี้ยงปร้าง  น่าทึ่ง ตรงช่างไม่ยี่หระกับแสงแดดกันเสียจริง เพื่อนร่วมบ้านที่ปล่อยตัวแล้วแต่ฉันจะหิ้วพาไปที่ไหน ขยับตัวเพ่งมองออกไปนอกหน้าต่างรถ กระแสความคึกคักส่งกลิ่นอาย...โชย...มาถึง จนต้องเอ่ยปากถาม
 “ที่ไหนเนี่ย?”
 “อาราชิยามา.... เราจะไปนั่งรถไฟสายโรแมนติกกัน”
 ฉันบอกอย่างภูมิใจ  จากวัด และวัด และวัด จะได้เปลี่ยนบรรยากาศเป็นชื่นชมธรรมชาติเดี่ยวๆ เสียบ้าง

แต่นั่นแหละ อย่างที่เคยบอก ....ผังเมืองของเกียวโตเป็นรูปสี่เหลี่ยม  สมัยก่อนห้ามสร้างวัดภายในเขตนคร  เมื่อห้ามนัก ก็เลยออกมาสร้างกันนอกเขต ทำให้วัดสำคัญๆ ของเกียวโตส่วน ใหญ่ซ่อนตัวอยู่ในอาณาเขตหุบเขาที่หลีกลี้ออกมา... เขตอาราชิยามา ไกลห่างออกมา  แม้มีชื่อเสียงเรื่องธรรมชาติที่งดงาม  ก็ยังมีวัด และวัด และวัด รวมทั้งศาลเจ้าจำนวนมากตั้งอยู่บริเวณนี้

ขณะตั้งหลักมองฝ่าเปลวแดดที่ส่องระยิบออกไปข้างนอก  รู้สึกทึ่งกับบรรดาคนญี่ปุ่นที่เดินฉับๆ  ช่างเดินกันเก่งเสียจริง ไม่กลัวแดดกันเสียเลย  พวกสาวๆ เห็นออกมาเดินกันแบบนี้แต่งตัวกันสวยๆ ทั้งนั้น ใส่ส้นสูงเดิน ฉับ ฉับ กันคล่องแคล่ว  บางคนถือร่มกางกั้นแดด  แต่ส่วนใหญ่จะถือ พัด มากกว่า ถือติดไม้ติดมือทั้งหญิงและชาย มีทั้งแบบพลาสติกแข็งๆ และแบบที่เป็นพัดจีบพับเก็บได้ พอจะใช้ก็แค่คลี่สะบัดออก โบกพัดไล่ไอร้อนไปมา  เห็นแล้วน่าสนุก ถ้าหยิบพัดสานจากไม้ไผ่บ้านเราติดมือมาด้วย เวลาเอาออกมาพัดโบก คงเก๋ดีพิลึก

คนญี่ปุ่นชอบเดิน และขี่จักรยาน ตามถนนหนทางในเกียวโตไม่ ว่าจะย่านไหน จะมีผู้คนขี่จักรยานเป็นพาหานะกันมากมาย  เวลาเดินๆ ไปตามทางเท้าต้องคอยระวัง เพราะจะมีรถจักรยานเอี่ยวขอใช้ทางด้วย  ดูแล้วก็น่าอิจฉาที่การสัญจรของชาวเกียวโตมีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่จักรยาน มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถเมล์ รถไฟใต้ดิน ไปถึงรถไฟเชื่อมระหว่างเมือง

ตอนลงจากรถเมล์ มองแดดด้านนอกแล้วรู้สึกท้อขึ้นมา ยอมรับว่าเห็นเปลวแดดที่เต้นระยิบแล้วสู้ไม่ไหวจริงๆ ที่คิดจะเดินเที่ยวชมโน่น ชมนี่เลยเปลี่ยนใจเสียเฉยๆ  กระทั่งเห็น สะพานโทเก็ตสึ (Togetsu) ที่ทอดข้ามผ่านแม่น้ำที่เป็นเสมือนหนึ่งในสัญลักษณ์ must-see ของที่นี่ ลิบๆ ยังเมินเฉย ไม่ขยับเท้ารี่เข้าหา กลับเอ่ยชักชวนเพื่อนร่วมบ้านไปทางอื่น
 “หาสถานีรถไฟซากาดีกว่า”
 ใจตอนนั้นคิดแต่ว่า ได้นั่งรถไฟชมวิวคงจะดีกว่าเดินฝ่าเปลวแดดเที่ยวชมโน่นชมนี่เป็นแน่

แต่.... แค่เดินหา สถานีรถไฟซากา ก็ย่ำแย่เสียแล้ว ขนาดหยิบแผนที่จากบูธที่วางแจกนักท่องเที่ยวแท้ๆ ยังเดินหลุดไปหลุดมา งง !!!  หลงอีกแล้ว  แผนที่ญี่ปุ่นต้องไม่มีมาตราส่วนแน่ๆ  อะไรใกล้-ไกล ถึงได้เพี้ยนไปหมด เพื่อนร่วมบ้านฉันแย้งขึ้นมา
“มีสิ แผนที่ก็ต้องมีสเกล.... แต่หมายถึงแผนที่ซื้อนะ ไม่ใช่แจก”   ...แล้วจะพูดทำไมเนี่ย...

เดินหลุดไปหลุดมา กระทั่งไปเจอ วัดเท็นเรียวจิ (Tenryuji)  อันเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของบริเวณนี้ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในมรดกโลกด้านวัฒนธรรม แต่... ณ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ที่จะเข้าไปเที่ยวชมวัดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย

แต่กระนั้นเมื่อผ่านวัดไปทางด้านหลัง ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านก็เจอเข้ากับ สวนไผ่ ที่ขึ้นขนาบทางเดินแคบๆ ทั้งสองด้าน  สวย.... ในใจต้องหลุดคำนั้นออกมา สวยจริงๆ

ต้นไผ่ที่สูงเสียดขึ้นสองข้างทางอวดลวดลายของลำต้นที่เป็นปล้องๆ บดบังแดดที่ส่องจ้าด้านบน ให้เห็นแสงพอรำไร นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินผ่านเข้าไปตามทางที่ผ่าเข้าไปกลางสวนไผ่นั้น

ใครได้มาเผชิญสวนไผ่แห่งนี้เข้าคงคุ้นตา เพราะเป็นสถานที่ที่ได้ขึ้นอวดบนเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่น หลายเจ้า ถ้าอากาศไม่ร้อนจัด และสภาพร่างกายพร้อมกว่านี้  ฉันคงไม่รอช้าที่จะเดินเข้าไปลุยข้างในเช่นกัน

ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านตัดใจเดินเลี้ยวออกจากทางที่ผ่าเข้าไปกลางสวนไผ่ เพราะจะยิ่งนำพาไปให้ห่างไกลจากสถานีรถไฟ  แต่ในใจก็ยังอดนึกดีใจไม่ได้ ที่เดินกันเฟอะฟะมาจนได้เห็นสวนไผ่ที่อาราชิยามาจนได้

เดินวนไปวนมา กระทั่งมาตั้งต้นกันใหม่ที่จุดเดิม จุด ณ ที่ลงจากรถเมล์น่ะแหละ  เอาเป็นว่าเริ่มกันใหม่ ลองจับทิศทางกันใหม่ คราวนี้จากที่ตอนแรกไปทางฝั่งขวา ลองเปลี่ยนเป็นฝั่งซ้าย (หันหน้าไปทางสะพานโทเก็ตสึ)  ดูบรรยากาศแล้วดูเหมือนทางเดินฝั่งซ้ายจะไม่ได้นำพาไปยังที่เที่ยวสำคัญๆ เหมือนทางเดินฝั่งขวา แต่ก็มีคนใช้เส้นทางนี้ไม่น้อย
 “แหงๆ ใช่แน่ๆ”  เพื่อนร่วมบ้านมั่นอกมั่นใจขึ้นมาเชียว  “เดินตามกันไปเยอะๆ แบบนี้ ต้องใช่แน่ๆ”
 แล้วก็ใช่จริงๆ ด้วย ในที่สุดเราก็เห็นอาคารสีส้ม มีหัวจักรรถไฟแบบโบราณวางแสดงอยู่ด้านหน้า...Saga Torokko Station
รีบตรงรี่เข้าไปข้างในทันที ด้วยทั้งร้อน และเหนื่อย

บรรยากาศภายในคึกคัก หน้าเคาน์เตอร์ขายตั๋วมีจอทีวีติดตั้งด้านบนหลายจอ ฉายวนทำการตลาดให้นักท่องเที่ยวที่หลุดเข้ามาระหว่างทำการตัดสินใจว่าจะซื้อ ตั๋วชมวิวทางรถไฟสายโรแมนติคดีหรือไม่ ได้ชมดูความงามของทิวทัศน์สองข้างทางที่รถไฟวิ่งผ่านซึ่งจะแตกต่างตามฤดูกาลที่เปลี่ยนไป
 ฤดูใบไม้ร่วง  ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน
 ดูแล้วใจไม่อ่อนยวบให้มันรู้ไป
 ฤดูใบไม้ร่วง ใบเมเปิลเปลี่ยนสีเป็นสีส้มแดง
 ฤดูหนาว เวิ้งว้าง เต็มไปด้วยหิมะสีขาวโพลน
 ฤดูใบไม้ผลิ ซากุระออกดอกสีชมพูสะพรั่ง
 ฤดูร้อน เผยให้เห็นต้นไม้สีเขียวขจี

แถวของนักท่องเที่ยวที่ยืนต่อคิวซื้อตั๋วไม่ยาวเท่าไหร่ พอใจชื้นว่าน่าจะได้ตั๋ว เพราะเคยอ่านเจอมาก่อนว่า ทางรถไฟสายนี้เป็นที่นิยมมาก




ควรจะจองซื้อตั๋วล่วงหน้าที่สถานีรถไฟเกียวโตดีกว่ามาสุ่มเสี่ยงซื้อที่นี่

รถไฟสายซากาโน่ เป็นทางรถไฟสายเก่า ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรับปรุงขึ้น เพื่อเป็นทางรถไฟสำหรับชมวิวโดยเฉพาะ แล่นเลาะเลียบผ่านริมผา ข้ามแม่น้ำ ลอดอุโมงค์ และขึ้นเขา ใช้ระยะเวลาในการวิ่ง 25 นาที เริ่มจากสถานี ซากา โทรกโกะ (Saga Torokko) ผ่านสถานีอาราชิยามา โทรกโกะ (Arashiyama Torokko) สถานีโฮสุเคียว โทรกโกะ (Hozukyo Torokko) และสิ้นสุดที่สถานีคาเมะโอกะ โทรกโกะ (Kameoka Torokko)

เวลาในการแล่นของรถไฟแค่ 25 นาที แต่ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านใช้เวลานั่งรอ 3 ชั่วโมง!! ก็เถอะ บอกแล้วว่ารถไฟสายนี้ป๊อป

แต่ไม่ต้องกริ่งเกรงกับเวลาสามชั่วโมง ด้วยติดกับตัวอาคารสถานี มีห้องโถงขนาดใหญ่ ถ้าเดินอ้อมไปด้านหน้านอกตัวอาคารจะเห็นป้ายติดไว้ว่า 19 Century Hall  SL & Piano Museum  ห้องโถงนั้นเปิดโล่งกว้าง มุมด้านหนึ่งวางโทรทัศน์ ที่ฉายวนซ้ำให้เห็นบรรยากาศและความงามของทิวทัศน์ทางรถไฟสายโรแมนติก ใกล้ๆ มีโต๊ะเก้าอี้วางตั้งไว้เป็นชุดๆ เหมือนโต๊ะเก้าอี้ในอาคารโรงอาหารตามสถานศึกษาของบ้านเรา บริเวณนั้นจับจองนั่งพักได้ตามสะดวก มุมด้านตรงข้าม มีหัวจักรรถไฟโบราณวางแสดง และถัดมาด้านข้างที่ไม่น่ามีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย เป็นรูปปั้นผู้ชายในชุดตะวันตกสมัยก่อน ท่วงท่าที่ยืนและอุปกรณ์ที่ถือ บ่งว่าน่าจะเป็นคีตกวี

ฉันยังแปลกใจตัวเอง รวมถึงเพื่อนร่วมบ้านที่ผลัดกันเดินวนไปดูหัวจักรรถไฟ  ดูนั่นดูนี่ แต่ไม่ยักสนใจที่จะเดินไปดูรูปปั้นดังกล่าว อย่างดีก็ทอดสายตาไปมอง ว่า เออ แปลกดี ก็เลยไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นรูปปั้นของใคร หรืออย่างที่บอกไว้ ว่าด้านนอกอาคารติดป้ายไว้ว่า 'พิพิธภัณฑ์เปียโน' ในนี้อาจจะเคยเป็นพิพิธภัณฑ์เปียโนก็ได้ แต่พอเวลาเลื่อนไหล ผสมกับพฤติกรรมผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาในอาคาร เลยเปลี่ยนเป็นวางแสดงหัวจักรรถไฟโบราณแทน

ฉันกับเพื่อนร่วมบ้านนั่งจับจองพื้นที่ตรงโต๊ะ ม้านั่งใกล้ๆ กับจอโทรทัศน์ ฉวยโอกาสพักนั่งอ่านหนังสือ จดบันทึกอะไรฆ่าเวลาไปเรื่อย
"ว่ามั้ย..." เพื่อนร่วมบ้านเปิดประเด็นขึ้นมา  “ในนี้มีแต่เด็กกับคนแก่เข้ามานั่งพัก”  บุ้ยใบ้ให้ฉันมองไปรอบๆ “ไม่มีวัยรุ่น หนุ่มๆ สาวๆ เลย”
“อ้าว รุ่นเรายังไม่แก่สักหน่อย”  ฉันแย้งแบบไม่ยอม
 “รุ่นเราก็มี  แต่เข้ามาเฉพาะพวกที่มีเด็กเล็กๆ นี่แสดงว่าภูมิต้านทานเราสองคนเท่ากับคนแก่กับเด็กนะเนี่ย” โหพูดทำไมเนี่ย ฟังแล้วสะทกสะท้อนใจชอบกล
 “ก็แดดมันร้อนจะตาย”  ฉันบ่นงึมงำ แต่พอนั่งพักไปได้สักครู่  ร่างกายเริ่มฟื้นตัว เท้าชักเริ่มขยับ ชักเริ่มอยากออกไปสำรวจข้างนอก (อีกแล้ว)  ลองหยั่งเชิงด้วยการเดินโผล่ออกไปนอกอาคาร  แดดสาดเปรี้ยง เปรี้ยง ปะทะใบหน้า ปะทะลำตัว ทำเอาต้องหดตัวกลับไปซุกร่างในอาคารตามเดิม .... ได้ข้อสรุปรอนั่งรถไฟสายโรแมนติกออกชมวิวน่ะดีแล้ว

และแล้วเมื่อถึงเวลา รถไฟสายโรแมนติก ก็แล่นเข้าเทียบชานชาลา
 หน้าต่างโบกี้รถไฟเปิดโล่ง ตั้งใจให้ผู้โดยสารได้นั่งชมวิวสองข้างทางอย่างเต็มที่
เข็มนาฬิกาเคลื่อนถึงเวลากำหนดออก  รถไฟก็ออกตัวเคลื่อนขยับช้าๆ
ตื่นเต้น.... ความรู้สึกนี้ไม่เคยเปลี่ยนเลย ตั้งแต่เล็กยันโต เป็นทุกครั้งที่ได้นั่งรถไฟ
 เคยถามตัวเอง พาหนะแบบไหนที่โปรดสุดๆ?



ได้คำตอบซ้ำเดิมกลับมาทุกครั้ง ปานประหนึ่งเวลาราชินีร้ายถามกระจกวิเศษในเรื่องสโนไวท์
 “ก็จักรยานกับรถไฟน่ะสิ”
 แล้วจักรยานกับรถไฟเหมือนกันตรงไหน ถึงได้โปรดนัก?
 เหมือนกันตรงที่ทั้งจักรยาน และรถไฟ ให้อารมณ์ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ช้าๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเร่งรีบละมัง

รถไฟค่อยๆ ไหลเลื่อนผ่านสองข้างทาง  ขณะเดียวกัน ภาพสองข้างทางก็ไหลเลื่อนผ่านช่องหน้าต่างเข้าสู่การรับรู้ของจอตา เหมือนภาพที่ร้อยเรียงบนแผ่นฟิล์ม ภาพนั้นค่อยๆ หมุนเร็วขึ้น หมุนเร็วขึ้น ไม่กี่นาทีจากตัวเมือง ผ่านบ้านเรือน ก็เข้าสู่บริเวณภูเขา และ.. สุดท้ายลัดเลาะเลียบริมผา เห็นสายน้ำสีเขียวอ่อน  ไหลลัดเลาะหยอกล้อไปกับพื้นหินเบื้องล่าง ภาพที่เห็นสวยงามเสียอย่างนั้น ทำให้ผู้โดยสารเริ่มส่งเสียง
กิ๊วก๊าว  จากที่นั่งก็เริ่มลุกขึ้นยืน  ชะโงกหน้า  หามุมถ่ายรูปกันสนุกสนาน
โชคดีที่ที่นั่งฉันอยู่ฟากเดียวกับโตรกธาร  ได้เห็นความอ่อนพลิ้วของสายน้ำ ท่ามกลางทิวเขาที่เป็นฉากหลังอย่างชัดๆ 


ภาพ ที่เห็นทำให้หวนนึกถึงสายน้ำที่ไหลขนาบไปกับทางถนนจากเมืองกาฐมาณฑุไปยัง เมืองโพคารา แต่บรรยากาศในการชมนั้นต่างกัน  ขณะชมสายน้ำสีเขียวเข้มราวมรกตที่เนปาลนั้น เป็นการชมอย่างสงบเงียบ แต่ละคนเหม่อมอง และเข้าสู่ภวังค์จินตนาการของตนเอง  แต่ขณะที่ชมสายน้ำที่อาราชิยาม่า กลับเป็นการชมแบบหมู่คณะ มีเจ้าหน้าที่บนรถไฟพากย์ส่งเสียงประกอบ ลีลาน้ำเสียงเร้าใจเหมือนฟังพิธีกรรายการทีวีแชมป์เปี้ยนที่กำลังบรรยาย เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไรอย่างนั้น สนุกสนานไปอีกแบบหนึ่ง

รถไฟจอดที่สถานีแต่ละแห่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ  บางช่วงลอดผ่านอุโมงค์ ท่ามกลางความมืดของริมทาง ให้จินตนาการเล่นๆ ว่า สุดปลายอุโมงค์ด้านหน้า จะได้เจออะไร  แล้วจู่ๆ ณ สถานีหนึ่ง ก็ปรากฏ ทานุกิ (tanuki) ยืนเรียงแถวต้อนรับ

สงสัยละสิ ว่าทานุกิคืออะไร?
เจ้าทานุกิ ก็คือเจ้าสุนัขแรคคูนหน้ากลมๆ พุงกลมๆ ตากลมโต ดูไร้เดียงสา  แถมท่ายืนยังเอียงคอหน่อยๆ ใส่หมวกสาน ดูน่ารักน่าชัง แต่... ย้ำกันดีๆ สังเกตให้ชัดๆ  จะเห็นว่าซ่อนความร้ายเล็กๆ ไว้ เพราะมือข้างหนึ่งถือขวดเหล้าสาเก (เฉยเลย) ให้พอเดาได้ว่า เห็นตัวกลมๆ เหมือนไร้เดียงสา ต้องเป็นทานุกิขี้เมาแน่ๆ
เจ้าตัวทานุกิ หรือสุนัขแรคคูน ผลุบโผล่ปรากฏตัวในเรื่องเล่า ตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ
ทานุกิเป็นเจ้าแห่งการแปลงร่าง ที่โปรดคือร่างนักบวช กับกาน้ำชา แปลงร่างแล้วก็ออกมาเย้าแหย่แกล้งคนเล่น  โดยเฉพาะพวกนายพราน กับคนตัดไม้ โดนกันบ่อย  นี่สงสัยตั้งใจให้มายืนเย้าแหย่ผู้โดยสารรถไฟสนุกๆ ให้เป็นสีสัน

และที่สถานีสุดท้าย สถานีคาเมะโอกะ โทรกโกะ (Kameoka Torokko) มีสัญญาณบ่งบอกการใกล้ถึงปลายทาง ตั้งแต่เริ่มเห็นทางถนน เสาไฟ และบ้านเรือนผู้คน  แล้วรถไฟก็ค่อยๆ เข้าจอดเทียบชานชาลา ขบวนทานุกิออกมายืนต้อนรับอีกแล้ว  เห็นแล้วก็อดขำไม่ได้ ดูน่ารัก น่าชังดี



ออกจากสถานีรถไฟ รู้สึกงงๆ อยู่บ้าง ด้วยพื้นที่แถบนี้อยู่พ้นนอกเขตแผนที่ที่เรามีอยู่ แลเห็นแต่ทุ่งนาสีเขียว กับบ้านเรือนผู้คนที่ตั้งเป็นหย่อมๆ  แต่กลุ่มผู้โดยสารเหมือนรู้เส้นทางกันดี พากันเดินไหลไปตามทางจากสถานีรถไฟไปเชื่อมต่อกับทางถนนเล็กๆ ริมทุ่งนาที่ปลูกยาวเป็นแถวไปจรดฟ้าอีกด้าน

ยิ่งเป็นเวลาพระอาทิตย์ใกล้ตกพอดี  สีเขียวของนาข้าวสะท้อนแสงอุ่นๆ ดูจับตา ไม่เฉพาะคนไทยอย่างเราสองคนที่ดูตื่นเต้นที่ได้มาเห็นทุ่งนาในเมืองต่าง ถิ่น  คนญี่ปุ่นเองก็ดูตื่นเต้นไม่แพ้กัน  สาวๆ  หลายคนยอมลงทุนเดินลุยเข้าไปในทุ่งนาเพื่อถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึก

ขบวนการไหลของผู้คนไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน มีที่สวนทางกับพวกเราเหมือนกัน เป็นกลุ่มหนุ่มสาวที่สวมเสื้อชูชีพ ในมือถือพายขนาดใหญ่  ดูจากชุดที่สวมใส่ เป็นพวกที่จะล่องผจญภัยไปกับสายน้ำ สายน้ำสายเดียวกับที่เราเห็นขณะนั่งบนรถไฟนั่นแหละ

แล้วขบวนการไหลของผู้คนก็ไปสิ้นสุดที่ สถานีรถไฟอุมะโฮริ (Umahori) สาย เจอาร์ซากาโน่  (JR Sagano line) ที่แท้ที่เดินไหลตามกันไปก็เพื่อจะนั่งรถไฟกลับไปยังเกียวโตนี่เอง
แล้วจะทำอะไรล่ะ?
ก็ตีตั๋วรถไฟกลับเกียวโตเหมือนชาวบ้านเขาน่ะสิ


หมายเหตุ:  ทานุกิ (Tanuki) สุนัขแรคคูน เป็นสัตว์พื้นถิ่นที่มีอยู่จริงในประเทศญี่ปุ่น ลักษณะคล้ายหมาจิ้งจอกตัวอ้วนๆ ขาสั้น ขนสีเทาดำ มีขอบกลมๆ รอบดวงตาเหมือนตัวแรคคูน หรือหมีแพนด้า พบตัวได้ตามที่ลุ่ม ในป่า และหุบเขา แต่... ถ้าเป็นรูปปั้นเซรามิคละก็ พบเห็นได้ทั่วไปตามร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และสวนในบ้าน ว่ากันว่าสุนัขแรคคูนเซรามิคมีจำนวนเยอะกว่าสุนัขแรคคูนที่เป็นสัตว์จริงๆ ด้วยซ้ำ

อ้อ... ป.ล. สุนัขแรคคูน เป็นสัตว์กินได้สารพัดสารพัน กบ กิ้งก่า ลูกเบอร์รี่ แมลง หอยทาก คางคก ฯลฯ  กินได้ทั้งนั้น อาจเหมารวมได้ว่า เหล้าสาเกก็คงดื่มได้ซะละมัง (ข้อนี้ฉันว่าเอง)